‘ชัญวลี ศรีสุโข’ แพทย์หญิงผู้หลงใหลในงานเขียน ‘วรรณกรรม’ ไม่ได้กำหนดหรือจำกัดแค่คนประกอบอาชีพ ‘นักเขียน’ เพียงอย่างเดียวที่จะเขียนออกมาได้ อาชีพอื่นก็สามารถทำได้ไม่แพ้กัน อย่างแพทย์หญิงในนัดพบนักเขียนของเราฉบับนี้
‘ชัญวลี ศรีสุโข’ คือผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งสูติ – นรีแพทย์ ระดับนายแพทย์เชี่ยวชาญ อยู่ที่โรงพยาบาลพิจิตร อาชีพการงานของเธอบอกไว้แบบนั้น แต่ลึก ๆ แล้วใครเลยจะรู้ว่า เธอมีหน้าที่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์สอนหนังสือนักศึกษาแพทย์ วิทยากรรายการวิทยุและโทรทัศน์ คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารต่าง ๆ รวมไปถึงการเป็นนักเขียน ซึ่งถือเป็นงานอีกอย่างหนึ่งที่เธอชอบและทุ่มเทให้กับมันเป็นอย่างมาก รางวัลทางวรรณกรรมที่ผ่านมา คงเป็นตัวการันตีในความทุ่มเทของเธอได้ ไม่ว่าจะเป็นการได้รางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ถึง 3 ครั้ง เรื่องสั้นการเมืองรางวัลชมเชยพานแว่นฟ้า 3 ครั้ง รางวัลช่อปาริชาติ 2 ครั้ง และล่าสุดกับรางวัลชมนาด ระดับดีเด่น ครั้งที่ 3 ปี 2556 กับเรื่อง พฤกษามาตา เธอทำในสิ่งที่ชอบไปพร้อม ๆ กับงานแพทย์อันหนักหน่วงเหล่านั้นได้อย่างไร
all : จบสายแพทยศาสตร์บัณฑิตมา แล้วเข้าสู่วงการวรรณกรรมได้อย่างไร
ชัญวลี : คงจะเป็นเพราะความชอบด้วย คือตัวเองเชื่อว่าเรื่องงานเขียนเป็นเรื่องของพันธุกรรม เชื่อว่าพ่อแม่ถ่ายทอดมาให้ส่วนหนึ่ง พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย น่าจะมีอิทธิพลพอสมควร เพราะไปดูประวัติของนักเขียนหลายคนก็มีบรรยากาศการรักการอ่านภายในบ้าน พ่อแม่เป็นนักเขียน หรือปู่ย่าตายายเป็นนักกลอน เราก็มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เรื่องของการเขียนได้เป็นเรื่องของพันธุกรรม แต่จะเขียนได้ดีหรือไม่ก็เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมไป
ที่บ้านตาเป็นครูใหญ่ แม่เป็นลูกคนโต แม่จะรับทุกอย่างจากตาไว้หมด ตาเป็นช่างฟ้อน แม่ก็เป็นช่างฟ้อน ที่บ้านน้า ๆ จะเขียนกลอนไว้ตามยุ้งข้าว โดยใช้ชอล์กเขียนและลงชื่อคนแต่งไว้ แม่ก็รับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาเหมือนกัน แม่เลยเป็นนักกลอนตั้งแต่นั้น ที่นี่แม่ไม่ได้เป็นแค่นักกลอนในยุ้งข้าวเพียงอย่างเดียว แม่ไปสังกัดชมรมนักกลอนเชียงใหม่ด้วย ซึ่งตอนแรกเขียนแค่ในท้องถิ่น ต่อมาก็เริ่มเขียนออกมาที่กรุงเทพฯ บ้าง โดยสมัยก่อนการเขียนกลอนมาที่กรุงเทพฯ ถือเป็นความภาคภูมิใจมาก ฉะนั้นเวลากลอนหรือเรื่องสั้นของแม่ได้ตีพิมพ์ แม่ก็จะอ่านให้ลูก ๆ ฟัง พอเราฟังแล้วก็จะรู้สึกว่าการเป็นนักเขียนเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก อย่างแม่พูดถึงอาจารย์เปลื้อง ณ นคร แม่ก็จะพูดด้วยความศรัทธา เราก็รับความศรัทธาตรงนี้มาเต็ม ๆ ทั้งที่เราไม่รู้จัก นี่ก็เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าเราอยากเป็นนักเขียน และต่อมาแม่ก็ไปจัดรายการวิทยุ เป็นรายการกลอนชื่อ ‘วลีทิพย์’ เราก็เขียนกลอนส่งเข้ารายการไป เพราะมีการประกวดเกิดขึ้น ตอนนั้นยังเป็นเด็กหญิงอยู่ แต่ก็ได้อันดับ 4 กลับมา
ต่อมาแม่เสียชีวิตตอนเราอายุ14 ปี แต่ความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักเขียนก็ยังมีอยู่ในใจ แต่ไม่มีโอกาสได้เขียนสักที พอเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้ ก็ไปเข้าชมรมวรรณศิลป์ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เขียนอีก เพราะเป็นแพทย์ไม่ค่อยมีเวลาขีด ๆ เขียน ๆ เท่าที่ควร รวมถึงพอไปอยู่โรงพยาบาลศิริราช ไปเรียนสูติ – นรีแพทย์จบมา ก็ยังไม่มีโอกาสได้เขียนอีก และพอจบแพทย์มาปุ๊บก็มาใช้ทุนที่จังหวัดพิจิตร ก็เริ่มเขียนหนังสือบ้าง แต่ไม่รู้จะเขียนอะไร เลยเขียนกลอนส่งไปนิตยสารการแพทย์ และเขาลงกลอนให้เราตัวใหญ่มาก เป็นหน้าหนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ มองแล้วก็รู้สึกภาคภูมิใจ เขียนไปเขียนมาหลายปีเข้า อาจารย์ก็เขียนจดหมายมาถึง ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันเลยว่า “ชัญวลี ผมแสดงความเสียใจด้วย กลอนของชัญวลีดี ผมตีพิมพ์ให้ทุกครั้ง แต่เจ้าของหนังสือพิมพ์บอกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เลยขอให้หยุด” เราโทรหาอาจารย์เลยว่า แล้วเรื่องอะไรที่จะลงได้ เขาบอกว่า ‘เรื่องสั้น’ เราไม่เคยเขียนเรื่องสั้นมาก่อน เลยไปหาหนังสือของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร เรื่อง ‘ศิลปะการประพันธ์’ มาอ่านดู อ่านแล้วก็เขียนเรื่องสั้นส่งไปลง ซึ่งต่อมาก็ส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดรางวัล ‘สุภาว์ เทวกุลฯ’ โดยในตอนแรก ๆ ก็ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร เลยเขียนเรื่อง ตาของหมอ ส่งไป ก็ได้รับรางวัลกลับมา และเริ่มที่จะเขียนผลงานส่งไปลงที่อื่นบ้าง
all : แสดงว่า ‘ครอบครัว’ น่าจะเป็นแรงผลักดันอยู่ไม่น้อยให้เข้ามาในวงการนี้
ชัญวลี : มันอยู่ในกระแสเลือดมากกว่า แรงหนึ่งคือศรัทธาจากสิ่งที่แม่เล่า และอีกอย่างหนึ่งคือความยากไร้ในวัยเด็ก เพราะพ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่ 9 ขวบ แม่เสียชีวิตตอนเราอายุ 14 ปี เราก็อยู่กับตายายตั้งแต่นั้นมา ความยากไร้ในวัยเด็กเลยถือเป็นแรงผลักดันให้เข้ามาในวงการนี้ เพราะในวัยเด็ก เราไม่รู้สึกหรอกว่ามันยากลำบากที่ จะต้องเดินไปขอทุนเขา เนื่องจากตัวเองในตอนนั้นสอบติดแพทย์ แต่ไม่มีเงินเรียน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยเดินไปแถวถนนท่าแพทั้งเส้น ไปดูว่าบ้านไหนรวยจะเข้าไปขอทุน ก็มีอยู่บ้านหนึ่งที่เราจะขอพบเจ้าของบ้าน แต่รปภ.ไม่ให้เข้า เราเลยกราบแทบเท้าจะขอเจอเจ้าของบ้าน เพราะความรู้สึกในตอนนั้นเรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา
แต่พอหันมามองตอนนี้ มีหลายเรื่องที่ตัวเองนำมาเขียนถึง เช่น อยากเป็นแพทย์ ที่บ้านเป็นครูหมด ไม่รู้จะเป็นแพทย์อย่างไร เลยเดินไปถามคนอื่น เนื่องจากสมัยก่อนคิดไว้แล้วว่า ตัวเองจะเป็นครู เพราะครูจบแค่เพียงมศ.3 เรียนอีก 2 ปี ก็ได้เป็นครูแล้ว หาเงินเลี้ยงตัวเองได้ แต่ทีนี้ปรากฏว่า มีทีมญี่ปุ่นมาทำวิจัยที่โรงเรียน เป็นโรงเรียนบ้านนอกที่เรียนอยู่ และเขาเป็นหมอทั้งหมด อาชีพหมอก็หรูดีนะในความรู้สึกของตัวเอง สั่งให้นักเรียนแก้ผ้าได้ด้วย ซึ่งทีมญี่ปุ่นเขาเข้ามาตรวจร่างกายเด็กวัยรุ่น โดยให้เด็กนักเรียนแก้ผ้าเพื่อตรวจสุขภาพและวัดสัดส่วน เราเลยคิดอยากที่จะเรียนหมอนับแต่นั้นมา ก็เลยเดินไปถามครูที่สอนว่า จะเรียนหมอต้องทำอย่างไร อ่านหนังสืออย่างไร อ่านหนังสือเยอะหรือไม่ ทำอย่างไรถึงจะไม่หลับ คุณครูบอกให้เอาเท้าแช่น้ำไว้ เพราะมันเย็น อย่างไรก็ไม่หลับทั้งคืน แล้วถ้าง่วงต่อจากนั้นจะทำอย่างไร ครูก็บอกว่า ให้ลุกขึ้นไปเอาน้ำเย็นมาตบก็จะไม่หลับ ซึ่งเรื่องยากไร้ในตอนวัยเยาว์นั้นมันมีพลังมากที่เราจะเขียนออกมา โดยจะเห็นว่าคนเขียนหนังสือใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะมีพลังเยอะกว่าคนอื่น เห็นได้จากคนเขียนใหม่ ๆ จะได้รับรางวัลค่อนข้างเยอะ เราเองก็เหมือนกันที่เขาขอเพียงต้นฉบับเดียว แต่เขียนกลับไป 10 ต้นฉบับเลย นี่คือพลังของคนที่เขียนหนังสือใหม่ ๆ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ยิ่งยากไร้ ยิ่งก่อให้เกิดความมุมานะ จนเขียนออกมาได้ทั้งหมด
all : จากข้อมูล ดูเป็นคนที่มีหลายบทบาทมาก ไม่ว่าจะเป็นรักษาคนไข้ สอนหนังสือ และเป็นวิทยากรในแต่ละที่ ซึ่งจากบทบาทอันหลากหลายเหล่านี้ มีส่วนช่วยในเรื่องของการเขียนมากน้อยเพียงใด
ชัญวลี : แพทย์เป็นอาชีพที่เขียนเรื่องอะไรก็ไม่จบ เนื่องจากมีข้อมูลอยู่เยอะมาก และถือเป็นขุมทรัพย์ชั้นดีในการเขียน เพราะคนไข้จะมาเล่าให้ฟังทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเล่า เล่าเรื่องแปลก ๆ ที่หมอไม่เคยรู้มาก่อน เล่าเรื่องความรักของตัวเอง เล่าเรื่องที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้ แต่มาเล่าให้หมอฟัง ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจในอาชีพ เพราะเขาเชื่อถือและไว้เนื้อเชื่อใจเรา ดังนั้นสิ่งที่เล่านี้เองจึงเป็นขุมทรัพย์อย่างดีที่ทำให้เขียนหนังสืออย่างไรก็ไม่มีวันจบ เพราะข้อมูลเยอะมาก (เน้นเสียง) แต่บางทีเมื่อเยอะมาก ก็อาจจะทำให้งานเขียนในบางทีดูแล้วซ้ำ เพราะคนอื่นอาจเขียนไปแล้วก็ได้ แต่สถานที่ที่เรียกว่า ‘โรงพยาบาล’ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในทุก ๆ วัน เห็นคนไข้หลายต่อหลายคน ก็เขียนได้สะท้อนสะท้านใจแล้ว เพราะการเจอคนแก่ คนเจ็บ คนตาย บางทีก็เป็นสิ่งที่ตราตรึงหรือซาบซึ้งใจอย่างรุนแรงให้เราเขียนเล่าออกมา เพื่อให้คนรับรู้ถึงความเป็นไปของโลกใบนี้ว่ามันเป็นอย่างไร
all : จัดสรรการทำงานเขียนกับการทำงานประจำอย่างไรให้ลงตัว
ชัญวลี : ด้วยความเป็นแพทย์ แน่นอนอยู่แล้วว่าไม่ค่อยมีเวลา ตอนเริ่มเขียนใหม่ ๆ ตัวเองก็ทำงานโรงพยาบาลเอกชน คลินิก และโรงพยาบาลรัฐบาลอีก 3 แห่ง แล้วเรามักจะถูกตามอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากคนคลอดต้องมาคลอดกลางคืน ถูกตามตี 1 ตี 2 ก็มี เลยจัดการชีวิตของตัวเองใหม่ทันที ด้วยการปิดคลินิกในวันอาทิตย์ โรงพยาบาลเอกชนก็เลือกทำ ตอนนั้นกลายเป็นว่า มีเวลาเขียนหนังสือมากขึ้น ทุกวันอาทิตย์ก็จะเขียนหนังสือ ส่วนวันธรรมดา อย่างมีเวลาเพียงแค่ 10 นาทีก็จะพิมพ์และบันทึกเก็บไว้ เราจะคำนวณได้เองว่า ครึ่งชั่วโมง เราจะเขียนได้ 1 หน้า หลังจากนั้นก็เขียนงานออกมาได้ค่อนข้างมากทีเดียว อย่างอยู่เวรไม่ได้หลับ เพราะต้องเซ็ตผ่าตัดตอนตีหนึ่ง ห้าทุ่มเรามาถึงก็พิมพ์งานฆ่าเวลา ตีหนึ่งเขาโทรมาว่า ห้องผ่าตัดพร้อมแล้ว เราก็ลงไปห้องผ่าตัด ตอนพิมพ์ไปก็ร้องไห้ไป พอห้องพยาบาลโทรมาบอกว่า ห้องผ่าตัดพร้อมแล้ว เราก็บอกว่า กำลังจะลงไป พร้อมเสียงสะอื้น พยาบาลลือกันใหญ่ว่า เคยมีอีหนูเข้ามาในบ้านของเรา ตอนนี้น่าจะกำลังตีกับสามีและร้องไห้อยู่แน่ ๆ จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เราพิมพ์และอินกับเนื้อเรื่องไปด้วย เพราะเวลาเขียนหนังสือ จะร้องไห้ไปกับเรื่องเศร้า และหัวเราะไปกับความตลกที่ตัวเองเขียนออกมา และพอลูกโตจนเรียนจบ ก็มีเวลาในการเขียนมากขึ้น
all : มีคนให้สมญานามว่า ‘นักล่ารางวัลแห่งถ้ำชาละวัน’ แสดงว่าส่งผลงานเข้าประกวดหลายที่
ชัญวลี : ใช่ ได้รับรางวัลค่อนข้างเยอะ นับแล้วหลายสิบรางวัล แต่ก็รู้สึกว่า สิ่งที่เราทำนั้นมันยังไม่เพียงพอ มีบางเรื่องราวที่เราอยากเขียนอีก ไม่ว่าจะเป็นเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย หรือบทความดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ออกมา ความรู้สึกเหล่านี้มันยังคงติดค้างอยู่ เพราะยังไม่มีผลงานชิ้นเอก (Masterpiece) ของตัวเองที่แท้จริง อย่างนิยาย ปิมปา ที่ได้รางวัล ‘สุภาว์ เทวกุลฯ’ เมื่อปี 2541 มา รู้สึกพอใจไหม พอใจนะ แต่เรื่องที่ดีที่สุดของเราก็ยังไม่ปรากฏเห็นเด่นชัดเท่าไหร่ ซึ่งเรารอเวลาอยู่ที่ผลงานชิ้นนั้นจะแสดงออกมา
all : การมีเวทีการประกวดแบบนี้ คิดว่ามีความสำคัญอย่างไรกับการสร้างสรรค์ผลงานเขียนของตัวเอง
ชัญวลี : มีความสำคัญมาก ๆ เพราะแท้จริงแล้ว ตัวเองเกิดได้เพราะรางวัล ‘สุภาว์ เทวกุลฯ’ เนื่องจากเดิมทีตัวเองไม่ได้มีความมั่นใจในเรื่องของการเขียนเลย แค่เรื่องสั้นเรื่องแรกที่ได้ลงนิตยสารดิฉันก็ภูมิใจแล้ว คือเรื่อง ยายของหมอนุช ซึ่งจะเห็นว่า เขียนแต่เรื่องตา ยาย และหมอทั้งนั้น แต่พอได้รับรางวัล ‘สุภาว์ เทวกุลฯ’ ก็มีความมั่นใจมากขึ้นเรื่อย ๆ และหลังจากนั้นก็ส่งประกวดเวทีนั้น เวทีนี้เรื่อยมา โดยเฉพาะเมื่อได้รับรางวัล ก็จะยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจในการเขียนของตัวเองมากขึ้น แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่นอกเหนือจากรางวัลก็คือพลัง กำลังใจ และโอกาสที่เขาให้เราจริง ๆ คล้ายกับรางวัล ‘นายอินทร์ อะวอร์ด’ ที่เขาบอกว่า มากกว่ารางวัลคือโอกาส
all : ‘พฤกษามาตา’ ที่ได้รับรางวัลชมนาดล่าสุด เห็นว่าเขียนมาจากประสบการณ์ตรง ประสบการณ์นั้นคืออะไร ที่ทำให้อยากเขียนเรื่องราวนี้ออกมา
ชัญวลี : เป็นเรื่องของชีวิต ชีวิตที่เป็นมากกว่านิยาย ไม่ว่าจะเป็นแม่ที่ปากกัดตีนถีบ แม่ที่ร้ายทำลายลูก หรือแม่ที่ประทับใจเรามาก ๆ สิ่งเหล่านั้นนำมาเขียนได้ และกระทบใจเรามากด้วย รวมไปถึงน่าจะกระทบใจหรือเป็นบทเรียนให้คนอื่นได้เช่นกัน เลยเลือกที่จะเขียนออกมา และการเป็นแม่สำหรับตัวเองแล้วไม่ใช่ภาระงานแต่อย่างใด แต่เป็นอะไรที่ยากและลึกซึ้งมากกว่านั้น คนเป็นพ่ออาจจะบอกแม่ว่าให้อดทน ให้รักลูกมากขึ้นอีกนิด ลดความเห็นแก่ตัวลงหน่อย แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ซ่อนในนั้นคือพ่อ คนเป็นพ่อจะทำอย่างไรให้แม่อดทนขึ้น พ่อจะสนับสนุนอย่างไรให้แม่รักลูกมากขึ้น หรือทำให้แม่เห็นแก่ตัวน้อยลง ซึ่งพฤกษามาตาคือการหาคำตอบว่า คนเป็นผู้ชายหรือพ่อจะมีส่วนช่วยคนเป็นแม่ได้อย่างไร
all : เมื่ออ่าน ‘พฤกษามาตา’ จบ เราควรเข้าใจเรื่องราวของผู้หญิงมากน้อยแค่ไหน
ชัญวลี : ควรจะต้องรู้จักและเข้าใจผู้หญิงให้มากขึ้น เพราะผู้หญิงมีอะไรที่ต่างจากผู้ชายอยู่เยอะมาก สังคมอาจจะให้โอกาสผู้หญิงมากขึ้น แต่แท้จริงแล้วให้ลองกลับไปมองที่ครอบครัวของท่านดู ผู้หญิงอาจดูแลผู้ชายเหมือนเทวดา แต่ผู้ชายอาจดูแลผู้หญิงเหมือนซินเดอเรลล่า คือได้แต่ใช้ เพราะฉะนั้นผู้ชายทุกคนอย่าทำผู้หญิงเป็นเหมือนซินเดอเรลล่า อย่าเอาแต่สั่งผู้หญิงให้ทำเพียงอย่างเดียว คุณก็ต้องช่วยผู้หญิงทำด้วย คุณถึงจะเข้าใจความเป็นผู้หญิงมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณต้องไม่ทำลายผู้หญิง ปัจจุบันได้แต่โทษแม่ท้องก่อนวัยอันควรว่า แย่อย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ พาดหัวต่าง ๆ เป็นความผิดของผู้หญิงทั้งหมด แม่ทิ้งลูกบ้างล่ะ แม่ฆ่าลูกบ้างล่ะ แต่ไม่เคยพูดถึงผู้ชายเลย ดังนั้นสังคมควรจะต้องให้โอกาสผู้หญิงมากขึ้นกว่าเดิม
all : ระหว่างงานแพทย์ที่รักกับงานเขียนที่ชอบ คิดว่าน้ำหนักชีวิตของตัวเองเทไปฝั่งไหนมากกว่ากัน
ชัญวลี : อาชีพแพทย์คือความใฝ่ฝันอันดับ 1 ถ้าไม่ได้เป็นนักเขียน เป็นแพทย์ก็ยังจะดีกว่า ไม่ได้คิดว่าตัวเองปากกัดตีนถีบ หรือเป็นนักเขียนผู้ยากไร้แต่อย่างใด แต่คิดไม่ออกเลยว่า เมื่อตัวเองรักแต่งานเขียนแล้ว ชีวิตจะเป็นอย่างไร การเป็นแพทย์มันได้ช่วยเหลือคนได้มาก ดังนั้นถ้าไม่ได้เป็นนักเขียน การเป็นแพทย์ก็น่าจะเป็นทางเดินที่ดี และที่สำคัญคือได้ช่วยตัวเองให้มีชีวิตรอด ช่วยครอบครัว ญาติพี่น้อง และคนอื่น ๆ เลยขอฟันธงว่าแพทย์คืออันดับหนึ่ง แต่งานเขียนคือสิ่งที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตเราให้สมบูรณ์ เป็นแพทย์ก็อาจจะมีชีวิตอยู่ครึ่งหนึ่ง เป็นชีวิตที่เอาตัวรอดได้ แต่งานเขียนกลับเติมเต็มให้ชีวิตของเรามีความเป็นคนมากขึ้น
all : คุณหมอเคยกล่าวไว้ว่า วันที่จะเลิกเขียนไม่เคยคิดเลย ทำไมถึงกล่าวแบบนั้น เพราะอะไร
ชัญวลี : คิดอยู่เหมือนกันว่า เมื่อไหร่ที่สมองไม่ปราดเปรื่องแล้ว เขียนเรื่องที่คนอ่านอ่านไม่รู้เรื่องแล้ว เราก็คงจบหน้าที่ตรงนี้ลง ซึ่งตัวเองรู้สึกว่าการเขียนมันอยู่ที่สมอง คนที่เขียนได้ต้องเป็นคนที่สมองดี ถ้าสมองไม่ดี ก็จะเขียนไม่ได้ รวมไปถึงยังต้องอ่านตัวเองและสมองของคนอื่นได้ว่า กำลังคิดอะไรอยู่ ฉะนั้นตัวเองจะไม่เขียน ก็ต่อเมื่อความคิดไม่มีแล้ว แต่ถ้าสมองยังดีและไม่ฟั่นเฟือนไปก่อน ก็จะเขียนไปเรื่อย ๆ ยังไม่หยุดหรือเลิกเขียนแน่นอน
all Magazine : ปีที่ 8 ฉบับที่ 5 เดือน กันยาย 2556
นัดพบนักเขียน : ยุทธชัย สว่างสมุทรชัย
ภาพ : วิลาสินี เตียเจริญ