คุยนอกรอบ ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม : วรรณกรรมอาเซียน เสียงสะท้อนแห่งภูมิปัญญาและการเชื่อมโยงความเป็นมนุษย์

คุยนอกรอบ ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม

     วรรณกรรมไม่เพียงเป็นเครื่องมือถ่ายทอดเรื่องราว แต่ยังทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของผู้คนที่อยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะในบริบทของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายทางภาษา ความเชื่อ และวิถีชีวิต บทสัมภาษณ์นี้นำเสนอแง่มุมที่ลึกซึ้งจาก ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม อาจารย์ นักวิชาการ นักเขียนและนักอ่านจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนของวรรณกรรมในการเชื่อมโยงผู้คนผ่านพรมแดนความคิดและวัฒนธรรม

 


อ่านเอาความในความหมายของอาจารย์

    ประเด็น “อ่านเอาความ” ผมคิดว่าเป็นประเด็นหลักสำคัญของงานที่พวกเรากำลังทำ เวลาเราอ่านหนังสือ เราจำเป็นจะต้องเข้าใจว่าหนังสือต้องการจะสื่ออะไร ข้างในอยากจะสะท้อนมุมไหน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี หรือว่าเป็นศิลปะ ผมว่ามันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ สิ่งเหล่านี้ผมว่าเป็นหนึ่งการสะท้อนที่สำคัญของการอ่าน

    ถ้าหากว่าเวลาเราอ่านหนังสือเราไม่รู้ว่าเราได้ความยังไง เราก็ไม่สามารถลงลึกถึงรายละเอียด ถึงบริบทต่างๆได้ ด้วยเหตุนี้ “การอ่านเอาความ” น่าจะเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการทำความเข้าใจเรื่องของวรรณกรรม งานเขียน หรือว่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ “อ่านเอาความ” เป็นสิ่งที่เหมือนเป็นจุดหมายสำคัญที่นักอ่านทุกคนจำเป็นจะต้องเข้าใจเรื่อง เข้าใจมุมที่อยากสะท้อน และอยากจะนำเสนอ

     เมื่อเรารู้ความแล้วเราก็สามารถที่จะเข้าใจเรื่อง เข้าใจบท เข้าใจรายละเอียด 3-4 ทักษะ สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันสำคัญนะครับ ทำให้เกิดการตั้งคำถามประเด็นถัดมา เพื่อที่จะนำมาสู่การขบคิด วิพากษ์วิจารณ์ และก็ถอดเกร็ดองค์ความรู้ต่าง ๆ ออกมา

 

 

มุมมองเกี่ยวกับวรรณกรรมอาเซียน สะท้อนตัวตนของภูมิภาคอย่างไรบ้าง

    ผมรู้สึกว่าถ้าหากให้ดูงานช่วงหลังที่อาจจะได้รับรางวัลหรือว่างานที่มีคนนำเสนอส่วนหนึ่งที่เห็นกลิ่นอายก็คือเกี่ยวกับเรื่องของภูมิภาคหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น  สิ่งเหล่านี้มันจะเชื่อมโยงให้พวกเราเห็นความเป็นคนความเป็นมนุษย์ว่าแต่ละคนต้องสู้กับอะไร บางคนอาจจะสู้บรรยากาศสังคมที่เปลี่ยนไป บางทีเรื่องของภาษา เรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของโลกสมัยใหม่ที่มันท้าทายเข้ามา นี่คือธีมที่ผมเห็นซึ่งอาจจะมีเยอะแยะมากมายกว่านี้

     สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นว่าความเชื่อมโยงของเรา ความเชื่อมโยงของคน  แต่ท้ายที่สุดแล้วเรามีความเป็นคนที่เชื่อมกัน อาจจะผ่านวัฒนธรรม ผ่านภาษา ผ่านอาหารการกิน ซึ่งไม่มีใครครอบครองวัฒนธรรมเหล่านี้ด้วยตนเอง แต่ว่าต่างคนต่างรับ ต่างคนต่างส่งต่อ และก็ส่งทอดวัฒนธรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา ภาษาที่เราคิดว่าเป็นภาษาไทย แต่ความจริงไม่ใช่ ภาษาเหล่านี้มันมีการลื่นไหล มันมีการเดินทาง งานเขียนบางเล่มได้พูดถึง ภาษา สิ่งเหล่านี้ก็มีอิทธิพลระหว่างกัน

     ผมมักจะพูดให้ฟังบ่อย เช่น คำว่า "ถือศีล" ที่ภาษาไทยเราใช้คำว่า "บวช" คำนี้ แรกเริ่มมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ที่มาจากคำว่า “อาปัววาซะ” ที่แปลว่า การกระชับตัวเอง หรือ วิถีแห่งการเข้าใกล้พระเจ้า หลังจากนั้นคำ “อาปัววาซะ” นี้ก็เดินทางมาในแหลมมาลายู มันก็เปลี่ยนจาก “อาปัววาซะ” เป็น “ปัวซา” (فواس)  ซึ่งแปลว่า ถือศีลอดสำหรับมุสลิม แต่คำ “ปัวซา” (فواس)  นี้มันก็แปลออกมาเป็นภาษาไทยว่า บวช  ซึ่งมีความละม้ายคล้ายคลึงแล้วก็คาบเกี่ยวกัน

     แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะ เขตแดนความเชื่ออย่างไร แบบไหน คำเหล่านี้มันส่งอิทธิพลกับทุกคน คำว่า "บวช" ในความเป็นพุทธ ก็คือหมายถึงการถือศีลแน่นอน ซึ่งในมุมของสังคมมุสลิม คำว่า "บวช" ก็คือการ "ถือศีล" ท้ายที่สุดรากศัพท์ของคำนี้ก็คือการ "Fasten belt" การรัดตัวเองให้แน่น รัดเข็มขัดตัวตน รัดเข็มขัดอารมณ์ รัดเข็มขัดกิเลส รากศัพท์คำนี้ถึงแม้จะแปรเปลี่ยนไปในหลายบริบทหลายภาษา หลายวัฒนธรรม หลายภูมิปัญญา แต่ท้ายที่สุดรากของมันก็คือเพื่อที่จะเป็นแนวทางเข้าสู่แนวทางแห่งดำรงตน ด้านศีลธรรม คุณธรรม ท้ายที่สุดแล้วในความเป็น อาเซียนของพวกเรา เราต่างรับ เราต่างส่งมอบระหว่างกัน ไม่มีใครผูกขาดความคิด ไม่มีใครผูกขาดภูมิปัญญา แต่เราหนุนเสริม และมีอิทธิพลระหว่างกัน

      คำว่า “ซึมบือและ” (سمبليه) แปลว่า การเชือดสัตว์ เวลาทำกับข้าว เราก็อาจจะเชือดสัตว์ จากคำว่า  “ซึมบือและ” (سمبليه) มันก็แปลเป็นภาษาไทย แปลว่าชำแหละ ผมรู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกัน ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมการสื่อสารภาษามันจะเป็นเรื่องเล่าของชุมชน ของผู้คน ของภูมิภาค  

     นักเขียนชาวมาเลเซียที่เขียนเรื่องบึงพระจันทร์ เค้าพูดถึงเรื่องราวของบึงพระจันทร์ ซึ่งมีอาจารย์อับดุลราซัค และทีมเป็นผู้แปลเป็นภาษาไทย เค้าจะพูดถึงระลึกถึงอดีต (Nostalgia) บางอย่าง ซึ่งเป็นภาพอดีต ที่ว่าในสังคมที่เราโตมาด้วยกัน เราเคยเล่นมาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเมืองจีน มุสลิม ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ซึ่งมันเป็นฉากของมาเลเซีย และในบึงพระจันทร์ ทุกคนต่างมาและก็มาเล่นด้วยกัน แต่พอเติบโตทุกคนก็ออกเดินทาง ท้ายที่สุดแล้วงานลักษณะนี้ มันเป็นงานที่มีชีวิต และสื่อให้เห็นความจำเป็นต้องอาศัย ให้เกียรติ เคารพระหว่างกัน ความเชื่อ ระหว่างภูมิปัญญา พยายามที่จะประนีประนอม

     ผมคิดว่ากลิ่นอายของงานวรรณกรรมเท่าที่ผมอ่านและก็สัมผัส เราเป็นคนเหมือนกัน เรามีจุดยืนเดียว จุดร่วมอาจจะต่างกันในความเชื่อ ประเพณี หลักคำสอน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความเป็นมนุษย์ของเรา มันเชื่อมโยงพวกเราให้อยู่ด้วยกัน

 

บทบาทวรรณกรรมอย่างไรในการเชื่อมโยงวัฒนธรรม ประเด็นการสังคม การใช้ชีวิตของเรา

    วรรณกรรมทำให้เราเห็นภาพ ก่อนหน้านี้เราจะรู้จักคนอื่นผ่านภาพจำ บางครั้งภาพจำเหล่านั้น เป็นภาพจำที่หดหู่ เป็นลักษณะข้อมูลมือสอง (Second-hand Information) ซึ่งเป็นข้อมูลมือสองที่เราไม่รู้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า?

     วรรณกรรมมันทำหน้าที่ในการเชื่อมคนให้มันรู้จัก ให้คนเข้าใจกันมากกว่าเดิม ซึ่งไม่ได้ผ่านภาพจำ แต่ผ่านขนบธรรมเนียม ผ่านวิถีคิดของคน คนมาเลเซีย คนไทย คิดไม่เหมือนกัน Position ของคนมาเลย์ คนไทย คนอินโด จะมีความรู้สึกที่ต่างกัน เพราะอะไร? เพราะแต่ละคนเติบโตมาไม่เหมือนกัน วิธีคิดของคน การต่อสู้ การขับเคลื่อนสังคม มันจะมีวิธีการคนละแบบ สิ่งเหล่านี้มันเกี่ยวโยงกับเรื่องของเชื่อ เรื่องของศาสนา มันก็เป็นส่วนในการทำให้คนพยายามที่จะถ่ายทอดบางอย่างออกมาต่างกัน

     ทั้งนี้ทั้งนั้นในมุมมองของผม วรรณกรรม มันสามารถที่จะปอกเปลือกสังคมของพวกเรา ให้เราเห็นว่าสังคมมาเลเซีย คิดแบบมาเลเซีย คิดแบบไหน เราไม่ต้องใช้ Mindset ความเป็นไทย ในการอธิบายความเป็นมาเลเซีย ซึ่งก่อนนี้ถ้าเราไม่อ่านวรรณกรรม เราจะไม่มีความเป็น Borderless ในความเป็นจริง งานวรรณกรรมมันจะบอกว่าคุณควรจะมองมาเลเซียผ่านแว่นของคนมาเลเซีย คุณควรมองคนอินโดนีเซีย แบบที่คนอินโดนีเซียคิด 

     งานเขียนเหล่านี้มันจะทำให้เราซึมซับบรรยากาศของคน ห้วงเวลา วิธีคิด รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีผ่านบุคคลนั้นๆ และก็อธิบายความเป็นตัวเขา ผ่านตัวเขา ซึ่งไม่ใช่ตัวเราเป็นคนใส่ว่าเขาคือใคร ไม่ว่างานมาจากลาว หรือพม่าก็ดี แต่ละประเทศก็จะมีประเด็นที่ถกเถียงที่ต่างกัน แต่ละอันมันก็จะมีห้วงเวลาที่จะบอกพวกเรางานเขียนเหล่านี้มันพยายามที่จะสะท้อนอะไรตามยุคสมัยของพวกเรา

      พอยุคสมัยมันเปลี่ยน สถานการณ์มันเปลี่ยน การเมืองมันเปลี่ยน มันก็จะมีงานวรรณกรรมที่ถูกผลิตออกมาเพื่อที่จะบอกว่าสังคมเผชิญหน้ากับอะไร และเราสมควรที่จะขับเคลื่อนไปอย่างไรต่อ ด้วยเหตุนี้ งานเขียนแต่ละช่วงเวลา และก็แต่ละยุคสมัย มันจะบอกตัวตนของเรา ความเป็นเรา และความเป็นสังคม ความเป็นอื่นของคนอื่น และความเป็นตัวเรา ซึ่งมีเฉดสีที่หลากหลาย

     งานเขียนเหล่านี้มันก็จะคลี่คลายสังคม วัฒนธรรม ให้เราเห็นว่าตัวตนของสังคม ตัวตนของคนในห้วงเวลา ในยุคสมัย และก็ความเป็นคนแต่ละพื้นที่ซึ่งมันไม่เหมือนกัน ความเป็นคนเหมือนกัน แต่ความรู้สึกร่วมยุคสมัยและประเด็นมันอาจจะต่างกัน การต่อสู้ผ่านงานเขียน ผ่านบทกวี ผ่านวรรณกรรมมันก็เลยฉายออกมาคนละแบบกัน


 

 

อยากให้ ดร. มูเก็มเล่าถึงวรรณกรรมภูมิภาคที่ประพันธ์สาส์นได้นำมาแปล สองเล่มอยากให้ท่านพูดถึงเรื่อง Cigarette Girl และ Siri' บ่วงบาป ว่าจะได้รับอะไรจากสองเล่มนี้

     เรื่องของ Cigarette Girl เกี่ยวกับเรื่องของบุหรี่ ซึ่งเราก็มีโอกาสเจอนักเขียน และได้มีโอกาสถามนักเขียน ผมรู้สึกว่างานเขียนเค้าฉากเปิดมันดี คืองานเวลาฉากเปิดมันดีมันจะรู้สึกว่า “ว้าว” มันเป็นฉากพ่อป่วยติดเตียง พ่อกำลังมองหาผู้หญิงคนหนึ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองรักในสมัยก่อน ก็เลยทำให้รู้สึกภาพจำเหล่านั้น ทุกคนมีภาพจำในชีวิต ภาพจำจะตามมาหลอกหลอนเรา มันจะอยู่ที่ว่าเราจะเคลียร์ บางอดีตมันเคลียร์ แต่ในบางอดีต หลายๆอดีตที่มันผ่านมาเราสามารถที่จะเคลียร์ได้ หนังสือชิ้นนี้พยายามสื่อให้เราเห็นว่าอดีตบางอย่างเราสามารถจะแก้มันได้นะ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมดแต่ผลพวงจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน ถ้าหากเราเป็นหนึ่งในต้นเหตุ เราก็สามารถเข้าไปมีส่วนคลี่คลายให้มันดีขึ้น

     ส่วนที่สองคือเรื่องของสังคม วัฒนธรรมอินโดนีเซีย โดยเฉพาะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบุหรี่ เราจะเห็นว่า อุตสาหกรรมบุหรี่มันค่อนข้างที่จะสำคัญไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อดังๆ ไม่ว่าจะเป็น สุริยา อุดังการัม ซึมเปอรนา ยี่ห้อบุหรี่เหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ชื่นชอบของคนอินโดนีเซียเองและก็คนในอาเซียนของพวกเรา ซึ่งจริตเหล่านี้มันถูกส่งต่อผ่านเครื่องมือบางอย่างที่ทำให้เราเรียนรู้ว่าวัฒนธรรม ความเป็นตัวตนของคนที่นั่น แล้วบุหรี่ของอินโดนีเซียที่ถูกนำเสนอ

    บุหรี่ยี่ห้อสุริยานี้น่าสนใจ มันจะมีป้ายเขียนว่า "สุริยา" สุริยาเป็นดวงอาทิตย์ ถ้าหากว่าเรามีดวงอาทิตย์ เราก็จะมีความหวังในการใช้ชีวิต สุริยาอีกความหมายหนึ่งคือบุหรี่ มันมีความหวัง และก็มีความสุข แต่อีกความหมายหนึ่งของสุริยาคือ ดวงอาทิตย์

     ประเด็นสุดท้ายสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นจุดสำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็คือเกี่ยวกับเรื่องของที่เรามีส่วนร่วมในการคลี่คลายอดีตบางอย่าง บางภาระให้มันจบที่รุ่นพ่อ แต่บางภาระให้มันจบที่รุ่นลูกหรือรุ่นเรา มันเป็นสิ่งที่พยายามบอกเราถึงสิ่งเหล่านี้

     นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสิทธิของสตรี ที่ถูกซ่อนไว้ในนั้น ที่ว่าผู้ชายกับผู้หญิงการเข้าถึง การจัดระบบกลไกบุหรี่ ซึ่งมันเป็นการพูดถึงสถานะทางเพศ คิดว่าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างที่จะสำคัญและสุดท้ายของงานเขียน Cigarette Girl คือการหาคู่ครองให้กับคนในครอบครัว ซึ่งสังคมมุสลิม อินโด ไทย มาเลเซีย มันมีความเชื่อมตรงที่ว่าพ่อแม่อยากจะหาสามีที่ดีให้กับลูกสาว ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นผ่านหนังสือเล่มนี้ และก็ถูกทำเป็น Netflix มันก็ทำให้พล็อตเหล่านี้คลี่คลาย และน่าสนใจพอสมควร

     ถ้าหากพูดถึงเรื่องของ SIRI' ประเด็นก็ค่อนข้างคล้ายๆกัน พูดถึงสถาบันครอบครัวและก็เกี่ยวกับเรื่องของการใช้ชีวิตคู่ที่แบบว่าจะเคลื่อนกันไปยังไงในสังคมที่เปลี่ยนไป ในขณะเดียวกันสามีที่มีภรรยาแต่ว่าต้องอยู่ในบารมีในสังคม ความน่าเชื่อถือการเชื่อมโยง การเปิดโรงเรียน การดูแลนักเรียน ซึ่งเชื่อมโยงในประเด็นที่สำคัญ ไม่ใช่แค่เฉพาะปัญหาของ Siri' อย่างเดียวที่มันเจอปัญหาเหล่านี้ ในสังคมไทยก็มีปัญหา ในสังคมมุสลิมไทยก็มีปัญหาเหล่านี้อยู่ เรื่องของการมีครอบครัวที่บางครั้งไม่ได้ดูแล ที่บางครั้งมีการขาดสะบั้นของครอบครัว ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้หันกลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับครอบครัวว่า ครอบครัวที่เราต้องการ หน้าตามันเป็นแบบไหนอย่างไร และถ้าหากครอบครัวมันเข้มแข็ง สังคมจะเป็นอย่างไรต่อ และถ้าหากครอบครัวมันพังหล่ะ? สังคมจะเกิดอะไรขึ้น?

     ท้ายที่สุดแล้วเนี่ย ผมว่ามันเป็นการทิ้งทวนของงานเขียนทั้งสองชิ้นให้เราหันกลับมาดูแลครอบครัวและตั้งหลักกับครอบครัวและก็ขับเคลื่อนวิธีคิดหลักคำสอนศีลธรรม เพราะว่าประเด็นหนึ่งใน Siri' พูดถึงก็คือประเด็นเรื่องของการคอรัปชั่น คิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญและก็มันก็ชี้ชวนให้เราตั้งคำถามต่อว่าในประเทศหนึ่ง ในสถานที่หนึ่ง ในชุมชนหนึ่ง ถ้าหากมีการทุจริตมันจะส่งผลต่อสังคม ให้กับระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต ค่านิยมเหล่านี้มันไม่ควรจะเป็นมรดกหรือพินัยกรรมส่งต่อรุ่นต่อไป แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ใช่ว่าเราจะชนะกิเลสเสมอไปมันต้องมีการจัดระบบ มันจะต้องตรวจสอบตัวเอง

    งานเขียนทั้งหมดไม่ว่าเราจะอ่านจะเขียน เพื่อหันสะท้อนบนกระจกเรา เพื่อที่จะตรวจสอบตัวเราว่าเราสมควรที่จะวางชีวิตไว้อย่างไร ผมเชื่อว่างานเขียนเปรียบเสมือนประสบการณ์ของคนๆหนึ่งที่ถอดออกมา คนอ่านเข้าไปซึมซับเข้าไปดื่มด่ำกับบรรยกาศ แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เราต้องการก็คือ "แล้วอะไรคือบทเรียนจากงานเขียนเหล่านั้น ที่จะสอนให้เราเติบโตเบ่งบานและก็มีความสุขในสังคม?"

 

วรรณกรรมในอาเซียน และวรรณกรรมเปรียบเทียบอาเซียนแสดงถึงสะท้อนประเด็นที่ซับซ้อนได้อย่างไร

    วรรณกรรมส่วนใหญ่ที่เราเห็นก็คือเป็นการสะท้อนภาพของสังคมที่เราอยู่ร่วมกัน อาจจะสะท้อนผ่านมุมของเด็ก สะท้อนผ่านมุมของผู้ใหญ่ สะท้อนผ่านนักเขียนที่เป็นเพศชาย เป็นเพศหญิง ซึ่งในแต่ละประเด็นเหล่านี้เราสามารถที่จะเข้าไปศึกษาและก็เรียนรู้จากการอ่าน และทบทวนได้ แต่ว่าประเด็นเปรียบเทียบของระหว่างวรรณกรรมในบริบทของอาเซียนเรา ภาพที่สะท้อนและก็ภาพที่ฉายออกมามันฉายออกมาผ่านวัฒนธรรม ผ่านหลักคำสอนผ่านความเชื่อ  

    งานเขียนหลายเล่มเวลาผลิตออกมาความเป็นอัตลักษณ์ความเป็นวัฒนธรรมที่ต่างกันมันจะทำให้เราไม่เข้าใจบริบทเหล่านั้น กระบวนการผลิตจึงสำคัญในการที่จะให้ผู้ที่รู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม เข้าใจสิ่งเหล่านั้น อ่านและทำความเข้าใจเพื่อที่จะทำให้งานเขียนมันถูกผลิตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพและก็ดี

    อย่างที่สองงานเขียนสองแบบที่เป็นแบบไทยและแบบวัฒนธรรมอื่นๆที่ไม่ใช่ไทย แน่นอนมันก็จะมีภูมิปัญญาบางอย่าง ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงงานระหว่างภูมิภาคอย่างเดียว ในประเทศไทยความเป็นท้องถิ่นของงาน ก็จะไม่เหมือนกัน ชื่อเรียกบางสิ่งบางอย่างก็ไม่เหมือนกัน วัฒนธรรมบางอย่างก็ไม่เหมือนกัน

     สิ่งที่สำคัญก็คือว่าคนที่อ่านเวลาข้ามวัฒนธรรมสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีคือองค์ความรู้พื้นฐานบางอย่างซึ่งคนที่แปลงานคนที่เขียนงานก็อาจจะทำลักษณะเชิงอรรถเพื่อที่จะเข้าถึงวัฒนธรรมบางอย่าง ซึ่งอาณาเขตของของความเป็นไทย มันก็มีเฉดสี ของความเป็นท้องถิ่นอยู่ท้องถิ่นเหล่านี้มันก็ทำให้เราเห็นการคลี่คลายบางอย่างซึ่งถ้าหากเราศึกษางานในช่วง 2535 เป็นต้นมา หรือว่าก่อนหน้านั้น งานเขียนทางด้านภาคใต้ไทยส่วนใหญ่เป็นงานวรรณกรรมเพื่อชีวิต และก็จะพูดถึงความทุกข์ยากของคน การถูกเอารัดเอาเปรียบ การเข้ามาของนายทุน การเข้ามาจัดการเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติผ่านนายหน้า หรือผ่านนักการเมืองที่มีการรับสินบนเป็นต้น ซึ่งเป็นงานในยุคสมัยนั้น ด้วยเหตุนี้เราก็จะเห็นว่ากระบวนการสร้างคนในยุคสมัยนั้น คนเหล่านี้จะมาเรียนรัฐศาสตร์ คนเหล่านี้จะมาเรียนทางด้านสื่อมวลชนเพื่อที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกไป เพราะได้อยู่ในบริบทเรื่องของสงครามการเมือง บริบทของความขัดแย้ง จึงทำให้เห็นว่างานแต่ละภูมิภาคในแต่ละพื้นที่มันก็มีความโดดเด่นเหล่านี้

     ท้ายที่สุดแล้วเบื้องลึกของงานเขียนเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนเกี่ยวกับเรื่องของเปลือกอย่างเดียว แต่สะท้อนเรื่องของจิตวิญญาณด้วยว่าในโลกที่มันเปลี่ยนไป จิตวิญญาณมันสมควรที่จะดำรงอยู่ ศีลธรรมคำสอนมันสมควรที่จะอยู่แบบไหนอย่างไร นี่คืองานที่พยายามที่จะสื่อให้เราเห็นและก็ตั้งคำถาม เพราะเราเติบโตจากภายใน เราไม่ได้เติบโตจากภายนอก เรากินอาหารเข้าไปอาหารมันโตจากภายใน และมันทำให้ชีวิตเรา ร่างกายเราเติบโตอยู่ในต้นไม้ เหมือนกับเมล็ดพันธุ์มันแตกจะข้างในและก็เติบโตซึ่งผมว่ามันเป็นทฤษฎีเดียวกัน ถ้าหากเราตั้งคำถามและก็ขบคิดก็จะเห็น

    แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับงานระหว่างเขตแดนก็คือเราอาจจะต้องมีวงเสวนา วงถกเถียง เพื่อที่จะเข้าถึงและก็คลี่คลายและก็ตั้งคำถาม การจัดกิจกรรมเรื่องของวรรณกรรม เรื่องของการอ่าน การเขียน การวิจารณ์ มันเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะให้เราเห็นการถกเถียง การพูดคุย เราจำเป็นต้องมีกิจกรรมเหล่านี้ในการตั้งคำถาม

    ถ้าหากเราเอางานเขียนมาคุยให้เด็กได้แลกเปลี่ยน ให้เด็กได้ตั้งคำถาม เด็กก็จะเติบโต ซึ่งเราอย่าพยายามสะท้อนว่าสิ่งที่คุณนำเสนอมาถูกหรือว่าผิด แต่ว่าสิ่งที่คุณนำเสนอมาคืออะไร ให้คุณค่ากับกับสิ่งที่เค้านำเสนอมา และก็หลังจากนั้นเราก็มีวิธีในการพาเพื่อที่จะเรียนรู้ ให้เกียรติ ในความเห็นที่ต่าง ซึ่งผมว่ากระบวนการถอด กระบวนการคิด มันสร้างให้เราได้เติบโตไปพร้อมกัน เคารพระหว่างกัน และก็ถกเถียงอย่างสามัคคี ซึ่งไม่ทะเลาะกัน เข้าใจความเห็นต่าง เข้าใจความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับตัวเองแต่ยังเคารพกันอยู่ ผมว่ามันไม่ใช่วัฒนธรรมของการอ่านการเขียน แต่มันคือวัฒนธรรมของคนที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม มันคือพื้นฐานของพวกเราในสังคม

 

 

บทบาทการแปลวรรณกรรมมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนในการสื่อสารหรือเผยแพร่ในอาเซียนและทั่วโลก

     ผมคิดว่างานแปลคือความจริง การเรียนรู้สังคมอื่นมันไม่ใช่มรดกของอาเซียน มันเป็นมรดกของโลกการรู้วัฒนธรรมอื่น สิ่งที่เริ่มต้นดีที่สุดก็คือการแปลงาน ถ้าหากว่าเราอ่านงานยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) มันไม่ใช่อยู่ๆ ก็เกิดยุค Renaissance ไม่ใช่จู่ๆก็เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ แต่ยุคนี้มันเกิดมาเพราะว่ามันมีงานแปล มีการถกเถียง มีการตั้งสำนักคิด และก็มาคุยกัน

     ซึ่งในโลกของฝั่งกรีก เอเธน งานเขียนเหล่านี้มันถูกส่งเข้ามาที่ซีเรีย ออกจากซีเรียอาจจะเข้าไปอียิปต์ อาจจะเข้าไปอินเดีย อาจจะเข้าไปปากีสถาน อัฟกานิสถาน คือเส้นนั้นเป็นเส้นทางผ่านอเลกซานเดรีย (Alexandria Route) ซึ่งเป็นเส้นของการถกเถียงทางด้านงานความคิด ด้วยเหตุนี้การที่จะเกิดการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการสิ่งหนึ่งที่จำเป็นจะต้องมีก็คืองานเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างกัน

     ผมอ่านหนังสือ "Glimpses of World History" ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญของอินเดีย พรรค Indian National Congress และก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ท่านก็เขียนในหนังสือ และท่านได้บอกว่า "เรามีวัฒนธรรม และก็วิธีการเรียนรู้วัฒนธรรมอื่น เราจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนด้วยงานแปล" และมีปราชญ์อย่างซัยยิด อะหฺมัด ข่าน และคนอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนเรื่องงานแปล

     ทุกที่มีภูมิปัญญา และภูมิปัญญาเหล่านี้มันจะสร้างเรา มันจะสร้างคน ทำไมคนอินเดียถึงพยายามที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษ? เพราะว่าเค้าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เค้าไม่ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อที่จะเป็นทาสอังกฤษ แต่เค้าเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อเท่าทันอังกฤษ

      วิธีการหนึ่งที่เค้าจำเป็นต้องเท่าทันคือการไปศึกษาวัฒนธรรมอังกฤษ รู้งานภาษาอังกฤษและแปลงานภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาอินเดีย เพื่อที่จะรู้ว่าเค้าคิดอย่างนี้ เพื่อทำความเข้าใจ นี่คือที่ผมคิดว่าคือมรดกของงานแปล

      ด้วยเหตุนี้งานแปลในบ้านเราเท่าที่ผมนั่งดูมันมีเยอะมาก ตอนนี้รู้สึกว่ามันคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นงานแปลของรัสเซียก็ดี หรือว่างานฝั่งอียิปต์ ซึ่งมันมีความหลากหลาย รวมถึงนักเขียนในอาเซียนบ้านเรา เราจำเป็นจะต้องสร้างบุคลากรในการทำงานทางด้านการแปลเพราะว่าการแปล การอ่าน การเขียน การวิจารณ์ มันเป็นบริบทที่สำคัญในการสร้างคนทั้งหมดเลย เราอ่าน เราแปล เราเขียนเพื่อที่จะสร้างความคิด สร้างกรอบความรู้ ให้กับคนและก็เพื่อที่จะพัฒนาจิตวิญญาณ และก็วิธีคิด พอจิตวิญญาณมันสมบูรณ์แบบ วิธีคิดมันสมบูรณ์แบบมันก็ทำให้สังคมเราสามารถขับเคลื่อนไปได้

     ท้ายที่สุดแล้วเราไม่ได้เป็น Citizen of Thai Kingdom เราเป็น Citizen of the World ที่จำเป็นจะต้องอยู่ร่วมกัน

 

นักเขียนอาเซียนแสดงความคิด ในประเด็นต่างๆยังไงบ้าง

     งานส่วนใหญ่จะเป็นนวนิยาย หรือว่าเรื่องสั้นก็ดี คนเหล่านี้ก็จะเข้าใจระบบบางอย่าง จะเห็นถึงความเปลี่ยนผ่านของสังคม คนเหล่านี้ก็เลยใช้วรรณกรรมมาอธิบาย มาคลี่คลายบางอย่างให้เห็นว่าสังคมมันเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าหากว่าในวรรณกรรมในอาเซียนก็จะมีหลายเรื่องด้วยกัน การเขียนให้เห็นภาพ การอธิบายฉาก เพื่อสื่อให้เห็นในประเด็นต่างๆ ซึ่งมีงานลักษณะนี้เยอะพอสมควร ซึ่งงานในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันมีงานที่พยายามที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่าให้เห็นตลอดเวลา ไม่ว่าจะผ่านรางวัลต่างๆ ที่จะพยายามที่จะนำเสนอบริบทการเมืองแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบริบทของสังคมก็จะมีหลายๆประเด็นด้วยกัน มีหลายๆ เฉดสีที่อธิบายในด้านต่างๆ

    สิ่งที่เราต้องสร้างคนเราต้องสร้างบุคลากรให้เข้าใจเรื่องศาสตร์และศิลป์ในการดำเนินชีวิต เรื่องของจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม ถึงวันหนึ่งเราไม่ต้องไปควานหาว่าศีลธรรม การทุจริต คืออะไร เราไม่ต้องควานหาเพราะว่าคนที่เข้าไปบริหารจัดการสังคม มีศีลธรรม มีคุณธรรม ผมว่ามันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านของสังคมเราด้วย งานเขียนเหล่านี้พยายามที่จะสะท้อนให้เราเห็นมุมต่างๆ 

 

กล่าวทิ้งท้าย

     ท้ายที่สุด ผมคิดว่ากระบวนการอ่านเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนเรา คำว่าการอ่านเอาเข้าจริงไม่ได้อ่านจากหนังสืออย่างเดียว คำว่าอ่านคืออ่านจากสรรพสิ่งทั้งมวลที่เราเห็น อ่านต้นไม้ อ่านผ่านมดที่กำลังเดินกันอยู่ อ่านผ่านดอกไม้ที่กว่าจะมาผลิดอกมันต้องผ่านอะไรมา ซึ่งถ้าหากว่าเราสามารถจัดระบบความคิดของเราได้ เราก็จะเข้าใจเป็นสัดส่วน เป็นโครงสร้างทำให้เราเข้าใจว่าชีวิตมันคืออะไร

    ผมว่าท้ายที่สุดของการอ่านก็เพื่อที่จะอ่านไปออกเดินทาง เพื่อที่จะกลับมาตามหาตัวเองให้เจอ และก็ตัวเองไม่ได้อยู่ที่ไหน ตัวเองอยู่ที่บ้าน เรายังอยู่ตรงนี้แหละ แต่บางทีเราไปไกลจนกระทั่งเราหาตัวเองไม่เจอ การอ่าน การเขียน การเรียน การวิจารณ์ การขบคิด การเปิดโลกทัศน์สิ่งเหล่านี้เพื่อให้เราตามหาตัวของเราให้เจอ เมื่อเราเจอเราก็จะพบกับคำตอบบางอย่าง ว่าชีวิตมันถูกสร้างมาเพื่ออะไร

 

Writer

Pairat Temphairojana

นักเขียนผู้รักการสะสมงานศิลปะและการจิบกาแฟ