ถนนชีวิตกมล กมลตระกูล : จากถนนวรรณกรรมสู่เส้นทางวิพากษ์การเงินการค้าโลก

 ถนนชีวิตกมล กมลตระกูล

ถนนชีวิตกมล กมลตระกูล

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2543 ที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น และองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งภูมิภาคเอเชีย (FORUM-ASIA) ร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ "ถนนชีวิตกมล กมลตระกูล : จากถนนวรรณกรรมสู่เส้นทางวิพากษ์การเงินการค้าโลก" ซึ่งพูดถึงเรื่องราวชีวิตของกมล กมลตระกูล รวมทั้งผลงานที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นที่ออกสู่สายตานักอ่านมาแล้วถึงหกเล่ม คือ กึ๋นวอลล์สตรีท, ถนนชีวิต, คู่มือโรบินฮู้ด อยู่รอดปลอดภัยในอเมริกา, IMF นักบุญหรือคนบาป, ทรราชย์การเงินโลก และ WTO ทรราชย์การค้าโลก รายการนี้มีทั้งกวีและนักวิชาการมาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะกันหลายท่าน คุณไพวรินทร์ ขาวงาม กวีซีไรท์จากเรื่องม้าก้านกล้วย, ดร.อัจนา ไวความดี นักเศรษฐศาสตร์, ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล นักกฎหมาย และคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการบริหารบริษัทเวนเจอร์แคปปิตอล คุณวิทยากร เชียงกูล รับหน้าที่ดำเนินรายการ งานนี้นอกจากจะพูดคุยเรื่องงานเขียนของคุณกมลแล้ว เรายังได้รู้กันอีกว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตจะเดินไปในทิศทางใด

เริ่มกันที่กวีซีไรท์ ไพวรินทร์ ขาวงาม กล่าวพร้อมรอยยิ้มว่า เขารู้จักชื่อและติดตามงานของคุณกมลมาตั้งแต่ยังไม่เคยเห็นหน้ากัน และแม้จะไม่ได้เกิดร่วมยุคเดียวกัน แต่สิ่งที่คนรุ่นคุณกมลได้ทำไว้คือการทำนิตยสาร วรรณกรรมเพื่อชีวิต และพิมพ์หนังสือคุณภาพหลายต่อหลายเล่ม เป็นการถ่ายเทพลังและความรู้สึกในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่สังคมและคนรุ่นหลังรวมทั้งตัวเขาเองด้วย และสำหรับผลงานของคุณกมลเรื่องถนนชีวิตนั้น เรื่องสั้นห้าทวีปในหนังสือเล่มนี้ยังคงมีความน่าสนใจอยู่เสมอไม่ว่าจะในยุคสมัยใด ส่วนผลงานอีกเรื่องคือคู่มือโรบินฮู้ด อยู่รอดปลอดภัยในอเมริกา แม้จะไม่ใช่งานด้านวรรณกรรม แต่เป็นประสบการณ์ของการใช้ชีวิตแบบโรบินฮู้ดในอเมริกา ซึ่งสามารถเป็นคู่มือให้เราได้รู้กฎเกณท์ของสังคมอเมริกา ซึ่งเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนได้เป็นอย่างดีนั่นคือแง่มุมในด้านวรรณกรรม

แต่ในด้านเศรษฐกิจแล้วก็มีหลากหลายมุมมองเริ่มที่ดร.อัจนา ไวความดี ในฐานะนักวิชาการ เธอมองว่าเรื่องการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้ผู้บริโภคมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทำให้ประเทศ เจริญเติบโต แต่การเปิดเสรีทางด้านเงินทุนนั้นไม่แน่ ซึ่งหนังสือสองเล่มคือ ทรราชย์การเงินโลก และ WTO ทรราชย์การค้าโลก ทำให้เรามองเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกที่สามหรือประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งอ่อนแทบทุกระบบ และมีปัญหาภายในที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลและตัวของมันเอง เป็นประเด็นที่ทุกคนต่างให้ความสนใจ สำหรับกระแสโลกาภิวัฒน์นั้น มันไม่ใช่กระแสที่เมื่อก้าวไปแล้วจะหยุดไม่ได้ แต่การเข้าไปจะต้องทำด้วยความมีสติ และสร้างความแข็งแรงให้กับตัวเองให้ได้ "ปรัชญาของการดำรงอยู่ของคน ของประเทศ ของชุมชน ตอนนี้ก็คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญที่สุดคือไม่ปฏิเสธกระแสโลกานุวัฒน์ แต่มีหลักสำคัญอยู่สามอย่างคือ การพอประมาณ การรู้เท่าทัน และการสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง..."

ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล มางานนี้ในฐานะของนักกฎหมาย มองว่าการเปิดเสรีทางการค้านั้น สิ่งที่ถูกต้องของประเทศพัฒนาแล้ว อาจไม่ถูกต้องสำหรับประเทศด้อยพัฒนา นั่นเพราะความแตกต่างทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมนั่นเอง "คุณกมลพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าในสิ่งที่เท่ากัน ถ้านำมาวัดกับคนที่ไม่เท่ากัน ความไม่เป็นธรรม เกิดขึ้นได้ นับว่าคุณกมลเป็นผู้ที่จุดประกายแนวคิดในอีกทางหนึ่งให้กับนักอ่าน และเป็นคุณูปการสำหรับผู้ที่อ่านแล้วสามารถที่จะนำไปใช้ ดิฉันคิดว่าหนังสือเล่มนี้ควรค่าแก่การอ่าน เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง"

ท่านสุดท้าย คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้ทำงานอยู่ในวงการธุรกิจการเงินมาตลอด พูดถึงหนังสือของคุณกมลว่า"เป็นหนังสือที่ให้ทั้งความรู้และจุดประกายไฟที่ให้ความรู้สึกทั้งที่เห็นด้วยและขัดแย้ง ผมมีความรู้สึกว่าในการนำเสนอของคุณกมลชัดเจนและท้าทายให้คนที่เห็นต่างพยายามนึกหาเหตุผลที่จะโต้แย้ง เพราะว่าคุณกมลมีทั้งเหตุผล ข้อมูล และมีแนวคิดประกอบ...ผมคิดว่าหนังสือนี้ถ้าไปถึงผู้บริหารของประเทศบ้างก็ดี แต่ในเมื่อมันไปไม่ถึงอย่างน้อยมาให้ถึง เรา ก็จะได้เห็นว่าทุกเล่มพยายามที่จะชี้ทางออก.." วิทยากรทั้งสี่ได้แสดงความคิดเห็นทั้งในแง่ของหลักวิชาการและความรู้สึกส่วนตัวกันไปแล้ว

คุณกมล เจ้าของผลงานได้เสนอความเห็นบ้างว่า "ผมเห็นว่าเหรียญทุกเหรียญมีสองด้าน เหรียญด้านหนึ่งคือความคิดกระแสหลัก เราได้เรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ได้อ่านหนังสือพิมพ์ และได้ฟังนักการเมืองพูดอยู่ตลอดเวลา จึงไม่จำเป็นที่เราจะต้องเขียนถึง แต่ไม่ได้หมายความว่าผมปฏิเสธเหรียญด้านนั้นหรือมองไม่เห็น แต่ผมเสนออีกด้านหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึง ไม่ค่อยมีใครมองเห็นและก็เสนอด้วยวิธีการท้าทาย นั่นเป็นประเด็นที่ผมพยายามเสนอ" คุณกมลได้ให้ข้อคิดทิ้งท้ายไว้ว่า...ถ้าคนไทยยังมีความเชื่อแบบเดิมว่า เราพึ่งตัวเองไม่ได้ คนของเราไม่มีความรู้ประเทศไทยก็คงจะเดินลงเหวดังที่ในหนังสือของเขาบอกเอาไว้...ก็เป็นได้

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ