หยก บูรพา : งานนักเขียนคือการสร้างอนุสาวรีย์ให้ตัวเอง

หยก บูรพา

ใครที่ผ่านวัยเรียนชั้นมัธยมคงได้ผ่านตาหนังสืออ่านนอกเวลาเรื่อง "อยู่กับก๋ง" คนที่ผ่านวัยรุ่นมาคงซาบซึ้งกับวรรคทอง "ดอกไม้บานในใจคนทั้งโลก แต่ดอกโศกบานในหัวใจฉัน..." เฉลิม รงคผลินคือเจ้าของผลงานดังกล่าว ในแวดวงหนังสือเรารู้จักเขาในนามปากกา หยก บูรพา ภายหลังเรียนจบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เขาทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร"ฟ้าเมืองไทย"ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์มา 19 ปี ฝากงานเขียนในรูปแบบต่างๆไว้มากมาย จากการรวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกจนกระทั่งปัจจุบันผ่านมาเกือบสามสิบปี "อยู่กับก๋ง" กำลังทำเป็นละครครั้งที่ 2 ทางช่อง 9 และ อยู่กับก๋งภาค 2 กำลังจะทยอยตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ในชื่อ "อยู่ไกลก๋ง" ก๋งอายุ 58 ปีที่ชื่อหยก บูรพาจะมาเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง

เส้นทางนักเขียนของคุณได้รางวัลอะไรมาบ้าง
รางวัลนิยายดีเด่นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2519 เรื่อง"อยู่กับก๋ง" และปี 2520 นิยายเรื่อง"กตัญญูพิศวาส" ทั้งสองเรื่องใช้นามปากกา"หยก บูรพา"และพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ผมได้รางวัล 2 ปีซ้อน สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นทำแหวนตราของประพันธ์สาส์นให้ผมด้วยในตอนนั้น

ทุกวันนี้อยู่กับก๋งยังเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนหรือไม่
ทั้ง 2 เรื่อง ทั้ง"อยู่กับก๋ง"และ"กตัญญูพิศวาส"เป็นหนังสืออ่านประกอบของชั้นมัธยม โดยกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ และเรื่องสั้นของผมอีกเรื่องคือ "เศรษฐศาสตร์ในห้องแถว"เป็นหนังสืออ่านเสริมทักษะของชั้นมัธยมมาตลอด อยู่กับก๋งขณะนี้ถ่ายทำเป็นละครอีกแล้ว บริษัทที่สร้างเรื่องสี่แผ่นดินนำไปทำ เปิดกล้องไปแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เป็นการทำละครครั้งที่ 2 สร้าง และเคยสร้างเป็นภาพยนต์ไปแล้ว 1 ครั้ง

คิดว่าอะไรเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เรื่องอยู่กับก๋งได้รับความนิยมมาตลอด
อาจจะเป็นเพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนได้สัมผัส มันใกล้ตัวทุกคน ถ้าใครที่มีเชื้อสายจีนจะมีอาก๋ง มีอาม้ายิ่งใกล้ตัว ที่นี้ถ้าคนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวคนจีน ต้องมีปู่มีตา ซึ่งโดยนัยคือ ก๋งนั่นเอง เป็นบรรพบุรุษคนหนึ่ง เป็นพ่อของพ่อหรือพ่อของแม่กับหลาน ก็เหมือน"หยก"ซึ่งเป็นตี๋อายุ 10 ขวบกับ"ก๋ง"อายุ 60 ปี เหมือนคุณปู่คุณตาอายุ 60 ปีกับเด็กชายแกละ เด็กชายเปีย อายุ 10 ขวบ ทุกคนสัมผัสได้ รับได้ เรื่องนี้แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้ว โดยมูลนิธิโตโยต้า ตอนที่ผมไปเยือนจีนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาบอกว่าจะแปลเหมือนกัน แต่ก็ไม่ทราบว่าดำเนินการไปถึงไหน

มีการตีพิมพ์ไปมากน้อยแค่ไหน
ของไทยพิมพ์จนนับจำนวนไม่ได้ เฉพาะสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นพิมพ์ปีแรกที่ได้รับรางวัลพิมพ์ไป 13 ครั้ง ช่วงนั้นจะพิมพ์ครั้งละ 3,000-5,000 เล่ม แต่การพิมพ์ยุคใหม่จะต่างกัน

กลัวเรื่องการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ไหม
ไม่กลัว ทั้งในวงการหนังสือ และในวงการบันเทิง ผมไม่เคยวอแวกับสำนักพิมพ์เรื่องการพิมพ์เกิน แอบพิมพ์ซ้ำผมไม่สนใจ ผมถือคติผมตรงไปเขาก็ควรตรงมา ยึดความสุจริตใจ ในกรณีทำหนังสือทำละคร จะเข้าไปตรวจบทหรือไม่ เขาจะทำผิดทำเพี้ยนจากบทประพันธ์เดิมหรือไม่ ผมบอกผมไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เขาลงทุนหลายล้านเดี๋ยวนี้เป็น 10 ล้านบาท เขาจะทำให้ห่วยทำไม มีแต่ทำให้ดีเรทติ้งจะได้สูง ๆ จะได้ฉายโรงใหญ่โกอินเตอร์ เขามาซื้อเรื่องของเรา 100,000-200,000 บาท เรื่องอะไรเขาจะไปยำให้มันเละ บางบริษัทที่ซื้อละครผมไปบอก อาจารย์จะตรวจหรือไม่ ผมบอกผมไม่ตรวจ ถ้าผมเขียนบท ผมจะทำของผมเต็มที่

แสดงว่า เขียนบทละครเองด้วย
ตอนที่ทำละครของช่อง 3 ผมเขียนบทละครเอง ผมมาว่างเว้นเขียนบทละครเมื่อช่วง 3 ปีมานี้ ผมป่วยเบาหวาน ทุกวันนี้ยังรักษากินยาอยู่ มันเพลีย ไม่อยากรับงาน

ที่มาของนามปากกา"หยก บูรพา"
คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ กำเนิด "ฟ้าเมืองไทย" รายสัปดาห์เมื่อ16 เมษายน 2512 ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก จนกระทั่งปี 2519 เฮียชิว เจ้าของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นขอให้คุณอาจินต์ออกหนังสือรายสัปดาห์"ฟ้าเมืองทอง" ประพันธ์สาส์นเป็นเจ้าของฟ้าเมืองทองแล้วขอให้คุณอาจินต์มาเป็นบรรณาธิการจัดทำ ตอนนั้นผมเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ฟ้าเมืองไทย คุณอาจินต์บอกว่าคุณเขียนอะไรมาเรื่องหนึ่งอย่าใช้ชื่อจริง เดี๋ยวจะถูกหาว่า เล่นพวก เปิดเล่มไหนก็มีแต่"เฉลิมศักดิ์" หนังสือจะออกเดือนมิถุนายน 2519 คุณอาจินต์บอกผมในงานเลี้ยงวันเกิด"ฟ้าเมืองไทย"ที่โรงแรมราชศุภมิตร เมื่อเดือนเมษายน คุณอาจินต์บอกอย่าให้คนจับได้ว่าคุณเป็นคนเขียน ผมก็เลยเขียนเรื่องอยู่กับก๋ง ผมไม่ได้ใส่นามปากกา แต่ตัวเอกของเรื่องคือเด็กชาย"หยก" ส่งให้คุณอาจินต์อ่านเสร็จบอกชื่อเรื่องดี ชื่อ"อยู่กับก๋ง" จึงส่งไปพิมพ์ พอเราจะตรวจปรู๊ฟ คุณอาจินต์ตั้งนามปากกาว่า "ดอกไม้จีน"ซึ่งคนจีนเรียกว่า"จัมฉ่าย"ที่เอามาทำแกงจืดหมูบะช่อ ผมก็บอกคุณอาจินต์ว่า ไม่เอาหรอกนามปากกานี้ ไม่ไหว คุณอาจินต์ถามคุณจะเอานามปากกาอะไร มันเป็นเรื่องของเด็กชาย"หยก" แล้วถามว่าเด็กชาย"หยก"แซ่อะไร ผมไม่ได้เขียนแซ่ คุณอาจินต์ถามว่าแล้วผมแซ่อะไร ผมบอกผม"แซ่อึ้ง"คุณอาจินต์บอกอย่างนั้น "หยก แซ่อึ้ง" ผมบอกไม่เอา ยุคนั้นไม่นิยมใช้แซ่มาเป็นชื่อ มาเริ่มฮิตตอนคุณสุทธิชัย หยุ่น ถึงมีขึ้นมา คุณอาจินต์บอกชื่อ"หยก"แล้วไปหานามสกุลมา ผมนั่งคิด คนจีนอยู่ทิศบูรพา จึงได้"หยก บูรพา" โดย"หยก"มีความหมายเป็นเครื่องประดับของจีนที่ใครก็รู้จัก ไม่ต้องการคำอธิบาย "บูรพา"ก็คือ ตะวันออกคือประเทศจีน นี่คือความเป็นมา พอเรื่องอยู่กับก๋งลงในหนังสือฟ้าเมืองไทยไม่กี่ตอนเท่านั้น มีหนังสือชมเข้าไปมาก เฮียชิวถามคุณอาจินต์ว่าใครเขียนเรื่องนี้ ให้รีบเขียนให้จบแล้วเอามาพิมพ์เป็นเล่ม ไม่ต้องรอลงในฟ้าเมืองทอง คุณอาจินต์บอกเสี่ยไม่รู้หรือว่าใครเขียน คนที่นั่งกินเหล้ากับเฮียทุกเย็นนั่นแหละ "เฉลิมศักดิ์"เป็นคนเขียน ลงไป 5-6 ตอนทางประพันธ์สาสน์บอกให้เร่งเขียนให้จบ และพิมพ์รวมเล่ม พิมพ์เสร็จรวมเล่มเดือนธันวาคมทันประกวดงานสัปดาห์หนังสือ ทางประพันธ์สาสน์ส่งเข้าประกวดก็ได้รางวัล ประเภทนวนิยาย นามปากกา"หยก บูรพา"ก็เกิดเลย ต่อมาผมก็เขียนเรื่อง"กตัญญูพิศวาส"ลงฟ้าเมืองไทย ประพันธ์สาส์นรวมเล่มส่งเข้าประกวดได้รางวัลอีก พูดง่ายๆ เลยดังระเบิด เรื่องอยู่กับก๋งทำเป็นภาพยนต์ มีสรพงศ์ ชาตรี เล่นเป็นครูบรรจบ ส่วนตัวก๋งเอาดาราจากไต้หวันที่เล่นเปาบุ้นจิ้นคือ "อี่หมิง" จ้างมาเล่นโดยเฉพาะ ฑาริกา ธิดาทิพย์เล่นเป็นคุณนายทองห่อ "กตัญญูพิศวาส"ก็เป็นละครช่อง 3ก็ประสบความสำเร็จทั้งคู่

ละคร อยู่กับก๋ง ล่าสุดออกอากาศที่ไหน
ช่อง 9 ผมอ่านจากหน้าบันเทิงข่าวสดบอกเปิดกล้องแล้ว ตอนแรกบอกจะให้คุณหยกมาแสดงด้วยเป็นผู้เล่าเรื่องเป็นช่วงๆ แต่ผมขอตัว เพราะสุขภาพไม่ดี บุคลิกไม่ดี ถ่ายออกมาติดลบเปล่า ๆ

อยู่กับก๋งภาคสองเป็นอย่างไร
คือเรื่อง"อยู่ไกลก๋ง"ส่งมติชนสุดสัปดาห์ไปแล้ว อีกไม่กี่เดือนคงได้อ่านกัน"อยู่กับก๋ง"จบเมื่อ"หยก"อยู่ป. 4 อยู่ไกลก๋งคือมาเรียนม.1 ที่กรุงเทพ ผมส่งไปให้คุณเสถียร จันทิมาธรก็ตกลงแล้ว คุณเสถียรบอกให้ผมเขียน 30 ตอน ถ้าคนอ่านชอบก็ต่อได้อีก จนจบมัธยม เรียนมหาวิทยาลัยก็ว่า กันไป

"อยู่กับก๋ง"จนมาถึง"อยู่ไกลก๋ง"ห่างกันมานานมาก ทำไมถึงนานอย่างนั้น
ห่างกันเกือบ 30 ปี จากปี 2519-2547 ก็เพราะไปทำอย่างอื่นด้วย ผมเขียนหนังสือเยอะ เขียนสารพัด เขียนเรื่องสั้นในนามปากกาต่าง ๆ

ชื่อจริงใช้เขียนงานอะไรบ้าง
ครั้งแรกเลยสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้"เฉลิมศักดิ์ ศิลาพร"เขียนกลอนมา พอจบนิติศาสตร์มาทำงานที่ฟ้าเมืองไทยเป็นผู้ช่วยคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ผมเริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ฟ้าเมืองไทย ชื่อเรื่อง"เงาโดม"โดยเฉลิมศักดิ์ ศิราพร หลังเขียนเรื่องสั้นชุดมหาวิทยาลัยไปไม่นาน ทางสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นก็พิมพ์รวมเล่มอีก ชื่อ"ที่นี่มหาวิทยาลัย"เล่มนี้ขายดีมากทีเดียว เพราะบารมีของฟ้าเมืองไทย ตอนนั้นฟ้าเมืองไทยขายดี เรื่องนี้รวมเล่มจากฟ้าเมืองไทยก็ขายดีด้วย

จนถึงวันนี้คุณมีพ๊อตเก็ตบุ๊ครวมแล้วกี่เล่ม
หลายสิบเล่ม มันเป็นชุด ชุดมหาวิทยาลัยมีหลายเล่ม คือสมัยก่อนเรานิยมเขียนเรื่องสั้นประมาณ 10-12 เรื่องมารวมพิมพ์เป็น 1 ปก ที่ประพันธ์สาส์นก็มี "ที่นี่มหาวิทยาลัย" ,"เสื้อครุยสีดำ" ,"ปริญญาสีขาว" ,"ในและนอกรั้วโดม" เป็นชุดเหตุการณ์ในมหาวิทยาลัย และที่ประพันธ์สาส์นพิมพ์ไปอีกชุดคือ "ชุดบ้านพักหลังอำเภอ"อันนั้นผมเขียนให้ต่วยตูน ตัวละครเป็นพวกปลัด สมุหอำเภอ ป่าไม้ นายอำเภอ เหตุการณ์หลักของแวดวงข้าราชการ นามปากกา"หยก บูรพา"นอกจากเขียนนวนิยายแล้วผมเขียนเรื่องสั้นแนวจีนอีก ก็มารวมเป็น"ตลาดห้องแถว" , "ตลาดชีวิต" , "เด็กห้องแถว" , "มาจากโพ้นทะเล" ,"จับกัง" , "ฮ่องเต้" , "ค้าแบบจีน" , "เทพธิดาสามเพ็ง", "หยาดเหงื่อ" ,"คนขายแรง"อันนี้ประเภทพ็อตเก็ตบุ๊ค ส่วนเรื่องยาวเล่มหนา ๆ เช่น "อยู่กับก๋ง","กตัญญูพิศวาส" ,"หญิง 7 ผัว"ซึ่งเรื่องนี้ตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น "บาปสีชมพู" เพราะชื่อเก่าแรงไป และเรื่องที่เป็นละคร เช่น"โฉมตรูครูเสื่อ", "โก๋ตี๋กี๋หมวย" ตอนนี้ผมกำลังเขียน"มือปราบปลายจวัก"ให้หนังสือ"ชีวิตร้อยรส" คือ ผมเห็นว่า ระยะนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการปราบยาเสพติด และในโทรทัศน์เต็มไปด้วยรายการทำครัว แม้แต่คุณสมัคร สุนทรเวช ,หมึกแดง"มาทำกันใหญ่ เรื่องนี้เลยให้พระเอกเป็นตำรวจเข้าไปฝังตัวในสลัม เพื่อไปถล่มแก๊งค้ายา ปลอมตัวเป็นพ่อครัว

คุณหยกเขียนหนังสือทีละกี่เรื่อง
เมื่อก่อนเขียนหลายเรื่อง ช่วงนี้สุขภาพผมไม่ค่อยดี ตอนนี้เหลือนิยาย 1 เรื่อง และอยู่ไกลก๋ง แล้วเขียนไปรอไว้อีก 2-3 เรื่อง คือ "หลอมหัวใจด้วยไฟฝัน" และ"ไฟอำนาจ" เรื่อง"ไฟอำนาจ"เขียนจบแล้วรอเขาจะเปิดหนังสือใหม่

ใช้เวลาเขียนหนังสือช่วงไหน
นึกอยากเขียนผมก็เขียน อย่าไปคิดว่านักเขียนมีระเบียบไม่มีหรอก คือ มันไม่เหมือนกับเปิดน้ำก๊อก ไม่เหมือนกับทำงานประจำ บางทีเรานึกอยากเขียนหรือได้ไอเดีย ปิ๊งขึ้นมาทนไม่ได้ต้องไปเขียน หรืออย่างน้อยต้องไปโน๊ต บางที 3-4 วันไม่อยากมองพิมพ์ดีด ไม่อยากนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือเลย บางช่วงเราก็อยากจะอ่านหนังสือ ถ้าคุณไม่อ่านหนังสือคุณจะเป็นนักเขียนที่ทันสมัยไม่ได้ ผมเป็นวิทยากรไปบรรยายศิลปการประพันธ์บ่อย นอกจากประสบการณ์ตรงแล้ว ประสบการณ์อ้อมสำคัญสุดสำหรับนักเขียนประสบการณ์ตรงจะว่า ไปไม่สำคัญ เช่น คุณไม่เคยติดคุกคุณเขียนเรื่องนักโทษไม่ได้ ต้องอาศัยประสบการณ์ตรง คุณเขียนเรื่องแพทย์ไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้เป็นแพทย์ แต่ถ้าเราจำเป็นต้องให้ตัวละครเป็นนายแพทย์ เราก็สามารถหาได้จากประสบการณ์ทางอ้อม คือ ไปขอความรู้ความเข้าใจจากแพทย์จริง ๆ อาจเป็นญาติของเรา ญาติของเพื่อนหรือแพทย์ที่เรารักษากับท่าน ส่วนผมอ่านเรื่องที่พระเอกเป็นหมอ นางเอกเป็นหมอ "อยู่กับก๋ง"คนอ่านแล้วรู้สึกเหมือนอยู่ในห้องแถวจริง ๆ เพราะประสบการณ์ตรงของผม ตั้งแต่จำความได้ ผมก็นอนมุ้งเดียวกับก๋ง ผมก็พูดภาษาจีนได้ วัยเด็กผมก็อยู่กับอาก๋ง อาแปะ อาอึ้ม ญาติผมก็คนจีนทั้งนั้น ภาษาไทยทางย่า ทางยาย นั่นคือ ประสบการณ์ตรง ในแวดวงของคนจีนเองไม่ใช่เราจะเขียนได้ทุกเรื่อง เช่น จะเขียนให้พระเอกเป็นกรรมกร จับกังถ่อเรือ เราก็ต้องไปคุยกับคนถ่อเรือ

การจะเป็นนักเขียนต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
ต้องเป็นนักเล่าเรื่อง ต้องเป็นนักสร้างเรื่อง ถ้าคุณไม่ใช่นักสร้างเรื่องคุณจะเอาอะไรมาขาย เหมือนไม่มีสินค้า ต้องเป็นนักสร้างเรื่อง เวลาคุณสร้างแล้วเรื่องอยู่ในหัวสมอง แต่ไม่ใช่นักเล่าเรื่อง เหมือนคนคิดฟุ้งซ่าน คนเขียนหนังสือต้องเป็นนักเล่าเรื่องด้วย

มีผลงานหนังสือของตนเองมากทำไมไม่สำนักพิมพ์
ผมเคยทำสำนักพิมพ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าเราจิตใจเป็นนักเขียน จิตใจเราไม่ใช่พ่อค้า มันเป็นเบี้ยหัวแตก เราส่งหนังสือไปขายทั่วประเทศ ต้องส่งคนไปตามเก็บมา สู้คนที่เขาทำเป็นอาชีพไม่ได้ เขามีสินค้าหมุนเวียน ผลิตหนังสือออกมามากเหมือนกัน แต่ท้ายสุดต้องล้มเลิกไป เพราะทนค่าโสหุ้ยไม่ได้

ทำไมจึงเลือกที่จะเป็นนักเขียน
ผมชอบอ่าน และอยากเขียน พอเขียนแล้วได้ลง มันเท่ห์ มันโก้ เป็นที่รู้จัก ถ้าเราหล่อเราเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงหรือนักร้อง เหมือนนักฟุตบอล แต่เรารูปชั่วตัวดำ ขิ้ริ้วขี้เหล่ใส่แว่นตาหนาเตอะ บังเอิญเราค้นพบตัวเองว่า เราเขียนกลอนได้จับใจคนอื่น เราเขียนหนังสือได้ สมัยผมเรียนธรรมศาสตร์ ผมก็มีวรรคทอง จำกันได้ทั่วไปหมดคือ "ดอกรักบานในหัวใจใครทั้งโลก แต่ดอกโศกบานในหัวใจฉัน"ก็เป็นความสำเร็จของเรา เราเป็นนักกลอน เป็นนักจัดกิจกรรม แล้วก้าวมาเป็นนักเขียน ได้รางวัลต่าง ๆผมเป็นพ่อแห่งชาติรุ่นแรกของประเทศไทย ผมก็อยู่ในกิจกรรมของหนังสือมาตลอด เคยเป็นนายกสมาคมนักเขียน เป็นเลขาธิการสมาคมนักเขียน

เชื่อเรื่องพรสรรค์หรือไม่
เชื่อเรื่องพรแสวง เพราะพรแสวงอยู่กับตัวเรา แต่พรสวรรค์อยู่กับตัวเราหรือเทวดาฟ้าดินก็ได้ แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ พรแสวง แล้วอย่าไปคิดว่า เราไม่มีพื้นฐานทางภาษาศาสตร์ ไม่มีพื้นฐานทางอักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์แล้วเราจะเป็นนักเขียนได้หรือ เป็นได้ครับทุกอาชีพเป็นนักเขียนได้ จะเห็นนายแพทย์มาเป็นนักเขียน นักมวย หรือแม้แต่คนอยู่ในคุกก็เป็นนักเขียนได้ ผมเองจบกฎหมายมาเป็นนักเขียนประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่อิสระเสรี แล้วก็อยู่ที่ว่าใครจะสามารถหยิบฉวยได้ คุณขยันเขียนก็มีผลงานมาก คุณฝึกฝนดี ตั้งใจเขียนดีคุณก็ดัง พอดังแล้วก็ได้ทั้งกล่องทั้งเงินมาหมด เดี๋ยวนี้วรรณกรรมยังแปรรูปได้อีกเยอะ ไปเป็นบทละคร เป็นบทภาพยนตร์ เป็นหนังแผ่น หนังจอสารพัด และข้อสำคัญที่สุด งานนักเขียนคือการสร้างอนุสาวรีย์ให้ตัวเอง เป็นอนุสาวรีย์ที่เป็นหนังสืออยู่ในตู้หนังสือ อยู่ในห้องสมุดทุกแห่ง ถ้าไฟไหม้น้ำท่วมก็ยังพิมพ์ขึ้นมาใหม่ จนกระทั่งไม่เหลือซากแล้ว ก็ยังติดอยู่ในความทรงจำของผู้อ่าน เพราะฉะนั้นมาสร้างวรรณกรรมกันเถิด เท่ากับสร้างอนุสาวรีย์ของตัวเองเอาไว้

มีอะไรจะฝากถึงนักเขียนรุ่นใหม่ หรือนักอ่านรุ่นใหม่ ๆ
สำหรับนักเขียนในฐานะที่ผมเขียนหนังสือมา 40 ปีแล้ว ปีนี้อายุ 60 ปีเป็นนักเขียนอาชีพมา 40 ปีแล้ว อยากจะบอกกับนักเขียนรุ่นใหม่ทุกคนว่า ช่วงนี้เป็นยุคทองของนักเขียนรุ่นใหม่ เพราะว่าสนามเปิดกว้างมาก โอกาสในการที่จะเข้าสู่แวดวงการเขียนมีกว้างขวาง หลากหลาย ท้าทาย ส่วนมากมักจะเย้ายวนเสียด้วย เพราะสังเกตได้ว่า มีการจัดประกวดการเขียนแนวต่าง ๆ รวมทั้งที่เป็นชิ้น รวมทั้งที่เป็นเล่ม และให้รางวัลกันสูง ๆ เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ยินว่า วรรณกรรมอมตะให้รางวัลกันเป็นล้านบาท แล้วอีกมากที่ให้รางวัลกันเป็นหมื่นเป็นแสน อย่างเช่นงานประกวดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหรืองานซีไรท์ ผมอยากฝากคนที่อยากเป็นนักเขียน หรือเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วก็ได้ ตอนนี้เราพูดกันมากว่า เมื่อไหร่นักเขียนไทยจะโกอินเตอร์สักที เช่น รางวัลโนเบลไพร์ซ นักเขียนไทยเรา สมองไม่แพ้ใคร เพียงแต่เราติดที่กำแพงภาษา เพราะภาษาของเราไม่ได้เป็นภาษาสากล เพราะฉะนั้นโอกาสจึงมีน้อย อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่จำเป็นต้องโกอินเตอร์หรือได้รางวัลโนเบล ขอให้ได้ระดับประเทศ ขอให้ทุกคนใช้ความพยายามในการหาประสบการณ์ทั้งทางตรง ซึ่งอาจหายากหน่อย ก็สามารถอาศัยประสบการณ์ทางอ้อม การพบปะบุคคลให้มาก สัมผัสบุคคลอื่น ๆ ให้มาก อ่านหนังสือหลายอย่าง จะเขียนตัวละครอะไรต้องรู้จักตัวละครตัวนั้นจริง ๆ อันนี้จะทำให้บทประพันธ์แนบเนียนขึ้น คนอ่านไม่ปฏิเสธ

วรรณกรรมมันเป็นกระจกสะท้อนผู้เขียน คนเขียนโง่ ๆ ตัวละครไม่มีวันคิดฉลาด แต่ถ้าคนเขียนเป็นคนฉลาดมีวิจารณ์ญาณดีตัวละครจะดี ..

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ