ฉบับนี้ ออล แม็กกาซีนได้เดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เพื่อนัดพบนักเขียนสตรีที่ได้สร้างสรรค์งานวรรณศิลป์อันทรงคุณค่ายาวนานกว่า 50 ปี ผลงานกว่า 60 เรื่อง ผ่านปลายปากกาชื่อว่า กาญจนา นาคนันทน์ และนามปากกาอื่น ๆ มุ่งรังสรรค์ความงดงามแห่งชีวิตชนบทไทย พร้อมสอดแทรกคติธรรมของพระพุทธศาสนา ผ่านตัวละครหลากหลายรูปแบบ นวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เป็นละครโทรทัศน์ เช่น ผู้ใหญ่ลีกับนางมา, ผู้กองยอดรัก - ยอดรักผู้กอง, ผู้กองอยู่ไหน และธรณีนี่นี้ใครครอง ฯลฯ
บรรยากาศบ้านสวนที่เรากำลังนั่งสนทนาในวันนี้ เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความอบอุ่นใจ ทุกวันนี้ ‘กาญจนา นาคนันทน์’ หรือ‘นงไฉน ปริญญาธวัช’ ยังคงสร้างสรรค์ผลงานจากองค์ความรู้เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้นักเรียนที่แวะเวียนมาอ่านหนังสือในห้องสมุดกาญจนา นาคนันทน์ ซึ่งอุทิศให้เป็นศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ทำให้ได้เห็นการทำงานของนักเขียนที่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และยังคงสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้สังคม
all : เริ่มต้นเขียนงานตั้งแต่เมื่อไหร่
กาญจนา นาคนันทน์ : ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.3 คุณครูให้เขียนบทประพันธ์ แล้วก็ฝึกเขียนมาเรื่อย ๆ
all : นวนิยายชิ้นแรกคือเรื่องอะไร
กาญจนา นาคนันทน์ : เรื่อง ‘สามดรุณ’ เขียนเมื่อปี 2489 เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้ชาย 3 คน ที่เป็นเพื่อนสนิท แต่ชีวิตครอบครัวที่แตกต่างกัน ดีถีเป็นลูกเจ้าคลังจังหวัด ส่วนชนเป็นเด็กวัด และดอกไม้เป็นลูกคนคุก ทั้ง 3 คนต่างมีปัญหาชีวิตและก็พยายามช่วยเหลือกัน จนผ่านอุปสรรคเหล่านั้นมาได้ และยังประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของตน
all : ทราบว่า บ้านเกิดอยู่จังหวัดชัยภูมิ มีเรื่องอะไรบ้างที่นำเสนอเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวชัยภูมิ
กาญจนา นาคนันทน์ : ‘บ่วงโลกีย์’ เขียนที่ชัยภูมิ คือเราเกิดที่ไหน ไปที่ไหน เราก็หาเรื่องมาเขียน เรื่องที่มันเกี่ยวกับท้องถิ่น ที่สำคัญต้องมีธรรมะ ตัวละครต้องเป็นคนดี และอ่านแล้วสนุกสนาน (หัวเราะ)
all : ชอบอ่านหนังสือเล่มไหนเป็นพิเศษ
กาญจนา นาคนันทน์ : ดิฉันอ่านสารพัดเรื่อง หนังสือของใครก็อ่าน อย่าว่าแต่หนังสือภาษาไทยเลย ภาษาอังกฤษเราก็อ่าน แต่เราจะชอบภาษาไทยมากกว่าภาษาอังกฤษ เพราะภาษาอังกฤษมีแค่ 24 ตัว ส่วนภาษาไทยมี 44 ตัว ในช่วงหนึ่งก็เคยมีใครบางคนพยายามจะลดภาษาไทยของเราให้เหลือเพียง 24 ตัว ยายก็ด่าเลยว่า ไอ้บ้า เรื่องอะไรจะต้องไปลดทอนภาษาของเขา เราเป็นคนไทยก็ต้องเรียนรู้ภาษาไทยและตอนหลังก็ล้มเลิกไป ช่วงนั้นทำให้บ้านเมืองวุ่นวายไปหมด บางครั้งเราเห็นว่าหนังสือภาษาอังกฤษที่แปลมาเป็นภาษาไทย มันไม่เข้าท่า เราก็เลยอยากจะนำเสนอเรื่องราวของเมืองไทยบ้าง เช่น เรื่องบ่วงโลกีย์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจังหวัดชัยภูมิ พอออกจากจังหวัดชัยภูมิ เราก็ไปอยู่ที่โคราช ก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับโคราช พอมาอยู่กรุงเทพ เราก็เขียนเรื่องกรุงเทพ ตอนนี้อยู่ที่จังหวัดจันทบุรีก็เขียนถึงที่นี่บ้าง (ยิ้ม)
all : เรื่องสุดท้ายที่เขียนคือเรื่องอะไร
กาญจนา นาคนันทน์ : เรื่อง ‘ไปรษณีย์ทำหล่น’ เป็นเรื่องที่ 60 ทำไมถึงเขียนเรื่องไปรษณีย์ทำหล่นก็เพราะว่า วันหนึ่งเราเอาจดหมายไปส่งที่ไปรษณีย์ แล้วก็เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เป็นผู้หญิงมันตอแหล (หัวเราะ) เราไปส่งต้นฉบับสองเล่ม เจ้าหน้าที่ส่งให้เล่มเดียว แล้วเอาเงินเข้ากระเป๋าไป ต้นฉบับเล่มนั้นก็หายไป ในที่สุดเจ้าหน้าที่คนนั้นก็ถูกไล่ออก เราก็เขียนเรื่องไปรษณีย์ทำหล่นเป็นเรื่องสุดท้าย
all : สร้างสรรค์ผลงานกว่า 60 เรื่อง มีเรื่องไหนบ้างที่ชื่นชอบมากที่สุด
กาญจนา นาคนันทน์ : ทุกเรื่องที่เราเขียน เราก็ต้องชอบ และถ้าจะบอกว่าไม่ชอบก็คงไม่ได้ เราต้องชอบทุกเรื่องที่เราเขียน และเนื้อหาต้องมีธรรมะ ซึ่งส่วนใหญ่นางเอกพระเอกจะต้องเป็นคนดี เพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต กาญจนา นาคนันทน์ กว่า 50 ปีที่สร้างสรรค์วรรณกรรมไทย
all : ทุกวันนี้ยังเขียนหนังสืออยู่หรือเปล่า
กาญจนา นาคนันทน์ : ทุกวันนี้ยังเขียนอยู่ แม้ว่าจะไม่ใช่นวนิยายเล่มใหญ่ ๆ แต่ก็เป็นเรื่องสารพัดประโยชน์ และต้องใช้ปากกาด้ามใหญ่ ๆ เขียน (หยิบปากกาเคมีให้ดู) พอเขียนเสร็จแล้วก็ฝากให้นักเรียนที่เข้ามาอ่านหนังสือในห้องสมุด ช่วยพิมพ์ให้สักสองฉบับ แล้วก็ส่งไปยังสำนักพิมพ์พลอยจันทร์ ส่วนอีกหนึ่งฉบับเก็บเอาไว้อ่านเอง
all : กว่าจะเขียนนวนิยายได้หนึ่งเล่ม มีวิธีหาข้อมูลอย่างไร
กาญจนา นาคนันทน์ : หาแถวนี้ไง (หัวเราะ) เช่น ถ้าจะเขียนเรื่องของการศึกษานอกระบบ (กศน.) ก็มีนักเรียนเข้ามาเรียนในห้องสมุดกาญจนา นาคนันทน์ เราก็เข้าไปนั่งเรียนกับเขาด้วย นั่งฟังที่เขาสอน บางทีเราก็ช่วยพูดเพิ่มเติม และนำข้อมูลตรงนั้นมาเขียน
all : หลังจากได้ข้อมูลแล้ว ใช้จินตนาการช่วยเสริม ให้เรื่องราวสนุกสนานมากขึ้นหรือเปล่า
กาญจนา นาคนันทน์ : เราไม่ได้ใช้จินตนาการ ส่วนมากเราจะต้องเห็น ต้องสัมผัสสิ่งเหล่านั้น แล้วก็เอามาเขียนเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย
all : ทุกวันนี้ได้อ่านงานของนักเขียนรุ่นใหม่บ้างไหม
กาญจนา นาคนันทน์ : งานของคนอื่นเราก็อ่าน แต่ไม่ชอบ งานของคนอื่นส่วนมากเขาเขียนเรื่องเกี่ยวกับกรุงเทพฯ เราเป็นเด็กบ้านนอกก็เขียนเรื่องบ้านนอกสิ (หัวเราะ)
all : เรื่องผู้กองยอกรัก ยอดรักผู้กอง ผู้กองอยู่ไหน ได้โครงเรื่องมาจากไหน
กาญจนา นาคนันทน์ : สามเรื่องนี้ ผู้กองยอดรัก เป็นเรื่องจริงของคนหนึ่งที่เรียนกฎหมาย แล้วก็พ่อยอมเสียเงิน 6,000 บาท เพื่อจะไม่ให้ลูกชายถูกเกณฑ์ทหาร แต่ลูกก็หัวดื้อแอบไปสมัคร จึงได้ไปเกณฑ์ทหาร พอไปเป็นทหารก็เลือกที่จะไปรับใช้ที่บ้านนายพล ก็ไปซักเสื้อผ้า ทำกับข้าว แล้วว่าง ๆ ก็ออกไปทำงานส่วนตัว ยายก็เอามาจากเรื่องจริงของเพื่อนที่เป็นทหาร (หัวเราะ) ตอนวันเสาร์ – อาทิตย์ ไม่มีสอนหนังสือก็ไปค่ายทหาร เขาก็ไปซ้อมเต้นรำกัน เราก็ไปซ้อมเต้นรำกับเขาด้วย เอาทุกอย่าง (หัวเราะ) หัวหน้าไม่ชอบเรา เพราะไม่ไปไหว้เขา ก็ซ้อมเต้นรำกับคนอื่นไป (หัวเราะ) ได้ข้อมูลจากตรงนั้น เลยนำมาเขียนเป็นนวนิยาย
all : นวนิยายแต่ละเรื่องที่เขียน ใช้เวลานานไหม
กาญจนา นาคนันทน์ : อย่างเรื่องผู้กองยอดรัก ยอดรักผู้กอง และผู้กองอยู่ไหน ใช้เวลาเขียน 5 ปี เพราะว่าผู้กองยอดรักคือตอนที่เขาจีบลูกสาวนายพล จนกระทั่งแอบหนีไปเที่ยว แล้วก็ยอดรักผู้กอง คือตอนพระเอกไปเป็นทหารแถวเมืองญวน ส่วนเรื่องที่สามผู้กองอยู่ไหน เป็นตอนที่ผู้กองถูกขโมยตัว แต่งงานแล้วจะไปฮันนีมูนที่หัวหิน ก็ถูกจับไปเป็นตัวประกันในป่า ก็เลยกลายเป็นหมอที่ช่วยรักษาคนไข้ในป่าด้วย แล้วปลุกปลอบพนักงานทั้งหลาย บอกว่าอย่าอยู่ในป่าเลย กลับไปบ้านเมืองของเราดีกว่า ในที่สุดเรื่องนี้ก็สำเร็จ คือเพื่อนมาขอร้องให้เขียน ก็เลยลองเขียนเรื่องนี้ดู แล้วเขาก็พาไปดูสถานที่จริง ขึ้นไปบนยอดเขา เพื่อจะไปดูว่าทหารที่อยู่ในป่าเขาทำอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าจะได้เงินมาง่าย ๆ ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเขียนเรื่องนี้เสร็จ แล้วก็ออกมาเป็นชุด
all : แล้วเรื่องผู้ใหญ่ลีกับนางมาที่นำมาสร้างละครและภาพยนตร์ ถือเป็นเรื่องแรกที่ ‘จินตหรา สุขพัฒน์’ ได้แจ้งเกิดในวงการบันเทิง ดูแล้วรู้สึกอย่างไร
กาญจนา นาคนันทน์ : ผู้กำกับก็ทำดีนะ และนักแสดงก็เล่นดี เขาเติมนั่นนี่ลงไปตามประสาของการทำละคร อะไรที่ยังขาดอยู่ เขาก็เติมลงไป เราไม่ว่าอะไรกันเพื่อความสนุกสนาน
all : ยกตัวอย่างการหาแรงบันดาลใจก่อนจะเขียนงาน
กาญจนา นาคนันทน์ : เราสนใจธรรมะ และปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เคยไปบวชชีที่จังหวัดเพชรบุรี พอจบพรรษาเพื่อนก็ชวนไปเดินเล่นบนหาดทรายริมทะเล ตอนนั้นสุขภาพไม่ค่อยดี เดินยังไม่คล่อง พอได้เห็นท้องทะเลก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจเขียนเรื่อง ‘โลกกว้าง’ (หัวเราะ) ไปที่ไหนก็ได้เรื่องมาเขียน และภายหลังมีคนมาแต่งเพิ่มเติมเป็น ‘ในโลกกว้าง’
all : สมัยก่อน การตรวจต้นฉบับต้องผ่านบรรณาธิการ มีการตัดสำนวนหรือประโยคที่ไม่จำเป็นออกไหม
กาญจนา นาคนันทน์ : ไม่ได้ตัด บรรณาธิการเขาเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก่อน ชื่ออาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง เราส่งงานเขียนให้เป็นประจำ เคยไปขอร้อง จนอาจารย์ยอมแก้งานให้ อะไรที่ไม่ดีก็ช่วยแนะนำ (หยุดคิด แล้วพูดขึ้น) เกิดเป็นคน หนังสือเป็นต้น วิชาหนาเจ้า ถ้าแม้นไม่รู้ อดสูอายเขา ผู้คนเยาะเย้า ว่าเง่าว่าโง่ บางคนเกิดมา ไม่รู้วิชา เคอะอยู่จนโต ไปเป็นข้าเขา เพราะเขาเง่าโง่ (จำได้แค่นี้ หัวเราะ) เราอยากจะเริ่มพิมพ์เรื่องบ่วงโลกีย์ เพื่อขายในราคาถูก ๆ แล้วก็จะขอให้บรรณาธิการช่วยขายให้ด้วย บอกว่าจะไม่มีอีกแล้ว เพราะว่าอย่างสุนทรภู่ เขียนเรื่องพระอภัยมณี เขาก็ยังเป็นบุคคลสำคัญของโลก ทำไมเรื่องของเราจะอยู่บ้างไม่ได้ (หัวเราะ) แล้วงานเขียนของเราอยากจะไล่เรียงลำดับ ตั้งแต่ชัยภูมิ โคราช กรุงเทพฯ จันทบุรี ฯลฯ
all : มีอะไรอยากจะฝากถึงนักเขียนรุ่นใหม่บ้างไหม
กาญจนา นาคนันทน์ : แต่ละคนมีถนนเดินคนละถนน (หยุดคิด) ถนนอย่างที่ดิฉันเดินนั้น คือ ถนนที่เกิดจากความจริงของประเทศไทย เช่น ในเรื่องบ่วงโลกีย์ก็มีความจริงของประเทศไทยอยู่ในนี้เยอะแยะเลย ถ้าเป็นเรื่องที่คิดเอาเอง เราไม่เขียน เพราะฉะนั้นการสอนให้เขียนหนังสือ ก็ต้องบอกเลยว่า คุณต้องมีคติว่า จะเขียนเพื่ออะไร เพราะอะไร เรื่องนี้จะบรรยายเกี่ยวกับอะไร จุดเน้นของเรื่องอยู่ที่ตรงไหน แต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน กาญจนา นาคนันทน์ กว่า 50 ปีที่สร้างสรรค์วรรณกรรมไทย
ชีวประวัติ
นงไฉน ปริญญาธวัช อายุ 94 ปี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2555 เกิดที่จังหวัดชัยภูมิ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา และปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต เป็นนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานหลากหลายประเภททั้งนวนิยาย, วรรณกรรมเยาวชน, เรื่องสั้น, สารคดี, และบทกวี ผลงานชิ้นแรก ชื่อเรื่อง ‘สามดรุณ’ พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ‘สตรีสาร’ ใช้นามปากกาว่า ‘กาญจนา นาคนันทน์’ และนามปากกาอื่น ๆ เช่น ธวัชวดี, น.ฉ.น, ดนัยศักดิ์ เป็นต้น ปี 2511 วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง ‘โลกกว้าง’ ได้รับรางวัลยูเนสโก โดยมีเนื้อหาที่ส่งเสริมศีลธรรม ให้ผู้อ่านมองเห็นความงดงามของชีวิต ผลงานเล่มนี้ยังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และเรื่อง ‘นิทานคุณย่า’ ถือเป็นผลงานแปล เล่มแรกที่แปลมาจากนิทานรัสเซีย
ขอบคุณที่มา all-magazine
นัดพบนักเขียน : วิภาวรรณ ประไวย์
ภาพ : เอกพงศ์ ตันติผลประเสริฐ