อธิคม คุณาวุฒิ หรือพี่คม : บรรณาธิการหนุ่มไฟแรงแห่งเสาร์สวัสดี

อธิคม คุณาวุฒิ หรือพี่คม

"เพราะฉะนั้น ที่ถามว่าพี่เคยเอาเรื่องส่วนตัวมาเขียนในคอลัมน์ไหม...คำตอบคือ - เคยครับ"

คำตอบสั้น ๆ ของอธิคม คุณาวุฒิ หรือพี่คม บรรณาธิการหนุ่มไฟแรงแห่งเสาร์สวัสดี เจ้าของพ็อกเก็ตบุ๊คปกสีส้มสดใส บันทึกนอกกรอบ (หนังสือรวมบทความชื่อเดียวกับคอลัมน์ที่เขาเขียนเป็นประจำในจุดประกายวรรณกรรม)

พร้อมทั้งอธิบายต่อไปว่า คนเขียนหนังสือส่วนใหญ่จะถูกสอนมาว่า ให้เขียนเรื่องที่ใกล้ตัวหรือเรื่องที่ "รู้จริง" ซึ่งอันนี้พี่ก็ไม่รู้น่ะนะว่ามันถูกหรือผิด แต่มันน่าจะเป็นที่มาของข้อสังเกตลักษณะนี้ คือทำไมนักเขียน (โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ - ใช่มั้ย) ถึงชอบพูดอะไรที่วนเวียนอยู่กับเรื่องใกล้ตัว ยิ่งมาช่วงหลัง วิธีคิดประเภท "เล็กๆ แต่งดงาม" กำลังเป็นที่นิยม เราจึงเห็นงาน

ลักษณะนี้เต็มไปหมด ซึ่งถ้าถามว่ามีปัญหาอะไรมั้ย โดยส่วนตัวพี่คิดว่ามันก็ไม่น่าจะเป็นอะไร ปัญหาก็คือ เราสามารถเชื่อมโยงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องเล็กๆ เหล่านั้นไปสู่ "ประเด็นสากล" ได้หรือไม่ คือถ้าบ่น ตีโพยตีพาย ตัดพ้อต่อว่า รำพึงรำพันอยู่แต่เรื่องส่วนตัว โดยไม่มีประเด็นอะไรเลย ไม่สามารถอธิบายได้ว่า เรื่องส่วนตัวเหล่านั้นมันไปเกี่ยวข้องอะไรกับประเด็นสาธารณะ พี่ว่าไอ้อย่างนี้แหละที่เป็นปัญหา แต่สำหรับพี่ การหยิบเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องใกล้ตัวมาพูดมาเขียน มันเป็น "วิธีการ" หนึ่งที่เรานำมาใช้อธิบายประเด็นสาธารณะ เพราะบางเรื่องถ้าพูดตรงๆ มันแข็ง ไม่ชวนอ่าน ก็อาจต้องใช้วิธีแบบนี้ ซึ่งถ้าจะทำก็ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า มันสามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นและเนื้อหาได้จริงๆ ไม่ใช่แค่การระบายหรืออวดอีโก้เล่นๆ หรือเป็นการใช้พื้นที่หน้ากระดาษไปให้ร้ายใคร

แล้วนักเขียนคอลัมน์ที่ดีควรเป็นอย่างไร?

อันนี้เอาแบบกว้างๆ ก็แล้วกัน คืองานเขียนลักษณะคอลัมน์มักจะต้องมีเวลาเป็นตัวกำหนดตายตัว คนที่จะเขียนคอลัมน์น่าจะต้องเตรียมตัวและถามตัวเองก่อนว่าพร้อมที่จะทำงานตามเวลาเดดไลน์ที่กำหนดไหม พูดง่ายๆ คือ ต้องมีวินัย - เป็นอันดับแรก ส่วนในแง่เนื้อหานั้นก็คงคล้ายๆ กับ การเขียนรูปแบบอื่นครับ จะเขียนหนังสือก็ควรต้อง สุ-จิ-ปุ-ลิ พยายามหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งความรู้ที่จะพัฒนาวิธีการเขียนและความรู้ที่จะพัฒนาเนื้อหาในงาน คนรุ่นก่อนเคยสอนว่าเมื่อไรก็ตามที่เราคิดว่าตัวเองเก่งแล้วไม่ต้องหาอะไรเพิ่มอีกต่อไปแล้ว เมื่อนั้นเราก็เสร็จ อยู่ได้ไม่นานหรอก

เพียงแต่ว่าเมื่อมีเวลาเป็นตัวกำหนด มันก็อาจจะต้องตัดทอนสิ่งที่เรียกว่า "อารมณ์ศิลปิน" ลงไปบ้าง ยิ่งถ้าเป็นงานเขียนคอลัมน์ประจำที่ความถี่สูงๆ แล้ว โอกาสที่จะ "ไม่มีอารมณ์" นั้นสูงมาก คือถ้าเขียนระหว่างที่มีอารมณ์นั้นมันเป็นสิ่งวิเศษอยู่แล้ว แต่ถ้าช่วงไหนไม่มีขึ้นมา คนที่สามารถทำงานภายใต้สภาพอย่างนั้นได้ดี มักจะเป็นคนที่ยืนระยะได้นานกว่าคนอื่นๆ เสมอ

สำหรับพี่จึงเชื่ออยู่อย่างว่า เวลาเราจะดูว่าคอลัมนิสต์คนไหนฝีมือดี-ไม่ดี เราไม่ควรดูเฉพาะตอนที่เขา (หรือเธอ) ท็อปฟอร์ม แต่ควรดูตอนที่เขา "ฟอร์มตก" ที่สุด เพราะช่วงนั้นจะเป็นเวลาที่เราเอาสิ่งที่อยู่ข้างใน สิ่งที่เป็นสัญชาตญาณ สิ่งที่เป็นธรรมชาติจริงๆ ออกมาเขียน แล้วมันจะเป็นตัวบอกว่าเขา/เธอมีอะไรแค่ไหน และรักษามาตรฐานได้เพียงใด

คิดอย่างไรที่นักเขียนบางคนชอบใช้สำนวนต่างประเทศ บ้างก็ว่าอ่านไม่ค่อยเข้าใจหรือดูเหมือนลอกความคิดของเขามา

คืออย่างนี้…คนเขียนหนังสือทุกคนจะมี "สไตล์" ที่ตัวเองชอบและถนัด ซึ่งคำว่าสไตล์นั้นมันอาจจะมีที่มาจากทั้งประสบการณ์การอ่านและการคิด ยิ่งถ้าเราเชื่อว่า "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ไม่มีอะไรใหม่" (ซึ่งพี่ไม่ยืนยันนะว่าวาทะนี้ถูกหรือผิด) มันก็ไม่แปลกที่คนๆ หนึ่งจะได้รับอิทธิพลจากคนอีกคนหนึ่ง (หรือหลายคนก็ตาม) มันไม่ใช่แค่การติดสำนวนจากเรื่องแปลหรอกครับ ต่อให้อ่านจากต้นฉบับภาษาใดก็ตาม ทุกอย่างมันส่งผลถึงกันทั้งนั้น ยกตัวอย่างนะครับ มีคนบอกว่าถ้าเราอ่านงานบางชิ้นของ มิลาน คุนเดอรา (ขออภัยที่ต้องยกชื่อคุณคนนี้ขึ้นมา อาจจะน่าเบื่อบ้างแต่มันเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัด) เราจะพบว่ามีงานบางชิ้นของคุนเดอราได้รับอิทธิพลจาก กุนเทอร์ กราส แน่ๆ เพราะฉะนั้นถามว่ามันผิดไหม พี่ว่ามันตอบยากอยู่นะ แต่ถ้าถามใหม่ว่า งานชิ้นนั้นๆ (ซึ่งอาจถูกมองว่าได้รับอิทธิพลจากคนนั้นคนนี้ ทั้งต่างประเทศในประเทศ) เป็นงานที่ดีหรือไม่ พี่ว่าถามอย่างนี้น่าจะตอบง่ายขึ้น

โดยส่วนตัวพี่จึงรู้สึกว่า ถ้าเราเชื่อว่างานเขียนเป็นศิลปะ ดังนั้นแล้วในการประเมินค่างานศิลปะ เราน่าจะพูดได้แค่ว่าในบั้นปลายแล้วงานชิ้นนั้นทำออกมา "ดี" หรือ "ไม่ดี" แค่นี้ล่ะครับ ต่อให้ได้รับอิทธิพลจากคนนั้นคนนี้เต็มไปหมด แต่ถ้าเราอ่านแล้วรู้สึกว่ามัน "ดี" พี่ว่าแค่นี้ก็น่าจะผ่านได้แล้วนะ ส่วนเรื่องอ่านแล้วไม่เข้าใจหรืออ่านแล้วเหมือนลอกเขามา อันนี้พี่ว่ามันอยู่ที่วิธีการทำว่ามัน "ถึง" หรือไม่ รวมถึงเป็นการให้เกียรติกันด้วย เพราะบางทีคนเขียนก็จำเป็นต้องบอกที่มาและให้เครดิตความคิดหรือสำนวนที่มีอยู่ก่อน ซึ่งมันก็แล้วแต่ ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป ในอีกแง่หนึ่ง งานเขียนบางประเภทก็จำเป็นต้องมีเพดานการอ่านและประสบการณ์ชีวิตในระดับหนึ่งจึงสามารถอ่านอย่างเข้าใจและดื่มด่ำได้ทั้งหมด มันจึงมีคำพูดว่าหนังสือบางเล่มเหมาะกับบางช่วงชีวิตครับ ถ้ายังไม่พร้อมต่อให้พยายามอ่านแค่ไหนมันก็เข้าใจลำบาก

หลายคนบอกว่าความโดดเด่นของคอลัมน์บันทึกนอกกรอบ คือเป็นบทความที่ใช้ภาษาเหมือนวรรณกรรม แล้วเคยคิดจะเขียนนวนิยายหรือเรื่องแต่งบ้างไหม

ก็เขียนครับ…คือบางทีมีเพื่อนฝูงในแวดวงทำหนังสือ อยากให้เราเขียนเรื่องสั้นให้ เราก็เขียนครับ มันเป็นงานอีกพาร์ทหนึ่งซึ่งทำแล้วมีความสุข คือพยายามทำงานให้ได้แบบที่คนรุ่นก่อนๆ เขาสอนมา คือต้องเขียนได้ทุกอย่าง งานเขียนมันไม่ควรจะเป็นเรื่องวิลิศมาหราเกินจำเป็น

ถ้าให้มองแวดวงวรรณกรรมขณะนี้ หนังสือขายดีมักเป็นงานที่แปลมาจากต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับนักเขียนไทยหรือวรรณกรรมไทย

พี่ไม่ค่อยแน่ใจกับข้อสังเกตแบบนี้นะครับ มันก็คงเป็นเรื่องๆ ไป วรรณกรรมต่างประเทศบางเรื่องขายไม่ค่อยดีก็เยอะแยะ งานของนักเขียนไทยบางคนพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกก็มี ส่วนที่ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักเขียนไทยหรือวงการวรรณกรรมไทย ตอบสั้นๆ ได้ว่า - ไม่ทราบครับ แต่ถ้าจะเอาคำตอบอยากให้แสดงความเห็นจริงๆ พี่คงพูดได้แค่ว่านักเขียนมีหน้าที่เขียนหนังสือครับ งานเขียนมันเป็นผลผลิตหนึ่งของสังคม เราก็เขียนไปเท่าที่สติปัญญาและวุฒิภาวะช่วงนั้นๆ มี ที่เหลือมันน่าจะเป็นเรื่องของคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ใช่เรื่องของคนเขียน…

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ