กากะเยียสำนักพิมพ์ : ฐานรองรับความจริงและจินตนาการ

กากะเยียสำนักพิมพ์

การที่สำนักพิมพ์น้องใหม่จะสร้างผลงาน ให้เป็นที่ยอมรับในวงการน้ำหมึกได้ ต้องอาศัยทั้งเวลา ความสามารถ ประสบการณ์มากพอสมควร‘กากะเยียสำนักพิมพ์’ สำนักพิมพ์น้องใหม่แห่งแดนดินถิ่นอีสาน ที่เริ่มต้นจากความรักในงานวรรณกรรม บวกกับแนวคิดหลักที่ว่า ‘หนังสือมีไว้เพื่ออ่าน’ หากพร้อมแล้ว ลองมา ‘อ่าน’ ตัวตนของพวกเขากัน

‘กากะเยียสำนักพิมพ์’ เกิดขึ้นครั้งแรกจาก ‘บรรจง บุรินประโคน’ สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความฝันอยากจะมีสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง และรักในการทำหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่ปี 1 โดยเฉพาะหนังสือทำมือ จึงคิดว่าการตั้งสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ขึ้นมา แม้จะถูกหัวเราะเยาะในช่วงแรก ๆ แต่ก็มีนักเขียนหน้าใหม่ ใจกล้า เอาผลงานมาให้พิจารณาจัดพิมพ์ บางคนทำเล่มเดียวเก็บไว้บูชา เก็บไว้เป็นที่ระลึก เก็บไว้ดูต่างหน้า กลายเป็นมิตรภาพจนเกิดเป็นวัฒนธรรมกากะเยียขึ้นมา

บรรจง บุรินประโคน บรรณาธิการสำนักพิมพ์เล่าให้ฟังว่า “หลายคนเริ่มเข้าใจในวิถีของกากะเยียมากขึ้น มิตรภาพเริ่มเบ่งบานเป็นวงกว้าง อวลกลิ่นมิตรน้ำหมึก จนที่สุดก็เกิดไอเดียร่วมกันว่า ในเมื่อทุกคนต่างชอบหนังสือ และเราก็พบกันเพราะหนังสือ ก็น่าจะทำสำนักพิมพ์อย่างจริงจังขึ้นมา เพื่อเป็นที่พักผ่อนทางกาย และความรู้สึกนึกคิด และจากนั้นไม่นาน (2554) กากะเยียสำนักพิมพ์จึงก่อเกิดรูปร่าง ขยับจากสำนักพิมพ์ส่วนตัวเป็นสำนักพิมพ์ส่วนรวม โดยให้นิยามว่ากากะเยียคือฐานรองรับความรู้ อันหมายถึงความจริงและและจินตนาการ อันหมายถึงความจริงแปลงหรือความฝันนั่นเอง และดำเนินการพิจารณาต้นฉบับเพื่อจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ โดยเฉพาะงานประเภทวรรณกรรมต่าง ๆ”

 

 

“ช่วงแรก ๆ ต้นฉบับส่วนมากมาจากการไหว้วานคนรู้จัก และผลิตในรูปแบบพิมพ์จำกัด (Print on demand) ตามจำนวนที่ต้องการ หรือตามความฝันของแต่ละคน ต้นฉบับจึงดูสะเปะสะปะ จัดประเภทไม่ได้ พอมาในช่วงหลัง จึงได้ตัดสินใจคัดกรองต้นฉบับเพื่อพิมพ์ในนามของกากะเยียสำนักพิมพ์ อย่างจริงจัง เพราะต้องการเผยแพร่ในวงกว้าง จึงมีการเลือกเฟ้น โดยผ่านทั้งเพื่อนพี่น้องคนรู้จัก และคนทั่วไปที่ส่งต้นฉบับมาให้พิจารณา มีระยะเวลาในการพิจารณาต้นฉบับไม่เกิน 3 เดือน แล้วจะติดต่อกลับไปยังเจ้าของต้นฉบับ เพื่อแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบ และจัดพิมพ์ต่อไป” บรรณาธิการกล่าวถึงวิธิการทำงานของสำนักพิมพ์ให้ฟัง

การที่เป็นสำนักพิมพ์เปิดใหม่ และเป็นสำนักพิมพ์จากต่างจังหวัดแจ้งเกิดหรือเป็นที่ยอมรับจากวงการหนังสือคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่บรรณาธิการสำนักพิมพ์น้องใหม่เชื่อว่า “ความฝันไม่เคยที่จะแก่เกินแกง” และปัจจัยในการเป็นที่ยอมรับนั้น การมีใจสำคัญที่สุด อาจารย์ท่านหนึ่งเคยพูดว่า ‘ช้างเผือกอยู่ในป่า’ แม้ว่าเราอาจไม่ใช่ช้างเผือก แต่ความเชื่อและความฝันที่คอยหล่อเลี้ยงบนเส้นทางของวรรณกรรมนั้น หากไม่หยุดเดินเสียก่อน จุดหมายหรือปลายทางคงไม่ไกลนัก”

หนังสือส่วนใหญ่ของสำนักพิมพ์เป็นแนววรรณกรรมแนวค่อนข้างขายยากหากเทียบกับหนังสือในแนวอื่น หลังจากที่กากะเยียสำนักพิมพ์ได้ตัดสินใจผลิตผลงานออกมาหลักพันเล่ม นั่นหมายถึงการกระจายของหนังสือของพวกเขาจะมีโอกาสไปสู่ถึงของนักอ่านมากขึ้น “หนังสือทางสำนักพิมพ์ของเราอาจมียอดขายไม่ค่อยดีเท่าไหร่เมื่อเทียบกับสำนักพิมพ์อื่น แต่ก็ถือว่าทุกเล่มที่กากะเยียผลิตออกมานั้น ล้วนแต่เป็นหนังสือที่หลายคนบอกว่า รูปเล่มสวย มีคุณภาพ และที่สำคัญราคาไม่แพง”

“เราถือว่าหัวใจของการขายคือคนอ่าน และยิ่งผลงานของสำนักพิมพ์เรานั้นเป็นแนวหนังสือแนวที่ค่อนข้างขายยาก เราจึงคิดว่าควรใช้สายส่งช่วยกระจายสินค้าให้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สำนักพิมพ์ไปด้วย แต่หลังจากที่ใช้ระบบสายส่งมาหนึ่งปี ก็พบว่าหนังสือของเรานั้นเดินได้ไม่ดีเท่าไหร่ จึงเกิดระบบที่สำนักพิมพ์และนักเขียนขายหนังสือเองผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก และการเข้าร่วมกิจกรรมออกบูธในงานสัปดาห์หนังสือต่าง ๆ เพราะเราคำนวณแล้วว่า สำนักพิมพ์ขนาดเล็กแบบเรา คงยากที่จะแข่งกับสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ที่มีเงินลงทุนหมุนเวียน ส่วนแบ่งของสายส่งซึ่งขณะนี้ดูจะขยับสูงขึ้นมาก จึงเป็นสิ่งที่ช่วยในการตัดสินใจของเราง่ายขึ้น เมื่อไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าสายส่งแล้วก็สามารถนำเงินตรงนี้ส่วนลดให้คนอ่านได้อีก ถือเป็นวิธีการคืนความสุขให้กับคนอ่านอย่างสมเหตุสมผล”

การสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นลงในงานวรรณกรรมหรืองานวิชาการเปรียบเสมือนภาพสะท้อนทางสังคม หรือคือสิ่งที่นักเขียนในท้องถิ่นนั้น ๆ สัมผัสด้วยตาและด้วยใจได้ชัดเจนที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งงานวรรณกรรม หรืองานวิชาการ จะสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะการจะเขียนถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง แม้จะเป็นเรื่องแต่งก็ตาม

บรรณาธิการกากะเยียสำนักพิมพ์ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “ความเป็นอีสานคือ ความสัตย์ซื่อของอารมณ์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านวัฒนธรรม ภาษา ประเพณี ฮีต คลอง ต่างๆ ก่อนจะถูกหยิบจับด้วยความพันผูกของนักเขียนอีสานที่เติบโตมาด้วยกันกับวันเวลาดังกล่าว จนกลายมาเป็นทั้งงานวรรณกรรมและงานวิชาการ ที่มีทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ชัดเจน เพราะใครก็เป็นนักเขียนได้ แต่คนในพื้นที่นั้นเท่านั้นที่เล่าเรื่องของตัวเองได้ดีที่สุด และชัดเจนที่สุด”

 

 

ขอบคุณที่มา : www.all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ