ทราย เจริญปุระ : อ่าน อ่าน และอ่าน จึงเป็น ทราย เจริญปุระ

ทราย เจริญปุระ

“นิสัยรักการอ่านเกิดเพราะสิ่งแวดล้อม แต่ก่อนพ่อทราย (รุจน์ รณภพ) เขาทำหนังก็ต้องหาบทประพันธ์มาดู พ่อก็ต้องอ่าน แม่ก็ต้องช่วยอ่าน พอพ่อแม่อ่านกันทั้งคู่มันก็ไม่มีใครเล่นด้วย เราก็ต้องอ่านบ้าง ไม่ได้แล้ว…คืออยากรู้ว่าเขาสนุกอะไรนักหนากับการนั่งอ่าน อันนี้แม่ว่าได้ พ่อว่าไม่ได้ มันได้-ไม่ได้อย่างไร ก็เลยอ่าน”

ทราย เจริญปุระ หรือ อินทิรา เจริญปุระ บอกเล่าถึงที่มาของการชอบอ่านหนังสือ หมกมุ่นอยู่กับมัน และหล่อหลอมตัวตนของเธอขึ้นมาให้เป็นแบบนี้

“ไม่รู้เป็นคนแบบนี้ก่อนหรือว่าเป็นเพราะอ่านหนังสือเลยเป็นคนแบบนี้ ไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไหนกันแน่ รู้แต่ว่า ทรายไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับการที่เป็นคนแบบนี้ สบายดี ก็รู้สึกว่าแปลกแยกอยู่หน่อยๆ นิดๆ แต่ว่าถ้าทรายไม่อ่านหนังสือคนก็มองทรายแบบแปลกๆ อยู่แล้ว ด้วยนามสกุล เราถูกกันออกไปนิดหนึ่งอยู่แล้ว ครูเขาก็จะดับเบิลสแตนดาร์ดกับเรา เรื่องที่เขาจะคุยกับเราก็เป็นเรื่องแบบ…หนังเรื่องนี้มีดาราคนไหนมาเล่นขอลายเซ็นให้ฉันหน่อย ฝากลูกเข้าวงการได้ไหม แล้วทรายก็อุทานในใจว่า…แล้วกูจะรู้ไหมนี่

“พ่อแม่ทรายเขาเลี้ยงลูกแบบเรื่องนี้เรื่องของเด็ก เรื่องนี้เรื่องของผู้ใหญ่ คือแต่ก่อนพี่ใหม่ (ใหม่-สิริวิมล เจริญปุระ) เขาเคยเรียนโรงเรียนเดียวกันกับทราย (โรงเรียนเขมะสิรินุสรณ์) แล้วทรายไม่เคยรู้ว่าทรายมีพี่ คือทรายไม่เคยรู้ว่าพ่อเคยมีลูกมาก่อน พ่อไม่เคยบอก จนครูเข้ามาถามว่า พี่เธอเป็นไงบ้าง ทรายก็บอกว่า หนูไม่มีพี่ ครูก็บอกว่า มีชื่อนี้ชื่อนี้ ทรายก็ย้ำว่า ไม่มี…หนูเป็นพี่คนโต เถียงกันอยู่นั่น แล้วครูเขาก็โกรธว่าเราโกหก ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาของทรายแต่เป็นปัญหาของครู พอกลับมาถามพ่อ พ่อก็บอกว่า มี แต่ไม่ได้บอก รู้แล้วได้อะไร ก็ไม่ได้อะไร ไม่รู้ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย”

จากการที่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว เมื่อมีเรื่องที่ชวนรำคาญจากครู เพื่อน และสิ่งรอบๆ ตัว เมื่อบวกกันเข้าหลายเรื่อง ทำให้ทรายเข้าไปขลุกตัวอยู่ในห้องสมุด “พอโตขึ้น ม.2 ทรายก็เริ่มทำงานแล้ว ทรายเรียนโรงเรียนหญิงล้วน แต่ทรายก็ไม่เข้าใจวัฒนธรรมผู้หญิงเลยจนถึงทุกวันนี้ว่า ทำไมต้องไปเยี่ยวหรือกินข้าวพร้อมๆ กัน อยู่โรงเรียน ไปเข้าห้องน้ำก่อนเพื่อนปวด มึงโกรธอะไรกูนี่ ทำไมวะ อะไรอย่างนี้ คือไม่เข้าใจจนถึงทุกวันนี้ แล้วบวกกับการที่ชุดนักเรียนต้องปักชื่อ อาจารย์ทุกคนจำนามสกุลทรายได้หมด ไม่ว่าผ่านไปชั้นไหน ถึงเขาจำชื่อไม่ได้เขาก็จะบอกว่า เจริญปุระก็แล้วกันตอบ เจริญปุระตลอดเลย อะไรๆ ก็เจริญปุระ โอ๊ย…น่าเบื่อเหลือเกิน หรือไม่ก็มีคนมาถาม พ่อจะทำหนังเรื่องอะไร จะเล่นหนังบ้างไหม โตขึ้นจะทำอะไร โอ๊ย…ไม่รู้โว้ย

“ทรายก็พยายามไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครมายุ่งด้วย ซึ่งก็มีอยู่ที่เดียวก็คือ ห้องสมุด เพราะเด็กไม่เข้า สบายจริงๆ โลกของเรา นอนก็ได้พื้นเย้นเย็น ก็อ่านหนังสือไปเรื่อย อาจารย์เห็นเราอ่านหนังสือจริงๆ ไม่เข้ามาจุกจิกฉีกกระดาษ ทำอะไรเสียงดังโวยวาย เขาก็ปล่อย คราวนี้ก็ยาวเลย…

“ทรายว่าทรายอ่านหนังสือหมดห้องสมุด เพราะทรายอ่านไล่เลขตามตู้ไปเรื่อยๆ ถ้าจำไม่ผิด จะไม่อ่านพวกที่เขาล็อคไว้ไม่ให้ยืม พวกทศชาติชาดกอะไรอย่างนั้น ซึ่งไม่เป็นไรไปหาอ่านเอาที่อื่นก็ได้ หนังสือที่เป็นปกทองๆ แพงๆ อะไรอย่างนี้เขาไม่ให้อ่านก็ไม่อ่านก็ได้ อะไรอย่างนี้” เหตุไม่ได้เกิดจากที่โรงเรียน ทรายเริ่มเล่าย้อนหลังกลับไปที่บ้านอีกครั้ง การอ่าน-อ่าน และอ่านของเธอนั้น มีที่มาจากบ้านแล้วติดพันเกี่ยวโยงมาถึงโรงเรียน

“เริ่มอ่านนิยายมาก่อน คือที่บ้านจะมีนิยายเยอะ เป็นแบบว่าน้ำผึ้งขม น้ำผึ้งหวาน จำเลยรัก วนิดา ก็คืออ่านแบบนั้นมาตั้งแต่เด็กๆ คือรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ก็อ่านไป พยายามจะรู้ให้ได้ว่าเป็นอย่างไร พออ่านแล้วก็สนุกดี มีความรู้สึกว่าแอบโต โธ่เอ๊ย…เรื่องที่พ่อแม่รู้เราก็รู้เหมือนกัน เอาสักนิดหนึ่ง ก็เป็นเด็ก เรื่องนี้พ่อเพิ่งอ่านจบเราก็อ่านแล้ว คือมันรู้สึกว่าเราโตขึ้น ไม่ใช่เป็นเด็กไม่ต้องมายุ่ง เรื่องนี้อ่านแล้ว เรื่องนี้รู้ มันก็เป็นธรรมดาเวลาเด็กเห็นพ่อแม่ทำงานก็อยากแต่งตัวเป็นแบบนั้นมากกว่า อย่างอยากเล่นเป็นหมอ แต่ของทรายเล่นเป็นผู้กำกับคงยาก เลยอ่านหนังสือมาเรื่อยๆ มันก็เริ่มมาจากตรงนั้น

“พอโตขึ้น เวลาแม่เขาจะไปซื้อของ เขาก็เอาทรายไปทิ้งไว้ร้านหนังสือ ทรายก็นั่งอ่านไปเรื่อยๆ คนเดียว แรกๆ แม่ก็ซื้อหนังสือ แม่ซื้อเราก็อ่าน พอแม่บอกว่าเสร็จแล้ว ทรายก็บอกว่ายังอ่านไม่จบ แม่ก็บอกว่าอยู่นี่นะอย่าไปไหนเดี๋ยวมารับ อะไรอย่างนี้ เราก็นั่งอ่านของเราไปเรื่อยๆ จนทำให้ทุกวันนี้เป็นคนอ่านหนังสือเร็ว อ่านตรงไหนที่ไหนก็ได้ สามารถอ่านในฟู้ดเซ็นเตอร์ที่คนเยอะๆ ไม่มีผลอะไรกับทราย สามารถอ่านได้หมด มันเหมือนกับฝึกตัวเองไปเลย”

เธอบอกว่า การเข้านอน 2 ทุ่มกว่าๆ หลังข่าวในพระราชสำนักจบ ซึ่งพ่อแม่วางไว้เป็นกฎเหล็ก ทำให้เธอต้องพึ่งหนังสือด้วยเช่นกัน เพราะยังไม่ง่วง ทีวีก็ไม่มีในห้อง โทรศัพท์-คอมพิวเตอร์ และเกมก็ไม่มี มีเพียงเตียงกับหนังสือ

“2 ทุ่ม จะต้องขึ้นนอน ก็อ่านหนังสือสักหน่อยแล้วกัน ก็เลยติดเป็นนิสัย ตอนเด็กๆ พอเวลาโรงเรียนให้ไปเอาหนังสือของปีถัดไป ทรายก็จะเอามาอ่านก่อน อ่านภาษาไทยอ่านสังคมศึกษาก่อน อ่านจนจบแล้วจะรู้สึกหรูหรา รู้ดีกว่าเพื่อน อะไรอย่างนี้ ก็แค่นี้แหละ มันเป็นความสนุกแบบไม่รู้ตัว ชั้นหนังสือที่บ้าน ตู้หนึ่งเป็นหนังสือนวนิยาย อีกตู้หนึ่งก็จะเป็นหนังสือประเภท เกิดวังปารุสก์, รวมเรื่องสั้นคุณคึกฤทธิ์ ไผ่แดง อะไรอย่างนี้ พออ่านหมดตู้นวนิยายแล้วก็ต้องไล่ไปอีกตู้หนึ่ง คืออ่านไล่ไปเรื่อยๆ อ่านนิยายประโลมโลกย์จนรู้แล้วว่าเดี๋ยวต้องจบอย่างนี้ ขึ้นมานางเอกสูงศักดิ์ เดี๋ยวก็ต้องมีชีวิตอย่างนี้ คือสนุกอ่านเพลินๆ จนมาเริ่มอ่านหนักขึ้น แล้วคึกฤทธิ์เป็นคนที่เขียนหนังสืออ่านสนุกมาก ไม่ต้องผู้ใหญ่ เด็กอ่านก็เข้าใจ

“แล้วมาอ่าน คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติเข้าไป ตอนประมาณอยู่ ป.3 เลยเริ่มมองโลกนี้ดูเปลี่ยนไป ภารโรงที่โรงเรียนมีความหมายมากขึ้น เพราะปกติในโลกของเด็ก ผู้ใหญ่จะถูกเสมอ พ่อแม่เป็นคนถูก ครูคือคนดีที่สอนเรา เพราะมีบ้านกับโรงเรียนแค่นั้น แต่อ่าน คำพิพากษา แล้ว โอ้…มันไม่ธรรมดา ยิ่งทรายไม่ได้ดูละครมันจึงเป็นเรื่องจินตนาการจากหนังสือล้วนๆ ตอนเด็กๆ ดูแค่ข่าว เราเริ่มมองคนด้วยสายตาที่แปลกไป ภารโรงอาจจะมีปัญหาชีวิตอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเด็กทั่วๆ ไป ดูละครก่อนนอนหรือหลับคาทีวีกันไป ของทรายมันจะไม่ใช่ คือพออ่านเรื่องสนุกมันก็อ่านไปเรื่อยๆ แล้วคราวนี้”

หนังสือที่บ้านของทรายจะเก็บไว้ในห้องของเธอเองเยอะมาก จนทรายไม่กล้าให้ใครเข้าไปในห้อง เพราะมันรกในแบบมีหลักการแบบของเธอเอง “ใครจัดก็ไม่ได้เพราะถ้าจัด ทรายก็จะหาไม่เจอ เวลาเขียนต้นฉบับ เล่มนี้อยู่ไหนวะ หาไม่เจอก็ต้องรื้อ ไม่รู้จะรื้อจากตรงไหน เพราะมันเต็มไปหมด ห้องก็ใหญ่แต่หนังสือมีทั้งบนเตียง ใต้เตียง อยู่ในตู้ ใต้ทีวี ข้างโต๊ะ ในชั้นวาง มันเต็มไปหมด นี่ต้องเอาออกไปไว้ข้างนอกบ้าง แม่ซื้อตู้มาให้อีกตู้หนึ่ง ทรายจะงก เพราะไม่ชอบให้ใครมาอ่านหนังสือของทราย ถ้าสมมุติว่าแนะนำให้คนอื่นอ่าน พี่อ่านเล่มนี้สิ โคตรสนุกเลย แต่ทรายจะไม่ให้ยืม ทรายจะไปซื้ออีกเล่มมาให้อ่าน อย่ามายุ่งกับหนังสือของฉัน

“คือไม่ได้หวง หนังสือทรายจะไม่ห่อปกไม่ห่อพลาสติก ทรายว่าเหมือนอ่านหนังสือเรียนอย่างไรไม่รู้ มันดูน่าเบื่อๆ ขีดก็ไม่ได้อะไรก็ไม่ได้ หนังสือทรายต้องมีรอยพับ ช้ำ ขีดยับเยินเปียกน้ำ บางเล่มมีเลือดเอฟเฟ็คท์ติดมาจากกองถ่าย มันก็จะเป็นอะไรประมาณนี้อยู่ คือนี่หนังสือเรา เราจะจำได้ทุกครั้งที่หยิบมาอ่าน เล่มนี้วันนี้ไปอ่านที่นี่นี่หว่า โคตรสนุกเลย มันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องที่เราอ่าน แต่เป็นเรื่องของช่วงเวลานั้นๆ ในชีวิตด้วย คนที่ชอบอ่านจะเป็นแบบนี้ เหมือนกับเราอ่านทุกวัน เหมือนเป็นไดอารี่อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นกรุณาอย่ามาหยิบยืมความทรงจำของเราไป ต้องอยู่ในชั้นในแบบของเราอยู่ตลอดเวลา” ปัจจุบันทรายเป็นนักเขียนมีคอลัมน์ประจำอยู่ 2 แห่ง

“แรกๆ จะเป็นอย่างนี้ คือเขาไม่เชื่อว่าทรายเขียนเอง ดูแคลนมากๆ เพราะดาราส่วนใหญ่ไปทำตัวให้เขาน่าดูแคลนนั่นแหละ ก็ว่ากันไม่ได้ ก็เขียนเองจริงๆ ไม่รู้ทำยังไง ทรายก็ทู่ซี้เขียนไปเรื่อยๆ เขาก็เริ่มรู้แล้วว่ามันเขียนเองจริงๆ นั่นแหละ ก็มีคนเขียนมาชม ทรายก็ดีใจเวลาที่คนเขียนมา หลังๆ ทรายไม่ค่อยโดนข้อหาดารามาเขียนหนังสือ หลังจากที่เขารู้แล้วว่าพิมพ์ไม่เกิน 2 ครั้งเป็นอย่างมาก เขาก็เลยรู้ว่าเป็นคนละแบบกัน คนอื่นต้องพิมพ์ 5 ครั้งขึ้นไป”

ดาราเขียนหนังสือ ทรายบอกว่าถ้าแต่ก่อนก็สนุกที่จะได้อ่าน แต่เดี๋ยวนี้มีหนังสือกอสซิปที่เยอะแยะมากมายเหลือเกิน ไม่รู้จะตามอ่านไปทำไม ชีวิตรักชีวิตลับชีวิตที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่ก็ได้ถูกแอบถ่ายมาหมดแล้ว “มีวันหนึ่งทรายเดินเข้าไปในร้านหนังสือแล้วทรายตกใจ เชลฟ์ข้างหนึ่งมันมีแต่นิยายรักเกาหลี กับหนังสือประเภท…ทำไมหนูถึงมาขายตัว…เด็ก 14 ใจแตก อะไรอย่างนี้ นี่กูผิดใช่ไหมนี่ที่คาดหวังจากหิ้งหนังสือ มันกลายเป็นหนังสือที่อ่านแล้วก็แล้วกัน มันไม่ใช่หนังสือสารคดี ทรายไม่ถือว่ามันเป็นสารคดีสำหรับเรื่องพวกนั้น อย่างทรายอ่านหนังสือของคุณอรสม (สุทธิสาคร) ที่ไปตามถามผู้หญิงขายตัว อย่างนั้นเป็นสารคดีเพราะเรารายงานในหลายๆ แง่แบบตรงไปตรงมา แต่นี่คือมึงเขียนเองมึงก็ต้องเข้าข้างตัวเองสิวะ แล้วก็ออกแนวแบบว่าไม่รู้จะอ่านไปทำไม หนังสือนิยายรักเกาหลีก็แบบ โอ้…พระเจ้า นี่มันอะไรนี่ ทรายก็จะแบบงงๆ นิดหน่อย”

ส่วนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติกับงานมหกรรมหนังสือและสื่อการศึกษาระดับชาติที่จัดขึ้นทุกปี ทรายก็บอกว่าขี้เกียจไปเดินแล้ว “เมื่อก่อนไปประจำ แต่ปีหลังๆ ไม่ไปแล้ว เพราะไม่ไหวแล้วค่ะ นึกว่าไปจตุจักรเพราะมันไม่สนุกแล้ว ไม่ชิลล์สบายๆ นั่งเลือกได้หนังสือเก่าหนังสือมือสองเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้ที่ทรายเบื่อการไปยืนเลือก แล้วมีคนข้างๆ ถามคนขายว่า หนังสือเล่มนี้มันเกี่ยวกับอะไร ก็ลองอ่านสิคะ หลังปกเขาก็มีเรื่องย่อๆ อยู่ประมาณหนึ่ง แล้วดันมาถามคนขายอีกว่า สนุกไหม คนขายก็ต้องบอกว่า สนุก อย่างนี้ไม่ต้องก็ได้ไปเดินตลาดเปิดท้ายขายของเหมือนเดิมก็ได้ ถ้ามาอ่านแล้วเป็นแบบนี้ มันเหมือนแบบว่าต้องไปเดินงานหนังสือสักหน่อย อ่านสักหน่อยดูฉลาดดี หรือว่าอะไรสักอย่างหนึ่ง

“ไปๆ มาๆ คนที่เคยเห็นกันในงานหนังสือฯ ก็เริ่มหายไป กลายเป็นแบบไม่ไหวเหมือนกัน เป็นอะไรก็ไม่รู้มันคล้ายๆ กับจตุคามหรืออะไรสักอย่างที่แห่กันมาก เหมือนงานลงแขกที่ทุกคนจะต้องไปปีละ 2 ครั้ง คนแน่นหนอนมากๆ มโหฬาร มันไม่สนุกแล้ว แล้วช่วงใกล้ๆ งานหนังสือฯ ตามร้านจะไม่มีหนังสือใหม่เลยเป็นเวลา 2 อาทิตย์ถึง 3 อาทิตย์เต็มๆ ร้างมาก เงียบเหงา มันเกิดอะไรขึ้น ใจคอจะคิดว่าคนจะไปรออ่านหนังสือตอนนั้นหมดเลยหรืออย่างไร แล้วมันคล้ายๆ ถูกสะกดจิตด้วย หนังสืออะไรก็ไม่รู้งี่เง่าไม่เข้าท่า แต่มันขายงานหนังสือฯ เรารู้สึกว่าเราต้องซื้อ ไม่ได้โว้ยมันวางแล้ว สดจากแท่นอะไรอย่างนี้ ต้องซื้อ ซึ่งมันไม่ได้น่าอ่านขนาดนั้น แต่ด้วยความที่ทุกคนเบียดมาก ไม่ได้กูต้องคว้า อะไรอย่างนี้”

สุดท้าย ทรายบอกถึงเป้าหมายในงานเขียนของเธอว่า อยากเขียนนิยาย หรือไม่ก็เขียนบทภาพยนตร์บ้าง

 

 

ขอบคุณที่มาจาก http://waymagazine.org/entertainment/อ่าน-อ่าน-อ่าน-และอ่าน-จึ

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ