ปัทมา กลิ่นทอง : อ่านให้มาก ๆ และลงมือเขียน อย่ารีรอ

ปัทมา  กลิ่นทอง

วันนี้คอลัมน์คุยนอกรอบก็ได้นำพาเอานักเขียนที่ร่วมโครงการชมนาดอีกคนหนึ่งมาพูดคุยกัน ในหลากแง่มุมเกี่ยวกับวงการวรรณกรรม “ปัทมา กลิ่นทอง” เป็นนักเขียนหน้าใหม่ แต่ใจเกินร้อย เหมือนกับนักเขียนใหม่ๆ อีกหลายๆ คนที่ไม่เคยท้อ และวันนี้เธอก็มีแง่คิดมุมมองดีๆ มาฝากชาวประพันธ์สาส์นกันค่ะ

เกริ่นประวัติเล็กน้อย
ปัทมา กลิ่นทองจบการศึกษาปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ศิลปศาสตร์บัณฑิตเอกภาษาอังกฤษ)ปริญญาโทจากสถาบันฑิพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตทางเทคโนโลยีการบริหาร สนใจเรื่องการเขียนหนังสือมานานและมักเข้าร่วมการอบรม/สัมมนา เกี่ยวกับงานเขียนเพื่อหาความรู้อยู่เสมอ อดีตเคยเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง ยาเสพติด ของสำนักงาน ปสส. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ วิชา การฝึกอบรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

เริ่มเขียนหนังสือ
เป็นคนที่ชอบเรื่องการเขียนหนังสือมานานแล้ว แต่เวลาไม่ค่อยอำนวย พอมีเวลาว่างก็ลองเขียนหนังสือดู เมื่อก่อนเคยเขียนเรื่องสั้นส่งไปที่นิตยสารกุลสตรีแล้วได้ลงตีพิมพ์ ตั้งแต่เมื่อสมัย 20 ปีก่อน ตอนนั้นรู้สึกดีใจมากได้ค่าเรื่องมา 200 บาท แรงบันดาลใจที่เขียนเรื่องนั้นคือ เวลานั่งรถเมล์แล้วได้เห็นบรรยากาศบนรถเมล์ปรับอากาศ เห็นกระปี๋(กระเป๋ารถเมล์ที่เป็นผู้หญิง) แล้วก็เลยมาเขียนเป็นเรื่อง กระปี๋กับปอ. ก็เป็นเรื่องแนวขำๆ จากนั้นก็ผ่านมานานมากเลย ไม่ได้เขียนอะไรอีก พอได้มาเป็นอาจารย์พิเศษก็พอจะมีเวลาว่างบ้าง พอดีได้ไปอ่านหนังสือกรุงเทพธุรกิจ เห็นว่าเขาชอบส่งเสริมด้านวรรณกรรม แล้วเราก็ไปเจอการประกวดเรื่องสั้นเกี่ยวกับ สเต็มเซลล์ ชีวจริยธรรม ตอนแรกอ่านแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจ ก็เลยไปถามเจ้าของงาน ก็คือ ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล เขาเป็นคนที่เก่งเรื่องวิทยาศาสตร์ เราก็ยกหูโทรไปถามเขาเองเลย เขาก็บอกให้ลองเขียนส่งมา แต่ตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับสเต็มเซลล์เลย ท่านก็บอกให้ไปฟังอธิบายเรื่องสเต็มเซลล์ แล้วก็มาเขียน ก็ไต่เต้ามาเรื่อยๆ จนเรื่องที่เขียนเข้ารอบ 20 คน จากนั้นก็เกิดฮึกเหิมขึ้น ทีนี้ไปเที่ยวไหนก็จดๆ ไว้ ทราบการประกวดที่ไหนก็ส่งประกวดมาเรื่อยๆ ก็ได้รางวัลนู่น นี่ นั่น ติดหนึ่งใน 5 บ้างอะไรบ้าง แต่ว่าก็ยังไม่เคยได้ที่หนึ่งเลย

แนะนำผลงาน
ที่ผ่านมา ถ้าได้พิมพ์เป็นเล่มแล้วก็จะมี พอคเก็ตบุ๊ค “แฟมิลี่ออนทัวร์ ตอนภารกิจพิชิตปักกิ่ง” สำนักพิมพ์ทิบไทยอินเตอร์บุ๊คส์ และในราวๆ สองเดือนนี้ก็จะมีออกหนังสือเกี่ยวกับฮาวทู เป็นเรื่องความสุขที่เขียนแนวเฮฮาไม่ซีเรียส เพราะกลุ่มเป้าหมายของเราจะเป็นวัยรุ่นจนถึงวัยเริ่มทำงาน แล้วก็กำลังเสนอเรื่องไปท่องเที่ยวเกาหลี ก็เป็นแนวคล้ายๆ กันคืออ่านแล้วเฮฮา ขำ สนุก แทรกสาระ เล่มนี้เขียนเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนการจัดรูปเล่ม นอกจากนี้ก็มีเรื่องสั้นที่ได้ตีพิมพ์ในที่ต่างๆ เช่น “การุณยฆาต” ใช้นามปากกา ฟางข้าว ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 12 เรื่องสั้น ในโครงการ Print on Demand ประจำปี 2549 และจัดพิมพ์รวมเล่มโดยเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย ความเรียง “หนังขายยา” นามปากกา ตุ๊กกี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ(เสาร์สวัสดี)เรื่องสั้น “ค่าของชาติ”ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เรื่องสั้น”คืนทุน” จากโครงการ “หาได้ ใช้เป็น” โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รางวัลชมเชย(ระดับประชาชน) พิมพ์รวมเล่มชื่อ “แสงฉายแห่งสายลม” แล้วก็มีผลงานเรื่องสั้นที่ส่งประกวด แล้วได้รางวัลอีกประปรายแต่ไม่ได้พิมพ์รวมเล่ม

เกี่ยวกับโครงการชมนาดฯ
เรื่องของโครงการชมนาดบุ๊ก ไพร์ซ นี้ก็ได้อ่านเจอจากหนังสือพิมพ์ และรู้สึกว่าแปลกดีเหมือนกันเพราะว่ามีแต่นักเขียนหญิง แต่ก็ยังกังวลว่าเราเป็นนักเขียนหน้าใหม่ จะไปแข่งกับเขาดีไหม ก็พอดีมาเจอผู้จัดงานบอกว่าไม่เป็นไรหรอกที่เป็นนักเขียนหน้าใหม่ ซีไรต์หน้าใหม่ก็ยังมี ตอนแรกก็เกือบจะถอนตัวแล้ว แต่พอเขาให้ความเห็นแบบนี้ก็เลยลองเขียนนิยายเรื่องแรกดู แล้วก็ใช้เวลาเขียนเร็วมากเลย คือ 3 เดือนเท่านั้น ชื่อเรื่องนิยายรักจากบางกอก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวและสังคม ที่เขียนส่งไปเพราะว่าอยากจะลองดู แต่สรุปว่าไม่เข้ารอบ แต่ก็ดีใจที่ได้เขียน ส่วนตัวแล้วก็รู้สึกว่าดีกับโครงการนี้ เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้นักเขียนหน้าใหม่ได้ประลองฝีมือด้วย แต่ลึกๆ แล้วเราก็ยังรู้สึกหวั่นๆ ว่าเราจะไปสู้นักเขียนเก่งได้อย่างไร เพราะว่าคนที่ได้รางวัลนี่ก็ถือว่าเป็นมืออาชีพเหมือนกัน นับว่าเป็นสนามที่ค่อนข้างน่ากลัวสำหรับนักเขียนใหม่อย่างเรา แต่เห็นด้วยที่ประกวดแต่นักเขียนหญิง เพราะทำให้ผู้หญิงได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตัวเองมากขึ้น

ข้อแนะนำโครงการ
อยากให้มีคำวิจารณ์ให้นักเขียนด้วย เพราะนักเขียนที่ถึงแม้ไม่เข้ารอบหรือไม่ได้รางวัล ก็อยากรู้ว่าผลงานของตัวเองบกพร่องตรงไหนบ้าง เพื่อที่จะไปแก้ไขให้ถูกจุด แต่ก็พอจะทราบว่ากรรมการอาจจะไม่มีเวลามาทำให้จริงๆ หรือไม่ก็อยากให้มีการทำเวิร์คช็อป หรือมีการอบรมเกี่ยวกับการเขียน สำหรับนักเขียนที่มีแวว และจุดเด่นที่สุดของรางวัลชมนาดที่อยากได้มากกว่ารางวัลอีกก็คือการที่ได้แปลเผยแพร่ไปทั่วโลก

การมีการประกวดงานเขียนเยอะๆ คิดว่าดีไหม
ในแง่ของนักเขียนก็น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะมีสนามให้ลง ไม่น่าจะมีข้อเสียอะไร

นักเขียนแนวทาง
ชอบแนวการเขียนของ ชาติ กอบจิตติ อย่างเรื่อง พันธุ์หมาบ้า เขาเป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาสมกับเนื้อเรื่อง ใช้ภาษาเหมือนในชีวิตจริงเลย

ที่อยู่ที่ยืนของเรื่องสั้นและบทกวี
เรื่องนี้เป็นปัญหามากสำหรับนักเขียน เพราะนิตยสารหรือสื่อต่างๆ ลดพื้นที่สำหรับเรื่องสั้น และบทกวีลงมาก อาจจะเป็นเพราะมีสื่ออื่นๆ ที่เข้าถึงได้มากขึ้น คนเลยหันไปสนใจอย่างอื่นมากกว่า ส่วนในตัวของนักเขียนนั้นเขายังคงเขียนแน่นอน แต่มีพื้นที่ให้ลงน้อย แล้วนักเขียนสมัยนี้เขียนเรื่องได้เข้มข้น หักมุม น้อยกว่าสมัยก่อน ก็เลยไม่แน่ใจว่าที่เรื่องสั้นและบทกวีได้รับความนิยมน้อยลงเป็นเพราะนักเขียนไม่ดีหรือนักอ่านไม่ดีกันแน่

เคยโพสต์นิยายในเว็บไซต์หรือไม่
ก็คิดจะลองโพสต์อยู่เหมือนกันนะคะ เพราะคิดว่าเป็นพื้นที่ที่ดีแห่งหนึ่งที่เราจะได้แสดงผลงาน แต่เราไม่ค่อยได้เล่นเว็บอาจจะไม่รู้จักใคร ก็อาจจะไม่มีใครมาแสดงความคิดเห็น ไม่รู้ว่าที่เขาโพสต์กันแล้วมีคนสนใจมากๆ จะเป็นแบบพวกมีแฟนคลับอยู่แล้วหรือเปล่า เหมือนกับว่าถ้าเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์มากก็อาจจะมีโอกาสมากกว่า ถ้าไปโพสต์เอาไว้เฉยๆ ไม่รู้จะมีใครมาสนใจไหม

วรรณกรรมสร้างสรรค์ไม่สร้างเงิน
ตรงนี้เราคงต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่หนังสือที่ได้รับรางวัลประกวดมักจะเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระค่อนข้างจริงจัง และออกแนวเครียดๆ จึงเกิดปัญหาที่ว่าหนังสือดีๆ ได้รับรางวัล ทำไมถึงขายไม่ค่อยได้ นั่นก็เป็นเพราะกรรมการที่ตัดสินก็เทสต์หนึ่ง นักอ่านก็อีกเทสต์หนึ่ง ไม่เหมือนกัน หนังสือที่ขายดีทั่วๆ ไป อาจจะแค่อ่านแล้วสนุก อ่านแล้วเข้าใจง่าย เข้ากับกระแสสังคม ไม่ได้มีเนื้อหาที่หนัก หรือมีสาระอัดแน่นอะไรมากมาย แต่หนังสือได้รางวัลก็จะอีกแบบหนึ่ง อาจจะมีภาษาสวยงาม มีความสร้างสรรค์ มีประโยชน์ต่อสังคม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะชอบอ่าน

วันว่าง
สำหรับพี่ถ้าว่างก็จะมาออกกำลังกายที่ฟิตเนสเป็นประจำ แล้วก็ชอบดูหนัง เพราะหนังก็มีส่วนในเรื่องการเขียนหนังสือ เช่น การดำเนินเรื่องที่กระชับ การดึงเอาฉากตื่นเต้นขึ้นมาก่อน ประมาณนี้ เราจะได้แง่มุมที่แปลกออกไปกว่าการดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ เหมือนนิยายวัยรุ่นสมัยนี้ ที่ดำเนินเรื่องเหมือนการเล่าเรื่องธรรมดา ซึ่งมันจะไม่ค่อยมีความงามทางวรรณศิลป์

จินตนาการกับความรู้
มีคนเคยพูดว่าถ้ารู้มากไป บางทีเราก็ไม่กล้าเขียน เพราะว่าเรารู้ว่าความจริงเป็นแบบนี้ เราก็ไม่กล้าเขียนต่างออกไปมาก แต่ถ้าเราใช้จินตนาการก็ไม่ต้องไปกังวลอะไรมาก ตรงนี้จะเป็นพวกนิยายแฟนตาซี ซึ่งเราสามารถสร้างตัวละครเองได้ อยากให้เป็นแบบไหนก็ได้ตามจินตนาการอันบรรเจิด แต่ทั้งนี้ต้องใช้ความรู้ในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง เช่น เรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ หรือสืบสวนสอบสวน

ฝากถึงนัก(อยาก)เขียนคนอื่นๆ
อยากบอกแค่ว่า ให้อ่านมากๆ และรีบลงมือเขียน อย่ารีรอ การฝึกฝนเท่านั้นที่จะทำให้เราเขียนออกมาได้

วันว่าง
สำหรับพี่ถ้าว่างก็จะมาออกกำลังกายที่ฟิตเนสเป็นประจำ แล้วก็ชอบดูหนัง เพราะหนังก็มีส่วนในเรื่องการเขียนหนังสือ เช่น การดำเนินเรื่องที่กระชับ การดึงเอาฉากตื่นเต้นขึ้นมาก่อน ประมาณนี้ เราจะได้แง่มุมที่แปลกออกไปกว่าการดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ เหมือนนิยายวัยรุ่นสมัยนี้ ที่ดำเนินเรื่องเหมือนการเล่าเรื่องธรรมดาซึ่งมันจะไม่ค่อยมีความงามทางวรรณศิลป์

จินตนาการกับความรู้
มีคนเคยพูดว่าถ้ารู้มากไป บางทีเราก็ไม่กล้าเขียน เพราะว่าเรารู้ว่าความจริงเป็นแบบนี้ เราก็ไม่กล้าเขียนต่างออกไปมาก แต่ถ้าเราใช้จินตนาการก็ไม่ต้องไปกังวลอะไรมาก ตรงนี้จะเป็นพวกนิยายแฟนตาซี ซึ่งเราสามารถสร้างตัวละครเองได้ อยากให้เป็นแบบไหนก็ได้ตามจินตนาการอันบรรเจิด แต่ทั้งนี้ต้องใช้ความรู้ในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง เช่น เรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ หรือสืบสวนสอบสวน

ฝากถึงนัก(อยาก)เขียนคนอื่นๆ
อยากบอกแค่ว่า ให้อ่านมากๆ และรีบลงมือเขียน อย่ารีรอ การฝึกฝนเท่านั้นที่จะทำให้เราเขียนออกมาได้

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ