หวานและขมใต้ปุยเมฆที่ โอบกอดสันภู : บทวิจารณ์โดย ดนยา คำสัตย์ โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 9

หวานและขมใต้ปุยเมฆที่ โอบกอดสันภู

หวานและขมใต้ปุยเมฆที่โอบกอดสันภู

แสงแดดอ่อน ๆ เมฆครึ้มหม่น และความกระจ่างแจ้งของอีกฝั่งหนึ่งของฟากฟ้า บรรยากาศต้นฤดูฝนของปีกับเรื่องราวของหญิงสาวกับลูกนกขุนทอง พาผู้อ่านได้หลงใหลไปกับความร่มรื่นของธรรมชาติที่ผสมไปด้วยความหวานขมของวิถีชีวิตใต้หินร่องกล้าน้อย เรื่องราวที่ถ่ายทอดชีวิตที่ผ่านฤดูเก็บเกี่ยวพืชผัก ฤดูไข้มาลาเรีย ฤดูหวานแห่งรักของชายหญิงกับลูกนกขุนทอง และฤดูแห่งความโศกเศร้าเสียใจ อันทำให้ผู้อ่านต้องหยิบยกสารคดีชีวิตนี้มาแสดงทรรศนะ

หญิงสาวกับลูกนกขุนทอง เป็นเรื่องราวสามีภรรยาคู่หนึ่งที่อาศัยในหมู่บ้านคนม้ง มีไร่เป็นของตนเอง ทั้งสองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมาแรมปี ผ่านทั้งช่วงเวลาที่มีความสุขจากรักหวานชื่น ขมขื่นด้วยไข้มาลาเรีย ยากจนแร้นแค้นไม่มีอะไรให้รับประทาน และความเหงากับชีวิตรักที่ไม่มีลูก ผู้เป็นสามีจึงพยายามหาสัตว์มาเลี้ยงเพื่อทดแทนความเหงา โดยเริ่มจากการเลี้ยงเต่า แต่เมื่อเต่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้จึงเริ่มมาเลี้ยงเหี้ยลายพาด แต่ภรรยาก็ไม่ยอมให้เลี้ยง จนในที่สุดก็มาเจอนกขุนทอง นกน้อยแสนเชื่องที่พึ่งเกิดได้ไม่นาน ทั้งสองเลี้ยงดูดั่งลูกจนเกิดความผูกพันราวกับนกขุนทองเป็นลูกของตนจริง ๆ แต่เมื่อนกเติบใหญ่ นกก็เริ่มพยายามบินสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติ ทั้งคู่จึงลิดปีกให้นกปีกสั้นลงเพราะไม่อยากให้นกบินหนีตนไปไหน การขลิบปีกนี้สร้างความประสงค์ร้ายแก่นก เพราะเมื่อมันพยายามบินหนีจนตกจากกระต๊อบ ร่างของนกก็ถูกแมวกัด จนสุดท้ายนกก็ได้ตายไป

ประเด็นแรกที่ผู้อ่านสนใจคือ สามีและภรรยาในเรื่องนี้ใช้กลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism) ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่กล่าวว่า มนุษย์มีการหลีกหนีตัวเองจากความจริง ความคิด หรือพฤติกรรมบางอย่างที่จะทำร้ายตนเองเพื่อให้มนุษย์อยู่รอดต่อไป โดยสามีภรรยาในเรื่องพยายามทำให้การขลิบปีกนกที่เป็นเรื่องผิดกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ซึ่งสร้างความชอบธรรมและสร้างความเป็นเหตุเป็นผลภายในความคิดของตนเอง ทั้ง ๆ ที่การกระทำดังกล่าวคือการทารุณสัตว์และฝืนธรรมชาติของสัตว์ที่ว่า “เราลี้ยงนกตัวนี้เหมือนลูกจนกระทั่งมันเติบโตและเริ่มบินสูงขึ้นเรื่อย ๆ ความรักความห่วงใยทำให้เราต้องทำร้ายมันด้วยการขลิบปีก” หรือแม้กระทั่งในตอนที่นกได้ตายไปแล้ว ในความคิดของสามียังกล่าวอีกว่า “ผมก็ได้แต่บอกตัวเองว่า...มันจากไปเพื่อไปอยู่ในความทรงจำของเรา” ซึ่งความคิดดังกล่าวเป็นการหาเหตุผลให้กับตัวเองได้ผ่านเรื่องราวเลวร้ายนี้ไปได้ หรือกล่าวโดยง่ายคือเป็นการหลอกตัวเอง เพื่อปฏิเสธความจริงที่ว่านกได้ตายไปแล้ว และตนเองก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นกต้องตายไปด้วย

ประเด็นที่สองคือ เรื่องราวนี้สะท้อนถึงการปฏิสังสรรค์เชิงสัญลักษณ์ได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ มนุษย์มีการสร้างความหมายในการกระทำของตนเองตลอดเวลา ทั้งภาษา ท่าทาง การสื่อความหมาย หรือแม้กระทั่งวัตถุที่พบเห็น โดยให้ความหมายดังกล่าวผ่านการปฏิสังสรรค์ ซึ่งเห็นได้จากการให้ความหมายกับนกว่า นกขุนทองเป็นลูกของตน ผ่านการกระทำที่พยายามเลี้ยงดูอย่างดี และสะท้อนผ่านความคิดที่มองการกระทำของสัตว์ ในตอนหนึ่งที่ว่า เราแขวนกะทอใบน้อยไว้ใกล้ ๆ หัวนอน และทุกคืนเธอ(ภรรยา) จะเป็นคนห่มผ้าแกว่งไกวจนมันหลับไป บางครั้งเราก็ยกกะทอใบนั้นไว้ในมุ้งด้วย เพื่อสามพ่อแม่ลูกจะได้หยอกเย้ากันก่อนนอน” และยังปรากฏในตอนหนึ่งว่า “บางครั้งเธอ(ภรรยา)ออกไปซักผ้าอยู่ริมห้วยคนเดียว เจ้านกน้อยก็กระโดดเตาะแตะไปตามทางเดิน ส่งเสียงร้องชะเง้อหาคนที่มันถือว่าเป็นแม่”

ทั้งการสานกะทอและไกวเปลเหมือนเด็กอ่อน การหยอกเย้ากันของคนและนก และให้ความหมายในการเดินของนกที่เดินไปหาภรรยาว่าเป็นเสมือนการเดินของเด็กน้อยที่เดินหาแม่ ล้วนเป็นการสร้างความหมายในการกระทำทั้งสิ้น แต่ทว่าเพราะการให้ความหมายมากเกินไปก็ย้อนกลับมาทำร้ายตนเองได้เหมือนกัน เพราะเมื่อทั้งคู่มองว่านกคือลูก จึงขลิบปีกให้บินไม่ได้เพื่อตนเองจะได้ดูแลนกต่อไป เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นกตาย เพราะนกก็พยายามบินตามธรรมชาติของมัน ซึ่งคนที่เสียใจก็คือสามีภรรยาที่เลี้ยงนกนั่นเอง

ประเด็นที่สามคือ สารคดีนี้สะท้อนถึงโครงสร้างการหน้าที่และเพศภาวะ ที่ปรากฏผ่านวิถีชีวิตของคู่สามีภรรยา กล่าวคือ โครงสร้างการหน้าที่เป็นทฤษฎีทางสังคมวิทยาที่ได้อธิบายไว้ว่า สังคมมีโครงสร้างเป็นสถาบันใหญ่ ๆ และประกอบไปด้วยสถาบันย่อย ซึ่งมีค่านิยม วัฒนธรรม หรือกฎหมายมาควบคุมสถาบันเหล่านั้นเพื่อให้สังคมเกิดเสถียรภาพและขับเคลื่อนกันต่อไปได้ ส่วนเพศภาวะคือชุดการกระทำของสังคมที่มีการคาดหวังว่าเพศไหนต้องปฏิบัติตนเช่นไร ซึ่งเป็นผลมาจากค่านิยมจากโครงสร้างสังคมอีกทีหนึ่ง แม้ว่าเรื่องราวในสารคดีจะเป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในป่าเขาที่อาจพบเจอคนได้น้อยก็ตาม แต่สามีภรรยาก็รับเอาทั้งโครงสร้างการหน้าที่และเพศภาวะไปใช้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านการกระทำของสามีและภรรยา ที่มีการแบ่งงานกันทำภายในสถาบันครอบครัวตามเพศ ดังปรากฏในสารคดีว่า “ขณะที่ผมผ่าฟืน เธอนั่งสานกะทอ และเมื่อผมซอยยาสูบก็มักเห็นเธอซนฟืนเคี่ยวชาป่าไว้ดับกระหาย” สะท้อนว่าสามีผู้เป็น ‘ชาย’ จะเป็นผู้ทำงานหนัก อย่างเช่นการผ่าฟืน ภรรยาผู้เป็น ‘หญิง’ ก็ทำงานที่ใช้ฝีมืออย่างสานกะทอหรือเกี่ยวชา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แบ่งหน้าที่กันทำภายใต้ความเป็นชายและความเป็นหญิง นั่นก็คือเพศภาวะ

และยังปรากฏให้เห็นถึงหน้าที่ภายในครัวเรือนที่สามีภรรยาต้องดูแลกันและกันตามสถานภาพและบทบาทภายในครอบครัว ในตอนหนึ่งที่สามีภรรยาจะไปอาบน้ำที่ลำห้วย เขาว่า “ผมจะให้เธออาบน้ำก่อน ตัวเองละเลียดยาเส้น ระวังภัยให้ภรรยาอยู่บนโขดหิน” เมื่อสามีล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรีย ภรรยาก็ออกไปหาอาหารมาเพื่อบำรุง คอยปรนนิบัติดูแลอย่างดี ปรากฏในสารคดีว่า “เมื่อได้เวลาไข้ขึ้น เธอจะเอาผ้าห่มทุกผืนที่มีอยู่มาคลุมร่างผม...เมื่อผมสร่างไข้ เธอมักจะออกหาของกินตามหมู่บ้านคนม้งเพื่อบำรุงผมให้มีแรงป่วยครั้งต่อไป” ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำภายใต้โครงสร้างการหน้าที่อย่างเห็นได้ชัดเจน

ประเด็นต่อมาที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือภาษาสละสลวยที่ผู้เขียนตั้งใจเขียนมาอย่างดี ใช้เทคนิค การพรรณนาให้เห็นถึงบรรยากาศที่ว่า “วันนั้นปุยเมฆโอบกอดสันภูร่องกล้าไว้อย่างนุ่มนวล แดดสายลอดช่อง ฟ้ามาสัมผัสยอดไม้เขียวสว่างเป็นหย่อม ๆ ฟ้าด้านหนึ่งครึ้ม ด้านหนึ่งเทาเลือน และยังมีอีกด้านกระจ่างใส” เป็นการบรรยายที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพบรรยากาศที่ฝนใกล้จะตก หรือมีการพรรณนาเกี่ยวกับความสุขที่ตนได้พบกับคนรักและนกขุนทองว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างสองชีวิตยังกระจ่างอยู่ในความทรงจำของผม ตราบเท่าทุกวันนี้ ภาพหญิงสาวผมสยายประบ่าเดินไปมาพร้อมนกขุนทองน้อยเกาะอยู่บนไหล่ ทำให้ป่าอวลชื่นไปด้วยเสียงดนตรี” ซึ่งเป็นการพรรณนาที่ทำให้ผู้อ่านได้รู้สึกถึงความรักที่สามีมีให้ภรรยา ทำให้ผู้อ่านเองยิ้มตามไปพร้อมกับความอบอุ่นนั้นด้วย

ประเด็นท้ายสุดท้ายที่ผู้อ่านชื่นชอบคือ การใช้เทคนิคที่จะกล่าวเหตุการณ์ใหม่หรือเหตุการณ์สำคัญผ่านการใช้กลุ่มคำเดิมที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ในการเริ่มอีกเหตุการณ์หนึ่ง โคยผู้เขียนได้ใช้คำว่า “วันนั้นปุยเมฆโอบสันภูไว้อย่างนุ่มนวล” ก่อนจะเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญ ทั้งช่วงชีวิตอันหวานชื่น ชีวิตที่ได้พบเจอนกขุนทอง และช่วงชีวิตที่นกขุนทองตาย ผู้เขียนจะใช้คำดังกล่าวเพื่อเปิดเหตุการณ์ใหม่ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้รู้ว่าต่อไปจะถึงเหตุการณ์สำคัญ ก่อเกิดให้ผู้อ่านได้แรงบันดาลใจสู่ชื่อเรื่อง หวานและขมใต้ปุยเมฆที่โอบกอดสันภู ที่อยากเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์ที่สำคัญอันผสมไปด้วยความสุขที่เปรียบเสมือนรสหวาน และความเศร้าที่เปรียบเสมือนรสขมของเรื่องนี้ หญิงสาวกับลูกนกขุนทอง

 

บทวิจารณ์โดย ดนยา คำสัตย์ (พิมพ์ใจ)
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 9

 

 

Writer

The Reader by Praphansarn