กว่า 50 ปี ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสืบสานและต่อยอดพระราชปณิธานตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 'ช่วยให้เขา ช่วยตัวเขาเอง’ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพคนเป็นศูนย์กลาง (Human-centric) จนกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ทำให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับรางวัล SX Shaper Award 2024 จากคณะกรรมการจัดงาน Sustainability Expo 2024
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ดำเนินโครงการสำคัญๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย, โครงการร้อยใจรักษ์ จังหวัดเชียงใหม่, โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน และพืชน้ำมันอื่นๆ จังหวัดเชียงราย, โครงการแปรรูปป่าเศรษฐกิจน่าน จังหวัดน่าน, โครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย-เมียนมา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย, และโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อ การพัฒนาที่ยั่งยืน
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เชื่อว่า ‘คน’ คือต้นเหตุและทางออกของปัญหาในการยกระดับชีวิตของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงต้องเริ่มจากการพัฒนาคน เพราะ “ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี แต่ที่เขาไม่ดี เพราะขาดโอกาสและทางเลือก”
โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2531 เพื่อเป็นการให้แนวทางการพัฒนาตามตำราแม่ฟ้าหลวงคือการ “ปลูกป่า ปลูกคน” โดยตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ผ่านา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าได้ประมาณ 90,000 ไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคน
นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปีนี้ มีความร่วมมือในป่าชุมชนรวม 129 แห่งใน 9 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 194,850 ไร่ ผลิตคาร์บอนเครดิตได้ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า 25,082 ครัวเรือน ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งเป้าหมายผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันภายในปี 2570
อีกความสำเร็จของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คือ การจัดการขยะ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เริ่มลงมือจัดการขยะจากต้นทางอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งปลายปี 2561 ประสบความสำเร็จในการทำให้ขยะถูกส่งไปบ่อฝังกลบเป็นศูนย์ และยังขยายแนวคิดนี้ไปยัง 29 หมู่บ้านใน อ.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งปัจจุบัน มี 24 หมู่ล้านที่สามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกวิธี ดอยตุงไม่มีของเหลือทิ้ง เพราะที่นี่ดำเนินธุรกิจแบบ Zero Waste และตั้งใจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับโลก โดยทำให้ทุกขั้นตอนการผลิตไม่สร้างขยะด้วยการรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำพลาสติก กากกาแฟ เปลือกแมคคาเดเมีย เศษผ้าจากกาทางทอผ้า น้ำที่ใช้ในการย้อมก็ยังสามารถบำบัดได้ และหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ พร้อมทั้งพัฒนาการออกแบบดีไซน์ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์หลักอีกด้วย ทำให้โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรวงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับมาตรฐาน G Green Production ประเภทเซรามิก ระดับดีเยี่ยม และประเภทสิ่งทอ ระดับดีเยี่ยม ปี 2562 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ส่วนโครงการการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Alternative Livelihood Development – SALD)เป็นแนวทางการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากพระปรัชญาและพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการช่วยเหลือพัฒนาผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม โดยเน้นการพัฒนาคนอย่างมีบูรณาการ เป็นขั้นเป็นตอน ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ และนำวิธีคิดและวิธีบริหารจัดการเชิงธุรกิจมาปรับใช้ เช่น ผลิตของที่ตลาดต้องการ มุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดจากต้นทุนที่ต่ำที่สุด ด้วยกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน อีกทั้งศึกษาความเป็นไปได้ก่อนทำโครงการเพื่อลดความเสี่ยง หรือวัดผลเพื่อปรับปรุงการทำงานอยู่ตลอดเวลา
“เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน” ที่จะมาร่วมกันเปลี่ยนโลกใบนี้ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมมากมาย พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิด และไอเดียสุดเจ๋งด้านความยั่งยืนกับวิทยากรชื่อดัง ศิลปิน และเหล่าไอดอลจากทุกแวดวง ตื่นเต้นไปกับสุดยอดนวัตกรรมกอบกู้โลกให้คุณได้เรียนรู้ และพร้อมปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในวิถีชีวิตประจำวันยุคโลกเดือดได้อย่างมีความสมดุล ในงาน Sustainability Expo (SX2024) ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)