จากกระแส #wearวนไป แฮชแท็กดังในโลกออนไลน์ทำให้คุณเกด พิชามาศ ชัยงาม สาวนักช้อปตัวยงได้ฉุกคิดและเปลี่ยนพฤติกรรมการช้อปปิ้งใหม่ให้รู้จักคิดก่อนซื้อมากขึ้น จนนำไปสู่แรงบันดาลใจในการปลุกปั้นธุรกิจน้องใหม่ โดยจับมือกับบัดดี้อย่างคุณกอล์ฟ ศรัณย์ ศิริภัทรประวัติ ก่อตั้งแพลตฟอร์มซื้อขายเสื้อผ้ามือสองขึ้นมา เพื่อหวังส่งต่อความคิดให้คนเข้าใจถึงคุณค่าของเสื้อผ้ามือสองและตระหนักถึงปัญหาขยะแฟชั่นที่กำลังเพิ่มปริมาณมหาศาลสร้างภาระให้โลกของเราอยู่ตอนนี้
“เดิมเกดกับพี่กอล์ฟมีธุรกิจครอบครัวอยู่แล้วค่ะ เราอยู่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ทำเกี่ยวกับเสื้อผ้ายูนิฟอร์ม เสื้อผ้าแฟชั่น ทำมา 30 ปีแล้ว ขายทั้งในและต่างประเทศ เราอยู่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าก็จะรู้ว่าอะไรเป็น pain สำหรับผู้ประกอบการ บวกกับตัวเกดเองเป็นคนเสื้อผ้าเยอะเพราะชอบแต่งตัว วันหนึ่งเราคิดได้ว่าพฤติกรรมของเราที่ซื้อเสื้อผ้าบ่อยๆ ซื้อฟาสต์แฟชั่น มันไม่เฮลท์ตี้ต่อโลกและต่อเราเลย ก็มานั่งคิดว่าเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง เลยเริ่มไปหาโซลูชั่นว่าในไทยมีไหมคนที่คอยจัดการเสื้อผ้าที่เราไม่ต้องการโดยที่เราไม่อยากจะบริจาค เพราะเสื้อผ้าหลายๆ ตัวของเรามันไม่เหมาะกับการบริจาค กลัวว่าสุดท้ายมันจะกลายเป็นขยะ ก็เลยพยายามหาโซลูชั่นอะไรก็ตามที่มันจะส่งต่อเสื้อผ้าได้ค่ะ”
ปิ๊งไอเดียพลิก pain point เป็นธุรกิจ
“ในไทยที่เราเจอจะมีเป็นมาร์เก็ตเพลส ที่ให้คนเปิดร้านเองได้แล้วมาโพสต์ขาย แต่พอเข้าไปแล้วเรารู้สึกว่ามันยังไม่ตอบโจทย์เรา หนึ่งเจอของปลอมบ้าง สองเจอมิจฉาชีพบ้าง หรือบางทีรูปที่เขาเอามาโพสต์มันเป็นรูปจากแบรนด์ เป็นรูปจากนางแบบ เราไม่ได้เห็นรูปสินค้าจริง แล้วก็ลงรายละเอียดไม่ชัดเจน บางทีถามไปเราต้องรอแม่ค้าตอบเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เราก็เลยเอา pain point ตรงนี้มาสร้างเป็น Loopers เริ่มจากเอาแนวคิดนี้ไปพิชไอเดียกับเพื่อนเราก่อน เพื่อนที่เสื้อผ้าเยอะๆ แต่งตัวจัดๆ หลังจากนั้นก็ขอเอาเสื้อผ้าเขามาแล้วค่อยๆ เริ่มรันไป ตอนเริ่มต้นเราลงทุนด้วยเงินหลักแสนค่ะ จะเป็นค่าแพลตฟอร์ม ค่าอุปกรณ์ถ่ายรูป เราลงทุนกับอุปกรณ์เยอะ แล้วก็คอนเซ็ปท์แบรนด์ไอเดีย ด้วยความที่เรามีไอเดีย เรามีสิ่งที่อยากทำ แต่มันยังไม่คม ยังไม่กลมกล่อม เราก็จ้างคนทำแบรนดิ้งให้ เพื่อให้สิ่งที่เราต้องการทำสื่อสารออกมาชัดเจน เราลงทุนไปกับอะไรพวกนี้เยอะค่ะ”
แตกต่างด้วยการสร้างรายละเอียด
“คอนเซ็ปท์ของ Loopers คือต้องการส่งต่อเสื้อผ้า ต้องการยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้าให้ได้นานที่สุด พอได้นานแล้วมันก็จะช่วยลดขยะแฟชั่นให้น้อยลง ดังนั้นคนที่มีเสื้อผ้าเยอะแต่ไม่มีเวลาจัดการ หรือไม่มีสกิลแม่ค้า ไม่มีคอมมูนิตี้อะไรมากมาย แค่ส่งเสื้อผ้ามาหาเรา เราจัดการให้หมดเลย อย่างที่เห็นคือพอรับเสื้อผ้ามาเราก็รีด จัดทรงให้สวยและถ่ายรูป แล้วก็ลงดีเทล เรื่องลงดีเทลเราละเอียดมากแม้กระทั่งหน่วยไซส์ ทุกตัวเราวัดเอง เราวัดให้ทุกจุด เพราะว่าแบรนด์แต่ละแบรนด์มันเกลี่ยไซส์มาไม่เท่ากัน เอสของแบรนด์หนึ่งอาจจะไม่เท่ากับเอสของอีกแบรนด์หนึ่ง เราเลยต้องวัดให้ใหม่ เพราะเราอยากให้ลูกค้าที่ซื้อไปใส่แล้วมันเป็นไซส์ของเขาจริงๆ มันเป็นของตรงปก อย่างที่เล่าให้ฟังว่าเกดก็ซื้อเสื้อผ้ามือสองตามไอจี ตามมาร์เก็ตเพลส แต่มันก็ยังไม่ตอบโจทย์ สินค้าลงรายละเอียดไม่ชัดเจนบ้าง ต้องเช็คเยอะว่าใช่มิจฉาชีพรึเปล่าอีก ซึ่งเรื่องพวกนี้พอมันอยู่บนแพลตฟอร์ม Loopers มันตัดจบหมดเลย คนซื้อก็มั่นใจว่าซื้อที่ Loopers เขาเห็นรายละเอียดชัดเจน เรื่องพวกนี้รายละเอียดพวกนี้เราทำให้หมดเลย รวมถึงดูแลลูกค้าหลังการขายด้วยค่ะ”
สื่อสารเพื่อแก้ปัญหาอคติเสื้อผ้ามือสอง
“เรารีเสิร์ชก่อนว่าคนที่ไม่เปิดใจกับเสื้อผ้ามือสองติดอะไรบ้าง เพราะว่า Gen Z ไม่ติดเลย เขารู้ว่าเสื้อผ้ามือสองดีต่อสิ่งแวดล้อม อันนี้เราไม่ต้องไปทำอะไรกับเขาเรื่อง awareness แต่คนที่ติดจะเป็น Gen Y กับ Gen X เคยมีแม้กระทั่งมาบอกว่าไม่รู้ว่าเสื้อผ้ามือสองเป็นของคนตายจากสึนามิหรือเปล่า เราฟังแล้วช็อกนะ แต่เราก็ไม่สามารถข้ามคอนเซิร์นนั้นไปได้ เพราะมันมีคนคิดแบบนั้นจริงๆ เราก็เอาส่วนนี้มาแก้ บนเว็บไซต์ Loopers เสื้อผ้าแต่ละตัวเราบอกเลยว่าเจ้าของ pre-owned คือใคร ทำให้มันโปร่งใส ทำให้มันตรวจสอบได้ คนซื้อก็สบายใจ แล้ว pre-owned เกือบทุกคนที่มาลงขายกับเราเขาเปิดหน้าได้ ถึงบางคนเปิดหน้าไม่ได้แต่เขามีคอนเซนท์มีการยินยอมให้ขายแน่นอน ส่วนเรื่องความสะอาดเราให้คนที่ขายทำความสะอาดมาก่อนอยู่แล้ว เราจะลิสต์ให้เลยว่าต้องทำความสะอาดยังไง ต้องเช็คจุดไหน เช่น เป้า ตะเข็บ ยางยืด ซิป ต้องตรวจสอบซ่อมแซมให้เรียบร้อย พอมาถึงเราก็จะเช็คละเอียดอีกที ถ้าผ่านตามเกณฑ์ก็ลงขายได้ค่ะ”
คัดของคุณภาพมาลงขายเพื่อให้ผู้ซื้อมั่นใจว่าได้ของดีจริงๆ
“ต้องบอกว่าการ sourcing หาของไม่ยากเลยสำหรับเรา เพราะว่ามันเป็นเทรนด์ที่ผ่านมาจริงๆ ที่คนใส่แค่ครั้งเดียวแล้วเขินที่จะใส่ต่อ หรือมีคนซื้อแบบไม่ยั้งคิดอยู่เยอะ มันก็เลยมีเสื้อผ้าสภาพดีอยู่มาก คนก็เลยอยากจะส่งต่อมาที่เรา แต่ว่าเราไม่ได้รับทั้งหมดนะคะ เราจะมีลิสต์ให้ว่าเรารับเสื้อผ้าประเภทไหนบ้าง ลักษณะเสื้อผ้าแบบไหนบ้าง และเสื้อผ้าแบบไหนที่เราไม่รับ เช่น เราไม่รับเสื้อขนสัตว์ ไม่รับเสื้อองค์กร ถ้าไม่มีแบรนด์เราไม่รับเพื่อป้องกันเรื่องผิดลิขสิทธิ์ และเสื้อผ้าที่นำมาฝากขายต้องมีมูลค่ามากกว่า 300 เพราะถ้ามันน้อยกว่านั้นเรากลัวว่าจะเจอเสื้อผ้าที่ไม่ดี คุณภาพไม่ดี ใส่ต่อได้ไม่กี่ครั้ง ตอนนี้คนรอฝากขายเยอะมาก จนเราต้องจัดสล็อตว่าเดือนนี้ได้เท่านี้ ถ้าคุณมาฝากขายตอนนี้สามารถส่งของมาได้เดือนไหน เราจะจัดเป็นรอบๆ เพื่อไม่ให้เขารอนาน และก็เพื่อให้เรามีเวลาการ circulate ของ คัดของ ถ่ายรูปค่ะ ฉะนั้นถ้าอยากฝากขายต้องลงทะเบียนไว้ก่อนค่ะ ถ้ายิ่งรอไม่ลงทะเบียนเดี๋ยวคิวมันจะไหลไปไกล แอดไลน์ @Loopers แล้วลงทะเบียนฝากขายได้เลยค่ะ”
สเต็ปต่อไปของ Loopers
“ปีนี้ Loopers จะมี collaborate กับองค์กรต่างๆ มากขึ้น เป็นองค์กรที่สนับสนุนให้คนในองค์กรยืดอายุการใช้งานเสื้อผ้า ถ้าหากเขามีเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้แล้วอยากส่งต่อก็เอามาฝากที่ Loopers เราจะมีจุดดร็อปให้ ที่ทำไปแล้วก็จะมีที่ Thai PBS มี Central Pattana มี SC Asset ที่กำลังจะทำด้วยกัน และในอนาคตเราก็อยากมีสินค้าอื่นๆ ด้วย เพราะ Loopers ชื่อตรงตัวเลยค่ะ คือลูปคือการวน การวนอะไรก็ตามที่มันถูกผลิตขึ้นมาและมันมีอายุการใช้งานมากกว่าครั้งสองครั้ง เรามองว่ามันอยู่ในลูปได้ทั้งหมด แต่เราเริ่มจากเสื้อผ้าก่อนเพราะว่าเสื้อผ้ามันถูกใช้บ่อย ซื้อบ่อย แล้วเราก็เชี่ยวชาญเรื่องเสื้อผ้า แต่ต่อไปลูปควรจะเป็นอะไรก็ได้ที่มันใช้งานต่อได้ เช่น กล้อง อุปกรณ์กีฬา ของเล่นเด็ก เฟอร์นิเจอร์ แต่จะไปถึงตรงนั้นได้เราก็ต้องมีคอร์แบรนด์หรือแบรนด์ที่ชัดเจน มีคอนเซ็ปท์ที่ดีก่อน ตอนที่กำลังจะพ้นปีแรกเราโตสี่พันเปอร์เซ็นต์เลยค่ะ ยอดขายมันเยอะมาก ตอนนี้เข้าสู่ปีที่สองแล้ว ไม่รู้ว่าปีนี้จะถึงสี่พันเปอร์เซ็นต์ไหม แต่เราก็ตั้งเป้าว่ามันต้องโตเพิ่มขึ้นสักสามหรือสี่เท่าแน่นอน อีกอย่างที่ตั้งใจคืออยากให้คนรู้จักเราให้มากกว่านี้ เพราะเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำออกมามันตอบโจทย์ pain ลูกค้าได้จริงๆ มาดูเสื้อผ้าใน Loopers เถอะ มีเป็นหมื่นๆ ตัว และราคาก็ถูกกว่าที่ต้องไปซื้อของใหม่กว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ด้วยค่ะ”
ค่อยๆ ก้าวคือสูตรสำเร็จของความสำเร็จ
“ถ้าเกิดคนที่อยากทำธุรกิจมาอ่านแล้วเรียนรู้จาก Loopers ได้ ก็อยากจะบอกว่าให้เริ่มจากเล็กๆ ก่อน เพราะ Loopers ก็เริ่มมาแบบนั้น ออฟฟิศ Loopers เริ่มจากห้องเล็กๆ ในบริษัทครอบครัวเกด ถ้าอยู่ดีๆ เราไปทำแบบใหญ่เลยบางทีมันเกินแฮนเดิล เราเริ่มจากสเกลเล็ก ทำธุรกิจแบบให้มีกำไรตอบแทน ให้เลี้ยงลูกน้องได้ มีพอมาจ่ายค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้นเวลาใช้จ่ายอะไรไปเราคิดเสมอว่าเราต้องขายให้ได้เท่าไหร่ เพื่อชดใช้ต้นทุนที่เราจ่ายไป อีกอย่างเกดว่าอุปสรรคของการทำสตาร์ทอัพหรือเริ่มธุรกิจใหม่ เรื่องไอเดียไม่มีปัญหาหรอก ทุกคนมีไอเดียอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือวิธีการ approach กับปัญหาต่างหาก เรามีวิธีการ approach กับปัญหายังไง เพราะถ้าเริ่มทำแล้วเดี๋ยวมันก็จะมีปัญหาหนึ่งสองสามสี่มาให้แก้เรื่อยๆ ก็อย่าเพิ่งไปท้อกลางทาง หาทาง approach ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ โตไปค่ะ”