สายรุ้งกลางเมือง : สายรุ้งกลางเมือง ความงดงามหลังฝนพรำ

สายรุ้งกลางเมือง

“สายรุ้งกลางเมือง” จากปลายปากกาของ ‘นีรา’ นักเขียนผู้ถ่ายทอดเรื่องจริงเป็นละครชีวิตมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อสะท้อนสังคมยุคใหม่ โดยมีรางวัลชมนาดรองชนะเลิศอันดับ 1 ประจำปี 2558 การันตีฝีไม้ลายมือผู้เขียนแทนตนให้เป็นตัวละครตัวหนึ่ง ถ่ายทอดเรื่องราวที่ชีวิตในวัยเด็กต้องเผชิญกับปัญหาครอบครัว การต้องขาดแม่ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และจากวิถีเมืองที่เคยอยู่มาสู่ชนบทท้องทุ่ง หัวใจดวงน้อยจึงยึดพ่อเป็นที่พึ่งตลอดมา เด็กน้อยค่อยๆเรียนรู้ พัฒนา และเติบใหญ่ แต่หัวใจบางครั้งก็ไม่ได้เติบโตตามไปด้วย ผู้เขียนสร้างให้เด็กหญิงเป็นภาพสะท้อนของพ่อผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์วิชาชีพ ด้วยเพราะเป็นนักข่าวที่มองว่าตนคือกระบอกเสียงของประชาชนจึงรักในความถูกต้องจนบางครั้งก็ทำให้ตนเองต้องเดือดร้อนและเพราะหัวใจไม่อาจสัมผัสได้ถึงความห่วงใยจากผู้เป็นพ่อ ดังนั้นแล้วแม้กายจะอบอุ่นเพราะมีครอบครัวพร้อมแต่หัวใจกับโดดเดี่ยว เมื่อเติบโตขึ้นเธอจึงเลือกแนวทางที่ขัดแย้งกับความถูกต้องของพ่อ เธอดำรงชีพเป็นบล็อกเกอร์อินฟลูเอนเซอร์ผู้เขียนแนะนำสินค้าตามเว็บไซต์ สิ่งที่เธอเขียนล้วนปรุงแต่งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ว่าจ้าง ต่างจากพ่อที่เขียนแต่ความจริงตามหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อบอกต่อความเป็นไปให้ชาวบ้านตาดำๆได้รับรู้ถึงสิทธิเสรีภาพของเขา ไม่นานความรู้สึกผิดก็กัดกินหัวใจของเธอ เมื่อได้หันกลับมามองจึงได้เข้าใจพ่อมากขึ้น ทุกการกระทำย่อมมีเหตุผล มีเรื่องราวมากมายที่อยากบอกเล่า ถ่ายทอด ส่งต่อความรู้สึกดีๆให้ท่านฟัง ขณะที่ยังเป็นเพียงความคิดท่านก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับเสียแล้ว

เนื้อเรื่องทั้งหมดดำเนินไปตามความคิดของตัวละคร แม้แต่บทสนทนาสั้นๆที่แทรกเข้ามาประปรายยังเกิดขึ้นในความคิด ดังนั้นแล้วเนื้อเรื่องจึงมีลักษณะเป็นการบรรยายที่เห็นได้เด่นชัด มีอยู่ตอนหนึ่งที่ตัวละครได้อ่านบันทึกของพ่อก็ได้หยิบยกบันทึกเหล่านั้นมา เรื่องราวถ่ายทอดจากตัวละครที่แทนตัวเองว่า “ฉัน” เสมือนให้ผู้อ่านได้สวมรอยเป็น “ฉัน” และมีความรู้สึกนึกคิดคล้อยตามตัวละครได้โดยง่าย จนผู้เขียนได้มาเฉลยตอนท้ายว่า “ฉัน” ในที่นี้ คือ สายรุ้ง เพราะมีปรากฏในตอนหนึ่ง ใจความว่า

ฉันตอบไปว่า ฉันชื่อ สายรุ้ง

                                                                           ชื่อที่พ่อตั้งให้ เพื่อให้ฉันเป็นสิ่งสวยงามสิ่งแรกที่พ่อจะได้เห็น เมื่อฝนหยุดตก

      ฉันคือ สายรุ้ง ของพ่อตลอดไป

                  ตัวละครที่ผู้เขียนสร้างมีความสนุกสนานและสนใจใคร่รู้ตั้งแต่เด็ก ลักษณะนิสัยเช่นนี้เอง ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างชาวบ้านชนบทให้ผู้อ่านได้รับรู้ผ่านตัวละครในวัยเด็กที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการเรียนรู้ ตัวละครยังมีความเฉลียวฉลาดเชื่อมั่นในความรู้สึกแรกและค่อนข้างจำฝังใจ เธอมักตั้งชื่อเฉพาะให้กับสิ่งๆต่างที่เกี่ยวข้องในชีวิตจากลักษณะแรกที่พบเห็น เช่น มีเพื่อนคนหนึ่งที่ถูกเรียกว่า “เด็กดำ” ตลอดทั้งเรื่อง เพราะเด็กคนนั้นมีผิวดำ เรียก “ป้าเดือน” เพื่อนของพ่อซึ่งต่อมาได้เป็นแม่เลี้ยงว่า “คุณนายดอกแดง” เพราะชุดลายดอกสีแดงที่เธอใส่ และตัวละครยังไม่ชอบ “คุณนายดอกแดง” ตั้งแต่แรกเห็นจนผ่านไปนานหลายปี เมื่อตัวละครวัยเด็กเริ่มโตขึ้นได้เห็นความดีงามในตัว “คุณนายดอกแดง” จึงเริ่มเปิดใจ จน “คุณนายดอกแดง” ตายไปจึงได้ยอมรับว่าเธอก็เป็นแม่อีกคน นอกจากนี้ยังมีการตั้งลักษณะพิเศษของเพื่อนสนิททั้งสองคนที่มีหูสามารถได้ยินเสียงจากธรรมชาติและจำแนกเสียงเหล่านั้นได้อย่างดีว่า “สัญชาตญาณของคนเฝ้าป่า”

                        ตัวละครมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง และขวนขวายความสำเร็จ เพราะทำให้ตนรู้สึกเป็นผู้ชนะ เช่น

                        รางวัลแห่งความสำเร็จของฉันและทีมคือความภาคภูมิใจ และตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นไป

                        พร้อมกับรายได้ที่มากขึ้นตามไปด้วย แล้วทำไมเราจะไม่ชอบใจล่ะ

                 แต่บางครั้งที่ตัวละครนึกย้อนดูการกระทำของตน หรือมีเหตุการณ์ให้ต้องนึกถึง เช่น เหตุการณ์เด็กสาวห้องข้างๆ กระโดดตึกตาย เพราะทำศัลยกรรมมาหลายครั้ง ทำให้เกรดตกต่ำตามไปด้วย เมื่อถูกป้าต่อว่าก็บังเกิดความเครียด จบชีวิตตนเองลงอย่างไม่คุ้มค่า ตัวละครคิดไปว่าการที่เด็กสาวไปศัลยกรรมเป็นผลมาจากโฆษณาชวนเชื่อ และตนเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนั้น จึงเกิดความละอาย ความสำนึกผิด และรู้สึกพ่ายแพ้ เช่น

ฉันไม่สามารถหลอกตัวเองได้อีกแล้ว คืนนั้นฉันกลับที่พักอย่างไร้เรี่ยวแรง

แล้วจู่ๆ เปลือกที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอกก็กะเทาะออกเองอย่างง่ายดาย

ตัวละครที่ผู้เขียนสร้าง เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง ตัวละครสะท้อนทั้งลักษณะภายนอกและความคิดภายในของคนรุ่นใหม่ได้อย่างรอบด้าน เช่น

ฉันชื่อคิม ไม่สิ ฉันชอบให้ใครๆ เรียกฉันว่าคิมมากกว่า มันเป็นชื่อที่เพื่อนตั้งให้ในยุคเกาหลีฟีเวอร์ และฉันก็พึงพอใจที่จะเรียกตัวเองว่าคิม

ใบหน้าขาวเกือบซีด ถูกตกแต่งไว้อย่างมีศิลปะ เปลือกตาถูกกรีดด้วยอายไลน์เนอร์สี ดำเข้มตวัดแนวหางตาขึ้นอย่างจงใจ ถูกห่มคลุมด้วยแพขนตาดำหนา แน่นอนมันไม่ใช่ขนตาธรรมชาติ คิ้ว ถูกกันเป็นแนวเฉียงเหมือนร็อกเกอร์สาวจากต่างแดน ปากสีน้ำตาล เบอร์กันดีเข้มดูเคร่งเครียด ทรงผมหลากสีได้รับการดูแลฟูฟ่องเป็นทรงสวย ‘นั่นคือตัวฉัน’

การแยกทางของฉันและเขาไม่มีความรับผิดชอบใดๆ เกิดขึ้น เหมือนที่พ่อและ แม่เคยเจอมาแล้ว เงื่อนไขในชีวิตเราจึงมีไม่มากนัก ความรักในแบบของฉัน ช่างฉาบฉวย และเปราะบางเป็นภาพฉายซ้ำของหนุ่มสาวในสังคมนี้

ในแง่ของความสัมพันธ์ในครอบครัว ผู้เขียนปูเรื่องราวให้ลูกสาวมีความรู้สึกด้านลบกับพ่อตั้งแต่เด็ก สะสมมาเรื่อย จนถึงจุดที่ต่างฝ่ายต่างมีแต่ความเฉยชา ในตอนเด็กที่ลูกสาวขาดแม่จึงยึดพ่อเป็นที่พึ่ง แต่พอพ่อได้กลับไปจับงานสายข่าวที่ตนรักอีกครั้ง อุดมการณ์ ความมุ่งมั่นได้หวนกลับมา ดังเนื้อความที่ว่า

ได้ยินเสียงแว่วๆ ของพ่อพูดว่า “หน้าที่ของนักหนังสือพิมพ์ก็คือหมาเฝ้าบ้านมันต้อง คอยเห่าทุกครั้งเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในบ้านของตน ไม่ใช่ คอยเลียและรับใช้โจร”

เพราะใส่ใจกับงานมากไป จึงไม่ได้สนใจคนรอบข้าง ปล่อยลูกสาวให้ต้องรอคอย อันเป็นจุดเริ่มต้นของความห่างเหิน และกลายเป็นความหมางเมินในบั้นปลาย จุดแตกหักของความสัมพันธ์คือ เหตุการณ์ที่ “คุณนายดอกแดง” ผู้เป็นแม่เลี้ยงเสียชีวิต ลูกสาวโทษว่าเป็นความผิดทั้งหมดของผู้เป็นพ่อ เดิมทีพ่อเป็นนักข่าว ได้เขียนข่าวจนนำภัยมาสู่ตัว เพราะไปขัดขาผู้มีอิทธิพลจึงถูกให้ออก พอได้เริ่มงานใหม่ที่ไม่ใช่นักข่าว เสมือนพลังในชีวิตหายไป ไฟแห่งความสร้างสรรค์ดับสูญ พ่อใช้ชีวิตเป็นชายขี้เมาเกะกะระราน เป็นภาระของครอบครัว ดังนั้นแล้วการที่แม่เลี้ยงตายไป ทั้งที่ลูกสาวพึ่งยอมเปิดใจรักชอบเธอจึงกลายเป็นความผิดของผู้เป็นพ่อไปเต็มๆ ผลจากความผิดนั้น ลูกสาวก็ไม่ยอมเปิดใจต่อผู้เป็นพ่ออีก เธอจะพูดแต่เรื่องที่อยากพูดเองเท่านั้น และคราวนี้เธอปล่อยให้พ่อต้องเป็นฝ่ายรอคอยบ้าง จนบันทึกของพ่อได้เปิดเผยเรื่องราวทุกอย่าง จึงได้รู้ได้เข้าใจว่าพ่อรักและห่วงใยครอบครัวมากแต่ไหน ทุกการกระทำของพ่อย่อมมีเหตุผล ก็เพื่อลูกสาวที่รักทั้งนั้น บางครั้งพ่อต้องต่อสู้กับความยากลำบากในใจเพียงผู้เดียวตลอดมา เช่น ความบางส่วนจากบันทึกว่า

20 มีนาคม 32 กลางวันทำข่าวกลางคืนอุ้มลูกมีความสุขดี เขียนข่าวไปด้วย อุ้มไปด้วยแบบนี้ โตขึ้นต้องเขียนให้เก่งเหมือนพ่อเลยนะ สงสารทิพย์ (แม่ของลูกสาว) ก็คงจะเหนื่อยไม่แพ้กัน

6 กุมภาพันธ์ 36 อาการเหนื่อยผสมเครียด มันเป็นอย่างนี้นี่เอง อยากให้ทิพย์ใจเย็นลงอีกนิด ผมพยายามจะทำทุกเรื่องให้โอเคที่สุด ลูกสาวร้องไห้เสียงแจ๋วจริง โตไปร้องเพลงให้พ่อฟังทุกวันเลยนะลูก พยายามบอกตัวเองว่าอย่าหงุดหงิด ลูกไม่ใช่คนผิด

10 ตุลาคม 38 ความสามารถ...มีเท่านี้จริงๆ เหรอวะ!

ชีวิตเริ่มเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง เมื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งให้โอกาสผมในการเป็นนักข่าวอีกครั้ง ถึงแม้เงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ จะไม่ถึงพร้อมเท่าเมืองหลวง แต่นับว่าผมโชคดีแล้ว การเริ่มต้นชีวิตในบ้านเกิดจะต้องไปได้สวยแน่นอน ผมหวังว่าการพาเธอย้ายกลับมาสัมผัสกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายในชนบท ในช่วงระยะเวลาที่ห่างแม่จะทำให้เธอมีความสุขกับสิ่งรอบข้างมากขึ้น

การได้ร่วมเดินทางไปกับเด็กผู้หญิงตัวน้อยๆ ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่ เธออดทน และเข้มแข็งมาก ผมห่วงแค่ตอนเธอเข้าห้องน้ำเท่านั้น ที่ผมไม่อาจเข้าไปดูแลเธอได้ ผมรอคอยและใจ จดจ่อ และเมื่อเห็นเธอเดินออกมาผมก็ดีใจ

วันไหนพอมีเวลาเหลือผมไม่รีรอที่จะซื้อขนมและนมกล่องไปฝากเธอ เด็กเล็กๆ ต้องกินขนมบ้างเพื่อจะได้มีความสุข และนมจะช่วยให้เธอแข็งแรง ตัวสูงและสมองเจริญเติบโตได้ดี

ผมรับรู้ข่าวการแต่งงานใหม่ของทิพย์อย่างรู้สึกโหวงเหวงในอก ผมเป็นห่วงความรู้สึกของลูก เธอถามตลอดว่าเมื่อไหร่ที่แม่จะกลับมาอยู่กับเราเสียที ผมจะหาคำตอบใดไปให้เธอดี

ผมรู้สึกล้มเหลวในชีวิต ผมกลายเป็นไอ้แก่ขี้เมาที่ให้ผู้หญิงที่ไม่มีการศึกษา (แม่เลี้ยงของลูกสาว) มาช่วยหาเลี้ยง และผมก็อ่อนแอเกินกว่าจะยอมรับความจริงได้

หลังจากที่ลูกออกจากบ้านไปเรียนและทำงาน ผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องราวอะไรของเธอมาก นักลูกดูเหมือนเหินห่าง และไม่ค่อยจะเล่าอะไรให้ฟัง

ผมรอคอยเงียบๆ อย่างมีความหวัง ผมคอยให้ลูกกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด แม้มันก็คง มีโอกาสเป็นไปน้อยเต็มที เธออาจสนุกกับชีวิตรูปแบบใหม่ที่เธอได้เลือกใช้ด้วยตนเอง และผมควรให้อิสระเธออย่างเต็มที่เธอคือสายรุ้ง คือความสรว่างไสว เมื่อเธอไปอยู่กลางเมืองใหญ่อย่างนั้น เธอจะต้องทำสิ่งสวยงามให้เกิดกับสังคมแน่นอน

แต่... เชื่อผมสิ เดี๋ยวเธอก็กลับมา

ผมรู้เพราะเธอเป็นลูกสาวของผม...

ความตั้งใจดีของพ่อคงส่งถึงลูกสาวแล้ว เพราะในตอนท้ายเธอเลิกทำอาชีพที่ขายความลวง แล้วเลือกหันมาพัฒนาบ้านเกิด ด้วยสองมือถือปากกา ขีดเขียนวาดอย่างสร้างสรรค์ดังเช่นพ่อ “สายรุ้งกลางเมือง” เล่มนี้คงเป็นหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมของเธอ

การเขียนที่มีลักษณะเด่นน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ การเล่าเรื่องในปัจจุบันแล้วแทรกเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาได้อย่างลงตัว โดยผู้เขียนจะใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นสื่อกลางระหว่างเหตุการณ์ปัจจุบันและอดีต เสมือนการดูละครที่ภาพโฟกัสไปที่จุดหนึ่ง แล้วสภาพแวดล้อมรอบจุดนั้นเปลี่ยนไป เพียงพริบตาก็กลับสู่จุดเดิม เช่นตัวละครนั่งรถโดยสารผ่านโรงเรียนเก่าสมัยประถม ทำให้นึกย้อนถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่นั้น

ภายในรั้วอันขรึมขลังแห่งนั้น ผ่านเรื่องราวเยาว์วัยมากมายหลายชีวิต รุ่นแล้วรุ่นเล่า ฉันคลับคล้ายจะได้ยินเสียงหัวเราะแว่วมาจากที่ไหนสักที่หนึ่ง

เสียงหัวเราะสนุกสนานดังขึ้นเรื่อยๆ และฉันรู้สึกได้ยินเสียงนั้นใกล้เข้ามาทางด้านหลังฉันยังคงก้มหน้าอยู่อย่างนั้น

พลั่ก!!! ร่างของฉันเซถลาไปข้างหน้าตามแรงปะทะของเด็กผู้ชายตัวโต

ความสามารถในการสร้างสรรค์คำและเรียบเรียงของผู้เขียนนั้นเด่นชัด ไม่มีบรรทัดไหนเลยที่ขาดความงามทางภาษา คงเป็นเพราะผู้เขียนได้ซึมซับความสามารถทางนี้มาจากพ่อด้วยส่วนหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากภาษาสละสลวยที่ปรากฏในบันทึกของพ่อข้างต้น นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีความคิดสร้างสรรค์ เช่น มีคำเปรียบเทียบให้โลกเป็น “โถปั่นมนุษย์ขนาดใหญ่” เพื่อสะท้อนถึงสังคมปัจจุบันที่คนทุกคนเอาแต่หลับหูหลับตาเดินตามกัน คือ ไม่มีสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง แต่คนทุกคนก็ล้วนปฏิบัติตนเช่นเดียวกัน เป็นสังคมยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานของมนุษย์ หากแต่เป็นพลังที่ขาดความสร้างสรรค์ ซึ่งในความเป็นจริงไม่น่าอภิรมย์ เหมือนแสงสีเสียงชวนหลงใหลที่ปรากฏให้เห็นภายนอก

ในส่วนของเล่มหนังสือ เนื้อเรื่องไม่มีคำผิดปรากฏให้เห็น คงด้วยเพราะความใส่ใจในรายละเอียดของทีมงานที่จัดพิมพ์ การอ่านจึงไหลลื่นไม่เสียอรรถรส สมควรกับที่เป็นหนังสือในโครงการชมนาดอันมีชื่อ หากแต่มีจุดผิดพลาดที่คาดว่าคงเกิดจากกระบวนการผลิตหนังสือที่ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย ความผิดพลาดทางเทคนิคนี้จึงไม่อาจโทษใครได้คือ ตัวหนังสือในแต่ละหน้ามีความคมชัดของหมึกไม่เท่ากัน บางหน้าจางจนต้องเพ่งมองข้อความในหน้านั้น ในการอ่านหลายสิบหน้าจะมีหน้าที่พิมพ์จางเช่นนี้ปรากฏให้เห็นสักหน้าหนึ่ง พออ่านเพลินไปอีกพักใหญ่ก็มีมาปรากฏอีก ต้องยอมรับว่าลักษณะเช่นนี้บางครั้งก็ทำให้การอ่านติดขัดได้เช่นกัน แต่ยังมีเป็นส่วนน้อยเท่านั้น

ปกหนังสือนับว่าออกแบบได้น่าดึงดูดใจ ปกสีคราม มีรอยฝ้าที่คงเปรียบเป็นร่องรอยของสายฝนทาบทับสีฟ้าครามทั่วทั้งเล่ม มีสายรุ้งเส้นบางทอดพาดเล่มหนังสือ กลางเล่มมีชื่อเรื่องพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีส้มบนพื้นหลังสีดำ เห็นได้เด่นชัด มุมล่างด้านขวาของหนังสือปรากฏภาพนาฬิกาเรือนเก่า สื่อถึงเรื่องราวและช่วงเวลาได้ชัดเจน แม้ปกหลังก็เช่นกัน แต่แรกเห็นที่ไม่เข้าใจความหมายของฝ้าน้ำบนปกหนังสือ แต่เมื่ออ่านเรื่องจบจึงได้เข้าใจ หนังสือมีฝ้าสะท้อนชีวิตคนเราที่ไม่ชัดเจน ตราบใดที่ฝ้าจางจนมองเห็นเส้นสายรุ้งจึงได้เข้าใจชีวิตดีขึ้น เหมือนดังที่พ่อเปรียบเทียบลูกสาวให้เป็นสายรุ้งหลังฝนตก ก็เพื่อเป็นความหวังของพ่อ

“สายรุ้งกลางเมือง” ทรงคุณค่า กว่าจะเป็นรูปเล่มที่ปรากฏให้เราเห็น ชีวิตคนหนึ่งต้องผ่านเรื่องราวมากมาย ผ่านความเศร้า ความเจ็บปวด การรอคอย การได้ใช้ชีวิต และจิตสำนึก ถ่ายทอดเรื่องจริงสู่รูปเล่ม เพื่อเป็นบทเรียนให้อีกหลายชีวิต เมื่ออ่านจบคุณอาจเกิดความคิดขึ้นหลายรูปแบบ ความคิดต่อพ่อ ต่อลูก ต่อคนในครอบครัว ต่อสังคม หรือสิ่งใดก็ตาม ไม่ว่าความคิดนั้นจะเป็นรูปแบบไหน แต่เชื่อเหลือเกินว่า “สายรุ้งกลางเมือง” จะได้ตกผลึกเป็นวัตถุดิบชิ้นดีชิ้นหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมให้งดงามอย่างยั่งยืน

 

อังคณา แก้ววรสูตร (อิ๋ว)

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ