เปิดตัวหนังสือ ‘บันทึก นึกอร่อย’
ตำราอาหารของท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ‘ต้นเครื่องในหลวงรัชกาลที่ 9’
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “บันทึก นึกอร่อย” ตำราอาหารจากประสบการณ์และการจดบันทึกของท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ‘ต้นเครื่องในหลวงรัชกาลที่ 9’ ที่ได้รวบรวมจัดพิมพ์และนำมาเผยแพร่เป็นครั้งแรก ณ บ้านสุริยาศัย ถนนสุรวงศ์ โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในงาน
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ถ่ายรูปร่วมกับคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำตำราอาหารของท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล มารดาของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อรักษาคุณค่าทางภูมิปัญญาของอาหารไทยซึ่งนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนาน อีกทั้งสูตรอาหารแบบดั้งเดิมนับวันได้ถูกปรับเปลี่ยนไปมากตามยุคสมัยและทรงเกรงว่าจะสูญหาย การจัดทำหนังสือชุดนี้จะได้นำเสนอเรื่องราวรวมถึงสูตรการทำอาหารและเกร็ดความรู้อันทรงคุณค่า โดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำนิยมและพระราชทานชื่อหนังสือว่า “บันทึก นึกอร่อย”
ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ได้เคยถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะต้นเครื่องไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยทำหน้าที่จัดเตรียมพระกระยาหารไทย ประจำพระตำหนักจิตรลดารโหฐานยาวนานกว่า 40 ปี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เคยรับสั่งถึงท่านผู้หญิงประสานสุข ความตอนหนึ่งว่า
“...คุณแม่ของคุณสุเมธ คือท่านผู้หญิงประสานสุข รู้จักกับคนในวังดี เช่นท่านผู้หญิงเจือทอง หรือท่านผู้หญิงมณีรัตน์ และทุกคนก็ทราบว่าคุณหญิงประสานสุขเป็นคนที่มีความสามารถในการปรุงอาหาร ตอนนั้นหัวหน้าห้องเครื่อง ซึ่งสมัยนั้นคุณหญิงติ๋วก็ถึงแก่กรรมไป ทุกคนก็เชิญคุณหญิงประสานสุข ซึ่งท่านก็ไม่แน่ใจว่าจะทำอาหารแบบในวังได้ดี แต่ท่านก็มา... ท่านผู้หญิงก็ตั้งใจศึกษา ซึ่งรวบรวมตำราอาหารเขียนไว้มากมาย ทั้งของตัวเองและไปศึกษาทางวังต่างๆ...”
ท่านผู้หญิงประสานสุข ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ไปเรียนทำอาหารจากวังราชสกุลต่างๆ เช่น วังสระปทุม วังวรดิศ ฯลฯ รวมทั้งศึกษาจากตำราของผู้ที่เป็นปูชนียบุคคลด้านการทำอาหาร เช่น หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และสูตรอาหารที่คิดค้นด้วยตนเอง
อีกทั้งช่วงระยะเวลาแห่งการถวายงานในฐานะต้นเครื่องไทยนั้น ท่านผู้หญิงประสานสุขได้รวบรวมตำราทำอาหารต่างๆ ทั้งคาวและหวาน โดยเขียนด้วยลายมือตนเองเก็บรวบรวมไว้ รวมถึงหนังสือและตำราอาหารที่สำคัญอีกหลายเล่ม ซึ่งล้วนเป็นตำราอาหารที่หาไม่ได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ได้เขียนบันทึกตารางตั้งพระกระยาหารและเครื่องเสวยต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ นั้น โปรดเสวยพระกระยาหารไทยที่เรียบง่ายเหมือนบุคคลทั่วไป แต่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ
รูปแบบหนังสือที่จัดทำนี้ ได้จัดวางรูปเล่มเสมือนสมุดบันทึกของท่านผู้หญิงประสานสุข ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวและสูตรพระกระยาหาร รวมถึงสูตรอาหารอื่นๆ โดยจัดทำเป็นชุดหนังสือบรรจุในกล่องกระดาษแข็งจัดทำพิเศษ ประกอบด้วยหนังสือจำนวน 4 เล่ม แบ่งตามประเภทของอาหาร ดังนี้
เล่ม 1 “กับข้าว กับปลา” นำเสนอวัฒนธรรมอาหารชาววัง เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับอาหารชาววัง ความเชื่อมโยงและการประยุกต์กับวัตถุดิบท้องถิ่น สอดแทรกเกร็ดความรู้และเคล็ดลับตามที่ท่านผู้หญิงประสานสุขบันทึกไว้
เล่ม 2 “ต้มยำ ทำแกง” เรื่องราวของแกง ต้มยำ และยำต่างๆ ที่เป็นดั่งงานศิลป์ ในการผสมผสานสมุนไพรไทยหลากหลายชนิดได้เป็นเมนูอาหารที่มีรสชาติอันวิจิตร
เล่ม 3 “จานข้าว จานเส้น” สูตรอาหารจานเดียว ทั้งของไทย จีน ฝรั่ง เรื่องราวข้าวผัดไกลกังวล และเรื่องเล่าของเมนูขนมจีนกับน้ำยาต่างๆ
เล่ม 4 “ของว่าง ของหวาน” เทคนิคการปรุงของหวานทั้งตำรับไทยและต่างชาติ สอดแทรกประวัติ ความเป็นมาที่น่าประทับใจ
ภาพตัวอย่างหน้าในหนังสือ
ในการนี้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เป็นผู้สนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือ โดยมีบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบการจัดวางเนื้อหา และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ถ่ายภาพประกอบหนังสือ รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา
หนังสือ “บันทึก นึกอร่อย” จะเริ่มจำหน่ายในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ในราคาชุดละ 1,500 บาท โดยจำหน่ายผ่านสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โทร. 02 447 8585 - 8 ต่อ 103
- ร้านภัทรพัฒน์ทุกสาขาและช่องทางออนไลน์
- ร้านนายอินทร์
- ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ (SE-ED Book Center)
- บีทูเอส (B2S)
- คิโนะคูนิยะ (Kinokuniya)
- เอเซียบุ๊คส (Asia Books)
ทั้งนี้ หากสั่งซื้อจำนวน 200 ชุดขึ้นไป สามารถจัดพิมพ์โลโก้หรือชื่อของหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มธุรกิจบนกล่องหนังสือได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โทร. 02 447 8585 - 8 ต่อ 103