ปองพล อดิเรกสาร : นักท่องโลก นักเขียน พิธีกรรายการสารคดี ช่างภาพแนวธรรมชาติและสัตว์ป่า

ปองพล อดิเรกสาร

บทสัมภาษณ์จาก ngthai.com

ปองพล อดิเรกสาร

นักท่องโลก นักเขียน พิธีกรรายการสารคดี ช่างภาพแนวธรรมชาติและสัตว์ป่า

      หลายคนรู้จักผู้ชายคนนี้ในฐานะอดีตนักการเมืองแถวหน้า ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง ขณะที่แฟนหนังสือรู้จักเขาในนามปากกา Paul Adirex จากผลงานนวนิยายทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เช่น Until the Karma Ends (ตราบจนสิ้นกรรม), The Pirates of Tarutao (โจรสลัดแห่งตะรุเตา), The King Kong Effect , (พิษหอยมรณะ)  Mekong (แม่โขง), พ่อ และบุญมาพระยาเสือ เป็นต้น แต่สำหรับ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย และแฟนรายการมากมายของเขา ปองพล อดิเรกสาร เป็นทั้งพิธีกรและผู้ผลิตรายการสารคดีอย่าง สุดหล้าฟ้าเขียว และ เรื่องเล่าข้ามโลก ทั้งยังเป็นช่างภาพแนวธรรมชาติและสัตว์ป่าชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทยด้วย

 

นิยามของคำว่า “นักสำรวจ”

‘นักท่องเที่ยว’ หรือ ‘นักเดินทาง’ ส่วนใหญ่ไปเที่ยวเพื่อความบันเทิง ความเพลิดเพลิน ไม่ได้เจาะจงเป็นเรื่องเป็นราวแต่นักสำรวจเราเจาะจงว่า เราต้องการอะไร เช่น การเดินทางทริปนี้ ผมต้องการไปดูสัตว์อะไร นกอะไร หรืออะไรเป็นพิเศษผมก็จะเน้นตรงนั้น ผมยังนึกเปรียบเทียบระหว่าง ‘เรือสำราญ’ กับ ‘เรือสำรวจ’ เรือสำราญก็คือสำหรับนักท่องเที่ยว มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีการแสดง ความบันเทิงต่างๆ แต่เรือสำรวจไม่มีสิ่งเหล่านั้น คงมีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก อาหารการกิน แล้วที่สำคัญคือมีห้องสมุดใหญ่ซึ่งในนั้นมีทั้งภาพ หนังสือ วิดีโอ ภาพยนตร์ ให้เราได้ศึกษาหาความรู้ได้

อย่างที่ผมเดินทางไปขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ ไซบีเรีย ผมไปเรือสำรวจ ใช้ชีวิตอยู่บนนั้น 11 วันบ้าง 14 วันบ้าง เขาจะบรรยายล่วงหน้าว่า แต่ละวันที่เราจะออกไปสำรวจ เราพบเจอสัตว์อะไรบ้าง แล้วเขาก็พยายามพาเราไปพบจนได้เหมือนกัน นั่นคือเรือสำรวจ แล้วบนเรือจะมีนักธรรมชาติวิทยาประจำ 5-6 คน ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นทั้งคนขับเรือยางพาพวกเราออกไปดูสัตว์ต่างๆ และทำหน้าที่เป็นไกด์ด้วย

 

ปองพล อดิเรกสาร

 

คุณสมบัติที่ดีของ “นักสำรวจ”

เรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญคือ การเตรียมตัว อย่างก่อนหน้าออกเดินทางสำรวจ ผมจะให้เวลากับการค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้นว่า ทริปนี้ผมจะมีโอกาสได้พบเจออะไรบ้าง ถ้ามีคนถามผมว่า คุณสมบัติที่ดีของนักถ่ายภาพสัตว์ป่า ผมก็จะตอบว่า สิ่งแรกเลยคือคุณต้องหาสัตว์ให้เจอ ฟังดูเหมือนกำปั้นทุบดิน แต่นั่นเป็นเรื่องจริง เพราะไม่ว่าคุณจะเตรียมอุปกรณ์อะไรไปมากมาย แต่ถ้าไม่พบสัตว์ที่เป็นเป้าหมายสักตัว ก็คงเสียเที่ยว ผมจึงเน้นเรื่องนี้ ต้องค้นคว้า ถาม เช่น ผมจะส่งรายชื่อสัตว์ที่ผมอยากเห็น อยากบันทึกภาพไปล่วงหน้า เมื่อไปถึงแล้ว ผมก็ต้องสอบถามกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นอย่างละเอียดว่า เขาเคยเห็นสัตว์เหล่านี้บ้างไหม ที่ไหน และเมื่อไหร่ เห็นกลางวัน กลางคืน สภาพแสงเป็นอย่างไร เพราะเราถ่ายภาพ แสงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่นักสำรวจต้องเตรียมตัว ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องอุปกรณ์ เสื้อผ้า อะไรต่างๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพอากาศ รวมไปถึงข้อห้ามต่างๆ

 

 

การสำรวจกับการเขียนหนังสือ

การเดินทางให้ทั้งแรงบันดาลใจและข้อมูลอะไรมากมาย ทั้งเกร็ดต่างๆ ที่นำมาเขียน เวลาไปผมจะมีสมุดบันทึก แล้วก็ถ่ายภาพ เดี๋ยวนี้ทำงานง่ายขึ้น เรามีกล้องสารพัด มือถือก็เป็นกล้องได้ พบเห็นอะไรก็ถ่ายเก็บไว้เป็นหลักฐาน ป้ายข้อมูลความรู้ต่างๆ ของสถานที่ หรือคำอธิบายสัตว์ ซึ่งบางทีเราไม่พบในหนังสือ แต่เราจะไปได้จากสถานที่จริง

 

 

การส่งต่อแรงบันดาลใจแก่ลูกหลาน

ตอนที่ผมถ่ายทำรายการ สุดหล้าฟ้าเขียว ลูกสาวคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับผม เดินทางไปด้วยแทบทุกทริป บุกป่า ฝ่าดง นอนเรือสำรวจ ผมคิดว่าพอเขาได้เห็นได้สัมผัสด้วยตัวเอง การพูดจาก็มีความเชื่อมั่น มีความน่าเชื่อถือ แล้วบางทีผมก็นำหลานไปด้วย พาไปแอฟริกามาแล้ว ไปซาฟารี ไปกาลาปากอส ให้เขาได้เห็น สอนให้ถ่ายภาพ บางคนวาดภาพเก่ง ก็สอนให้วาดภาพ เพื่อจะทำหนังสือ ทำอะไรต่อไป นี่เป็นการปลูกฝังเริ่มต้นให้กับเด็กๆ ผมคิดว่าโดยธรรมชาติของเด็กมีความสนใจอยู่แล้ว เพียงแต่เราชี้นำเขาให้ถูกเท่านั้น

“นักท่องเที่ยวหรือนักเดินทาง ส่วนใหญ่ไปเที่ยวเพื่อความเพลิดเพลิน ไม่ได้เจาะจงเป็นเรื่องเป็นราว  แต่สำหรับผม นักสำรวจเราจะเจาะจง เรารู้ว่ามุ่งหน้าไปที่ไหน เพื่อต้องการสิ่งใด”

 

ปองพล อดิเรกสาร

 

เสน่ห์ของการถ่ายภาพสัตว์ป่า

ผมคิดว่าเราไม่ได้ถ่ายภาพอย่างเดียว การที่เราเข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์ป่า เราได้เรียนรู้ว่า เขามีชีวิตของเขา ไม่ต่างจากเราเลย เขามีชีวิต มีครอบครัว มีความเป็นอยู่ มีอารมณ์ มีความอยากต่างๆ เหมือนเรา เพราะฉะนั้นนี่คือเข้าใจ ยิ่งผมไปจับเรื่องสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ต้องเรียนรู้ว่าทำไมเขาถึงใกล้สูญพันธุ์ เขาถูกมนุษย์ล่า หรืออะไรเกิดขึ้นกับเขา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

อย่างผมไปดูการอพยพประจำปีของแอนติโลป วีลเดอบีสต์ จากแทนซาเนียเข้าไปเคนยา เราต้องตามดู ได้เห็นกับตาว่า ลูกวีลเดอร์บีสต์พอเกิดมาภายใน 10 นาทีเดินได้เลย ภายในครึ่งชั่วโมงวิ่งได้ ลูกยีราฟเหมือนกัน ออกจากท้องแม่เดินโซเซ สักครู่เดียวก็ตามแม่ กินนมแม่ได้ ความที่เขาเป็นสัตว์ถูกล่า เป็นเหยื่อของสัตว์นักล่า ธรรมชาติจึงสร้างให้เขาต้องป้องกันตัว ผิดกับพวกเราซึ่งเป็นไพรเมต ต้องเลี้ยงลูกนาน ต้องคอยประคบประหงมดูแล นี่คือสิ่งที่เราได้เห็น ไม่ว่าสัตว์บก สัตว์น้ำ หรือแม้แต่นก จับคู่ผสมพันธุ์มีลูก ต้องหาอาหารมาเลี้ยงดูลูก ยิ่งผมได้ไปเห็น ก็ยิ่งทำให้เข้าใจพฤติกรรมของเขา และทำให้คิดว่า บางครั้งเราไม่ควรเข้าไปรบกวน และควรช่วยเหลือเขาด้วยซ้ำไป

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ