คุณอภัยชนม์ : สวัสดีครับทุกๆ ท่าน บ่ายๆ ของวันพฤหัสที่ 15 ธันวาคม เราได้รับความกรุณาจากท่านทั้งหลายที่ให้เกียรติมาในงานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ให้กับสังคมไทย ให้กับลูกหลานไทยต่อไป หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานรังสรรค์ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีของสังคม โดยคุณลลิตา โรจนกร ในวันนี้ได้รับความกรุณาจากท่านผู้ใหญ่ ท่านผู้มีเกียรติ ที่ได้มาร่วมให้กำลังใจกับการเปิดตัวหนังสือครั้งนี้เป็นอย่างมากนะครับ ในโอกาสแรกนี้ ขออนุญาตกราบเรียนเชิญท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์ กล่าวเปิดงานเป็นเกียรติแก่คุณลลิตา โรจนกร ครับ
ท่านผู้หญิงพึงใจ : ท่านผู้มีเกียรติทุกๆ ท่าน คุณหญิงสุภัทรา คุณหญิงอิสรา เพื่อนๆ พี่ๆ รุ่นหลานก็มีนะคะในที่นี้ ยินดีที่ได้มาอยู่ในท่ามกลางสถานที่ที่มีดอกไม้สวยงามและภาพวาดที่สวยงามเหลือเกิน และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ให้ดิฉันมาเป็น ผู้เปิดงานในวันนี้นะคะ เวลาที่ได้เห็นผลงานและเห็นหนังสือของคุณลลิตา โรจนกร ดิฉันรู้สึกว่าดิฉันเป็นเพียงตัวเล็กๆ นิดเดียว แม้ว่าเราจะแก่แล้วก็ตาม เพราะรู้สึกว่าเราได้พบคนซึ่งทำงานด้วยอุดมการณ์ในการที่จะรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ทั้งหมดไม่ใช่สำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่สำหรับโลกของเราด้วย ถ้ามองกว้างออกไปขณะนี้ทุกคนกำลังสนใจ และเธอได้ใช้ใจที่รักและมุ่งมั่นที่จะใช้ศิลปะการวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ เป็นวิถีทางที่จะไปสู่อุดมการณ์ของเธอ และงานของเธอนั้นประณีต ละเอียดลออ เป็นที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ดิฉันติดใจตั้งแต่เห็นชื่อของหนังสือ “ขอเพียงแต่เห็น” มันทำให้รู้สึกว่า คุณลลิตา เป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอันมาก ดิฉันจำได้ว่า ท่านประยุตโต ท่านเคยเขียนหนังสือและพูดในที่หลายแห่ง เมื่อตอนที่จะขึ้นพุทธศตวรรษที่ 21 ท่านบอกว่าวิธีแก้ไขปัญหาของพุทธศตวรรษที่ 21 ต้องแก้เป็นพุทธวิธี คือมนุษย์จะต้องรู้จักว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นของโลก ไม่ใช่เป็นศูนย์กลางของโลก เพราะฉะนั้นคุณลลิตา เป็นผู้หนึ่งซึ่งทำในสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นแรงที่จะแก้ไขปัญหาข้อนี้ให้กับข้อคิดที่กล่าวแล้วนะคะ และผลักดันให้คนเข้าถึงธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ด้วยการวาดภาพพฤกษศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดความรักและความเพลิดเพลินในการที่จะเรียนรู้ที่จะรักธรรมชาติ
ดิฉันก็เป็นคนชอบวาดรูปคนหนึ่ง ก็รู้สึกได้ดีค่ะว่าการวาดรูปสิ่งที่เป็นธรรมชาติมันให้ความเพลิดเพลินความสุขกับชีวิตเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถเข้าถึงด้วยวิธีเช่นนี้ ก็เป็นวิธีที่ไปสู่อุดมการณ์นั้นได้ หนังสือ “ขอเพียงแต่เห็น” เป็นหนังสือเล่มแรกใน แนววาดภาพพฤกษศาสตร์ของไทยเรา และก็มีภาพวาดพฤกษศาสตร์ที่สวยกว่าร้อยภาพ มีเนื้อหาที่สนุก น่าสนใจเป็นอันมากด้วย หนังสือได้พาให้ผู้อ่านได้ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ และเพลิดเพลินไปกับสถานที่ที่น้อยคนจะได้สัมผัส เธอมีความมุ่งมั่น บุกป่าฝ่าดง ตัวเล็กๆ อย่างนั้นแต่สามารถที่จะเดินทางไปหลายแห่ง ไม่หวาดกลัวเลยนะคะ ไปประเทศรอบๆ บ้านเรา เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ ตลอดจนความเป็นอยู่ และสังคมของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกของเรา ผู้เขียนจึงมีแง่มุมที่น่าสนใจ และดิฉันคิดว่าหาได้ยาก หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนตั้งใจทำด้วยใจรัก และต้องการให้สังคมไทยเรามีจิตสำนึกใน การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งยังสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ที่เป็นที่รักของพวกเรา ทั้งเป็นการน้อมรับงานพฤกษศาสตร์โลกในปลายปีหน้าที่ประเทศไทยเราจะเป็นเจ้าภาพอีกด้วย ดิฉันจึงขอเชิญชวนและสนับสนุนให้ทุกคนได้ช่วยกันอ่านและช่วยกันเผยแพร่ และสร้างจิตสำนึกตามความมุ่งมั่นของ ผู้เขียน ดิฉันขอให้พวกเราได้ตั้งจิตอธิษฐานให้หนังสือเล่มนี้เป็นก้าวที่คุณลลิตา โรจนกร ได้เดินไปสู่จุดที่เธอต้องการ และมีความสุข มีพลังในการดำเนินงานให้แพร่หลาย เพื่อความเจริญมั่นคงของประเทศเรา และของโลกของเราสืบไปด้วยนะคะ ขอให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วๆ ไป ขอบคุณค่ะ
อภัยชนม์ :ในโอกาสนี้ขอเชิญคุณลลิตา โรจนกร มอบของขวัญแก่ท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์ นะครับ และขอเชิญคุณลลิตามอบภาพสีน้ำให้กับท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์ สำหรับมูลนิธิสายใจไทย เป็นภาพกล้วยไม้เพื่อนำไปประมูลในโอกาสต่อไปครับ (มอบภาพวาด)
ผมจะขออนุญาตใช้เวลาบนเวทีแห่งนี้ทำความรู้จักกับตัวคุณแจ๊ด หรือคุณลลิตา สักเล็กน้อยนะครับ หนังสือเล่มนี้ถือเป็นการจุดประกายในเรื่องของพฤกษศาสตร์บ้านเรา และมีสิ่งที่สำคัญ คือการเชิญชวนให้ทุกๆ คน ทั้งรุ่นผู้ใหญ่ รุ่นเด็ก มาสนใจในเรื่องธรรมชาติ เรื่องใกล้ตัว และเป็นสิ่งที่เห็นได้ จับต้องได้นะครับ อย่างไรก็ตามแต่ครับ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ได้ นอกเหนือจากทางร้านหนังสือ B2S ที่กรุณาเอื้อเฟื้อสถานที่แล้ว สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นก็จัดพิมพ์ให้อย่างตั้งใจจริงๆ ต้องขอบคุณท่านผู้บริหารของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเป็นอย่างสูง และเพื่อนสนิทมิตรสหาย แต่ที่สำคัญที่สุด นั่นก็คงจะเป็นสถาบันเอเชียศึกษาที่กรุณาให้ทุน และทำให้เป็นภาษาไทยขึ้นมาให้พวกเราได้อ่านกัน ในวันนี้นอกจากท่านสื่อมวลชนแล้วนะครับ ยังมีเพื่อนๆ ของคุณลลิตา และเพื่อนของสามีของคุณลลิตา สามีของคุณลลิตาตอนนี้ยังปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศรัสเซียครับ แต่เพื่อนสนิทท่านหนึ่งอยู่ใกล้หน่อยนะครับ ท่านเป็นเอกอัครราชทูตไทยอยู่ประเทศสาธารณรัฐสังคม เวียดนาม อยู่ฮานอย อุตส่าห์บินมาเมื่อเช้านี้ครับ ท่านทูตกฤษณ์ ไกรจิตติ ท่านเป็นเพื่อนรักกับสามีของคุณลลิตาครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมขอเริ่มเลยแล้วกันนะครับ ชื่อเล่นของคุณลลิตา คือ แจ๊ด ครับ ผมขอแนะนำคุณลลิตานะครับ
ในหนังสือเขาเขียนไว้ว่า ลลิตา โรจนกร นักเขียนและนักวาดภาพพฤกษศาสตร์ ที่ไม่ใช่นักวิชาการ และไม่ใช่นักพฤกษศาสตร์ หากเธอเป็น…ผู้รักในธรรมชาติ เธอบอกว่าหน้าที่หลักแท้จริงที่แสนภาคภูมิใจ คือการเป็นมารดาและภรรยา นี่คือสิ่งที่คุณ ลลิตาบอกมานะครับ และเธอบอกว่าเธอเขียนและวาดภาพจากใจ ด้วยสามัญสำนึกของผู้หญิงไทยตัวเล็กๆ ที่เดินทางแต่ ลำพังคนเดียว เพียงปรารถนาที่จะนำพาคนอ่านให้เพลิดเพลินไปกับภาพวาดพันธุ์ไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้ของเอเชียที่กำลัง ใกล้จะสูญพันธุ์ อีกทั้งยังสนุกไปกับการเดินทางดั้นด้นตามเธอบุกป่าฝ่าดง เพื่อไปเห็นดอกไม้นานาพรรณในหลากหลาย สถานที่ คุณลลิตาเธอจบการศึกษาด้านธุรกิจและภาษาจากประเทศอังกฤษ และประเทศฝรั่งเศส เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานแผนกทวิภาคีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยที่สถานทูตฝรั่งเศสอยู่เจ็ดปีครับ
เคยเป็นอาจารย์พิเศษภาควิชาภาษาฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สมรสกับคุณกษิดิศ โรจนกร เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ มีบุตรสองคน คือ กษิตและกษิตา หรือว่าเสือกับพลอยนะครับ ตอนนี้สามีประจำอยู่ที่กรุงมอสโคว์ ก็เลยพำนักอยู่ที่กรุงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย สิ่งที่สำคัญก็คือว่า ตลอดเวลาสามสิบกว่าปีในต่างแดน ในสิบกว่าประเทศ เธอได้ใช้เวลาว่างในการนำความรักออกมาเป็นรูปธรรม คือการวาดภาพ และภาพที่วาดในสามสิบกว่าปีนี้มีทั้งสีน้ำมัน สีน้ำมันจีน การวาดลงบนกระเบื้อง ส่วนการวาด สีน้ำมันทางพฤกษศาสตร์ช่วงหลังสิบปีนี้เองที่เธอหันมาวาด เธอได้แสดงงานศิลปะต่างๆ ที่เป็นผลงานของเธอในอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และเคยได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการวาดภาพทางพฤกษศาสตร์จากสมาคมไม้ประดับแห่งอังกฤษด้วยครับ
นี่เป็นการแนะนำในฉบับย่อที่สุดนะครับว่าแจ๊ดหรือลลิตานั้น กว่าจะมาเขียนหนังสือเล่มนี้นั้นเป็นมาอย่างไร ผมขออนุญาตถามเลยนะครับว่าเป็นไปเป็นมาอย่างไร ก็เห็นวาดรูปอยู่เฉยๆ เอารูปมาให้ผมดูบ้าง แล้วอยู่ๆ ทำไมถึงมาเป็นหนังสือเล่มนี้ได้
คุณลลิตา : สวัสดีทุกๆ ท่านนะคะ รู้สึกภูมิใจมากค่ะที่เป็นแม่บ้านธรรมดาๆ ท่านหนึ่งที่ไม่ใช่นักเขียนอาชีพ แล้วได้มีโอกาสมีหนังสือ มีวันนี้ ต้องขอขอบพระคุณสถาบันเอเชียศึกษาที่ได้สนับสนุนการพิมพ์ครั้งนี้นะคะ โดยได้นำหนังสือส่วนหนึ่งมอบให้กับโรงเรียนในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรม ราชกุมารี ขอกราบขอบคุณสถาบันเอเชียศึกษา ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช และคณะกรรมการสิ่งพิมพ์ทุกๆ ท่านนะคะ ถ้าถามว่าทำไมถึงมาวาดมาเขียนใช่ไหมคะ จริงๆ แล้ว…ที่เริ่มวาดเพราะมีใจรักที่จะวาดมาแต่เด็กๆ แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนโดยตรง และต้องตามสามีไปยี่สิบกว่าปีก็เกือบจะสิบประเทศ ชีวิตก็สับสนวุ่นวาย ต้องเดินทาง ต้องเปลี่ยนสังคม เพื่อนฝูง ภาษา สิ่งแวดล้อม ชีวิตก็วุ่นวายสับสน พอได้เจอกระดาษเปล่าๆ สองหน้าแผ่นหนึ่ง ดิฉันสามารถที่จะสร้างรูปด้วยตัวเองได้ ทำตรงไหนก็ได้ด้วยกระดาษแผ่นเดียวในบ้านเรา แล้วเราก็มีความสุขและสงบ นั่นเป็นจุดเริ่มต้น พอเรามีความสุข สงบ เราก็ชอบวาด ก็วาดไปเรื่อยๆ สามีก็สนับสนุน อาจจะเป็นเพราะเวลาเราวาดเราต้องมีสมาธิ และก็ต้องเงียบ ก็ไม่บ่นให้สามีจุกจิกรำคาญใจเขาก็เลยสนับสนุนให้วาดเยอะๆ ดี เงียบดี พอวาดๆ มันก็เต็มบ้านไปหมด ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็เลยจัดนิทรรศการแจกจ่ายออกไป สำหรับการเขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่เคยคิดที่จะเขียนเลย แต่พอเราเดินทางไปไหนมาไหน ก็พูดกับสามีว่าเราไปไหน เจออะไร ทำอะไร เจอใคร สามีก็บอกว่าน่าสนใจ ขนาดเขาเดินทางมาตั้งหลายประเทศเขาอ่านแล้วยังสนุกดี น่าจะเขียนออกมาให้คนอื่นอ่านบ้าง เพราะเป็นสิ่งที่พอเราไปเจอต้นไม้ ดอกไม้ ไปเที่ยวป่าเขามันทำให้เกิดความสุขและความสงบ ซึ่งมันหาได้ยากมากในปัจจุบัน ทำให้ได้พบกับคน ได้เพื่อน หรือได้ความกรุณา เราก็อยากให้คนอื่นได้ซึมซับความรู้สึกนี้ด้วย อันนั้น เป็นจุดที่ว่าทำไมถึงมาเขียนหนังสือ แต่ตอนนั้นเราก็ยังไม่คิดที่จะเขียน พอย้ายไปที่มอสโคว์ หน้าหนาวมันยาว หกเดือน หนาวลบยี่สิบองศา ออกไปไหนไม่ได้ ถึงได้เข้าใจว่าทำไมที่รัสเซียที่มอสโคว์ นโปเลียนก็ดีฮิตเล่อร์ก็ดีไปไม่ถึง ยอมแพ้ก่อน พอเราไปเจอหน้าหนาวที่นั่น เราก็เข้าใจว่าทำไมวรรณคดี กวีถึงเยอะเหลือเกิน วรรณคดีก็ยาวเหลือเกิน อย่างสงครามกับ สันติภาพ ที่เรารู้จักก็ยาวและเศร้า เมื่อเราไม่มีอะไรทำ ก็เลยเอาข้อมูลขึ้นมาปัดฝุ่น แล้วก็เขียนขึ้นมาเป็นหนังสือเล่มนี้
คุณอภัยชนม์ : ก่อนจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้ แจ๊ดไปทำอะไร คือพัฒนาการน่ะครับ จากวาดธรรมดา ไปอยู่อังกฤษ ไป สนใจ เห็นพฤกษศาสตร์ของเขา ซึ่งภาพพฤกษศาสตร์วาดยากมากนะครับ มันเหมือนการถ่ายภาพ แต่ต้องใช้ฝีมือวาด มันยากนะครับ เป็นมาอย่างไรครับ
คุณลลิตา : ตัวเราไปวาดภาพพฤกษศาสตร์ใช่ไหมคะ ก็เห็นว่าทางสถาบันเอเชียศึกษามีโครงการปัญญาสาธารชนแห่งเอเชีย หรือ API (Asian Public Intellectuals [API] Fellowships Program) ซึ่งตอนนี้มีคุณมิชิโกะช่วยประสานงานอยู่ ก็ให้คนในแถบบ้านเราที่จะเดินทางไปแลกเปลี่ยนความรู้ ไปศึกษาประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ทุนเป็นเวลา 3-4 ปี แจ๊ดขอไป 4 ปี เพื่อจะเดินทางไปดูการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศเพื่อนบ้านเรา เราไปต่างประเทศมาหลายทวีป แต่ไม่ใช่ประเทศในแถบ เอเชีย ก็อยากจะรู้ว่าเป็นอย่างไร ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซียก็ดี ก็มีพันธุ์ไม้เยอะ ก็เลยขอทุนกับทาง API ไปโดยมีเจตจำนงที่จะเดินทางเป็นเวลาหกเดือน ก็ได้เดินทางในช่วงนั้น
คุณอภัยชนม์ : ดอกไม้ใบไม้มีตั้งเยอะแยะ ดอกกุหลาบ ดอกอะไรมากมาย ทำไมถึงมาเลือกกล้วยไม้
คุณลลิตา: อันนี้ต้องถามอาจารย์อบฉันท์ ไทยทอง ท่านอาจารย์อบฉันท์มีความรู้เรื่องกล้วยไม้ดีมากที่สุด แจ๊ดสนใจกล้วยไม้เพราะเห็นว่ากล้วยไม้เป็นดอกไม้เป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์มาก สามารถขึ้นได้ทุกๆ แห่งในโลก ไม่ว่าจะหนาว จะร้อน จะฝนตกก็มีกล้วยไม้ และทั่วประเทศบ้านเราก็มีกล้วยไม้เยอะ มีรูปทรงที่ดี กล้วยไม้ขึ้นได้ทุกแห่ง ในโลกนี้ถ้ามีดอกไม้อยู่สิบชนิด จะต้องมีกล้วยไม้ ก็เลยสนใจกล้วยไม้ และได้กราบเรียนท่านอาจารย์อบฉันท์ อาจารย์ก็ให้คำแนะนำว่าจะต้องวาดอย่างไร ก็ได้รับความกรุณามาค่ะ
คุณลลิตา: อันนี้ต้องถามอาจารย์อบฉันท์ ไทยทอง ท่านอาจารย์อบฉันท์มีความรู้เรื่องกล้วยไม้ดีมากที่สุด แจ๊ดสนใจกล้วยไม้เพราะเห็นว่ากล้วยไม้เป็นดอกไม้เป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์มาก สามารถขึ้นได้ทุกๆ แห่งในโลก ไม่ว่าจะหนาว จะร้อน จะฝนตกก็มีกล้วยไม้ และทั่วประเทศบ้านเราก็มีกล้วยไม้เยอะ มีรูปทรงที่ดี กล้วยไม้ขึ้นได้ทุกแห่ง ในโลกนี้ถ้ามีดอกไม้อยู่สิบชนิด จะต้องมีกล้วยไม้ ก็เลยสนใจกล้วยไม้ และได้กราบเรียนท่านอาจารย์อบฉันท์ อาจารย์ก็ให้คำแนะนำว่าจะต้องวาดอย่างไร ก็ได้รับความกรุณามาค่ะ
คุณลลิตา:คือว่าถ่ายภาพแล้วมันวาดไม่ได้แน่นอน คุณแม่เองก็เป็นห่วงมากตอนที่จะไป พี่น้องก็บอกว่าทำไมไม่ไปซื้อที่ตลาดแล้วเอามานั่งวาดที่บ้านสบายๆ มันไม่เหมือนกันนะคะ ความรู้สึกที่เราได้ไปเห็นของที่เราวาดว่าวาดที่ไหน แล้วความรู้สึกเป็นอย่างไร มันไม่เหมือนกับของที่เราไปซื้อที่ตลาด ความรู้สึกที่ได้มันแตกต่างกันไป แล้วความสุขที่เราไปหาแล้วได้ไปเจอเขานั่งคอยเราอยู่ ความรู้สึกมันท่วมท้น ทำให้เกิดความซึมซาบว่าธรรมชาติได้ให้สิ่งเหล่านี้กับเรามา แล้วมันอยู่ตรงนั้นแล้ว ทำไมเราไม่ฉกฉวยโอกาสนี้เพื่อจะได้ไปพบเขา ไปดูว่าเขาเกิดขึ้นมาได้ยังไง มันเป็นความสุขค่ะ
คุณอภัยชนม์ : คือความรัก ความสุข นอกเหนือจากความเป็นแม่เป็นภรรยาแล้ว เวลาที่เหลืออยู่ก็เลยไปนิ่ง ไปรักกับสี รักกับภู่กัน วาดกันไปวาดกันมา มีความสุขตรงนั้น แล้วก็ไม่อยากไปดูมันเฉยๆ ก็เลยไปวาดมันออกมา เริ่มยังไง แล้วใช้เวลาอย่างไรครับ
คุณลลิตา : ตลอดเวลาที่เราไปเห็น ส่วนมากก็จะวาดเลย ดอกไม้ ต้นไม้ อะไรที่ประทับใจ ดอก รูปทรง หรือว่าอะไรเราก็จะร่าง แล้วก็ถ่ายภาพ เพื่อให้ถูกต้องตามรายละเอียดต่างๆ เวลาที่เราจะวาดต้นไม้สักต้นหนึ่ง ต้นไม้ต้นนั้นก็เหมือนเป็นเพื่อนกับเรา เมื่อเป็นเพื่อนกับเรา เราก็ต้องดูให้ดีใช่ไหม หน้าตา รูปทรง จับต้องว่านิ่มหรือเปล่า มีกลิ่นหรือเปล่า อะไรต่ออะไรในรายละเอียดต่างๆ เสร็จแล้วเราก็จะร่าง คราวนี้เวลาที่เราไปวาดตามธรรมชาติ ก็จะมีอุปสรรคเยอะ ทั้งแดด ทั้งฝน ทั้งลม บางครั้งก็อาจจะอันตราย เดี๋ยวมืดเดี๋ยวอะไร ก็ต้องทำงานให้ทันเวลา แจ๊ดว่าสนุกค่ะ
คุณอภัยชนม์ : ที่คุณแจ๊ดวาดมามันไม่ใช่ดอกไม้สดๆ มีแม้กระทั่งใบไม้ที่เหี่ยวๆ ไปแล้ว ประสงค์อะไรบ้างครับ หรือว่าต้องการวาดให้เห็นเป็นวัฏสงสาร
คุณลลิตา : วัฏสงสารเป็นส่วนหนึ่งนะคะ แต่แจ๊ดเป็นคนชอบใบไม้ ใบไม้จะวาดยากกว่าดอกไม้เยอะ เพราะใบไม้มีสีเดียว จะได้ความรู้สึกที่สวยงามและความกลมกลืนนี่ยากมาก เพราะฉะนั้นชอบค่ะ ชอบใบไม้ ชอบทุกอย่างของใบไม้ ทุกท่านคงจะพอสังเกตได้ว่า ใบไม้หน้าที่ฝนตกเยอะๆ ใบไม้เริ่มร่วง เกาะตามต้นไม้ ทำให้เราได้สะท้อนกลับมาที่ตัวเราว่าชีวิตเราก็อยู่ไปได้ไม่นาน
คุณอภัยชนม์:ก่อนที่จะสนใจเรื่องพฤกษศาสตร์ ทราบว่าแจ๊ดไปทั้งอังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ ลองเปรียบเทียบให้ดูสักนิดได้ไหมครับว่าทางด้านยุโรปกับเอเชียของเรา ในเรื่องพฤกษศาสตร์ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้มีมากน้อยแค่ไหนครับ
คุณลลิตา : ค่อนข้างจะมีมาก คนจะหันมาให้ความสนใจเรื่องการวาดรูป การอนุรักษ์ ประเทศที่พร้อมมากกว่าก็จะสามารถหันมาให้เวลากับการวาดรูป หรือสนใจในเรื่องธรรมชาติได้มากกว่า ในประเทศเราก็โชคดีที่มีพระประมุข มีพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เห็นการณ์ไกล ได้นำทางให้พวกเราเดินตาม และรักษาพันธุ์พืชพันธุ์ไม้ธรรมชาติของเรา
คุณอภัยชนม์ : ผมมองว่าน่าจะเป็นการจุดประกายที่ดี เรื่องพฤกษศาสตร์บ้านเราฟังดูแล้วเฉยๆ อังกฤษเห็นมีตั้ง 400-500 ปีมาแล้ว
คุณลลิตา : ค่ะ เขาก็สนใจ คนญี่ปุ่นก็พร้อมด้วยหลายด้าน มีเวลา และก็มีความสนใจในการที่จะดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
คุณอภัยชนม์ : บางคนต้องสู้กันเรื่องราคา เพื่อจะได้สายพันธุ์ที่ดี อยากจะให้ท่านผู้มีเกียรติได้รับทราบข้อมูลตรงนี้ครับ
คุณลลิตา : กล้วยไม้เป็นของมีราคานะคะ และมีคนนิยมกันเยอะ เมื่อมีคนนิยมราคาก็ไม่เหมือนกับดอกกุหลาบ ดอกมะลิ ก็ต่างกันไป แล้วคนรักกล้วยไม้ก็มีหลายแบบ แต่ก็จะมีคนให้ความสนใจกันเยอะมากสำหรับกล้วยไม้ในบ้านเรา
คุณอภัยชนม์ : ผมมีความรู้สึกว่าคนไทยเราใกล้เกลือกินด่าง เห็นกล้วยไม้สวยดีเราก็ว่าสวย แต่ก็ไม่ถึงกับตะเกียกตะกายกันดุเดือด แต่เห็นฝรั่งมั่งค่าเขาสนใจกันจริงๆ จังๆ นะครับ ผมมีอีกหนึ่งคำถามสำคัญที่จะถาม คุณแจ๊ดจะตอบ หรือ ท่านอาจารย์สุภางค์ สถาบันเอเชียจะเป็นผู้ตอบก็ได้ครับ คือหนังสือของทางสถาบันที่ออกมาหนักมากเลย หนักทางสาระ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมที่มันหนัก แล้วทำไมสถาบันเอเชียถึงสนับสนุน “ขอเพียงแต่เห็น” เล่มนี้ครับ
คุณลลิตา :คือต้องกราบเรียนว่าหนังสือเล่มนี้ที่ประทับใจมากสำหรับแจ๊ด ตอนลงมือเขียนก็ประทับใจในสิ่งที่ตัวเองได้เห็นผ่านมา แต่ที่ประทับใจมากๆ คือตอนทำหนังสือ ตอนแรกตั้งใจที่จะร่างขึ้นมาเพื่อที่จะเขียนเป็นภาษาอังกฤษให้ลูกสองคนคือลูกเสือกับลูกพลอยอ่าน เพราะเขาเกิดที่เมืองนอก โตที่เมืองนอก พูดภาษาไทยชัดแต่ว่าอ่านไม่ค่อยออก ก็อยากให้เขา มีส่วนร่วม รับรู้และซึมซาบสิ่งดีๆ ในโลกนี้ที่แม่เจอมา