งานเปิดตัว “ต้นส้มแสนรัก” : สำนวนแปลคุณมัทนี เกษกมล ตอนที่ 1

งานเปิดตัว “ต้นส้มแสนรัก”

 

งานเปิดตัว “ต้นส้มแสนรัก”

งานเปิดตัว “ต้นส้มแสนรัก” สำนวนแปลคุณมัทนี เกษกมล
วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม 2550 เวลา 13.30-15.30 น.
ณ ร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ชั้น 7 มาบุญครองเซ็นเตอร์

 

คุณนภาธิต : ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่การเสวนาและการเปิดตัวหนังสือซึ่งเป็นวรรณกรรมคลาสสิกระดับโลกอีกเล่มหนึ่งก็คือ หนังสือต้นส้มแสนรัก ในภาคภาษาอังกฤษคือ My sweet orange tree ผลงานของโจเซ่ วาสคอนเซลอส เป็นนักเขียนชาวบราซิลและยังเป็นจิตรกรมากความสามารถ หลายคนอาจจะมีโอกาสได้อ่านต้นส้มแสนรักในภาคภาษาไทยของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ที่แปลโดยคุณสมบัติ เครือทอง แต่ในวันนี้ ประพันธ์สาส์นได้จัดพิมพ์ในสำนวนแปลของคุณมัทนี เกษกมล ซึ่งเป็นสำนวนที่หลาย ๆ ท่านบอกว่าละเมียดละไมมาก และวันนี้เราก็จะได้มีโอกาสได้พูดคุยถึงการทำงานชิ้นนี้กับพี่สาวที่ผูกพันกับคุณมัทนีมาโดยตลอด นั่นก็คือ ดร.มัทนา เกษกมล และยังมีผู้ร่วมเสวนาอีก 2 ท่าน ที่จะมาแชร์ความรู้สึกกันในฐานะแฟนพันธุ์แท้ต้นส้มแสนรัก ว่าทำไมถึงเป็นหนังสือในดวงใจของใครหลาย ๆ คน คนแรกคือ อ. ฐนธัช กองทอง ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์ ประจำสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารคณะมนุษยศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ท่านที่ 2 คือคุณศรีนวล ก้อนศิลา ผู้จัดการแผนการตลาด ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ มาในฐานะแฟนพันธุ์แท้ต้นส้มแสนรัก

คำถามแรกคือ แต่ละท่านมีความสนใจและชื่นชอบหนังสือเล่มนี้ตรงไหนคะ
อ.ฐนธัช : ต้นส้มแสนรักถือเป็นวรรณกรรมอมตะเล่มหนึ่งในใจของผม และของอีกหลาย ๆ ท่าน วรรณกรรมเล่มนี้แสดงความดีเด่นทางด้านคุณค่าหลาย ๆ ประการ ข้ามผ่านกาลเวลามาหลายทศวรรษ ถ้าคิดจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกของคุณ มัทนี เกษกมล ผมจำได้ว่าอ่านหนังสือเล่มนี้จากคำแนะนำของผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง แล้วก็เก็บใส่ย่ามไว้ไม่ได้สนใจอะไร เพราะส่วนใหญ่อ่านแต่แนววรรณกรรมเพื่อชีวิต แนวนี้ก็เลยไม่ได้สนใจเท่าไหร่ จนวันนึงก็เดินทางไปต่างจังหวัด นั่งรถไฟจากลพบุรีเข้ากรุงเทพฯ ก็เลยอ่าน จำได้ว่าต้องหาที่พิง หันหน้าเข้าหน้าต่างตลอดเวลาเพราะว่าน้ำตามันไหล ความจริงก็อายเมื่อคนเห็น แต่ในความอายมันมีความปีติ ความจริงผมไม่ค่อยอ่านหนังสือให้ใครเห็น ส่วนใหญ่จะอ่านคนเดียว เพราะเมื่อเอาประสบการณ์ความรู้สึกหรือประสบการณ์ชีวิตของตัวเองเข้าไปทาบกับประสบการณ์ของตัวละครหรือของผู้เขียนแล้ว มันจะเกิดความรู้สึกที่หลากหลายมาก ทั้งความยินดีปรีดา ความรู้สึกชัง รัก ชอบ และอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้บางครั้งมันก็ปรากฏออกมาทางกริยาท่าทางก็เลยอ่านคนเดียว แต่จำได้ว่าต้นส้มแสนรักนี่ทำให้รู้สึกความปีติท่ามกลางความอายบนรถไฟ แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกเลย เนื่องจากเราต้องการจะเก็บความรู้สึกแบบนี้ไว้ตลอด ผมแนะนำคนอื่นให้อ่านหนังสือเล่มนี้ และสิ่งที่ประสบความสำเร็จมากก็คือผมชอบแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้นักศึกษาที่ไม่ชอบอ่านหนังสืออ่าน แล้วมักจะเป็นเล่มเริ่มต้นที่นำไปสู่การอ่านวรรณกรรมเล่มอื่น ๆ ต่อไป

คุณนภาธิต : นี่คือส่วนในความประทับใจของ อ.ฐนธัช นะคะ เมื่อได้ยินคนบอกว่าอ่านแล้วเศร้าแต่ก็ยังชอบนั่นหมายความว่าคนเราชอบความเศร้าน่ะสิคะ

อ.ฐนธัช : ความจริงแล้วเรื่องโศกนาฏกรรมหรือความเศร้า มันเป็นเรื่องชำระล้างจิตใจมนุษย์มาตั้งแต่ยุคกรีกแล้ว ความเศร้าที่เกิดขึ้นจากการพลัดพราก ความตาย หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรม ทำให้เรารู้สึกหวาดกลัวต่อชะตากรรม แล้วก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่อยากเป็นอย่างตัวละคร ขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราเอาชีวิตของตัวละครเป็นบทเรียนเราด้วย ซึ่งมันมักจะทำให้เราอิ่มเอมใจในภายหลัง

ดร.มัทนา : ถ้าจะพูดถึงความรู้สึกต้องบอกว่า ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตอนที่ออกมา จนผ่านไปตั้งนานถึงอ่านเพราะว่ารู้เรื่องหมดแล้ว น้องเล่าให้ฟัง ก็รู้สึกสะเทือนใจเพราะเป็นเรื่องที่เศร้ามาก แล้วก็รู้สึกเป็นห่วงน้องด้วยในเวลาเดียวกันเพราะเขาเป็นคนที่ sensitive มาก ไม่อยากให้เขามามีความรู้สึกที่เศร้า แล้วก็ได้ฟังเรื่องมาโดยตลอดแล้วเพิ่งจะมาอ่านเรื่องเมื่อไม่นานมานี้เอง ดิฉันมีความรู้สึกตรงกับน้องนะคะ ตอนที่เขาเริ่มต้นแปลหนังสือนี้ เขาบอกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่สำหรับเด็ก จากที่หลาย ๆ คนมีความคุ้นเคยว่าชื่อมัทนีนั้นต้องอยู่คู่กับหนังสือเด็ก เพราะมัทนีมีนิสัยชอบแปลหนังสือเด็ก แต่จริง ๆ แล้วหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ ให้ผู้ใหญ่ได้อ่าน เพราะผู้ใหญ่เรา เมื่อโตแล้วมักจะจำความรู้สึกเมื่อตอนเป็นเด็กไม่ได้ แล้วก็จะไม่เข้าใจเด็ก บางครั้งเด็กอาจจะทำอะไรลงไปด้วยเจตนาดี แต่เราก็ไปดุเพราะเราเอามาตรฐานของผู้ใหญ่ไปวัด แล้วการที่มีหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาทำให้ดิฉันรู้สึกดีใจตรงที่ว่า หนังสือเล่มนี้มันกลายเป็นปรากฏการณ์ขึ้นมา เพราะหนังสือเล่มนี้ขายดีมาก แสดงว่าความรู้สึกเรื่องการเลี้ยงดูเด็กเรื่องจิตวิทยาเด็กมันมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่ค่อยนึกถึงและไม่ค่อยสังวรกัน การมีหนังสือเล่มนี้ออกมาจึงถือว่าช่วยได้ แล้วก็ทำให้ผู้ใหญ่ระมัดระวังพยายามที่จะเข้าใจเด็ก

คุณศรีนวล : ถ้าจะพูดคงต้องขอพูดในฐานะที่เป็นคนอ่านอย่างจริง ๆ หนังสือเล่มนี้ได้ก้าวมาในชีวิตในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นช่วงที่อยู่ห่างไกลบ้านมากแล้วก็เผลอไผลไปเป็นเด็กกิจกรรม ซึ่งหนังสือเล่มนี้นอนต้อนรับเราอยู่ที่นั่น ในช่วงที่เราเหงาที่สุด เรามีหนังสือ เรามีรุ่นพี่ เรามีดนตรี แล้วตอนนั้นเข้าไปร่วมกิจกรรมอาสาพัฒนา ความรู้สึกก็จะออกแนวเด็กอาสาฯ การอ่านหนังสือในแต่ละวัยให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน ในตอนเป็นนิสิตเราก็จะดื่มด่ำความรู้สึกกับหนังสือเล่มนี้แบบหนึ่ง รอบที่สองที่อ่านคือ เมื่อมาทำงานที่ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ มาเจอหนังสือเล่มนี้ที่ชั้นหนังสือ แต่ยังไม่เลิกกรี๊ด แล้วก็เลยซื้อเก็บไว้ทุกช่วง แต่ไม่แน่ใจว่าตอนนั้นที่อ่านใช่สำนวนแปลของคุณมัทนีหรือเปล่า เพราะตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัว นั่นคือวัยที่ทำงาน ส่วนวัยที่ได้อ่านอีกครั้งหนึ่งคือวัยเมื่อวานนี้ ที่เพิ่งได้อ่านอย่างเต็มเล่ม เพื่อให้คุ้นเคยกับสำนวนของคุณมัทนียิ่งขึ้น ต้องบอกเลยว่าหนังสือเล่มนี้อ่านแล้วน้ำตาท่วมจอ มันเป็นเรื่องจริง แต่ว่าเป็นน้ำตาที่เกิดจากความปลาบปลื้ม เรารู้สึกว่าเราอินไปกับตัวละครเนื่องจากรู้สึกว่าการเล่าเรื่องไม่ได้มีความซับซ้อนเลย แล้วก็รู้สึกสะเทือนใจกับสิ่งที่เซเซ่ คือตัวละครหลักในเรื่องแสดงออกมาในภาพของความเป็นเด็กที่ไร้ซึ่งมารยา ความซาบซึ้งตรงนั้นคือ ทั้งอินกับสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอและอินกับสิ่งที่ตัวละครแสดงออกมาผ่านวัยเด็ก และหลาย ๆ เรื่องที่ผูกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ เพราะฉะนั้น แน่นอนว่าน้ำตาที่ออกมาจะออกมาพร้อมกับความปลาบปลื้ม นั่นเป็นภาพที่เกิดขึ้นกับคนอ่านต้นส้ม และยังเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะต่อยอดให้คนอยากอ่านหนังสือวรรณกรรมแนวนี้ต่อไปอีกหลาย ๆ เล่มเลย เพราะดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเล่มนี้ แล้วจริงอย่างที่ อ.มัทนาบอกว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เหมาะสำหรับเด็กเป็นอันดับที่1 แต่คนที่ควรอ่านคือ พ่อแม่เลยค่ะ เพราะถ้าคุณเป็นเหมือนพ่อแม่ของเซเซ่ คุณจะพบเลยว่า แทบจะกลับตัวได้ทันทีเมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ฉะนั้นบทบาทตอนนี้ของดิฉันคือแม่แล้ว วัยแรกคือวัยนิสิต วัยที่สองคือวัยทำงาน และสุดท้ายคือวัยแม่ ฉะนั้นการดื่มด่ำหนังสือเล่มนี้ ดิฉันซาบซึ้งที่สุดคือวันนี้ วันที่เป็นแม่ นี่คือจุดเปรียบเทียบว่ามันมีหลากหลายอารมณ์มากในหนังสือเล่มนี้ และอยากบอกว่าหลายคนจะได้ประโยชน์ และนี่คือจุดเริ่มต้นของต้นส้มกับดิฉันจนถึงวันนี้

คุณนภาธิต : ขอเจาะจงไปที่ อ.ฐนธัช ในฐานะที่เป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย และเคยเป็นนักวิจารณ์ด้วย ว่าหนังสือเล่มนี้ที่เกิดเป็นปรากฏการณ์ต้นส้มขึ้นมาได้ มีความพิเศษ มีความโดดเด่น ความงดงามตรงไหนคะ

อ.ฐนธัช : อย่างแรกเลยรู้สึกว่าหนังสือเรื่องนี้มีความละเมียดละไมในการแปล ภาษาสวยมาก ไม่ใช่ภาษาสวยโดยอุดมไปด้วยภาพพจน์เปรียบเทียบแบบนั้น แต่เป็นเพราะภาษากระชับ เรียบง่าย ตรงประเด็น และกระทบความรู้สึก ภาษาที่กระทบใจเป็นภาษาที่มีอำนาจ และยิ่งใหญ่กว่าภาษาสวยงามหรือพยายามจะปั้นปรุงแต่งภาษาเสียอีก แล้วภาษาที่สวยงามตรงนี้มันทำให้เราเข้าไปสู่การพยายามจะติดตาม ตัวละครและเนื้อเรื่องว่าเขาจะดำเนินต่อไปอย่างไร ฉะนั้น ที่มีลักษณะอย่างนี้ นอกจากจะทำให้ติดตามตัวละครแล้ว ยังทำให้พยายามจะหยั่งถึงความคิดของตัวละครด้วย ถ้ามองในแง่ของอมตะ เรามองในแง่บริบทของสังคมไทย ที่ว่าได้รับการกล่าวขานในกลุ่มผู้อ่านคนไทย ส่วนตัวผมมองว่านอกจากทางด้านภาษาสำนวนแปลแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่วรรณกรรมเด็กหรือวรรณกรรมเยาวชนอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่น่าจะเป็นวรรณกรรมของทุกเพศทุกวัย ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า งานวรรณกรรมมันขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของผู้อ่าน เหมือนวรรรณคดีไทยอย่างเราอ่านขุนช้างขุนแผนตอนอายุ 15 เราอาจจะตีความอย่างหนึ่ง แต่พออ่านตอนอายุ 30-40 เราอาจจะตีความอีกอย่างหนึ่ง พอเราอายุมากขึ้นเราก็จะตีความได้อีกความลึกซึ้งมันก็จะมีมากขึ้น วุฒิภาวะตัวนี้แหละครับที่จะเป็นตัวบอกว่าต้นส้มเข้ามาอยู่ในใจคนได้อย่างไร อย่างแรกผมมองว่าผู้เขียนนี่เข้าใจเด็กมาก คือเด็กจะมีลักษณะอย่างหนึ่งเหมือนเซเซ่ คือเขาจะคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเขามีชีวิตหมด เหมือนเด็กไปชนประตูแล้วเจ็บ ให้เป่ายังไงก็ไม่หาย แต่ถ้าเราไปตีประตูเขาจะรู้สึกว่าประตูนั้นได้รับการลงโทษแล้ว นี่เป็นวิธีคิดง่าย ๆ ว่าเด็กเขาก็จะมองว่าประตูมีชีวิต นี่ก็คือการพยายามเข้าใจเด็ก ฉะนั้นการที่เซเซ่ ได้พูดกับต้นส้ม ได้มีค้างคาวเป็นเพื่อน มีทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเป็นเพื่อนก็คือการเข้าไปสู่โลกของจินตนาการ เพราะว่าเซเซ่ถูกผลักออกจากความรักของครอบครัวในความคิดของแก แต่ว่ามิติที่มันซ่อนอยู่ที่น่าสนใจก็คือว่าการที่เซเซ่บอกว่าพ่อแม่ไม่รักเขานี่แหละก็มาจากความยากจน ความยากไร้ในวิถีชีวิตในสังคมบราซิล ซึ่งเป็นฉากหลังของเรื่อง การที่พ่อตกงานคือเรื่องที่เซเซ่เขาอับอายคนอื่น หรือว่าการที่ตนเองออกไปขัดรองเท้าหรือว่าพ่อแม่ไม่มีเวลาในการเข้าถึงความรักที่มีต่อเขา เขาก็ถูกประณามจากคนอื่น ๆ ว่าเป็นเด็กข้างถนน เป็นเด็กเกเร เพราะฉะนั้นนวนิยายเรื่องนี้ ความยิ่งใหญ่ของมันก็คือการก้าวข้ามบางสิ่งบางอย่าง เช่นการก้าวข้ามความชังไปสู่ความรักและความเข้าใจ เหมือนความสัมพันธ์ที่เขามีต่อชายชาวโปรตุเกส ก็คือโปรตุก้า ที่จากเดิมเคยเป็นศัตรูกันอย่างรุนแรงแล้วก็เปลี่ยนสถานะกลายเป็นเพื่อน แล้วก็เป็นพ่อ แม้ว่าโปรตุก้าจะบอกว่าเขาไม่อาจพรากเซเซ่ไปจากครอบครัวที่แท้จริงได้ แต่ว่าเขาก็พร้อมที่จะเป็นเพื่อน แล้วก็เป็นพ่อ วันที่เขามีโปรตุก้าเป็นพ่อ ได้ฆ่าพ่อเขาในใจแล้ว และนี่คือปมทางจิตวิทยา ว่าเด็กคนนึงที่มีปมเกลียดพ่อจึงต้องฆ่าพ่อในทางจิตใจ เพื่อที่จะก้าวเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ต่อไป

คุณนภาธิต : ด้วยความที่เซเซ่ มีจินตนาการกว้างไกลจนหลายคนมองว่าเขาเป็นเด็กแก่แดด โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นพฤติกรรมที่เกินกว่าเด็กหรือเปล่า

คุณศรีนวล : คือจริง ๆ เขาบอกว่าเด็กแก่นเป็นเด็กที่ฉลาดเด็กแก่นดีกว่าเด็กเงียบแล้วพูดน้อย แต่ในความเป็นเซเซ่แล้วเนี่ย หลังจากที่ได้อ่านทั้งสามรอบ ไม่เคยรู้สึกว่าเซเซ่เกินธรรมชาติของความเป็นเด็กเลย ผู้เขียนเหมือนกับถอดเซเซ่ออกมาจากวิญญาณของชีวิตเด็กจริง ๆ ที่ไม่ได้เสแสร้งด้วยฉากละครใด ๆ ใส่เข้าไป ถ้าเราลองมองย้อนดูดี ๆ เราจะพบว่าสิ่งที่เซเซ่เป็นมันก็คือชีวิตเราในเยาว์วัยนั่นเอง เพียงแต่จะโลดโผนต่างกันแค่ไหน ถ้าเราไม่เอาฉากชีวิตที่เราเจอวันนี้ไปเอาเกราะในสังคมนี้มาสวมทับ ปิดกั้นจินตนาการในวัยเด็กของเราละก็ เซเซ่จะไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยจะเป็นธรรมชาติของเด็ก และในความซ่าของเซเซ่ นั้นเป็นซ่าสร้างสรรค์ และในความซ่าหลายซ่าของเขามันทำให้รู้สึกว่า เซเซ่คิดได้ยังไง อย่างซ่ากับที่นึงเพื่อไปสร้างความประทับใจกับอีกที่หนึ่ง เช่นตอนที่เขาไปขโมยดอกไม้มาให้อาจารย์ ไปขโมยมาจากสวนดอกไม้เพื่อจะมาปักให้อาจารย์ อาจารย์ก็ได้แต่มองหน้าไม่รู้ว่าจะโกรธดีมั้ย และแทนที่จะตีเซเซ่เพราะเป็นขโมย แต่ด้วยเขาอธิบายด้วยความเป็นเด็กว่าเพียงแค่เขาไม่อยากให้แจกันของครูว่างเปล่าจากดอกไม้เท่านั้นเอง พูดได้คำเดียวว่าอึ้ง เพราะว่าเป็นฉากเล็กที่สะเทือนใจ มันเป็นความซ่าที่สร้างสรรค์ ซ่าแล้วทำให้บางคนรู้สึกนึกคิด ว่าทำไมเขาต้องขโมย ก็เพราะเขาไม่มีเงิน เพราะความยากจน แต่ถามว่าเด็กวัยนั้นจะทราบมั้ยว่าการขโมยเป็นเรื่องที่เลวร้ายเลวทรามขนาดไหน มันเป็นพิษเป็นภัยขนาดไหน เด็กเขายังไม่ทราบหรอกค่ะ เขารู้แต่ว่าอยากทำให้คุณครูของเขาอิ่มเอม ประทับใจ ถ้าเด็กคนนึงคิดได้ขนาดนั้น เรียกว่าเซเซ่ซ่าแบบไร้สาระหรือว่าสร้างสรรค์คะ ฉะนั้นฉากของเซเซ่ก็จะเป็นแบบนี้ไม่ว่าเรื่องไหนก็จะลงเอยแบบนี้ลงเอยแบบคนที่ได้ฟังเขาอธิบายจนจบจะน้ำตาคลอหมด ก็ถือว่าไม่ใช่ความแก่แดดเกินวัย ถ้าเรามองในเชิงสร้างสรรค์เราจะมองว่าเซเซ่ครีเอทีฟจังเลย เซเซ่คิดได้ยังไง

ดร.มัทนา : เท่าที่อ่านแล้วก็คิดว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กฉลาดมีความคิดสร้างสรรค์ อ่านแล้วรู้สึกเสียดายอาจจะด้วยความเป็นครูจึงรู้สึกว่าถ้าเด็กคนนี้ได้รับการชี้แนะก็จะเป็นเด็กที่สร้างสรรค์ สามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้ จินตนาการของเขาจะไม่ถูกใช้ไปในทางที่ทำให้เขาต้องถูกลงโทษซึ่งน่าสงสารมาก เพราะเขาไม่เข้าใจอีกด้วยว่าทำไมเขาจึงถูกลงโทษ มันเป็นเรื่องที่สะเทือนใจตรงนี้ เขาไม่ได้รับคำอธิบายว่าทำไมต้องถูกตีหนักขนาดนี้ แล้วก็ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก ทั้งที่จริง ๆ พ่อแม่ก็รักเขา

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ