รักลูกอวอร์ด ครั้งที่ 6 : เสวนา "ทำหนังสืออย่างไรให้ถึงใจเด็ก"

รักลูกอวอร์ด ครั้งที่ 6

พิธีกร : สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกๆ ท่าน ขอต้อนรับทุกๆ ท่านเข้าสู่งานเวิร์คช็อปและเสวนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรักลูกอวอร์ดครั้งที่ 6 นี้นะคะ ที่มาของโครงการรักลูกอวอร์ดนั้น เนื่องจากว่าเป็นโครงการ ที่จัดขึ้นเพื่อที่จะสร้างสรรค์หนังสือดีๆ และส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้กับสังคมไทย ซึ่งปีนี้นับได้ว่าจัดกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้วค่ะ ในวันนี้ นับได้ว่าเป็นโอกาสดีค่ะที่เราได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายๆท่าน เพื่อที่จะมอบสาระดีๆ ในหัวข้อที่ว่า “ทำหนังสืออย่างไรให้เข้าถึงใจเด็ก” ช่วงวินาทีต่อจากนี้ไป ท่านจะได้รับเรื่องราวของสาระสิ่งดีๆ ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ สู่เด็กและเยาวชนของเรา ในลำดับนี้ดิฉันขอเรียนเชิญ คุณหมออุดม เพชรสังหาร ท่านเป็นรองประธานกรรมการบริการรักลูกกรุ๊ป และประธานคณะดำเนินงานรักลูกอวอร์ด ขึ้นกล่าวถึงแนวทางในการพัฒนามาตรฐานของานหนังสือภายใต้รางวัลรักลูก อวอร์ดค่ะ พร้อมทั้งกล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ ขอเรียนเชิญคุณหมออุดมค่ะ

คุณหมออุดม : ท่านอาจารย์ที่เคารพทุกท่าน น้องๆ นิสิตนักศึกษา ที่ได้มาร่วมกิจกรรมโครงการ รักลูกอวอร์ดครั้งที่ 6 ในวันนี้ ก่อนอื่นในฐานะเจ้าของบ้านก็ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดีอย่างยิ่งสู่บ้านรักลูก วันนี้เราคงจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคมไทย คงไม่ใช่เฉพาะธุรกิจของพวกเรานะครับ แต่เป็นเรื่องของสังคมไทยด้วย สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดในสังคมไทยอันหนึ่งก็คือ เรื่องการเรียนรู้ของคน พวกเราทราบดีว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือ คนไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือ พอไม่ค่อยได้อ่านหนังสือความรู้มันก็เกิดขึ้นได้น้อยในสังคมไทย แล้วเราก็จะเห็นว่าหลายสิ่งหลายอย่างต่อไปนี้ มันจะเคลื่อนที่ค่อนข้างรวดเร็วและมีการเปลี่ยนแปลงที่ผมคิดว่า ถ้ากะพริบตาอาจจะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นแล้วก็ได้ อย่างน้อยที่สุด การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็เป็นสิ่งที่ยืนยันนะครับว่า ต่อไปนี้โลกจะหมุนเร็วขึ้น มีอะไรที่ผมคิดว่าเป็นการติดตามความรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ผ่านการอ่าน จะเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับโลกใบนี้ และจำเป็นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สิ่งที่พวกเราพยายามขับเคลื่อนกันมาตลอดนั่นคือการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ทุกท่านคงทราบดีโดยสิ่งหนึ่งที่พวกเรามองก็คือ การที่เราจะสร้างให้คนไทยเป็นคนที่รักการอ่านได้ สิ่งแรกที่เราจะต้องทำคือ การปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ ในฐานะที่รักลูกกรุ๊ป เป็นกลุ่มบริษัทที่ทำงานเรื่องการพัฒนาเด็กและครอบครัวปีนี้ปีที่ 26 - 27 แล้ว เราก็มีความเชื่อมั่นว่า การเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ คือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เราก็พยายามผลักดันในเรื่องนี้ โดยที่รักลูกไม่ได้มีธุรกิจในเรื่องของการทำหนังสือเด็กเลย แต่เราคิดว่านี่คือความจำเป็นของสังคมไทย รักลูกทำในเรื่องการพัฒนาเด็กและครอบครัว การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง คือเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เค้ามีพื้นฐาน เราจึงพยายามผลักดันให้เกิดรางวัลรักลูกอวอร์ดขึ้นมา 5 ปีมาแล้วที่เราพยายามผลักดันเรื่องนี้ ปีนี้เป็นปีที่ 6 ในการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

จากการศึกษาจากการทบทวนวรรณกรรม ทบทวนงานวิจัยทั้งหลาย ผมสรุปออกมาได้ว่ามีอยู่ 3 ปัจจัยที่เราจะต้องทำให้เกิดขึ้นคือ

1. คนในสังคมจะต้องรับรู้ว่าการอ่านมีความสำคัญอย่างไร มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งในแง่สติปัญหา ในแง่ของบุคลิกภาพ ในแง่ของพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ และสมองอย่างไรบ้าง อันนี้คือสิ่งที่เราจะต้องทำให้เกิดขึ้นนะครับ

2. ต้องมีหนังสือดี มีคุณค่าให้คนได้อ่าน ถ้าอยากอ่านแต่ว่าไม่มีหนังสือดีๆ ให้อ่าน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

3. ต้องมีกลไกในการที่จะกระจายหนังสือนั้นไปสู่ผู้อ่าน ผู้ที่อยากอ่าน ถ้าอยากอ่านหนังสือแล้วต้องนั่งรถเข้ามาในเมืองใช้เวลาครึ่งวัน กลับไปอีกครึ่งวัน เท่านี้ความรู้สึกอยากอ่านมันก็จบไปแล้วนะครับ

เพราะฉะนั้นมีคนอยากอ่าน มีหนังสือดี ๆ ให้อ่าน และมีการกระจายหนังสือไปถึงผู้บริโภคหรือผู้อ่านอย่างทั่วถึงคือ 3 ปัจจัยหลัก ที่จะต้องทำเพื่อที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

นส่วนรักลูกเราก็มามองเรื่องของผู้ผลิตครับ สิ่งที่รักลูกอวอร์ดต้องการทำก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้คนผลิตหนังสือซึ่งหมายถึง ผู้เขียน ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา มีกำลังใจที่จะทำหนังสือดี ๆ ขึ้นมา ทำเสร็จแล้วถ้ามันไม่ได้เงินก็ขอให้ได้กล่องบ้างเถอะ นี่คือสิ่งที่เราอยากทำ แล้วได้กล่องแล้วน่าจะเป็นหนทางที่นำเข้าไปสู่การได้เงินขึ้นมา

รางวัลรักลูกอวอร์ดจะยืนอยู่ตรงนี้นะครับ เรามีคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด เพื่อพิจารณากลุ่มหนังสือต่าง ๆ ในแต่ละชุดจะมีองค์ประกอบคณะกรรมการนะครับ เราจะมีนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการเด็ก จิตวิทยาเด็กอยู่ในคณะกรรมการชุดนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าทำไมเราชอบใช้หมอนะครับ กรรมการแต่ละชุดต้องมีหมอ อย่างน้อยต้องเป็นจิตแพทย์หรือไม่ก็เป็นกุมารแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาการเด็ก นี่คือจุดที่เราจะต้องทำนะครับ อันที่สองคณะกรรมการของเราจะต้องมีคนที่ชำนาญในเรื่องภาษาอยู่ตรงนั้นด้วย เพราะว่าภาษาคือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ที่ทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการเหนือกว่าสัตว์ทั้งปวง ฉะนั้นกรรมการเราจะเน้นเรื่องพัฒนาการ หนังสือนั้นจะต้องมีความสอดคล้องกับพัฒนาการ หนังสือนั้นจะต้องมีความงดงามทางภาษา มีความถูกต้องทางภาษาและปัจจัย อันที่สามที่เราคำนึงถึงก็คือ หนังสือนั้นจะต้องมีความงดงามทางด้านศิลปะ องค์ประกอบของคณะกรรมการแต่ละชุดอย่างน้อยจะต้องมี 3 องค์ประกอบนี้ นอกจากนั้นจะต้องมีผู้บริโภคคือ ทั้งครู ทั้งพ่อแม่ อยู่ในคณะกรรมการของเราแต่ละชุด อันนี้ก็คือสิ่งที่เราพยายามทำให้เกิดขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องศิลปะ ในช่วงหลังมานี้เรื่องศิลปะมีบทบาทมากขึ้น เพราะว่าวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถพิสูจน์ได้ว่าศิลปะมีความสำคัญต่อความฉลาดของมนุษย์ ศิลปะมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางด้านจริยธรรมของมนุษย์ อันนี้มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันชัดเจนนะครับ แปลว่า นอกเหนือจากศิลปะจะทำให้เกิดความงดงามในหนังสือแล้ว ศิลปะยังก่อให้เกิดความงอกงามในมนุษย์ ผู้ที่ใช้หนังสือเล่มนั้นด้วย เราจึงเน้นในเรื่องศิลปะ

สิ่งที่เกิดปัญหามาตลอด แล้วเราอยากจะให้เกิดขึ้น ให้มีการพัฒนาขึ้นคือ หลายครั้งเกิดความสงสัยในเรื่องของคณะกรรมการชุดนี้ คณะกรรมการของรักลูกอวอร์ดมีแนวคิดมีหลักการในการตัดสินหนังสืออย่างไร ที่ผ่านมาเราพยายามผลักดันให้ทุกคนมองเห็นว่า หนังสือที่มีคุณภาพในสายตาของพวกเรา

เราคงไม่กล้าที่จะบอกว่าหนังสือที่ได้รับการยืนยันจากรักลูกอวอร์ดคือหนังสือที่ดีที่สุดในประเทศนี้ คงไม่ใช่นะครับ แต่ในทัศนะของนักวิชาการที่เป็นกรรมการในชุดนี้ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ที่ผมได้กราบเรียนไปในทัศนะของพวกเรา นี่คือสิ่งที่พวกเราการันตี ว่ามันเหมาะสมที่สุด น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับลูกหลานของเรา สำหรับสังคมของเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารางวัลอื่นจะไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นในวันนี้สิ่งที่พวกเราพยายามที่อยากจะทำก็คือ เรามาทำความเข้าใจร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันว่า

ถ้าจะพัฒนาหนังสือให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นในสายตาของพวกเรา ในสายตาของรักลูกอวอร์ด ซึ่งเป็นสายตาของนักวิชาการ ซึ่งผมกล้ากราบเรียนว่าเป็นนักวิชาการที่อยู่ในแนวหน้าของประเทศไทยในขณะนี้ ในเรื่องของการทำหนังสือและเรื่องพัฒนาการเด็ก พวกเราคิดยังไง มีสิ่งที่พวกเราให้ความสำคัญคืออะไรบ้าง วันนี้เราจะคุยกัน 3 เรื่องนะครับ ก็คือ เรื่องของหนังสือกับพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างไร คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์จะเป็นคนมาเล่าให้ฟังในฐานะเป็นจิตแพทย์ และที่สำคัญที่สุดคือคุณหมอประเสริฐเป็นนักเขียนคนหนึ่ง เป็นจิตแพทย์ที่ทำงานเรื่องเด็กด้วย ทำงานเรื่องผู้ป่วยจิตเวชด้วย และในขณะเดียวกันก็เขียนหนังสือด้วย คุณหมอประเสริฐก็คงจะเล่าให้พวกเราฟังในเรื่องของพัฒนาทางด้านภาษาการสื่อสารของเด็กเป็นอย่างไร และจะนำเข้ามาสู่เรื่องของการทำหนังสือการเขียนหนังสืออย่างไรในฐานะที่เป็นทั้งจิตแพทย์และเป็นทั้งนักเขียน และหลังจากนั้นเนื่องจากหนังสือคือภาษาชนิดหนึ่ง เราก็คงมีหลักเกณฑ์ทางภาษา ป้ากุลหรืออาจารย์กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ ซึ่งผมคิดว่าพวกเราที่อยู่ในแวดวงหนังสือเด็กคงไม่มีใครไม่รู้จักป้ากุล ลูกศิษย์ลูกหาของป้ากุลหลายคนก็อยู่ในแวดวงหนังสือ

และเป็นคนที่ผลักดันให้เกิดสิ่งที่ดีๆ ในวงการหนังสือเด็กของประเทศไทยในขณะนี้ ป้ากุลในฐานะครูก็อาจจะดูเฮี้ยบนิดนึงในเรื่องการเข้มงวดเรื่องภาษาซึ่งเรามองว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญ และท่านสุดท้ายนะครับอาจารย์ ชนิศา ชงัดเวชจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะครูอาจารย์ที่สอนเรื่องนี้ให้กับลูกศิษย์ ลูกศิษย์หลายคนประสบความสำเร็จในการทำหนังสือ ก็จะมาพูดคุยเรื่องศิลปะ องค์ประกอบของศิลปะในหนังสือที่ควรจะเป็นมันเป็นอย่างไร อาจารย์ชนิศาก็เป็นกรรมการคนหนึ่งของเรา และอีกท่านคือ อาจารย์ศักดิ์ดา แซ่เอียวหลายคนไม่รู้จักใครกันคนๆ นี้ เพราะรู้จักแต่ “เซีย ไทยรัฐ” วันนี้จะพักจากการวิเคราะห์การ์ตูนมาวิเคราะห์เรื่องการทำหนังสือสำหรับเด็กนะครับ นี่ก็คือ 3 ประเด็นหลักๆ ที่เราอยากจะพูดคุยกับท่านทั้งหลายในฐานะเป็นผู้ผลิตหนังสือให้กับสังคมว่า พวกเราคิดยังไงกับเรื่องนี้เรามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน

สิ่งที่สำคัญผมไม่ขอมองเพียงแค่ว่าเราจะผลิตหนังสือเพื่อที่จะได้รับรางวัล ผลิตหนังสือเพื่อการขายดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรากำลังเดินเข้าไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมต้องเดินไปตรงนั้นครับ เพราะถ้าเราไม่เดินไปตรงนั้นเราไม่รอด มีหลายเรื่องเหลือเกินที่เราจะต้องเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีสื่อที่มีคุณภาพให้กับลูกหลานเพื่อที่จะให้เค้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งปลูกฝังที่เรียกว่า นิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต มันก็ลำบาก ถึงเวลาที่เราแก่ก็คงลำบากเพราะเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่จะมาเลี้ยงดูพวกเราตอนแก่กลายเป็นคนไม่เรียนหนังสือ

ไม่ค้นคว้าหาความรู้ พวกเราอาจจะต้องไปพบกันในสถานสงเคราะห์คนชรา เพราะว่าลูกหลานไม่ดูแล ตอนนี้ก็เริ่มแล้วนะครับ เพราะว่าคนแก่เพิ่มมากขึ้น พวกเราตายช้าลง เด็กรุ่นใหม่เกิดมาน้อย นี่คือสิ่งที่อยากจะกราบเรียนทุกๆ ท่านว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการ และวันนี้หลายท่านอาจจะแปลกใจว่าทำไมมีหน้าใสๆ ละอ่อนๆ น้องๆนิสิตนักศึกษา เราคิดอย่างนี้ครับว่า พวกเราทำงานเพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ให้กับสังคมไทย ถ้าเราไม่ถ่ายทอดแนวคิดเหล่านี้ให้กับคนรุ่นใหม่ พอพวกเราล้มหายตายจากไป คนรุ่นใหม่ที่มาสืบสานสิ่งเหล่านี้ก็คงจะลำบาก น้องๆ นิสิตนักศึกษาที่นั่งอยู่ตรงนี้คือ กลุ่มที่เรียนอยู่ในหลักสูตรเรื่องของวรรณกรรม เรียนอยู่ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษา เราอยากให้พวกเขาได้สัมผัสเห็นบรรยากาศว่า ผู้ใหญ่ทำอะไรบ้างในสังคมนี้เพื่อที่จะได้จุดประกายให้พวกเขา เพราะเมื่อไหร่ที่เราหมดแรง พวกเขาควรจะเป็นคนที่เดินเข้ามาสู่ตรงนี้และสร้างสิ่งที่ดีๆ สู่สังคม และนี่คือสิ่งที่รักลูกกรุ๊ปคาดหวังอยากจะให้เกิดขึ้นและขอเชิญชวนทุกท่านให้เข้ามาร่วมในกระบวนการอันนี้เพื่อผลักดันสังคมไทยให้เดินเข้าไปสู่เส้นทางที่ดีงาม ที่มีวิวัฒนาการ มีพัฒนาการที่เพิ่มขึ้น

นปีที่ผ่านมาทุกท่านคงเห็นว่า มันเป็นจุดหนึ่งที่ปักหมุดให้เราได้เห็นว่า ความก้าวหน้าของเรื่องนี้คือ ผมกล้าพูดตรงนี้จะโดนข้อหาที่ฮิตอยู่หรือเปล่าว่าดึงเบื้องสูงสู่เบื้องต่ำหรือเปล่า ผมคิดว่าคงไม่ใช่นะครับ พระวรชายา ใช้ศัพท์ธรรมดาก็แล้วกัน ราชาศัพท์ผมไม่ถนัด ท่านสนใจมากในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ เพราะลูกของท่านคือ พระองค์ทีฯ ก็เริ่มอยู่ในวัยที่ต้องใช้สิ่งเหล่านี้ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลายท่านก็คงได้สัมผัสว่า ท่านเสด็จฯประทานรางวัลเป็นองค์ประธานในการประทานรางวัลรักลูกอวอร์ด ครั้งที่ 5 ที่ห้องประชุมแห่งนี้ คณะกรรมการหลายท่านที่ได้เข้าเฝ้าและตามเสด็จใกล้ชิดคงจะได้เห็นว่า ท่านให้ความสนใจในการเลี้ยงลูกด้วยหนังสืออย่างมาก ซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และชัดเจนว่า อย่างน้อยที่สุดคนระดับนำของเมืองไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และจริงจัง ไม่ใช่เพียงให้ความสำคัญกับความคิดเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญโดยนำสิ่งเหล่านี้ไปปฏิบัติกับตัวเอง เพราะว่าพระโอรสของท่านก็อยู่ในวัยขณะที่พวกเรากำลังสร้างผลผลิตเพื่อที่จะได้ใช้กับเด็กวัยนี้ นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมอยากจะกราบเรียนให้ทุกท่านที่ได้มาร่วมประชุมในวันนี้ได้รับทราบ และต้องขอขอบคุณอย่างยิ่งที่ได้ให้ความสนใจกับกิจกรรมรักลูกอวอร์ด ที่รักลูกกรุ๊ปได้พยายามที่จะผลักดันและนำเสนอสู่สังคมมาโดยตลอด ผมคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นคือ สิ่งที่พวกเราจะได้ร่วมกันสร้างสิ่งที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยนะครับ สร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ เพื่อเดินเข้าไปสู่วัฒนธรรมของสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยครับ และขอขอบคุณอีกครั้งครับ

พิธีกร : ต้องขอขอบคุณ คุณหมออุดม เพชรสังหาร ที่ได้มาเล่าเรื่องของวัฒนธรรมการอ่าน รวมถึงที่มาแนวทางของโครงการและแนวทางการคัดสรรหนังสือดีๆ สำหรับเด็กๆ ของเรานะคะ วิทยากรที่จะมานำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับเราในวันนี้นะคะ ดังที่คุณหมออุดมได้เรียนนำไว้ในข้างต้นคือมีทั้งหมด 4 ท่านด้วยกันค่ะ แต่ว่าในท่านแรกที่จะขอเรียนเชิญให้ท่านมาพูดถึงเรื่องของ “ทำหนังสือเด็กอย่างไรให้ถึงใจเด็ก” นั่นก็คือ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ค่ะ ก่อนที่ท่านจะนำเสนอ ดิฉันขอนำเรียนประวัติคร่าวๆ ของท่านก่อนค่ะ ว่าท่านเคยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยจิตเวชคติ ปัญหาพฤติกรรมเด็กและเยาวชน เยาวชนที่ใช้ยาเสพติด หรือต้องคดีอาญา รวมทั้งเป็นวิทยากรด้านบุหรี่ในจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันท่านทำหน้าที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดเชียงราย รวมทั้งเป็นผู้จัดการโครงการชีวะจริยธรรมและวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้จัดการแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ นะคะ นอกจากเชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชแล้วท่านยังเป็นนักเขียนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของผู้อ่านจำนวนมากนะคะ หลายๆ ท่านอาจจะเคยผ่านตามาบ้าง โดยมีผลงานตีพิมพ์ทั้งนิตยสาร พอกเก็ตบุ๊ก เว็บไซต์ต่างๆ ทั้งผลงานวิชาการ จิตวิทยา จิตวิทยาเด็ก ท่านเคยได้รับรางวัลบุคคลที่มีผลงานด้านสุขภาพจิตดีเด่นของมูลนิธิศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2547 และได้รับรางวัลธัญญารักษ์วอร์ดอันดับ 1 สำหรับผู้มีผลงานดีเด่นด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ค่ะ ประวัติที่ดิฉันเรียนไปเป็นประวัติในเบื้องต้นนะคะ วันนี้คุณหมอก็จะนำประสบการณ์มาถ่ายทอดให้กับทุกๆ ท่าน และจะเผยถึงเทคนิคที่จะทำให้เราได้เข้าถึง จิตใจของเด็กในแต่ละช่วงวัยค่ะ โดยจะต้องใช้จิตวิทยาทางด้านพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร การเข้าใจความต้องการของพ่อแม่ และใช้หนังสือเพื่อที่จะส่งเสริมเด็กเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดนะคะ ดิฉันขอเรียนเชิญคุณหมอประเสริฐค่ะ

คุณหมอประเสริฐ : สวัสดีครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาผมจะเข้าเรื่องอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้จบอย่างรวดเร็ว มีวิทยากรรออยู่อีก 3 ท่าน วันนี้โจทย์ที่ผมได้รับมาคือบรรยายเรื่องพัฒนาการทางด้านภาษา อย่างที่พวกเราทราบ ภาษานั้นเป็นยานพาหนะของความคิด ดังนั้นเราจะรู้เรื่องภาษา เราก็ต้องรู้เรื่องความคิด นั่นเป็นสิ่งที่พบจะใช้ความพยายามใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ที่สุด ในการบรรยายให้ทุกท่านทราบว่าเด็กๆ คิดอะไร ตอนที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์นั้น ทุกครั้งที่มีชั่วโมงการบรรยายการพัฒนาการของเด็ก ผมก็จะหลับทุกรอบ เพราะว่าฟังแล้วเบื่อมากไม่สนุกเลย คือว่ากี่เดือนทำอะไรได้ ก็ไม่รู้ว่าวันนี้กรรมจะตามสนองมากน้อยแค่ไหน ภาษาเป็นยานพาหนะของความคิดนะครับ ตรงนี้ทุกท่านต้องทำความเข้าใจนะครับ ต่อจากผมไปจะเป็นอาจารย์ที่เค้าเก่งเรื่องภาษาจริงๆ เก่งกว่าผม ดังนั้นภาษาไม่ใช่เป็นแค่ตัวอักษรที่นำไปประกอบกันพวกเราต้องเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีๆ สิ่งที่ผมมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษก็คือ เรื่องพัฒนาการ ผมก็จะบรรยายในสิ่งที่ผมเชี่ยวชาญทางด้านภาษานั้น เดี๋ยวจะมีอาจารย์แต่ละท่านมาช่วยกันเติมเต็ม พวกเรามีสิทธิ์ที่จะตั้งข้อสงสัยนะ ท้าทายความเชื่อบางอย่าง ซึ่งในตอนท้ายผมก็จะเชิญพวกเราตั้งข้อสงสัยกับความเชื่อเก่าๆ บางอย่างด้วยนะครับ ปัจจุบันอย่างที่พวกเราทราบนะครับ วัยรุ่นมีปัญหาหลักๆ อยู่ 4 ข้อ คือเรื่องเซ็กซ์ เรื่องเกม เรื่องยา แล้วก็เรื่องความรุนแรง ผมก็จะถามว่า 4 ข้อนี้มีอะไรที่เหมือนกัน คำตอบคือผมตอบเองนะซึ่งอาจจะผิด อย่างที่บอกคือ พวกท่านก็สามารถตั้งข้อสงสัยแล้วใช้สมองให้เยอะในการฟังสิ่งที่ผมจะบรรยายในต่อไปนี้ สิ่งที่เหมือนกันผมคิดว่าเป็นเรื่องความเร็ว เด็กสมัยนี้ชอบที่จะเสพสุขกันแบบเร็วๆ นั่นคือประเด็นปัญหา เซ็กซ์เร็วไหม คำตอบคือเร็วใช้เวลาไม่นานดีกว่าท่องหนังสือเยอะ เกมเร็วไหม เร็วมาก นอกจากเร็วมากก็ยังเสพติด มีความสุขมากเวลาที่เด็กๆ ผ่านเลเวลแรก เลเวลสอง สาม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดคือความเร็วนับเป็นนาที ดีกว่าท่องหนังสือสอบเยอะ ยาเสพติดก็ยิ่งเร็วถ้าใช้ยาบ้า แบบเผาแล้วสูดผ่านโพรงจมูก อานุภาพของยาบ้ากระแทกโพรงจมูกเข้าสู่สมองเสื่อมง่ายแค่ไม่กี่เซนติเมตร เร็วมากนับเป็นเสี้ยววินาทีความสุขก็มา เฮโรอีนฉีดก็เร็วความรุนแรงถ้าเรามองว่าการระบายความเครียด ก็เป็นการเสพสุขอย่างหนึ่งนะครับ เด็กโกรธตีกันทันที ถ่ายคลิปวิดีโอแจกกันดูในห้องก็เป็นวิธีเสพสุขอีกชนิดหนึ่งก็เร็วดี ไม่ต้องใช้วิธีอื่นในการแก้ปัญหา ทั้งหมดนี่คือความเร็ว ประเด็นคือเรื่องความเร็ว มีคำถามว่า “ทำอย่างไรเราถึงจะทำให้เด็กๆ เสพสุขช้าๆ กันบ้าง” เช่น การอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท่านประธานตั้งไว้การอ่านหนังสือนี่เป็นวิธีที่มีความสุขนะครับ ทุกท่านคงทราบสำหรับคนที่รักการอ่านนะ โดยส่วนตัวนั้นผมจะมีหนังสือติดมือตลอด ไม่ว่าผมจะนั่งอยู่ที่ไปรษณีย์ ธนาคาร สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีรถทัวร์ ผมอ่านหนังสือตลอดเวลาเพราะว่ามันมีความสุขมาก แต่ขอโทษลักษณะนิสัยอย่างนี้กว่าจะสร้างได้ ขออภัยนะครับ โค-ตะ-ระ ช้าเลย ช้าจริงๆ ก็มีคนถามว่าทำยังไง เพราะเด็กๆ เค้าต้องการความเร็วกันทั้งนั้นแหละครับ มานั่งอ่านหนังสือจนดื่มด่ำ อ่านแล้วมีความสุข ปิดหน้าหนังสือลงไปก็ยังจะเสียดาย รอว่าเมื่อไหร่จะได้นั่งกับที่อีกทีหนึ่ง เปิดหนังสือพลิกอ่านหน้าต่อไป สร้างลักษณะนิสัยแบบนี้ช้ามาก นี่คือเรื่องท้าทายทั้งสถาบันรักลูก ท้าทายทั้งพวกเรา ทำอย่างไรถึงจะทำหนังสือประเภทที่ (ผมคิดเอาเองนะ) เปิดปุ๊บสนุกปั๊บ เร็วอีกแล้ว แต่อย่างน้อยเราก็สามารถดึงให้เด็กคนหนึ่งเริ่มมีนิสัยว่า อย่างไรก็ต้องหยิบหนังสือให้ติดมือ ทำให้ผมคิดว่านี่คือข้อดีและข้อเสียของการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนญี่ปุ่นนั้นสำหรับคนที่อ่านเก่งๆ นั้นจะพบว่าสนุกภายใน 3 หน้า ติดละ นี่คือข้อดีทำให้ในที่สุดเค้าก็ติดการถือหนังสือเล่มนี้ แต่ข้อเสียคือว่าทะลึ่งติดหนังสือการ์ตูน แทนที่จะย้ายจากหนังสือการ์ตูนไปสู่วรรณกรรม ไปสู่วรรณกรรมที่มีคุณค่าและมีจินตนาการที่สูงขึ้นกว่าการ์ตูนญี่ปุ่น ก็ติดอยู่ตรงการ์ตูนญี่ปุ่นไม่ไปไหนอีกเหมือนกัน แต่ถามว่าการ์ตูนญี่ปุ่นทำอย่างไร คำตอบคือความเร็วด้วยลายเส้นที่มีสปีดลายมากมาย ตัดต่อรวดเร็ว เนื้อหามีประเด็นทางเพศและความรุนแรงแฝงอยู่ไม่มากก็น้อย ทั้งหมดนี่เสพติดเร็ว

แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่าเป็นข้อดีของเขาที่เราควรนำมาใส่ใจนะครับ ถามว่าเราอยากได้เด็กวัยรุ่นแบบไหน ในความคิดผมคิดว่าอยากได้เด็กวัยรุ่นที่มีจริยธรรม ผมไม่ค่อยอยากได้เด็กวัยรุ่นที่ฉลาดสักเท่าไร แน่นอนคุณพ่อคุณแม่หรือว่าสื่อมวลชนหรือสถาบันรักลูกอาจจะตอบอย่างอื่นได้นะครับ เราอยากได้เด็กวัยรุ่นที่ฉลาด แต่ผมคิดว่าจริยธรรมมาก่อน อย่างที่พวกเราทราบ ถ้าจริยธรรมมาอย่างอื่นก็มักจะตามมาคำว่าจริยธรรมจะอยู่ประมาณในข้อที่12 มีคำถามว่ากว่าเราจะสร้างเด็กคนหนึ่งขึ้นมาจนถึงมีจริยธรรมที่ดีเกือบถึงยอดพีรามิดเลย ถัดจากการมีจริยธรรมที่ดีก็มาถึงอุดมการณ์ จากอุดมการณ์ที่ดีก็ไปถึงการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าที่ดี การทำประโยชน์ให้สังคม ถัดจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณแท้ๆ ทั้งหมดนี่อยู่บนยอดของการพัฒนาการเด็ก ฐานอยู่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมจะพยายามเล่าต่อไปนะครับ หากเราต้องการจะเลี้ยงลูกให้มีจริยธรรมที่ดีเป็นหลัก ผมคิดว่าตอนนี้ปัญหาสังคมไทยข้อหนึ่งคือเรามีผู้ใหญ่ที่มีจริยธรรมที่ไม่ดีมากเกินไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีจริยธรรมที่ดีด้วยการอ่าน ซึ่งเป็นเรื่องเป็นไปได้ หากพวกเราสังเกตโฆษณาโทรทัศน์ทุกวันนี้นะครับ โฆษณานมผงก็จะเห็นว่าเค้าไม่แข่งกันเรื่องความแข็งแรงแล้วนะ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ