ตลาดหนังสือแปลไทยเป็นเทศ : ในบริบทตลาดโลก จากปากคำผู้เล่นจริงเจ็บจริง (ตอนจบ)

ตลาดหนังสือแปลไทยเป็นเทศ

เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายกันแล้วสำหรับ มุมมองและประสบการณ์ของคุรอาทร เตชะธาดา ที่ให้สัมภาษณ์คุณกรญาณ์ เตชะวงค์เสถียร นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่ School of Oriental and African Studies, University of London, United Kingdom ซึ่งกำลังทำงานวิจัยปริญญาเอกในหัวข้อที่เกี่ยวกับการแปลอยู่ โดยมีหัวข้องานวิจัยชื่อว่า ‘Role, Development and Market of Translation of Thai Literature into Foreign Languages’ โดยวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ จะมีการวิจัยเกี่ยวกับการแปลหนังสือไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีสมมติฐานการวิจัยหลักเกี่ยวกับปัจจัยอันเนื่องกับการแปลว่าหนังสือหรือนวนิยายไทยที่เป็นภาษาต่างประเทศ ทำไมถึงพบเห็นได้น้อยมากในตลาดนานาชาติ

มาดูถึงการมองตลาดของหนังสือแปล ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เรียนรู้กันได้ แต่มีอยู่จุดหนึ่งคือ สายตาที่มองตลาดขาดว่า ประเทศไหนต้องการงานในแนวทางหรือประเภทไหน การทำรางวัลชมนาด เป็นประสบการณ์ตรงที่คุณอาทรได้ตระเวนเดินทางไปร่วมงานบุ๊กแฟร์ในต่างประเทศเพื่อขายลิขสิทธิ์หนังสือที่ได้รางวัลชมนาดมาในรอบหลายปีอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เงินซื้อไม่ได้ต้องเดินชนและทำด้วยตัวเอง...

+ เรื่องการตลาดในการขายลิขสิทธิ์หนังสือไทยแปลเป็นภาษาต่างประเทศ มีจุดมุ่งหมายอย่างไรบ้าง
อย่างรางวัลชมนาด จุดมุ่งหมายในการแปล แน่นอนแหละ มันไม่ได้แค่หวังแค่ระดับประเทศ แต่อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นที่รู้จักในระดับภูมิภาค จริงๆ แล้ว ผมฝันไปไกลถึงระดับ international อย่างใบที่แจกข่าวหรือ Press Release ที่ให้คนส่งงานมาประกวดนะ จะบอกเลยว่าจะออกบุ๊กแฟร์ที่ไหนบ้าง ไปออกโรดโชว์ที่ไหนบ้าง เช่น ไทย บุ๊กแฟร์ แล้วไปลอนดอน บุ๊กแฟร์ จากนั้นไปแฟรงค์เฟิร์ต บุ๊กแฟร์ คือเอาหนังสือที่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไปโรดโชว์ว่า ก่อนไปเราจะติดต่อเอเยนต์ไว้ล่วงหน้า คือไม่ได้ไปแบบมั่วๆนะ มีการส่งจดหมายไปถึงคู่ค้าที่เราคิดว่า เจ้านี้น่าจะเป็นคนซื้อลิขสิทธิ์ หรือเจ้านี้จะเป็นคนที่สามารถเอาหนังสือเราขึ้นอเมซอน หรือสามารถเข้าเครือข่ายหนังสือขนาดใหญ่มีการจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเสร็จแล้วเผยแพร่ออกสู่ตลาดนานาชาติ เพราะมันจะได้ออกไปทั่วโลกไง ทุกครั้งที่ไปบุ๊กแฟร์จะมีสำนักพิมพ์จากทั่วประเทศนะ แล้วเราก็มานั่งคัดรายชื่อ จุดมุ่งหมายพูดชัดอยู่แล้ว การทำงานของเราจะเล่าว่า ทำงานจริงจังแค่ไหน ไม่ใช่แค่ตีปี๊บ มีการภาษาอังกฤษพิมพ์เสร็จแล้ว

ไม่เหมือนกับหน่วยงานราชการหลายต่อหลายแห่ง จัดพิมพ์แล้วนะ สนับสนุน แล้วยังไงถามหน่อยสิ ก็คือคุณไม่ทำให้ครบกระบวนการ เมื่อเริ่มแปลที่มีคุณภาพ บก.ที่มีคุณภาพ เสร็จแล้วไม่ใช่กองเก็บไว้ที่กระทรวง ควรดูไปถึงผู้จัดจำหน่าย ร้านค้าที่มีคุณภาพภายในประเทศ แล้วคุณก็ต้องดูผู้จัดจำหน่ายและร้านค้าที่มีคุณภาพในเอเชียอาคเนย์หรือภูมิภาค คุณก็ค่อยขยับไปสิ บุ๊กแฟร์สำคัญๆ คุณไปหรือเปล่า เอาหนังสือไปโรดโชว์หรือเปล่า เปล่า ผมยืนยันเลยนะ บุ๊กแฟร์เขามีทุกปีนะ โดยเฉพาะบุ๊กแฟร์ใหญ่ๆ ในโลกนี้ มีที่ซื้อขายลิขสิทธิ์กัน ต้องไปที่เป็นบุ๊กแฟร์ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งก็มีลอนดอน บุ๊กแฟร์ มีแฟรงค์เฟิร์ต บุ๊กแฟร์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ถ้าเกิดคุณต้องการขายหนังสือที่เป็น Finish Products คือเป็นเล่มแล้ว คุณก็ต้องไปที่ Book Expo อย่าง อเมริกัน บุ๊ก เอ็กซ์โป ที่สหรัฐอเมริกาใช่ไหม

คือจะต้องเลือกคนที่ทำให้หนังสือคุณ เมื่อฝันไกลก็ต้องไปให้ถึง ลงเรี่ยวแรงมาก เรากล้าพูดได้ คือจริงๆ แบบต้องใช้คำว่า ‘ทุ่มเทเพื่อให้’ นอกจากรางวัลที่ก็ได้รับการยอมรับในระดับประเทศแล้ว ระดับระหว่างประเทศก็ต้องทำต่อ ถ้าในประเทศ ผมว่าผมทำสงครามของผมสำเร็จ ไปเช็กข่าวดูได้ว่ารางวัลชมนาด แค่ผมทำ 3 ครั้ง เป็นข่าวในสื่อมวลชนครึกโครม และโซเชียลมีเดียในต่างประเทศ กล่าวคือคือแทบทุกเว็บไซต์ ภาษาเขมร ทุกภาษาสำคัญของโลกนะ ภาษาจีน สำนักข่าวซินหัวก็ทำข่าว ทีวีด้วย ซีซีทีวี ของจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาสวีเดนมีหมด

+ ประสบการณ์ที่ลุยหนักอย่างนี้ รางวัลชมนาดก็ถือเป็นการขายลิขสิทธิ์งานแปลที่ทำแบบครบกระบวนการเลย
ทำยังไงให้คนได้อ่านหนังสือที่เราจะขายลิขสิทธิ์ อ่านงานคุณภาพจริง มันไม่ใช่เก่งแต่สร้างภาพ รู้จักไหม...การสร้างภาพ ก็คือเก่งแต่ประชาสัมพันธ์แต่ถึงเวลานักเขียนไม่ได้เผยแพร่งานของเขา ค่าลิขสิทธิ์จริงๆ ได้จากแค่เพียงเมืองไทย ภาษาจีนเขาได้ไหม ภาษาเยอรมันได้ไหม เยอรมนีก็มีออสเตรีย ใกล้ๆ กัน แล้วก็มีสวิสเซอร์แลนด์ ผมไปมาหมด สิ่งเหล่านี้เพราะว่าอะไร ก็ทำงานจริงไง ค้นคว้าจนเจออย่างแรนดอม เฮ้าส์ ผมกล้าพูดได้เลย หยิ่งมากเลยนะ เป็นสำนักพิมพ์ที่เขาขายชื่อเป็นแฟรนไชส์ได้ ถ้าขึ้นชื่อว่าพิมพ์หนังสือก็สำนักพิมพ์แรนดอม เฮ้าส์ โก้ใช่ไหม นี่เขายังไม่มีแรนดอม เฮ้าส์เมืองไทยนะ เกาหลีมีแล้วเพราะเจ้าของสิทธิไม่ปล่อยเป็นแฟรนไชส์ของเขาง่ายๆ มีแรนดอม เฮ้าส์ เยอรมัน มีแรนดอมเฮ้าส์ อังกฤษ มีแรนดอม เฮ้าส์ ยูเอสเอ ฯลฯ

พูดง่ายๆ เขาก็มีชื่อมานานแล้ว ทำงานจริงจังมาก เพราะไปเยี่ยมสำนักเขามา วันแรกขอไปพบนะแสนยากเลย ได้เครือข่ายพาไปนะ บก.ที่เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการเอเชียบุ๊ก ผมจ้างเขาเดือนหนึ่งร่วมแสนนะ ครั้งที่ 2 รางวัลชมนาด เขาสามารถนำตัวแทนระดับสูงของแรนดอม เฮ้าส์ มาพบผมเองที่แฟรงก์เฟิสต์ บุ๊กแฟร์ ตรงบุ๊กไทย พาวิลเลี่ยน ผมเลยรู้ไง คุณสนใจหนังสือผม แล้วคุณจะปล่อยยังไง แปลเป็นภาษาเยอรมันคุณจะขายยังไง เราถึงรู้ไงว่าแต่ละคนก็เชี่ยวชาญในพื้นที่ของเขาอะไรอย่างนั้น ถ้าทำจริงจะรู้ คือมันเหมือนกับงานที่ทำไปก็เรียนรู้ไปด้วยนะ เขาเรียกว่า ออน เดอะ จ๊อบ เทรนนิ่ง แต่ถ้าคุณไม่มีใจไม่มีทุน ความรู้มันก็ยังไม่ได้เป็นองค์ความรู้ที่เป็นวิชาการอย่างเป็นระบบ ก็ต้องทำจริงถึงจะรู้ไง

และผมเพิ่งรู้ว่าถ้าเกิดจะเผยแพร่งานที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเก๊า ต้องคุยกับเจ้านี้นะ แล้วก็การจัดจำหน่ายคุยกับใคร การซื้อขายลิขสิทธิ์คุยกับใคร ซื้อที่ไหน มันมีการขาย 2 แบบ คือขายเป็นไลเซนต์กับขายเป็นฮาร์ดก๊อปปี้ เดี๋ยวนี้มีขายประเภทที่ 3 ขายเป็นดิจิตอล ออนไลน์ ซับซ้อนมาก เพราะรางวัลชมนาดนี่แหละ ทำให้ผมมีความรู้งานระหว่างประเทศเยอะ เพราะว่ามันไฮ โปรไฟล์ไง ผู้สนับสนุนรายการหลักของเราตอนนี้คือ ธนาคารกรุงเทพ แล้วในเว็บไซต์ของธนาคารกรุงเทพก็บอกเลยว่า รางวัลที่เขาสนับสนุนมี 2 รางวัล มี ซีไรต์กับชมนาด คุณเข้าใจไหมว่า ธนาคารกรุงเทพเป็นบริษัทที่ไฮ โปรไฟล์ มีสาขาไปทั่วโลก ที่ลอนดอนก็มี ผมก็ต้องทำงานจริงจังให้เขาเห็น แล้วก็อยากจะให้เพื่อนนักเขียนไทยเขาได้เห็นการทำงานด้วย ให้สำนักพิมพ์ไทยได้เห็นด้วยว่ามีคนทำงานอย่างนี้กัดไม่ปล่อย ผมนี่แหละประเภทเจ็บตัวไม่เลิก บางคนเป็นห่วงผมนะ ห่วงจริงๆ จะขายได้เหรอ...อะไรต่ออะไร โอ๊ย! ไม่ต้องห่วง ถ้าผมตัดสินใจแล้ว มันก็ต้องแบกรับความเสี่ยง แต่เกณฑ์การเลือก...เราเลือกมากขึ้น

+ จะถามเรื่องเกณฑ์ในการเลือก อันดับแรกคือรางวัลชมนาด เลือกผ่านคุณภาพงานเขียนโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ถ้าอย่างสำนักพิมพ์เขาเลือกกันอย่างไร
ขณะที่ผมทำงานเป็น บก.สำนักพิมพ์ขนาดเล็กสมัยหนึ่ง ในฐานะที่ผมเป็นนักอ่าน...ผมเลือกเอง เป็นรสนิยมของผม หรือรสนิยมของ บก.อาทร นั่นก็คือ Reader Choices เป็นการเลือกจากผู้อ่านต้นฉบับคนเดียว แต่ว่าถ้าเป็นธุรกิจหรือเป็นงานสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นปัจจุบัน ผมก็เลือกผ่านคณะบรรณาธิการ โดยฟัง Editorial Choices ซึ่งสำนักพิมพ์ของผมก็มี Editors และ staffs อยู่สี่แบรนด์ ที่ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันที่ดูแลตลาดเป้าหมายของเขา ส่วนกรณีรางวัลชมนาดเรียกว่าเป็น Committee Choices และกรรมการก็ไม่สนใจตลาดว่า พิมพ์หนังสือเล่มนี้แล้วจะขายดีไม่ดี พวกท่านเน้นที่หนังสือดีเนื้อหาให้ประโยชน์แก่สังคมเป็นหลัก เรื่องตลาดเป็นเรื่องของคนที่เป็นสปอนเซอร์ไปทำกันเอง และการทำตลาดหนังสือรางวัลจะง่ายหรือยาก อยู่ที่ความเที่ยงธรรมของคณะกรรมการแต่ละคณะในแต่ละรอบการประกวด ตอนนี้อย่างผมจะหาคนแปลงานหนังสือรางวัลซีไรต์เป็นภาษาอังกฤษ ผมก็จะดูว่ากรรมการชุดไหนมีวิจารณญานและวินิจฉัยที่น่ารับฟัง

นักเขียนต้องไว้ใจบรรณาธิการในการเลือกหนังสือให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้อ่านของตน แต่ว่าถ้ามีสปอนเซอร์ไม่มีปัญหา ขายได้ขายไม่ได้มีคนช่วยซื้อแจก ส่วน Editor Choices แน่นอนมีความเสี่ยงที่ต้องลงทุนในตลาดหนังสือฝากขายของบ้านเรา บรรณาธิการสำนักพิมพ์นอกจากสนใจคุณภาพงานแล้วยังต้องเข้าใจความต้องการของผู้อ่านแต่ละ segment แต่ละกาลเทศะ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผมบางทีก็สามารถแยกแยะได้ดี แต่ผมก็ดันอ่านหนังสือเยอะ อยู่ในวงการมานาน ก็มีวิวาทะกันบ้างกว่าจะเลือกหนังสือได้เหมาะสมกับผู้อ่านของเรา ผมและทีมงานไปที่ไหน ก็มักจะสนใจเรียนรู้ความต้องการของผู้อ่านแต่ละวัฒนธรรมอยู่เสมอ อย่างไปเมืองจีน ซึ่งเขาอยากได้งานเขียนเกี่ยวกับชีวิตเกย์มากเลยนะ วรรณกรรมเกี่ยวกับเกย์ เพราะรัฐบาลจีนเขาคุม มีกฎหมายห้ามลักเพศด้วย กะเทย (เกย์-ทอม เป็นต้น) ที่ประเทศของเขาจะไม่เปิดเผยเหมือนเมืองไทย บรรยากาศคล้ายเมืองไทยเมื่อ 30 หรือ 40 ปีก่อน คนไหนเป็นกะเทยต้องหลบๆ ซ่อนๆ และเมื่อคนจีนมาเมืองไทยในปัจจุบัน เขาแปลกใจว่า ทำไม! ผู้ชายควงกันเป็นคู่ๆ เลย ผู้หญิงก็ควงกันอย่างสบายอารมณ์ เขาก็เลยอยากรู้ว่าสังคมไทยมันเปิดขนาดนี้เชียวหรอ จีนเขาเป็นสังคมที่ปิดยิ่งปิดก็ยิ่งอยากรู้ไง คนที่เป็น content provider อย่างผู้จัดพิมพ์ฯ อย่างเราๆ จำจะต้องเปิดหูเปิดตาให้กว้าง และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

+ นั่นคือเกณฑ์ที่เลือกมาจัดพิมพ์ในแง่ของสำนักพิมพ์ไม่เกี่ยวกับรางวัลชมนาดใช่ไหม
ไม่เกี่ยว เพราะหนังสือรางวัลชมนาด เป็น Committee Choices ไง ซึ่งเป็นเกณฑ์เรื่องคุณภาพเป็นหลัก เพราะกรรมการเขาไม่สนใจว่าหนังสือเล่มนั้นจะขายออกหรือขายไม่ออก ไม่ได้เอาเกณฑ์การขายเป็นตัววัดอย่างเล่ม 'ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน' ของ ธนัดดา สว่างเดือน เรื่องนี้มีการถกเถียงนะว่า ควรจะเผยแพร่หรือไม่ในเรื่องของโสเภณี เพราะว่ารางวัลมันต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย กรรมการเขาก็เถียงกันเพื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนที่สุด เพื่อหามติที่เป็นเอกฉันท์ แต่หนังสือเรื่องดังกล่าวเมื่อได้รับรางวัลแล้ว มีคนซื้ออ่านอย่างกว้างขวางมากกว่าคนในเมืองไทย มีการแปลออกไปหลายภาษา ถือว่าขายได้ดีก็ว่าได้ อันนี้ช่วยไม่ได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในความคาดหวังของคณะกรรมการรางวัลชมนาดชุดดังกล่าวอย่างแท้จริง

+ กลุ่มเป้าหมายของหนังสือที่แปลและพิมพ์ออกไป คือที่ไหนและขายที่ไหนบ้างนอกจากร้านเอเชียบุ๊ค ได้ออกไปบุ๊กแฟร์ใช่หรือเปล่า
บุ๊กแฟร์ระหว่างประเทศ มันเป็นที่พบปะของ Publisher และ Distributor คือมันเป็นธุรกิจแบบ B2B ก็คือ องค์กรธุรกิจกับองค์กรธุรกิจ บุ๊กแฟร์ระหว่างประเทศไม่ว่าจะขายสิทธิ์ ซื้อสิทธิ์ขายสิทธิ์หรือว่าจะขายเป็นเล่ม เป็นเรื่องของ B2B ทำเรื่องขององค์กรธุรกิจกับองค์กรทำธุรกิจมาเจอกัน คือไม่ใช่บุ๊กแฟร์แบบงานที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ของเรานะอย่างนั้น เป็น B2C (B to C) ก็คือขายปลีกชนิดตรงจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค ส่วนผมไม่ค่อยได้ทำแล้ว เพราะมีแผนกที่ทำด้านนี้โดยตรง และเก่งกว่าผม สำหรับผมไม่มานั่งขายหนังสือทีละเล่มหรือทีละล๊อตแล้วนะ ยิ่งทำงานระหว่างประเทศแล้วจะชวนผมมานั่งเปิดร้านขายกับคิโนะคุนิยะ ผมก็ไม่สน แม้ในเมืองไทยร้านหนังสือภาษาไทย ทั้งที่เรามีเครดิตกับซัพพลายเออร์อยู่ ร้านหนังสือไทยผมยังไม่เปิดเลย ขี้เกียจไปแข่งกับซีเอ็ด นายอินทร์ ซึ่งเขาก็ไปไกลแล้วและตอนนี้อาจต้องถอยหลังด้วยซ้ำ เพราะมันมีเรื่องอีบุ๊กเข้ามา และมีข่าวเกี่ยวกับธุรกิจร้านหนังสือเครือข่ายขนาดใหญ่ในเมืองนอกปิดสาขา หรือกระทั่งปิด Chain เลย ในหลายต่อหลายประเทศ...ผมขออนุญาตที่จะไม่ตอบคำถามต่อ เพราะคำถามเริ่มวนและเกินเลยไปจากจุดประสงค์ที่แจ้งไว้ให้ผมทราบแต่ก่อนจะเริ่มและทำสัมภาษณ์นะครับ.

การถอดบทเรียนจากประสบการณ์เล่นจริงเจ็บจริงในตลาดหนังสือนานาชาติของคุณอาทร ในเรื่องการขายลิขสิทธิ์งานแปลก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาเพื่อเรียนทางลัดของสำนักพิมพ์ต่างๆ ในเมืองไทยที่หวังไกลจะนำหนังสือของตัวเองออกโกอินเตอร์บ้างไม่มากก็น้อย...

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ