ศิลปะเป็นอีกหนึ่งภาษาสากลที่ชักจูงผู้คนให้ทำการสื่อสารกัน ภาพถ่ายเป็นงานศิลปะอีกแบบหนึ่ง ที่สามารถสื่อสารให้ความหมายอันลึกซึ้ง สามารถสื่ออารมณ์ถึงความประทับใจ ความสุข ความเศร้า ความเหงา ออกมาได้ด้วยตัวของมันเอง ภาพถ่ายที่ไร้ซึ่งคำอธิบายใต้ภาพ แต่เราสามารถเข้าใจในความหมายของภาพ และรู้สึกได้ตามนั้น คือภาพถ่ายที่เรียกว่า เป็นศิลปะอย่างแท้จริง และทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้ อย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้ถ่ายทอดไว้ในหนังสือภาพชื่อ “Eastern Corner”
สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นร่วมกับร้านเฮมล็อคจัดงานเปิดตัวหนังสือ “Eastern Corner”ซึ่งเป็นหนังสือรวมภาพถ่ายเล่มใหม่ของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พร้อมการเสวนากันในหัวข้อ “มุมมองศิลปะภาพถ่าย ของคุณเสกสรร ตามภาษาเพื่อนพ้องน้องพี่” ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณมานิต ศรีวานิชภูมิ, คุณกำธร เภาวัฒนสุข และคุณแทนไท ประเสริฐกุล มาเป็นผู้ร่วมเสวนา ร่วมด้วยคุณนาตยา แวววรีคุปต์ มาเป็นพิธีกรผู้มาสร้างสีสันให้กับงาน
คุณมานิต ศรีวานิชภูมิ กล่าวถึงผลงานของพี่เสกสรรค์ ในเล่มนี้ว่า ความจริงแล้วมีคนมากมายที่สามารถถ่ายภาพได้ แต่ทำไมผมต้องมาตื่นเต้นกับพี่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นั่นก็เพราะความเป็นพี่เสกสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติชีวิต ความคิดความอ่านของ ที่หลาย ๆ คนก็คงรู้ดี แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือการนำความคิดมาจับเป็นภาพถ่าย คนที่เป็นนักคิดคนที่ผ่านอะไรมามากมาย โดยเฉพาะคนที่เป็นนักเขียนที่มีระบบความคิดที่เป็นระบบ ผมเองก็เฝ้าติดตามอยู่ห่างๆ ดีใจที่วันนี้เห็นผลงานของพี่เสกเป็นเล่มและเป็นผลงานที่น่าสนใจมาก ซึ่งสามารถแบ่งผลงานชุดนี้ได้เป็น 3 กลุ่ม
1. เป็นภาพถ่ายบันทึกเชิงสารคดี คือเป็นภาพประกอบการเดินทางของพี่เสกในตัวภาพเองทำหน้าที่เล่าเรื่องที่พี่เสกไม่ได้พูดในตัวหนังสือ
2. คือเรื่องของสิ่งที่ปัจจุบันเสกสรรค์ ประเสริฐกุลเป็น นั่นคือความคิดแนวพุทธปรัชญา แนวคิดของเซน ในผลงานชุดนี้เราก็จะเห็นว่าพี่เสกจะใช้แนวความคิดในเชิงปรัชญาและแนวคิดเซนตัวอย่างเช่น ภาพสะพานข้ามแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว เป็นภาพที่สะท้อนถึงแนวความคิดซึ่งก็เป็นงานที่น่าสนใจมากเพราะคนทำงานแนวนี้มีน้อย โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่ทำงานตรงนี้จะเป็นการ วิพากษ์วิจารณ์สังคม
3. ในงานนี้เราจะเห็นผลงานที่มีการกัด จิก วิพากษ์เล็ก ๆ ผมมองว่าการแสดงความคิดเห็นทางสังคมเราไม่ควรไปขมวดปลาย และเสกสรรค์ ประเสริฐกุลก็ทำอย่างนั้นเช่นกัน เขาปล่อยให้ภาพทำหน้าที่ของมัน แล้วคนดูก็ตีความหมายตามความคิดของเขาเอง ซึ่งตัวผมก็ชอบภาพแนวปลายเปิดแบบนี้
ยกตัวอย่างภาพผู้หญิงสวมหมวกนาซีอุ้มลูกและหอบดอกไม้ นัยของความหมายต่าง ๆ การที่มนุษย์เราอยู่โดยไม่รู้อะไร และไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามันคืออะไรเป็นวิถีชีวิตที่อยู่อย่างผสมปนเป การที่ผู้หญิงสวมหมวกนาซีโดยที่เธอเองไม่ได้รู้สึกอะไร ความหมายที่มีอยู่ต่างๆ อาจจะมีความหมายในประเทศหนึ่ง แต่พอมาอยู่ในประเทศที่สามก็อาจไม่มีความหมายอะไรเลยหรือความหมายต่างๆ อาจเปลี่ยนไป ขณะเดี่ยวกันก็มีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ อยู่ เช่น การอุ้มลูก ผู้หญิงที่หอบดอกไม้ อะไรที่เป็นชาวบ้าน วิถีชีวิตอะไรที่เป็นแบบนี้จะมีความน่าสนใจมากก็อยากช่วยสนับสนุนหนังสือภาพของคนไทย ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าคนไทยจะซื้อหรือเปล่าก็เอาใจช่วยเพราะคนไทยก็ไม่นิยม ทางสำนักพิมพ์ก็ได้จัดพิมพ์เป็นสองภาษาเพราะถึงแม้คนไทยไม่ซื้อแต่ก็ยังมีคนต่างชาติที่ชอบรูปภาพศิลปะซื้อ ซึ่งผมได้ทราบว่า คนแรกที่มาซื้อหนังสือเล่มนี้ คือชาวเยอรมัน และเขาพูดว่า “ฉันชอบภาพขาว-ดำ”
นั่นคือจุดน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ งานชิ้นนี้เป็นภาพขาว-ดำ หากเราลองมองภาพแรกที่เป็นภาพสี แล้วมองภาพที่สองเป็นภาพขาว-ดำ จะรู้สึกแตกต่างกันมาก ถึงแม้ว่าภาพอาจเหมือนกัน ที่สำคัญคือการที่เป็นภาพขาว-ดำ เป็นการพรากเอาสีออกจากวัตถุ ดึงเอาสิ่งที่ฉาบฉวยเรื่องของสีเรื่องของสิ่งล่อตาออกไป จุดเด่นของภาพขาว-ดำคือ เราสามารถเข้าไปถึงสิ่งที่ต้องการสื่อ Content ได้เลย โดยไม่ต้องมานั่งติว่าชอบสีนั้นไม่ชอบสีนั้น ขณะเดียวกันความที่เป็นภาพขาวดำอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นความโหยหา เป็นความ classic และในตัวของมันเองก็สร้างสุนทรียภาพที่สะสมมาเป็นร้อยปีของภาพขาว-ดำ คือถ้าคนที่ไม่เคยมีภาพขาว-ดำมาก่อนภาพแรกที่เห็นคือภาพสีก็อาจไม่รู้สึกแตกต่างอะไรระหว่างภาพสีกับขาวดำ ผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าทุกวันนี้มีแต่ภาพขาว-ดำกระทบต่อการรับรู้ (Perception) ของเราอย่างไร มันมีอะไรบางอย่างที่เป็นเสน่ห์ของมันเป็นอีกมิติหนึ่งและชวนให้โหยหาอยู่เหมือนกัน
หากถามว่าคนไทยเสพภาพถ่ายต่างกันกับต่างชาติไหม ก็ต้องยอมรับว่าต่างกันอยู่ เมื่อคนไทยดูภาพแล้วไม่ชอบ ไม่เข้าใจ หรืออยากดูอะไรที่ง่าย ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ต้องการดูวิวทิวทัศน์พื้น ๆ ผมว่าเป็นเรื่องของคนที่ทำงานศิลปะที่ต้องทำหน้าที่เชื่อม ทำหน้าที่สร้างความรู้ความเข้าใจ เพราะภาพถ่ายศิลปะนี้เป็นภาษาสากล คนต่างชาติดูไม่รู้จักหรอกเสกสรรค์ ประเสริฐกุล แต่เมื่อเห็นภาพถ่ายก็รู้ว่านี่เป็นภาพถ่ายของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มันก็จะก้าวข้ามกำแพงที่มีภาษาเป็นตัวกั้น ผมคิดว่ามันได้เปรียบตรงนี้ ผมก็คงไม่สามารถไปแสดงงานทั่วโลกงานที่ใหญ่ระดับประเทศได้ถ้าผมไม่ทำภาพถ่าย ถ้าผมเขียนวรรณกรรมไทยชีวิตผมก็คงอยู่แถว ๆ นี้ เพราะฉะนั้นมันมีข้อจำกัดในทางวัฒนธรรม แต่ผมคิดว่าก้าวข้ามของเสกสรรค์ ที่ทำงานตรงนี้ มันจะก้าวข้ามกำแพงวัฒนธรรมไปอีกขั้นอย่างสบาย
คุณแทนไท ประเสริฐกุล ลูกชายของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้แสดงความคิดเห็นถึงภาพถ่ายของพ่อว่า รูปของพ่อก็มีอยู่หลายแบบ หลายแนว ทั้งภาพสะท้อนถึงความปวดร้าวของสัตว์ที่ถูกกักขังหรือเป็นแบบความยากจนแร้นแค้นของผู้คน หรือว่าห้วงยามที่มีพลังความสงบนิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมจะไม่พูดถึงภาพเหล่านั้น เพราะมันอธิบายเพียงแค่รูปที่โดนใจผม และคิดว่ามันตลก เป็นภาพที่มีอารมณ์ขัน อย่างภาพผู้หญิงสวมหมวกนาซีนี้ คือหญิงคนนี้เขาไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลยอย่างที่พี่มานิตได้กล่าวไว้ เอาหมวกนาซีมาใส่เดินไปไหนมาไหนคนก็มอง แต่ว่าจริงๆ ถ้ามองอีกแบบหนึ่งคือ “คนที่ดูภาพแล้วรู้สึกตลกคนนั่นแหละคือคนตลก” คือหมายถึงตัวเราเองไปยึดติดกับสัญลักษณ์พวกนั้นว่ามันต้องมีความหมาย แต่จริง ๆ แล้วหมวกมันก็คือหมวก ที่เอาไว้ใส่กันลมกันแดดเท่านั้นเอง
มีอีกภาพที่เป็นภาพขันคือ ภาพสามคนพ่อแม่ลูกที่นั่งมอเตอร์ไซค์ ตอนแรกที่ผมมองภาพนี้ยังไม่ทันสังเกต มองเพียงว่าชีวิตคนในกรุงเทพฯ นี่มันลำบากจริงๆ พอสังเกตดีๆ ก็จะเห็นภาพโปสเตอร์ครอบครัวพ่อหมีแม่หมีและลูกหมีสุขสันต์ที่มีสามตัว ในขณะที่สามคนพ่อแม่ลูกถูกรถเมล์เบียด ถูกรถกระบะเบียดซึ่งมันก็ให้อารมณ์ที่เป็นภาพเสียดสีเหมือนกัน อีกภาพเป็นภาพที่คุณแม่หาบลูกซึ่งอีกข้างจะเป็นฝืนไม้ที่เก็บมาได้ ตลกตรงที่ว่าหาบที่คุณแม่แบกมาทั้งสองข้างต้องกะน้ำหนักให้เท่ากัน แต่ถ้าหากวันไหนเก็บฝืนมากหนักกว่าลูกข้างที่ลูกนั่งก็จะลอย วันไหนเก็บได้น้อยข้างที่ลูกนั่งก็จะลงต่ำคิดแบบวิทยาศาสตร์ มันก็แล้วแต่คนมอง
เรื่องการเสพงานศิลปะผมก็สังเกตจากผมตัวเองนะครับ ว่าผมก็ชอบดูงานศิลปะต่างๆ ตามแกลลอรี่ (Gallery) เวลาว่างกับเพื่อนๆ มันเป็นความสุนทรีในชีวิต ส่วนคนทั่วไปถ้าจัดงานศิลปะในที่สาธารณะมากๆ อย่างเซ็นทรัลเวิลด์ (CentralWorld) กลางพารากอน (Paragon) ก็จะได้รับความสนใจมีคนเข้าไปดูไปชมมากมายไม่ถึงกับไม่มี ในโลกของคนชอบดูงานศิลปะอย่างผมอย่างเพื่อนๆ ก็รู้จักและรวมถึงผู้สร้างงานศิลปะอย่างคุณพ่อ คุณอา คุณลุง และเพื่อนๆ ของคุณพ่อผมก็คุ้นเคย แต่ในโลกของคนที่จะซื้องานศิลปะผมไม่รู้จักเลยว่าคนไทยประเภทไหนที่ชอบซื้องานศิลปะ และผมควรจะสำนึกผิดมั้ยที่ชอบดูแต่ไม่ชอบซื้อเพราะไม่มีเงิน
คุณกำธร เภาวัฒนสุข ผู้ทำหน้าที่ปริ้นภาพในหนังสือเล่มนี้ ได้แสดงความคิดเห็นถึงภาพเหล่านี้ว่า จุดเริ่มต้นอของการถ่ายรูปคือต้องได้รูปที่ดีก่อน ส่วนคนมาทำงานต่อก็จะค่อย ๆ แก้ปัญหา ถ้าต้นทางรูปมาดีแล้ว คนที่แก้ปัญหาทีหลังก็จะง่าย แต่ถ้าคนไหนรูปมา OVERหรือUNDER มาก ก็จะมีปัญหา แต่สำหรับอาจารย์เสกสรรค์จะไม่มี เพราะท่านมีพื้นฐานดีอยู่แล้วผมก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก ภาพที่ถ่ายมาบางภาพเป็นภาพสีมาก่อนถ่ายด้วยฟิล์ม negative ด้วยบางภาพก็เป็น Digitalสีบ้าง ภาพก็เป็นฟิล์มขาว-ดำ ส่วนการถ่ายขาว-ดำผมก็ไปช่วยทำ Photoshop บ้างเล็กน้อย
ในฐานะที่ได้มีโอกาสเห็นผลงานภาพถ่ายของคุณเสกสรรค์มามากพอสมควร ผลงานในช่วงแรก ๆ จะ เห็นว่า ส่วนใหญ่อาจารย์เน้นเรื่องการบันทึกแบบเล่าเรื่อง ว่าใครทำอะไรอยู่ที่ไหนใครเป็นยังไง แต่ช่วงหลังๆ อาจารย์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในแนวความคิด ตัวอย่างเช่น รูปที่เป็นใบไม้ เราจะสังเกตเห็นว่าอาจารย์เริ่มมองในจุดที่เป็นความละเอียดมากขึ้น ความพุพัง ความเสื่อมสะลาย ตามแนวพุทธปรัชญาที่อาจารย์ได้ศึกษามา และผลงานในช่วงหลังก็เป็นแนวความคิดเกี่ยวกับเซนที่ถ่ายต้นไม้ต้นเดียว ต้นไม้ที่โดดเดี่ยว เก้าอี้ที่เดียวดายผมคิดว่าช่วงนั้นอาจารย์เน้นเรื่องความรู้สึกเป็นหลัก
อีกชุดก็เป็นแนวความรู้สึกคือภาพชีวิตสัตว์ป่าในสวนสัตว์ที่ถูกกักขังซึ่งมีทั้งความเซ็ง ความเบื่อของมัน ที่อาจารย์ได้ถ่ายทอดความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมโลก จะสังเกตเห็นว่าเมื่ออาจารย์ปล่อยวางมากขึ้น อาจารย์ก็เห็นมากขึ้นเริ่มมีมุมมอง เหมือนคนที่อยู่ภายนอกแล้วมองโลกที่เป็นอยู่ ต่อไปผมก็อยากติดตามผลงานของอาจารย์เสกสรรค์ต่อไปและก็อยากเห็นถึงแนวคิดผลงานของอาจารย์ว่าในแต่ละช่วงจะเป็นอย่างไร และมันจะมีจุดเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนด้วย อย่างเช่น งานที่มันจะเป็นสะพานข้ามลำน้ำเชี่ยวที่มันเดินไปสู่จุดสูงของขุนเขามันสะท้อนให้เห็นว่าอาจารย์ได้ก้าวผ่านลำน้ำนี้ไป จะเห็นได้ว่าในช่วงยุคนั้นกับงานเขียนยุคนั้นของอาจารย์นี่มันเป็นเรื่องของความรันทดในความที่อาจารย์เป็น พอมาในงานครั้งหลังอาจารย์เริ่มสงบและค้นหาความสงบ และพออาจารย์เริ่มปล่อยวางแล้วจะเห็นได้ว่าอาจารย์มองโลกอย่างสนุก ขณะเดียวกันก็เห็นได้ว่ามีการเสียดสี เยาะเย้ยถากถาง โดยที่ไม่แยแสว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป
มีงานอีกชิ้นหนึ่งคนอาจจะมองว่าเป็นงานสารคดีธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วผมกลับชอบความเรียบง่ายในรูปนี้ คือแม่ชีเป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบ ซึ่งคุณอยู่ในความสงบนี้คุณก็ถือว่าสงบได้ แต่อีกคนหนึ่งต่อให้นั่งเงียบยังไงแต่ถ้าอยู่ในความทุกข์มันก็สงบไม่ลง เหมือนกับว่าเป็นโลกสองโลกในเวลาเดียวกัน
เรื่องการเลือกการเสพและซื้องานศิลปะภาพถ่าย ที่แทนไทกล่าวไว้ อยากจะบอกว่าจริง ๆ แล้วงานศิลปะภาพถ่ายมันไม่ได้อยู่เพียงแค่นี้มันยังอยู่ในโปสการ์ด แก้ว กระดาษ ที่รองจาน ถุงกระเป๋า แม้แต่เสื้อมันสื่อได้หมดอย่างวันนี้เราสนใจภาพถ่ายแต่ถ้าเราไปเมืองนอกเราก็ต้องซื้อโปสการ์ดใบละ 150 บาทแต่ถามว่าอยู่ในเมืองไทยคุณซื้อมั้ย มันต้องถามกลับไปว่าคนที่เสพงานศิลปะนั้น หมายถึงคนในวงที่จะขยายใหญ่ที่สามารถซื้อผลงานเก็บได้ในขนาดที่คนอย่างเราไม่สามารถซื้องานเก็บได้ แต่เราก็สามารถเสพงานศิลปะได้เพราะมันแทรกซึมอยู่ในทุกที่ในชีวิตประจำวันของเรา
คุณเสกสรรค์ ประเสิรฐกุล กล่าวทิ้งการทำงานและพูดถึงมุมมองของตัวเองในการทำงานเล่มนี้ว่า รู้สึกดีใจที่มีเพื่อนพ้องน้องพี่และบุตรหลานให้ความสนใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ผมรู้สึกทึ่งที่แต่ละท่านได้มีมุมมองเกี่ยวกับผลงานภาพถ่ายของผมและมีคำอธิบายและหลายๆ อย่าง ก็ไม่เคยนึกถึงมาก่อนเลยว่าตอนที่ผมกดชัตเตอร์ถ่ายภาพเหล่านี้ ได้ใช้ความรู้สึกมากในความรู้สึกที่มันใช่ อย่างที่แทนไททักว่าทำไมพ่อมือไว คือความรู้สึกมันบอกว่าเป็นภาพที่ใช่ของเรา แต่ว่าทำไมมันถึงใช่ก็เลยจะมาอธิบาย พอได้มาฟังการวิจารณ์ในความหมายที่ว่าจำแนกแยกแยะว่าเขามีความรู้สึกอย่างไรต่อผลงานของเรา เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากยิ่งแทนไทที่มองว่าเป็นภาพตลกก็เพราะคนมองเป็นคนตลก ซึ่งเป็นธรรมะขั้นมากที่รู้ว่าโลกทั้งหมดที่ถูกสร้างขึ้นแต่จริงๆ แล้วตัวมันเองอาจไม่มีจริงก็ได้