วรรณศิลป์ในงาน ‘อัญชัน’ อัญชลี วิวัธนชัย โดย ผศ.ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา : ในงานสัมมนา วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย

วรรณศิลป์ในงาน ‘อัญชัน’ อัญชลี วิวัธนชัย โดย ผศ.ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ได้จัดสัมมนา วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ ‘อัญชัน’ อัญชลี วิวัธนชัย”

ในช่วงหัวข้อ วรรณศิลป์ในงาน ‘อัญชัน’  โดย ผศ.ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ ได้เล่าบรรยายถึง เด่นอย่างหนึ่งของคุณอัญชัน คือ การวางบทขยาย ต้องบอกว่านักเขียนคุณภาพในรุ่นพวกพี่มาลา คุณอัญชัน ในกลุ่มนี้ ยังมีลักษณะของการเขียนพรรณาไว้ค่อนข้างสูง ถ้าสังเกตดู งานของคุณอัญชันจะมีบทอุปมา เราจะเห็นว่าลักษณะงานของคุณอัญชันจะคล้ายงานร้อยแก้วโบราณ คือ ความเรียงแบบสามก๊กหรือราชาธิราช ซึ่งเคยพูดไว้เมื่อก่อนแล้วว่าคุณอัญชันต้องอ่านงานพวกนี้แน่นอน เพราะเรียนอักษรศาสตร์ ยังไงต้องได้อ่าน เช่น จะมีบทอุปมาซ้อนกันอยู่ประมาณสามบท เพื่อขยายสิ่งเดียว ซึ่งเป็นการลงรายละเอียดจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น

            “นุ้ยเห็นเวิ้งความมืดข้างในตานั้นถนัด ราวกับลืมตามองอยู่แจ้ง ๆ พอสักครู่ ห้วงมืดในตาก็เริ่มจางลง ดูราง ๆ เหมือนแผ่นกระดาษที่ชุบลงในสีดำจนชุ่มโชก แล้วถูกฟองน้ำเปียก ๆ ปาดให้เลือนจนเป็นสีเทามัว ๆ แทน มันเป็นความอึมครึมทึมเทาที่เยือกชื้นและเย็นชืด เหมือนหนีหนาวฝนเข้ามาซบหาความอุ่นจากกำแพงผุที่มีน้ำซึมจนมีเชื้อราในซอกอับ ๆ”

            จะมีบทอุปมาอยู่สามบทอยู่ในกลุ่มตรงนี้ ซึ่งน่าสนใจมาก และไม่ใช่เจอที่เดียว ตลอดเวลาที่อ่าน เราจะเห็นเลยว่าถ้ามันเป็นช่วงของการพรรณาภาพของรถไฟใน ‘เพื่อนร่วมทาง’ หรือบทพรรณาใน ‘ผู้แลเห็นลม’

            ขออนุญาตพูดถึง ‘ไม้เป็นดิน หินเป็นทราย’ ซึ่งแนะนำจริง ๆ ว่าอยากให้อ่านเรื่องนี้ จำได้ว่าผมอ่านแล้วร้องไห้จริง ๆ อ่านแล้วปลงอนิจจังจริง ๆ เป็นเรื่องที่เขาไปรับกระดูกของพ่อ ซึ่งพำนักอยู่ที่อเมริกา ตอนที่รับมาคือเป็นกระป๋อง เขาบอกว่า

            พวกเรา อันได้แก่ แม่ น้องสาว น้องชาย และตัวฉัน ผลัดกันประคอง ‘กระป๋อง’ ใบนั้นไว้บนตักกันคนละนิดละหน่อยในระหว่างที่นั่งรถกลับบ้าน ฉันเพ่งมองมันอย่างไม่เชื่อสายตา รูปร่างของมันดูธรรมดาสามัญเหมือนกับกระป๋องทุกใบที่พบเห็นได้บนชั้นขายเครื่องกระป๋องตามซูเปอร์มาร์เกต เนื้อกระป๋องทําด้วยอะลูมิเนียมมันวับ ขนาดสูงเกินคืบเล็กน้อย ฝาถูกเชื่อมปิดไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ที่ผิดไปจากปกตินั้นก็คือด้านนอกของกระป๋องติดสลาก มีหมายเลขและตัวภาษาฝรั่งพิมพ์กํากับไว้ด้วยว่า WS 01403 ดูสะดุดตา ชวนให้นึกถึงรหัสลึกลับที่ปรากฏอยู่ในหนังสือประเภทสืบสวน ฉันลองเขย่าดูเบา ๆ ได้ยินเสียงของที่อยู่ข้างในเสียดสีกับเนื้อกระป๋องดังแสก-สาก ฟังเหมือนเสียงเม็ดกรวดทรายในลําธารที่ถูกกระแสน้ำพัดวนให้กระทบกับซอกหินบนภูเขาสูง

            ต้องบอกว่าพอเปิดฉากแบบนี้ มันก็ชวนให้เราฉงนฉงายว่าอะไรที่อยู่ในกระป๋อง แล้วในที่สุดมันก็คือกระดูกของพ่อที่เผา เทียบกับของเราคือใส่โกศ อันนี้คือไปรับแบบเป็นกระป๋อง เป็นกระป๋องธรรมดามาก เขาพรรณาว่าน้องชายเอาที่เปิดกระป๋อง เปิดแล้วเทกระดูกลงบนผ้า แล้วก็จะ flash back ถึงสตอรี่ของพ่อ ของครอบครัวเขา แล้วที่สุดก็บอกว่านี่คือไม้เป็นหิน ดินเป็นทรายจริง ๆ คือการกลับไปสู่ธรรมชาติ

            อย่างที่อาจารย์สุรเดชพูด หรือพี่อี๊ดพูด อยากจะบอกว่าหลาย ๆ เรื่องของคุณอัญชัน มันเป็นเรื่องธรรมดามากเลยนะ คือเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตเรา เรื่องเด็ก เรื่องแม่ เรื่องหมา แต่ว่าการประกอบสร้างงานของคุณอัญชันมันมีลีลา มีเทคนิคที่น่าสนใจ

            ประเด็นที่หนึ่ง ก็คือเรื่องการวางบทขยาย หรือบทอุปมาที่ซ้อน ๆ กัน น่าจะได้อิทธิพลจากงานรุ่นเก่า พวกความเรียงแบบโบราณอย่างสามก๊กและราชาธิราช เป็นต้น ลักษณะนี้ซึ่งเมื่อกี้เอ่ยชื่อพี่มาลา จะบอกว่าพี่มาลาก็เป็นแบบนี้ จะมีนักเขียนร่วมสมัยของเขาอยู่ไม่กี่คนที่เขียนสั้น ๆ อย่างเช่นพี่จำลอง ซึ่งจะไม่ชอบพรรณามากนัก หรือกระทั่งพี่อัศศิริ ก็ยังพรรณาเยอะ มีบทอุปมาเยอะมาก

            อีกประเด็นหนึ่งที่จับได้จากเรื่องบทขยาย คือภาษาที่มีผัสสะ ถ้าอ่านดี ๆ ก็จะสัมผัสกับภาษาที่เป็นจินตภาพของผัสสะ ผัสสะเยอะมาก ไม่ว่าจะ เย็นชืด เย็นชื้น ลองดูได้ในงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องภาษาจินตภาพ ที่เต็มไปด้วยความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ความหนาวเย็น ความเยือก ความมืด อันนี้เป็นประเด็นที่สอง คือ ผัสสะ

            ประเด็นที่สาม คือ ภาษาเป็นภาพ อยากจะบอกว่างานของคุณอัญชันเด่นมาก ๆ เลยคือการวางภาพ เป็นวิธีเขียนที่คลาสสิกพอสมควร ในการใช้ภาพสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งอาจารย์สุรเดชก็พูดถึงประเด็นนี้เหมือนกัน

            ภาพที่สื่อในเชิงสัญลักษณ์ เช่น ภาพของแม่หมาที่ถูกคนใจร้ายสาดน้ำร้อน มาตายอยู่ใต้ฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน พอมาตายตรงนี้ มันก็มีบทพรรณาอะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่ามีน้ำเสียง หมานางแดงตัวนี้มันต่อสู้ดิ้นรนกับชีวิต ที่ต้องหาอาหารเลี้ยงตัวเองให้รอด และมีน้ำนมให้ลูกกิน พอมานอนตายตรงนี้ ภาพของอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินก็มีความหมายขึ้นมา มันถูกประกอบสร้างและความหมายขึ้นว่านี่คือการต่อสู้เหมือนกัน คือ อีกคนหนึ่งเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ กอบกู้บ้านเมือง แต่อีกตัวหนึ่งที่มัน contrast กันมาก ภาพที่มันถูกสร้างขึ้นมาตรงนี้มัน irony มาก และเรารู้สึกสะเทือนใจ งานของคุณอัญชันที่เด่นมาก ๆ เลยคือการวางภาพให้สื่อออกมาเป็นเชิงสัญลักษณ์

            หรือภาพรถไฟใน ‘เพื่อนร่วมทาง’ คุณอัญชันจะใช้เทคนิคถ่วงอารมณ์ กว่าที่เราจะสัมผัสชีวิตของรอด รอดใน ‘เพื่อนร่วมทาง’ เราถูกดึงอารมณ์จากภาพรถไฟที่มันน่ากลัวมาตลอด

            “พลบมืดใกล้ค่ำนั้น ผืนฟ้าสาดสีแดงก่ำ ลูกไฟดวงโตทิ้งดวงลงลับโลก ลาฟ้าอันโพล้เพล้ ทุกอย่างที่ตกอยู่ในความมืดก็อาจแลดูตะคุ่ม ๆ อำพรางสายตาคนได้ไม่ยาก บนส่วนหนึ่งของพื้นธรณีจึงเสมือนปรากฏสัตว์เลื้อยคลานร่างกายใหญ่โตขึ้นตัวหนึ่ง มองดูดำมะเมี่ยมไปตลอดลำตัว ภายใต้ความขะมุกขะมัวของเวลาเข้าไต้เข้าไฟ ภายใต้ความมืดกระดำกระด่างนั้นเหมือนกัน ดูคล้ายกับเจ้าสัตว์ใหญ่ตัวนี้มันอ้าปากโต ๆ เห็นแผงฟันซี่แหลมคมออก ส่งเสียงร้องหวีดแหลม กึกก้องไปทั่วทั้งปริมณฑลบริเวณ เสียงแหลมยืดยาวนั้นไม่ทันขาด มันก็เริ่มเคลื่อนตัวอันถมึงทึงยาวเหยียดของมัน ฝ่าความมืดสลัวคลานออกไปจากที่ตรงนั้นอย่างเชื่องช้า ดวงตากลมของมันเรืองขึ้นรับความมืด”

            จะเห็นว่ายาวอีกตั้งหน้าหนึ่งเลย ทำให้เราเห็นภาพและเสียง คือ แสง สี เสียง มาหมดเลย อยากจะบอกว่าอันนี้เป็นเทคนิคในวรรณคดี ถ้าใครได้อ่านบท รถเอย รถทรง ของบุษบา คือเป็นภาพของรถทองในท่ามกลางความมืด มีแสงจันทร์กระทบ จะเห็นเลยว่ามันเป็นวิธีการระบายภาพในงานวรรณกรรมและงานวรรณคดี

            ภาพของคุณอัญชันที่วางอยู่ ได้ทั้งแสง สี คือ รถไฟในความมืด ในความมืดนั้นมีแสง จังหวะที่มันเริ่มเคลื่อนขบวน ก็เปิดหวูดรถไฟ มันคือภาพความสว่างในความมืด ถือเป็นการสืบขนบวรรณศิลป์หรือวัฒธรรมวรรณศิลป์ของการระบายสี แต่งแต้มสีให้บรรยากาศ และเป็นบรรยากาศที่สร้างผัสสะ เตรียมความพร้อมให้คนอ่านว่าจะได้เจออะไรต่อไป ภาพของรถไฟที่นอกจะเป็นผัสสะแสงสีแล้ว มันช่วยถ่วงอารมณ์ ช่วยยืดขยายไปจนทำให้เรารู้สึกว่ากว่าจะมาถึงตรงนี้ เราก็รู้สึกอินไปกับโบกี้แล้ว

            อย่างงานของพี่มาลา ป่าใหญ่ไม้แน่น กว่าจะมาถึงเจ้าจันทร์ ก็ประมาณ 4 หน้า ที่ขึ้นต้นพรรณาถึงป่ามืดสนิทมาเรื่อย ๆ จนมาเจอเจ้าจันทร์นั่งอยู่ในกระจก ค่อย ๆ ซูมเข้าไปจนถึงเจ้าจันทร์สางผมอยู่ในกระโจม

            อีกประเด็นหนึ่งของภาพรถไฟ หรือภาพของป่าใหญ่ไม้แน่นใน ‘เจ้าจันทร์ผมหอม’ เราว่ามันเหมือน ‘กามนิต’ มันเป็นเทคนิคเดียวกัน เทคนิคเหมือนกล้องถ่ายภาพ ที่เล่าให้เห็นรายละเอียดภาพ

            ภาพของนกกระจอกใน ‘หม้อที่ขูดไม่ออก’ แน่นอนว่าอันนี้เป็นสัญลักษณ์อยู่แล้ว หรือไม่ว่าจะเป็นจินตภาพใน ‘ขอทาน’ ที่ขอทานถูกใช้ประโยชน์ ที่จริงถูกใช้ประโยชน์จากทุกคนเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกร เป็นนักเขียน ก็จะเอาขอทานสองผัวเมีย ตากุดกับยายเหร่ ไปเป็น source ของการเขียนนิยาย เขียนวรรณกรรม แล้วได้รางวัล จิตรกรนักวาดใช้อันนี้เป็น source ที่แสนจะมีคุณค่าและปลื้มอกปลื้มใจ และสุดท้ายดาราก็มีความสุขที่ให้ทาน 500 บาท ซึ่งแลดูเหมือนขอทานได้รับจากคนอื่น แต่ในที่สุดแล้วเรื่องนี้จะบอกว่า คนอื่นต่างหากที่รับประโยชน์จากขอทาน อันนี้พี่ชูศักดิ์เคยวิเคราะห์เอาไว้ว่ารวมทั้งตัวนักเขียน คือ คุณอัญชันเองด้วย ซ้อนทับเข้าไปอีกชั้นหนึ่งว่าคุณอัญชันเองก็ใช้ประโยชน์จากขอทานสองผัวเมียนี้เหมือนกัน

            เรามาดูว่าจะมีวรรณคดีอะไรมารองรับบทตอนนี้

            “ห้องหับทับน้อยของสองผัวเมีย มองเผิน ๆ เป็นเหมือนบังกะโลตากอากาศหลังกะทัดรัดที่ปลูกติดตีนขุนเขาลูกสูงใหญ่ในดงดิบของป่าขยะ เป็นเพิงกว้างยาวไม่กี่ศอก พอเหยียดนอนได้ไม่ต้องงอตัวเมื่อยทั้งคืน หลังคามุงสังกะสีผุรั่วเป็นรู มีไม้ค้ำสี่มุมโยกง่อนแง่น แกเก็บเศษไม้อัดกับบานประตูบ้านที่คนขนมาทิ้งบนกองขยะ เอามาพาดเป็นตัวพื้นตามมีตามเกิด เพิงนี้ยกพื้นถูกยกพื้นอย่างถูกสุขลักษณะขึ้นมาจากดินรกขยะอยู่ศอกหนึ่งเพื่อกันงู ฝาบ้านไม่มีโดยปริยาย แต่สี่ด้านที่สมควรเป็นฝามีแผ่นกระดาษหนังสือพิมพ์กับแผ่นกระดาษสี่สีรูปดารานางแบบสีสันฉูดฉาดบาดตาเขียว ๆ แดง ๆ ที่เห็นได้จากกองขยะ กับเสื่อกระจูดขาด ๆ วิ่น ๆ มาปะเข้าด้วยกัน บดบังสายตาจาบจ้วงจากภายนอก กระนั้นบางหนนักเรียนวิชาออกแบบตกแต่งที่เกิดเดินผ่านมาแถวนั้น ถึงกับมองดูวิมานกระยาจกของแกด้วยความทึ่ง”

            มันคือ ‘ระเด่นลันได’ จริง ๆ เลยนะ คือเป็นภาพที่โกโรโกโส แต่พรรณาได้เป็นปราสาทราชวังของอิเหนา ถึงได้บอกว่าคุณอัญชันมี background ของวรรณคดีอยู่เยอะมาก มันซึมซับออกมาอยู่ในงานเขียนแบบนี้ด้วย

          

กล่าวโดยสรุปว่า วรรณศิลป์ในผลงานของ ‘อัญชัน’ ว่ามีความโดดเด่นในการวางบทขยายให้เห็นภาพ รวมไปถึงการใช้สัญลักษณ์เข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่นผลงานเรื่องสั้น ‘หม้อที่ขูดไม่ออก’ ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงเป็นพิเศษ ซึ่งแสดงถึงสถานภาพผู้หญิงไทยผ่านหม้อก้นไหม้ที่ขูดอย่างไรก็ขูดไม่ออก ราวกับเป็นความผิดบาปของผู้หญิงในฐานะภรรยาที่บกพร่องต่อความคาดหวังของสังคม ก่อให้เกิดความสะเทือนใจต่อผู้อ่านโดยตรง

 

Writer

หนึ่ง หนึ่ง

พ่อแมวอันดับหนึ่งในปฐพี เขียน/คุยได้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องมีสาระ