ศศิน เฉลิมลาภ : “ผมทำงานให้พี่สืบ”

 ศศิน เฉลิมลาภ

เมื่อชายหนุ่มวัย 45 ปี ในตำแหน่ง ‘เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ ตัดสินใจออกเดินเท้ากว่า 300 กิโลเมตร จากลำน้ำแม่วงก์สู่กรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ชื่อของ 'ศศิน เฉลิมลาภ'ก็เป็นที่รู้จักในวงกว้างและสร้างกระแสอนุรักษ์ป่าได้มากมายเป็นประวัติการณ์ ภาพชายหนุ่มใส่แว่นกลม ผมยุ่ง สวมหมวกยับยู่ยี่ เริ่มเป็นที่คุ้นตาของคนในประเทศ ในฐานะผู้สืบทอดเจตนารมณ์ สืบ นาคะเสถียร’ นักอนุรักษ์ตัวยงที่คนไทยรู้จักดี ‘บุคคล(ไม่)ธรรมดา’ ฉบับนี้ จึงขอชวนคุณไปทำความรู้จักกับผู้ชายที่ปวารณาว่า “ผมทำงานให้พี่สืบ”

ศศินเริ่มต้นพูดคุยและอธิบายถึงความเป็นมาของ ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ ที่หลายคนยังเข้าใจผิด “คนส่วนมากจะรู้ว่ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก่อตั้งเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ยิงตัวตายที่ห้วยขาแข้ง ทุกคนชอบพี่สืบ แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ที่มูลนิธิมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วย แถมหลายคนยังเข้าใจผิดว่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ คือข้าราชการกรมป่าไม้ และมีสำนักงานอยู่ที่ห้วยขาแข้ง ซึ่งในความเป็นจริง มูลนิธิสืบฯ ตั้งอยู่แถวโบ๊เบ๊นี่เอง (หัวเราะ) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ก่อตั้งมา 24 ปีแล้ว ทำหน้าที่ผลักดันเชิงนโยบายแก้ไขปัญหางานอนุรักษ์ในส่วนที่ราชการทำไม่ได้ แล้วก็ไม่ได้มีหน้าที่ไปจับคนตัดไม้นะฮะ เพราะถ้าไปจับจริง เขาคงยิงสวนมาแน่ๆ (หัวเราะ)”

 

ศศิน เฉลิมลาภ

 

ศรัทธา ‘สืบ นาคะเสถียร’ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเจอ
ในช่วงที่เรียนวิชาธรณีวิทยาตอนปี 4 ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์พาไปสำรวจหินที่บ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อยู่ ๆ ศศินก็เกิดความรู้สึกอยากไปห้วยขาแข้งขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย “ตอนนั้นประมาณปี 2532 - 2533 เป็นช่วงที่พี่สืบกำลังเขียนรายงานขอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก ผมก็อยากจะไปดูมรดกโลก ที่นี้บ้านไร่กับห้วยขาแข้งห่างกันประมาณร้อยกว่ากิโล ผมก็บังคับอาจารย์ให้พาไป พอไปถึงก็พบว่าไม่มีอะไรเลย เจอแต่บ้านพักป่าไม้เก่า ๆ แถมไม่เจอพี่สืบด้วย (หัวเราะขำ) ตอนนั้นพี่สืบเขาดังแล้วจากเหตุการณ์ช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน แต่สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจ ‘สืบ นาคะเสถียร’มากกว่าสิ่งใดคือ บทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายที่ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี พี่สืบให้สัมภาษณ์กับอาจารย์สุรพล ดวงแข พอพี่สืบยิงตัวตายที่ห้วยขาแข้ง ผมก็เลยอินกับสืบ นาคะเสถียร ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเจอตัว และไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนเลย”

จากอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนตัดสินใจก้าวสู่องค์กรพัฒนาเอกชน
ก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานให้มูลนิธิสืบฯ เต็มตัวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ศศินเคยเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิตประมาณ 13 ปี และอาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เจ้าของฉายา ‘นางสิงห์เฝ้าป่า’ ถือเป็นบุคคลสำคัญที่ชักชวนให้มาทำงานกับมูลนิธิสืบฯ ศศินย้อนอดีตให้ฟังว่า “ตอนนั้นผมไปสำรวจปัญหาสารตะกั่วที่ห้วยคลิตี้ ทองผาภูมิ กาญจนบุรี เลยรู้จักกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ อยู่บ้าง พอมูลนิธิสืบฯ ได้โครงการใหญ่เรื่องการจัดการคนกับป่า แล้วต้องการผู้จัดการโครงการ (Project Management) เขาก็เลยติดต่อมา ช่วงนั้นผมเองกำลังอยากเปลี่ยนงาน เลยตัดสินใจรับเพราะอยากทำงานกับมูลนิธิของฮีโร่ที่ตัวเองศรัทธา พอเริ่มทำงานก็เจอเรื่องใหญ่เลย คือเรื่องความขัดแย้ง เพราะก่อนหน้านี้ กรมป่าไม้ไม่รู้จักไร่หมุนเวียน คือชาวกะเหรี่ยงเขาทำไร่ข้าวบนภูเขา แล้วเกิดการกัดเซาะของหน้าดิน เขาก็หมุนเวียนเปลี่ยนที่ทำ ปล่อยหน้าดินเก่าไว้ให้ต้นไผ่ขึ้น ให้อินทรีวัตถุมันทับถม แล้วเขาก็กลับมาทำใหม่ ซึ่งมันไปคล้ายกับการปลูกยาเสพติดทางภาคเหนือที่ทำไร่ขยายไปเรื่อย อย่างที่เราเรียกกันว่า ไร่เลื่อนลอย ผมต้องไปสร้างความรู้ความเข้าใจกับข้าราชการให้แยกระหว่างไร่เลื่อนลอยกับไร่หมุนเวียน โดยการลงพื้นที่จริง แม้จะไม่สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันก็ดีขึ้นมาก”

บทบาทของนักอนุรักษ์เต็มตัว
เมื่อเริ่มทำงานในฐานะนักอนุรักษ์เต็มตัว ศศินเล่าให้ฟังอย่างสนุกสนานว่า “ตอนที่ผมมาทำงานใหม่ ๆ เขาจะสร้างถนนคลองลาน – อุ้มผาง ผมก็ไปคัดค้านการสร้างถนนเส้นนี้ เพราะมันกระทบสิ่งแวดล้อมในผืนป่าตะวันตก แต่วิธีค้านของเราคือ ต้องหาคนพื้นที่มาร่วมค้านด้วย แม้ว่าคนในพื้นที่จะอยากได้ถนน เพราะมันนำความเจริญมาให้ แต่ในฐานะนักอนุรักษ์ ก็ต้องหาแนวร่วมมาทักท้วง เลยไปพูดให้เด็กนักเรียนฟัง ตอนนั้นตื่นเต้นมาก (หัวเราะ) ส่วนเขื่อนแม่วงก์นี่ค้านมาเป็นรอบที่สามแล้ว ระหว่างที่ผมค้านเขื่อนแม่วงก์ ถนนคลองลาน – อุ้มผาง ก็จะกลับมาอีกแล้ว (ทำหน้าเซ็ง) ส่วนโครงการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ที่อาจทำให้สูญเสียอุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะเภตรา ผมก็ต้องเข้าไปช่วยพี่น้องนักอนุรักษ์ทางภาคใต้ทำข้อมูล หรือแม้กระทั่งเรื่องเก่าอย่างสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ผมก็เขียนบทความช่วยเขาไปบ้าง และในขณะเดียวกันผมก็ผลักดันเรื่องการทำงานระหว่างชุมชนกับป่าด้วย”

หลายโครงการที่ค้านยังไม่เจอคำว่า “พลาด”
กว่า 10 ปี ที่ศศินทำงานในมูลนิธิสืบฯ เขาบอกว่า “การคัดค้านที่ผ่าน ๆ มา ขอคุยนิดหนึ่งว่า ยังไม่เคยพลาดเลยนะ ปีแรกที่ค้านการสร้างถนนคลองลาน - อุ้มผาง อดีตนายกฯ ทักษิณก็ชะลอไปก่อน ปีที่สอง ผมค้านถนนที่ทุ่งใหญ่นเรศวร นี่ก็หยุดได้ ปีที่สาม ผมค้านโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ลำตะเพิน มาที่อ่างกระเสียว อันนี้ก็เอาอยู่ หรือค้านการเปลี่ยนทีลอซูเป็นอุทยานแห่งชาติ เขาก็ยอมฟัง ตอนค้านเขื่อนแม่วงก์สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็หยุดไปได้รอบหนึ่ง หรือเรื่องให้เหมืองแร่ออกจากทุ่งใหญ่นเรศวร ก็ทำได้ มาล่าสุด เรื่องการเดินเท้าต้านเขื่อนแม่วงก์ครั้งนี้ ก็หยุดได้ไปอีกรอบ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไหร่เหมือนกันนะ จริง ๆ แล้ว ผมไม่ได้ตั้งใจเข้ามาค้านอย่างเดียวนะ ตั้งใจเข้ามาจัดการความขัดแย้งระหว่างชุมชนในป่ากับเจ้าหน้าที่อุทยานมากกว่า กลับกลายว่าต้องมาทำสงครามกับนโยบายรัฐบาลเสียส่วนใหญ่“

ถึงจะค้าน ก็ค้านโดยยึดหลักวิชาการ
ศศินยังเล่าให้ฟังถึงเทคนิคการคัดค้านโครงการต่าง ๆ ที่ล้วนประสบความสำเร็จมาแล้วทั้งนั้นว่า “อย่างแรกเลย เราต้องส่งหนังสือและเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการที่เกิดจากการลงพื้นที่จริง มีข้อมูลสนับสนุนจากนักวิชาการ จากนั้นก็พาสื่อมวลชนไปลงพื้นที่ ต้องลงข่าวในหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 4 – 5 ฉบับ มันถึงจะมีพลังเพียงพอ ต่อด้วยการจัดเวทีเสวนาเชิงวิชาการ แล้วก็ขอเข้าพบเพื่อพูดคุยกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะคนที่มีแรงพอจะยับยั้งโครงการได้ กับสำนักงบประมาณก็ต้องเอาข้อมูลไปให้ดูว่า ถ้าเอางบประมาณไปใช้กับโครงการอื่น น่าจะมีประโยชน์มากกว่า เรื่องแบบนี้ ใช้เวลาเยอะมากในการทำงาน เพราะงานของเราไม่ได้มีมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้อง มันเป็นงานในป่าที่ไม่ได้เกี่ยวกับใคร ผมตั้งใจจะทำงานให้พี่สืบก็คือทำให้ป่า ทำเพื่อผลกระทบของสัตว์ป่า มันอาจไปขัดประโยชน์ของผู้คนหรือขัดขวางความเจริญหรือการพัฒนาบ้าง แต่ผมก็คิดว่า มันต้องถ่วงดุลกัน ตรงไหนควรพัฒนาก็พัฒนาไป ส่วนผืนป่าตรงไหนที่มีคุณค่า เราควรเก็บไว้”

กล้าค้านเพราะอยากรักษาป่า
เมื่อถามต่อว่าเดินหน้าคัดค้านหลายโครงการขนาดนี้ ไม่กลัว ‘ภัยมืด’ จากการค้านบ้างหรือ ศศินหัวเราะแล้วตอบว่า “ก็กลัวนะครับ กลัวตลอดแหละ ผมเป็นคนขี้กลัว แต่โดยส่วนตัว ผมอยากรักษาป่าไงครับ บางทีก็กลัว บางทีก็เหนื่อย เคยคิดเหมือนกันว่า ทำไมต้องเป็นกูด้วยวะ (ยิ้มขำ) เคยมีครั้งหนึ่ง นั่งประชุมอยู่ แล้วโดน อบต. อุ้มผางด่าว่า ขัดขวางการพัฒนา คุณไม่เห็นแก่คน เห็นแก่สัตว์อย่างเดียว แบบนี้ไม่สนุกแน่ ๆ เป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังใจเยอะอยู่เหมือนกัน ผมไม่ใช่คนที่ไม่เห็นแก่คน ผมทำงานกับคน ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอดนะครับ พอโดนคนในห้องประชุมบอกว่า เห็นแก่สัตว์มากกว่าคน ก็เลยยิ่งเหนื่อย” ...ไปค้านเขาเยอะแยะขนาดนี้ เคยโดนขู่ไหม เราถามศศินตรง ๆ..... “ผมเคยเจอเจ้าของเหมืองจูงมือมานั่งหน้าห้องประชุม แล้วบอกว่า ถ้าผมไม่คัดค้านเรื่องนี้ เราก็จะเป็นมิตรกัน ไม่ต้องเป็นศัตรูกันไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เขาพูดกับผมดี ๆ แต่ท่าทางก็น่ากลัวอยู่ แล้วก็เคยมีคนมาถามหาที่บ้าน ก็น่าจะเป็นลูกศิษย์ของผม ซึ่งเป็นลูกชายเจ้าของเหมืองหินปูน เขาก็คงอยากมาพูดกับผมดีๆ แหละ (หัวเราะ) แต่บังเอิญวันนั้นผมไม่อยู่บ้าน (ยิ้ม)”

ถึงเหนื่อยแค่ไหนก็ไม่ท้อ
แม้จะผจญปัญหาและอุปสรรคมากมายในการทำงาน แต่ศศินก็ไม่เคยท้อ “ผมจะอ้างพี่สืบตลอด คิดเสมอว่า เมื่อผมอยากทำงานให้พี่สืบ ผมก็ต้องทำงาน แต่ถ้าทำไม่ไหว ผมก็จะออกจากมูลนิธิไป เมื่อวันนี้อยู่ในสถานภาพผู้นำองค์กร ก็ต้องทำ ต้องยอมโดนด่า ผมอาจไม่ใช่พวกอุดมการณ์เยอะแยะอะไรขนาดนั้น แต่ผมมีความรับผิดชอบ ผมรับปากอาจารย์รตยา จันทรเทียรมาทำ ผมก็จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ผมทำได้ อย่างตอนเดินค้านเขื่อนแม่วงก์ มันไม่รู้จะทำยังไงแล้ว เราแพ้แน่ พอเช็คกับพี่น้องนักข่าวว่า ถ้าผมตัดสินใจเดินเท้าต้านเขื่อน มันจะเป็นข่าวได้ไหม พอรู้คำตอบว่าน่าจะไหว ผมก็ตัดสินใจเดิน ก็เท่านั้นเอง”

แรงบันดาลใจในการทำงาน
นอกเหนือจากการทำงานตามรอยนักอนุรักษ์รุ่นพี่อย่าง ‘สืบ นาคะเสถียร’ แล้ว ศศินบอกว่า เขาเป็นคนชอบทำงาน ถ้าไม่ทำงานก็คงไม่รู้จะทำอะไร เขาไม่ได้มีความสนใจด้านอื่นมากนัก “ผมไม่ค่อยมีเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตเท่าไหร่ เป็นคนอยากทำงาน ชอบทำงาน รับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย ยิ่งเป็นงานสาธารณะที่สมัครใจรับผิดชอบเอง ยิ่งต้องทำให้เต็มที่ เพราะตำแหน่งการทำงานอย่างเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มันมีได้เพียงคนเดียว ถ้าคุณไม่ทำเต็มที่ ก็ควรให้คนอื่นไปทำ ผมคิดแบบนี้นะ (ยิ้ม) และถ้าคนอื่นทำดีกว่าผมทำเมื่อไหร่ ผมก็จะให้คนอื่นเข้ามาทำทันที ไม่งั้นเราก็เหมือนกับเป็นตัวถ่วง และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ไม่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหา”

งานอนุรักษ์ที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ
แม้จะทำงานอนุรักษ์มาอย่างหนักหน่วงตลอดสิบปีที่ผ่านมา เราก็ยังเชื่อว่า ศศินยังคงมีงานอนุรักษ์ที่อยากทำอยู่ในใจ สำหรับเรื่องนี้ศศินบอกว่า “ผมอยากทำงานด้านเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการกระตุ้นจิตสำนึกให้คนเห็นความสำคัญของป่า ผมแทบไม่มีเวลาทำงานด้านนี้เลย เพราะมัวแต่ไปทำงานอยู่กับชาวบ้านในป่า ไปทำงานด้าน Conflict Management ไปค้านโน่นค้านนี่อยู่ เลยไม่ได้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเท่าที่ควร อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องทะเล เพราะผมชอบทะเล ผมยังไม่มีโอกาสไปช่วยทำงานอนุรักษ์ทางทะเลมากนัก ส่วนอีกเรื่องคือ ผมไปทำงานอนุรักษ์มาทั่วประเทศ แต่ยังไม่เคยทำในพื้นที่ของตัวเอง ก็อยากทำงานอนุรักษ์ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านเกิดคือพระนครศรีอยุธยา หรือบ้านที่ปากเกร็ด นนทบุรี บ้างเหมือนกัน”

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ ‘ศศิน เฉลิมลาภ’ นักธรณีวิทยาที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมมากจนกลายมาเป็นนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ที่หลายคนจับตามอง เราเชื่อเหลือเกินว่า นักวิชาการด้านอนุรักษ์ที่มุ่งมั่นและสืบสานเจตนารมณ์การทำงานต่อจาก ‘สืบ นาคะเสถียร’ คนนี้ จะทำให้ผืนป่าขนาดใหญ่และสัตว์ป่าของประเทศไทยคงอยู่และเพิ่มพูนต่อไปตราบนานเท่านาน

 

 

บุคคล(ไม่)ธรรมดา : ณ ชล
ภาพ : หนึ่ง กฤชพล
All magazine มีนาคม 2557

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ