กิตติ ธนิกกุล : เจ้าของนามปากกา "กิ๊ตตี้"

กิตติ ธนิกกุล

กิตติ ธนิกกุล เจ้าของนามปากกา "กิ๊ตตี้" เป็นนักเขียนฝีมือดีอีกคนหนึ่งที่ทุ่มเทจิตใจให้กับการทำงานเขียนเพียงอย่างเดียวมาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว ความพยายามในการสร้างงานอย่างต่อเนื่องและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ทำให้แต่ละนามปากกาของกิตติ ธนิกกุล เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้อ่าน ผลงานรวมเรื่องสั้นชุดง "ซุเปอร์ป๋อง" ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 99 เล่ม หนังสือดีวิทยาศาสตร์ แสดงภูมิปัญญาไทยเชิงวิทยาศาสตร์ ที่คนไทยควรรู้จัก โดย รศ. ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล และคณะ สนับสนุนการวิจัยโดย สำนักงานกองทันสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

เมื่อปี 2544 ผ่านมา ผลงานนวนิยายแนววิทยาศาสตร์แฟนตาซีของเขา เรื่อง "ผู้มาเยือน" ได้รับรางวัลชนะเลิศลำดับที่ ๒ จากการประกวด วรรณกรรมเยาชน รางวัลพระราชทาน "แว่นแก้ว" ครั้งที่ 1 ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนที่เป็นเกียรติและน่าปลื้มใจยิ่งสำหรับการทุ่มเทและความพยายามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ล่าสุด นวนิยายแนวแฟนตาซี เรื่อง "มือใหม่..หัดโอมเพี้ยง" ได้ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกของการประกวดรางวัล "7 Book Awards" ประเภทวรรณกรรมเยาวชน ที่เพิ่งประกาศผลเมื่อไม่นานมานี้ ทุกวันนี้ กิตติ ธนิกกุล ยังคงทำงานเขียนอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะแต่วรรณกรรมเยาวชน แต่ยังมีงานค้นคว้าด้านข้อมูลต่างๆ อีกมากมาย

กว่าจะมาถึงวันนี้ กิตติ ธนิกกุล ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
ผมทำงานเขียนอย่างเดียวมาเกือบ 15 ปี แต่ก่อนจะมาทำงานเขียนนี่ผมทำมาหลายอย่าง เป็นช่างซ่อมนาฬิกา เป็นพนักงานสวนสนุกแดนเนรมิต เป็นเซลส์แมนขายพลาสติก เป็นพนักงานขายของเซ็นทรัล ทำงานโรงงานที่นวนคร ทำมาหลายอย่างมาก (หัวเราะ) แล้วทำไมถึงได้คิดที่จะมาทำงานเขียนล่ะคะ
เริ่มมาจากเป็นนักอ่านก่อนครับ แล้วก็มีใจรักด้านนี้ สนใจเกี่ยวกับเรื่องการเขียน การเรียบเรียง ก็เลยหัดเขียนอะไรมาเรื่อย แล้วก็เขียนเรื่องสั้นส่งไปลงตามนิตยสาร เคยส่งไปลงเธอกับฉัน เป็นเรื่องรักวัยรุ่น จากนั้นก็เขียนเรื่อยมา แล้วค่อยๆ พัฒนาไปเขียนวรรณกรรมเยาวชน เขียนพวกประวัตินายกรัฐมนตรี ประวัติเก้ารัชกาล อะไรทำนองนี้ เขียนเรื่องเกี่ยวกับประเพณีไทย วันสำคัญของไทย

เพราะอะไรถึงสนใจที่จะเขียนวรรณกรรมเยาวชนมากเป็นพิเศษคะ
คือตอนอ่าน ตั้งแต่ตอนเด็กๆที่อ่านหนังสือสี่สีสั้นๆ แล้วพัฒนาการอ่านเรื่องยาวมากขึ้นๆ จนมาอ่านเรื่องของโรอัล ดาห์ล ก็มีความรู้สึกว่าชอบและอยากจะเป็นเจ้าของผลงานแบบนี้บ้าง ก็เลยลองเขียนดู แรกๆ ก็ไม่ค่อยได้เรื่อง (หัวเราะ) แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาครับ

นักเขียนไทยมีน้อยนะคะที่ทำงานเขียนอย่างเดียวแล้วอยู่ได้ พี่กิตติทำได้ยังไงคะ
อย่างที่บอกครับว่าช่วงแรกผมต้องไปทำงานโน่นทำงานนี่เพื่อหาทุนเก็บไว้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เป็นการทำเพื่อเก็บประสบการณ์ อย่างตอนที่เป็นเซลแมนก็ต้องไปต่างจังหวัดทั่วประเทศเลย ก็เป็นการหาประสบการณ์ก่อน จริงๆ ตอนที่ผมทำงานเขียนปีแรกก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำงานเขียนอย่างเดียวนะ แต่ว่าพอดีตกงาน ผมก็ไปบวช ออกมาก็ยังไม่มีงานทำ ก็เลยลองเขียนดู แล้วผมก็มีเพื่อนเป็นนักเขียน ก็ลองเขียนเรื่องผี ชื่อเรื่องผีร้อยเปอร์เซน ฝากเขาส่ง ปรากฏว่าผ่าน ตอนนั้นใช้นามปากกาว่า อจิณไตย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยใช้แล้ว หลังจากตอนนั้นเขาก็ให้งานมาเรื่อยๆ ผมก็เลยเขียนไปเรื่อยๆ ทั้งที่ตอนแรกคิดจะเขียนเป็นรายได้พิเศษเท่านั้นนะ แต่พอมันมีงานมาเรื่อยๆ ผมก็เลยเขียนมาเรื่อยๆ จนไม่คิดไปทำอย่างอื่น งานที่ได้ส่วนมากจะเป็นหนังสือเล่ม ขนาด 16 หน้ายก ส่วนงานที่ส่งไปลงตามนิตยสารก็มีบ้าง ผมส่งงานไปลงเธอกับฉัน และขวดโหล ใช้นามปากกาว่าซิกแซก เป็นเรื่องวัยรุ่น คล้ายๆ แนวศุภักษรเมื่อก่อนนี้นะ

ต่อมาก็เขียนเป็นวรรณกรรมเยาวชน เรื่องแรกเป็นแนววิทยาศาสตร์ ส่งไปลงที่สตรีสารภาคพิเศษ ที่จริงตอนแรกผมเขียนเรื่องเดียว แต่ว่ามีคนอ่านชอบ เลยเขียนต่อเป็นชุดไปเลย ตอนหลังได้ตีพิมพ์ใหม่ แต่แยกเป็นสองเล่มนะ เล่มแรกคือ "จุ๊กจิ๊ก หุ่นอัจฉริยะ" เล่มนี้ได้แปลเป็นภาษาเวียดนามด้วย เล่มที่สองคือ "ซูเปอร์ป๋อง" เป็นวรรณกรรมเยาวชน แนววิทยาศษสตร์แฟนตาซี เล่มนี้ติด 1 ใน 88 เรื่องดีวิทยาศาสตร์ด้วย นอกจากนั้นก็มีนิทานเด็ก สั้นๆ คล้ายๆ เรื่องกระต่ายกับเต่า ส่งไปลงที่ขวัญเรือน ประมาณปี 37-38 แต่เพิ่งจะรวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ในเครือของดวงกมลเชียงใหม่ รู้สึกว่าจะวางตลาดเดือนนี้ หรือไม่ก็เดือนหน้านะครับ ใช้ชื่อว่า "รวมนิทานเอกของกิ๊ตตี้" กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ก็ลำบากมากเหมือนกันนะครับ เรื่องลงไปอยู่ในตะกร้าเสียก็เยอะ ต้องแก้บ้าง อะไรบ้าง กว่าจะมีหนังสือเล่มแรกก็นาน เดี๋ยวนี้ก็ยังมีเรื่องที่ไม่ผ่านอยู่นะ ไม่ใช่ว่าไม่มี (หัวเราะ)

ช่วงแรกๆ ที่ส่งเรื่องเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ผ่าน ท้อไหมคะ
ท้อครับ แต่ท้ออยู่แค่ชั่วขณะ แล้วก็ เอาน่ะ สู้ต่อ ก็เอาเรื่องกลับมาปรับปรุงใหม่บ้าง เขียนใหม่บ้างไปเรื่อยๆ จนผ่าน คิดว่างานมันมีจุดบกพร่องอะไรบ้างเราก็แก้ไข แล้วก็ส่งไปเรื่อยๆ คือ ยังไงก็ต้องมีผ่านบ้างนะ แล้วเวลาเขามีบรรยายอะไรผมก็ไปฟัง ไปจับแนวว่าเรื่องแนวไหน เขียนยังไงจะผ่าน เอามาปรับปรุงแก้ไขตัวเอง งานบรรยายที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนนี่ผมจะไปบ่อย บางครั้งเขาก็เชิญไปเป็นวิทยากรร่วมบ้าง แต่ผมไม่ค่อยรับนะ เพราะผมพูดไม่เก่ง เวลาส่งงานไปตามที่ต่างๆ ส่งไปแล้วก็ต้องถือว่าส่งไปแล้วนะ หมายความว่า ใจเราอย่าไปพะวงอยู่กับงานนั้น แต่ต้องขึ้นเรื่องใหม่ ถ้าได้ก็คือได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็ค่อยเอากลับมาพิจารณาหาข้อบกพร่องกันใหม่ อย่างผมบางทีเอาเรื่องที่ตัวเองเขียนเมื่อยี่สิบปีก่อนมาอ่าน ยังไม่ให้ตัวเองผ่านเลย คือเป็นผม ผมก็ไม่เอาลง (หัวเราะ) คือพอทำงานไปนานๆ ประสบการณ์มันจะสอนเรา เราควรจะอ่านหนังสือมาก เขียนมากๆ มันจะคล้ายการขับรถนะ มือใหม่ก็ลำบากหน่อย แต่นานไปเดี๋ยวก็ซิ่งได้ (หัวเราะ)

ผลงานที่พี่กิตติส่งประกวดส่วนมากเป็นผลงานที่เขียนขึ้นเพื่อการประกวดโดยเฉพาะ หรือว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วคะ
คืออย่างนี้นะ วรรณกรรมเยาวชนของเมืองไทยเรามันขายยาก ยกเว้นแต่ว่ามันจะดังติดตลาดไปแล้ว ผมก็มีโครงเรื่องเก็บไว้เยอะมากเลย เป็น 40-50 เรื่อง แต่ยังไม่ได้เขียนสักทีเพราะมันขายไม่ค่อยดีไง เราเกรงใจสำนักพิมพ์ ก็เลยไม่ค่อยเสนอ แต่จะไปเสนออย่างอื่นพอขายได้อย่างความรู้รอบตัว อย่างประวัติศาสตร์นะ พอมีข่าวประกวด ผมจึงเอาพล็อตที่มีเก็บๆ ไว้มาเขียน คือมันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วนะ เพียงแต่ว่ายังอยากเขียนในตอนนั้น เพราะบางทีถ้าส่งสำนักพิมพ์ไปแล้วเขาพิมพ์ให้เราด้วยความเกรงใจ หรือเขาขายไม่ดี ก็คิดว่าเก็บไว้ก่อนดีกว่า

พี่กิตติมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง เกี่ยวกับการจัดการประกวดวรรณกรรม
มีความจำเป็นต้องมีนะ เพราะเป็นการช่วยส่งเสริมนักเขียนทุกระดับ นักเขียนใหม่จะได้มีสนาม พอประกาศผลงานออกมาคนที่สนใจงานเขียนหรืออยากเป็นนักเขียนก็จะได้เอาหนังสือที่ชนะการประกวดเหล่านั้นมาศึกษาดูว่า เพราะอะไรงานชิ้นนี้จึงชนะการประกวด อีกอย่างหนึ่ง การได้รางวัลถือเป็นเกียรติยศของนักเขียน อย่างที่ผมได้รางวัลแว่นแก้วอันดับที่สอง ซึ่งเป็นรางวัลพระราชทานของสมเด็จพระเทพฯ ได้เข้าไปรับพระราชทานรางวัลจากท่านทำให้รู้สึกเป็นเกียรติมาก

จริงๆ แล้ววรรณกรรมเยาวชนไทยที่ดีๆ มีเยอะนะคะ แต่เวลาเราเข้าร้านหนังสือกลับไม่ค่อยได้เห็นหนังสือวรรณกรรมเยาวชนของนักเขียนไทยเลย มักจะเห็นแต่งานแปล
ครับ แต่เราก็ต้องเข้าใจในเรื่องของการตลาด บางทีวางแล้วขายไม่ค่อยได้ เราก็เข้าใจนะ เพราะวางแล้วค่าใช้จ่ายมันก็มีเยอะ เขาก็ต้องวางไอ้ที่มันขายได้ นักเขียนก็ต้องเข้าใจ เพราะเรื่องแปลนี่อย่างน้อยมันก็มีการการันตีมาแล้วว่ามันต้องขายดีมาจากต่างประเทศ มันถึงมีคนเอามาแปล พอเอามาก็มีคนรู้จักอยู่บ้างแล้ว ประชาสัมพันธ์เพิ่มอีกนิดหน่อย ยังไงก็คุ้ม ที่จริงจะเป็นวรรณกรรมแปลก็ไม่แปลกอะไร เพราะยังไงก็เท่ากับว่ามีหนังสือที่ดีๆ ให้เยาวชนไทยได้อ่าน เพียงแต่ว่า ก็ต้องไม่ลืมที่จะส่งเสริมนักเขียนไทยกันบ้าง

หนังสือไทยขายลำบาก แต่เราจะเห็นว่ามีคนที่อยากเป็นนักเขียนเยอะมากนะคะ ถ้าดูจากตามเวบไซต์ต่างๆ ที่มีเวบบอร์ด เปิดโอกาสให้นักอยากเขียนทั้งหลายได้มาโพสต์ผลงานกัน
เรื่องไทยยังเกิดลำบาก แต่ก็ยังมีนะ อย่างไวท์โรดไง คนเขียนเขาก็เก่งนะ เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เก่งมาก

ในฐานะที่พี่กิตติดำรงชีพด้วยการทำงานเขียนอย่างเดียว ในขณะที่สถานการณ์ตลาดของหนังสือไทยยังเป็นแบบนี้ มันทำให้อยู่ยาก หรือมีอุปสรรคและความลำบากอย่างไรบ้างไหมคะ
ก็ค่อนข้างลำบากใน 4-5 ปีแรกนะ เพราะสมมติว่าเราเขียนหนังสือได้ 4-5 เดือน จบเล่มหนึ่ง แต่กว่าจะได้รับการตีพิมพ์ กว่าหนังสือจะออก บางทีเป็นปีเลย แต่รายได้เข้ามาแค่ 3-4 หมื่น มันก็ไม่คุ้ม แต่เราก็ต้องรับทำงานอื่นๆ บ้างก็พอถูๆไถๆ (หัวเราะ) หลังจาก 4-5 ปีแรก ถ้างานเราขายได้และเริ่มมีการตีพิมพ์ซ้ำ เราก็จะค่อยๆ ดีขึ้น เริ่มอยู่ได้ แต่ไม่รวยหรอกนะ ยกเว้นแต่ว่าคุณจะดังหรือมีคนซื้อเรื่องของคุณไปทำละคร ทุกวันนี้ผมก็ยังต้องอยู่บ้านเช่า ไม่ได้มีรถ ไม่มีอะไร มันอยู่ได้ แต่ก็ต้องมัธยัสถ์นะ ส่วนกิจวัตรการทำงานของผมทุกวันนี้ ผมจะตื่นนอนประมาณสิบเอ็ดโมงถึงเกือบๆ เที่ยง จัดการเรื่องส่วนตัวแล้วจะเขียนหนังสือถึงสี่โมงเย็น จากนั้นผมจะพักประมาณสองชั่วโมง เพราะถ้าไม่พักนี่หัวผมจะงง ทุ่มหนึ่งผมก็จะดูข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ ดูสารคดีจนถึงสามทุ่ม แล้วจะเขียนหนังสืออีกจนถึงประมาณตีสอง ก็จะพักการเขียน แล้วอ่านหนังสือเพื่อเป็นข้อมูลที่จะต้องเขียนสำหรับวันรุ่งขึ้น

ทำไมถึงเลือกที่จะเขียนหนังสือตอนกลางคืนละคะ
มันไม่เชิงเขียนกลางคืนนะ กลางวันผมก็เขียน แต่ผมต้องทำงานเป็นสองช่วง คือเวลาเราทำงานมันเหมือนเครื่องยนต์ พอทำไปนานมันจะตื้อ พอตื้อเราก็ต้องหยุดพัก ไปทำโน่นทำนี่ พอหายตื้อก็กลับมาเขียนใหม่ เพราะถ้าสมองเราตื้อแล้วเราฝืนเขียนต่อ ไม่หยุด งานจะออกมาไม่ดี

เคยตื้อมากๆ จนกลายเป็นตันไปเลย คิดเท่าไหร่ๆ ก็คิดไม่ออกไหมคะ
เคย บ่อยด้วย (หัวเราะ) แต่ผมจะมีวิธีแก้ปัญหานี้ คือถ้าผมตื้อกับเรื่องนี้ ผมก็จะเลิกเขียน วางก่อนเลยแล้วไปเขียนอีกเรื่องหนึ่ง จริงๆ แล้วตอนนี้รับงานมาหลายเรื่องจนทำไม่ทันเลย แต่ที่ทำไม่ทันนี่ก็เพราะคิดไม่ออกด้วยนะ (หัวเราะ) แต่ก็ทำแบบนี้ละ ถ้าเรื่องแรกตื้อก็จะไปจับเรื่องที่สอง เรื่องที่สองตื้อก็ไปเรื่องที่สาม และในขณะที่ทำเรื่องที่สามอาจจะคิดสองเรื่องที่พักอยู่นะ พอจบเรื่องที่สามก็อาจจะคิดออก แล้วก็กลับไปเขียนเรื่องที่หนึ่งใหม่ แต่บางเรื่องก็โชคดี คือหลังจากได้พักแล้วก็คิดออก กลับมาเขียนต่อได้เร็ว เรื่องคิดไม่ออกนี่เป็นปัญหาใหญ่ของนักเขียนนะ พอไม่รู้จะต่อยังไงแล้วมันจะทำให้เครียด ปัญหาในการเขียนหนังสืออีกอย่างหนึ่งคือเรื่องข้อมูล เมืองไทยระบบเรื่องข้อมูลยังไม่ดี เคยสังเกตไหมว่าบางทีข้อมูลจากแต่ละแหล่งจะไม่ตรงกัน ทั้งข้อมูลตัวเลข ปี พ.ศ. การสะกดชื่อไม่ตรงกัน มีปัญหาเยอะมาก แหล่งค้นคว้าของเราก็ยังไม่ค่อยมาตรฐาน ไปห้องสมุดก็จะเจอแต่หนังสือเก่าๆ คนที่เขียนบางทีก็เขียนไม่หมด ค้นคว้าน้อย ทำให้ต้องเช็คตลอดว่าข้อมูลเป็นอย่างไร ถูกต้องไหม

พี่กิตติมีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียนบ้างไหมคะ
มันมีคำพูดอยู่นะว่า นักเขียนมีกฎทั้งหมดล้านข้อ พูดกันสามวันสามคืนไม่จบ แต่ข้อแรกคือ ต้องเขียน ต้องลงมือเขียนให้ได้และให้จบ ให้คนรู้จัก จากนั้นจะหาคนมาช่วยอ่าน ขอคำแนะนำติชม ก็ค่อยว่ากันอีกที ข้อที่สองคือ ต้องเป็นนักอ่าน นักค้นคว้า และข้อสามคือ ต้องไปฟังบรรยาย หรือหาหนังสือดีๆมาอ่าน ดูกลวิธีการเขียน การเล่าเรื่อง แต่อย่าไปทำตามตรงๆ คือต้องปรับมาเป็นตัวเราน่ะ อย่าไปลอกเลียนแบบ อย่าไปเขียนตามโกวเล้ง อะไรอย่างนี้ ต้องเป็นสำนวนของเรา งานที่ลอกคนอื่นนั้นมันไม่เกิดหรอก

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ