สุภาพบุรุษ : โดย จุฑามาศ พรหมดา

สุภาพบุรุษ

        หากกล่าวถึงคำว่า “สุภาพบุรุษ” จินตภาพของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน อาจะมีความรู้สึกแตกต่างกัน ซึ่งเรื่องสั้นเรื่อง เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษของคุณชมัยพร แสงกระจ่าง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงคำว่า “สุภาพบุรุษ” ผ่านการเล่าเรื่องของแม่ผู้ประสบเหตุการณ์ที่เธอไม่มีวันลืมเลือน การยืนหยัดในความคิด ความคาดหวัง และความปรารถนาดีที่มีต่อลูก จึงนำมาซึ่งเรื่องราวที่ผู้อ่านไม่อาจละสายตาจากเนื้อเรื่องได้แม้สักนาที เพราะเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องชวนให้ติดตามเป็นระยะ ๆ และหล่อเลี้ยงความกระหายของผู้อ่านว่าเนื้อเรื่องมีบทสรุปอย่างไร

         เรื่องสั้นเรื่องนี้มีความน่าสนใจที่สะกิดใจผู้อ่านว่า ทำไมผู้เขียนจึงหยิบเอาแนวคิดของศรีบูรพามาเป็นส่วนสำคัญของเรื่อง ซี่งบทความเรื่องศรีบูรพากับแนวคิดในประวัติศาสตร์การสร้างชาติสมัยใหม่ หลังพ.ศ. 2475 ของคุณวรเมธ ชัยมงคล ได้กล่าวถึงศรีบูรพา หรือคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ไว้ว่า เป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนผู้สนับสนุนการต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพระบอบประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ตั้งแต่ยุคก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาจนถึงยุคจอมพลสฤทธิ์เรืองอำนาจ ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเกิดคณะสุภาพบุรุษขึ้น และเกิดความคิดเสรีนิยมระดับก้าวหน้าขึ้นโดยมีค่านิยมเรื่องความเป็นสุภาพบุรุษและมีคำพูดที่ปรากฎในเรื่องว่า คำว่าสุภาพบุรุษอันมีความหมายว่าผู้ที่เกิดมาเพื่อคนอื่น

          นันท์เริ่มเล่าเรื่องให้ดินลูกชายของเธอฟังว่าในวันแต่งงานมีผู้หญิงอุ้มท้องมาบอกว่าพ่อของลูกเธอก็เป็นพ่อของลูกหญิงอุ้มท้องคนนั้น แต่พ่อกลับไม่ยอมรับแม่จึงตัดสินใจไล่พ่อออกไปจากชีวิตทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่าเธอก็ท้องเช่นกัน เมื่อดินอายุได้ 18 ปี ก็ขอเรียนมหาวิทยาลัยเปิดและทำงานไปด้วยทั้งที่ยายกับแม่ไม่เห็นด้วยเท่าใดนัก วันหนึ่งในขณะที่ดินไปค่ายที่ต่างจังหวัดก็มีผู้หญิงชื่อฟ้าใสเข้ามาบอกเธอว่าท้องกับดินแต่ไม่แน่ใจนักว่าใช่ดินจริง ๆ หรือบอย เธอจึงถามต่อว่าทำไมไม่อยากเรียน จึงทราบเรื่องราวว่าเธออยากเรียนแต่แม่ไม่มีเงินส่งเรียนจึงส่งเธอมาทำงาน ด้วยความสงสารเธอจึงพูดว่าถ้าลูกในท้องคือลูกของดิน เธอจะส่งฟ้าใสเรียน เมื่อดินกลับมาเธอจึงถามเรื่องนี้กับลูก ดินจึงตอบว่านั่นคือลูกของดินด้วยเหตุผลว่าฟ้าใสจะได้มีพ่อของลูกและจะได้เรียน เธอจึงเสียใจที่เลี้ยงลูกด้วยคำของศรีบูรพา เพราะฟ้าใสได้โทรมาบอกว่าผลตรวจ DNA บอยคือพ่อของลูกเธอ รุ่งเช้าเธอจึงเข้าใจลูกทุกอย่างและยอมเลี้ยงหลานของคนอื่นในที่สุด

            สตรีนิยม 3 สมัย

            หากผู้อ่านสังเกตตัวละครจากเรื่อง จะพบว่าในเรื่องมีคนถึง 3 ยุคสมัย โดยแต่ละสมัยจะมีความคิดและพฤติกรรมที่ต่างกัน ซึ่งจากเนื้อเรื่องการที่ยายยอมให้แม่แต่งงานนั้นเป็นเพราะยุคหนึ่งมีค่านิยมที่ไม่ดีต่อหญิงขึ้นคานเท่าไหร่นัก แต่ในขณะที่แม่รู้ว่าตนท้องก็ไม่กล้าบอกยาย แต่เมื่อเจอเหตุการณ์อันเลวร้ายก็ตัดสินใจเด็กขาดที่จะปล่อยพ่อไป แต่ในขณะเดียวกันเมื่อฟ้าใสรู้ว่าตนเองท้องกลับไม่ลังเลที่จะตัดสินใจมาบอกกับแม่ของดินทั้ง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าใครคือพ่อของลูก จึงสะท้อนให้เห็นว่าคนในแต่ละยุคสมัยก็มีความคิดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งความกล้าที่จะคิดจะทำของแต่ละยุคมีการพัฒนาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเห็นไม่ว่าผู้หญิงนั้นเริ่มที่จะพึ่งพาตนเอง มีความคิดเป็นของตนเอง โดยไม่ยึดติดกับคำว่าผู้ชายคือช้างเท้าหน้าอีกต่อไปแล้ว ซึ่งตัวอย่างจากเรื่องที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของนันท์ อีกทั้งในยุคดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการศึกษามีความสำคัญอย่างมาก โดยไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายหากลูกในท้องคือลูกของดินเธอจะส่งเรียนเอง

            เรื่องราวของเพศแม่

            จากเรื่องจะเห็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เรื่องการท้องก่อนแต่งเกิดขึ้น ซึ่งหากมองในมุมของคนแต่ละยุคจะเห็นได้ว่าเธอมีวิธีแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันแต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ความรักที่มีต่อลูกเท่าที่แม่คนหนึ่งจะเป็นได้ อีกทั้งความรักในการเลี้ยงดูลูกก็เช่นเดียวกัน ซึ่งแม่นั้นก็ย่อมอยากให้ลูกเป็นคนดีและไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น อีกทั้งปมในใจของนันท์เธอจึงสอนลูกให้เป็นสุภาพบุรุษนั่นเอง

            อุดมคติและระดับจิตใจ

            สุภาพบุรุษในสมัยนั้นคือภาพในอุดมคติของผู้หญิงว่าผู้ชายจะต้องปกป้องดูแลเธอได้ แต่มิใช่ว่าต้องเป็นผู้นำในทุก ๆ เรื่อง หากแต่เป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขและช่วยเหลือในเวลาที่ลำบาก ซึ่งในเรื่องการเป็นสุภาพบุรุษก็ถือเป็นตัววัดระดับจิตใจได้ดังประโยคที่นันท์เปรียบเทียบว่า “รู้สึกเหมือนตัวเองยืนอยู่บนโต๊ะและพ่อยืนอยู่ที่พื้นดิน มันต่างกันมาก” ซึ่งคำว่าต่างกันมากอาจะหมายถึงระดับจิตใจที่จะกล้าเผชิญกับปัญหาและความจริงจากตัวละคร 2 ตัว

            ในเรื่องคำว่า สุภาพบุรุษ มีความหมายทั้งที่เหมือนและแตกต่างกับปัจจุบันเพราะสังคมยังต้องการผู้ที่เสียสละเพื่อผู้อื่นอยู่ แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่เสียสละนั้นจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ทั้งนั้น เพราะมนุษย์ทุกคนต้องช่วยเหลือและเกื้อกูลต่อกัน

            ความสุภาพบุรุษเปลี่ยนทิศ

            ความสุภาพบุรุษของดินนั้นถือว่าเป็นสุภาพบุรุษเปลี่ยนทิศ สำหรับผู้วิจารณ์เพราะความเป็นสุภาพบุรุษควรจะก่อให้เกิดแต่ประโยชน์และไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่ความเป็นสุภาพบุรุษของดินสร้างความลำบากใจให้แก่ผู้เป็นแม่และสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง ผู้เป็นแม่นั้นจึงควรอธิบายความเป็นสุภาพบุรุษให้ชัดเจนมากกว่าประโยคหลักเพียงประโยคเดียว ให้ดินได้เข้าใจและเลือกตัดสินใจใหม่ตามความคิดของตน

            เรื่องสั้นเรื่อง เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้อ่านควรอ่าน เพราะให้ทั้งความบันเทิงและข้อคิดมุมมองที่เกี่ยวกับคำว่าสุภาพบุรุษในมุมที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง อีกทั้งยังสะท้อนสังคมให้เห็นถึงความรักที่แม่มีต่อลูกและความแตกต่างของคนในแต่ละยุคสมัย ซึ่งสามารถนำเรื่องราวมาเป็นทั้งอุทาหรณ์และคติเตือนใจมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ชีวิตของเราดีขึ้นและสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอีกด้วย

 

"สุภาพบุรุษ"
บทวิจารณ์โดย จุฑามาศ พรหมดา
ครงการ “อ่าน  เขียน  เรียนรู้  สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ