เดือนแรกของปี 59 นี้ ‘นัดพบนักเขียน’อยากเติมรอยยิ้มให้กับผู้อ่านทุกท่านด้วยการสัมภาษณ์นักเขียนอารมณ์ดีผู้จับอะไรมาเล่าก็ดูมีมุกไปหมด นาม ‘วิชัย’หนุ่มเหนือผู้รักและสนุกกับการเล่าเรื่องโดยเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักเขียนจากการอยากแบ่งปันความสนุกในอาชีพด้านการโรงแรมของตนให้คนทั่วไปได้ร่วมเฮฮา ลีลาการเขียนของเขาทั้งยียวนและกวนเข้ากับยุคสมัยจนเราต้องขอเข้าไปทำความรู้จักแล้วเอามาฝากนักอ่านทุกท่าน
all : คุณวิชัยเคยทำงานโรงแรมและหน้าที่การงานดีมาก ทำไมถึงอยากเป็นนักเขียน
วิชัย : ตอนเราทำงานโรงแรมเป็นช่วงที่บล็อกมันบูม ก็เลยเขียน จริง ๆ ไม่ได้ซีเรียสอะไร เขียนไปเรื่อย ๆ แต่เราก็ยังเขียนหนังสือไม่เก่งนะ แค่อยากเขียนอะไรที่สบายใจ มีเรื่องให้เขียนเรื่อย ๆ ก็เลยมาลงที่เรื่องโรงแรม แล้วก็มีคนชอบ เลยเขียนมาเรื่อย ๆ จนมีคนติดต่อให้ไปออกเป็นหนังสือ รู้สึกจับพลัดจับผลูมากกว่า
al l: ทราบมาว่า ช่วงหนึ่งคุณทำงานเป็นครีเอทีฟด้วย ความเป็นครีเอทีฟ ช่วยสนับสนุนงานเขียนมากน้อยแค่ไหน
วิชัย : จริง ๆ ต้องบอกว่าการเป็นนักเขียนต้องมีความเป็นครีเอทีฟในตัวอยู่แล้ว แต่พอมาทำงานครีเอทีฟจริง ๆ ด้วยความที่มันเป็นอาชีพของเรา มันช่วยจัดระบบวิธีคิดมากกว่า นักเขียนอาจใช้เวลาคิดนานหน่อย แต่พอเป็นครีเอทีฟ เวลาทำงานจะกระชั้นทุกอย่าง ทำให้เราต้องคิดให้ตรงเป้า ให้เร็วขึ้น จะมีประโยชน์ตรงนี้มากกว่า
all : แรงบันดาลใจอะไรทำให้คุณออกมายึดอาชีพนักเขียนเป็นหลัก
วิชัย : ขี้เกียจ (หัวเราะ) จริง ๆ ตอนออกมาเป็นครีเอทีฟ ผมมีหนังสืออยู่ 3 - 4 เล่ม พอช่วงทำครีเอทีฟก็อยากเขียนนั่นอยากเขียนนี่ แต่ว่างานครีเอทีฟมันยุ่งมากเลยไม่มีเวลาเขียน ตอนนั้นผมน่าจะมีพล็อตหนังสืออยู่ในหัวแบบเขียนได้ 2 ปี โดยที่ไม่ต้องทำอาชีพอื่นได้ ก็เลยอยากเขียนมาก จนยอมลาออกจากงานครีเอทีฟเพื่อเขียนหนังสืออย่างเดียว ซึ่งตอนนั้น 3 - 4 เล่ม ที่เขียนไว้มันเริ่มออกดอกออกผล ขายได้เรื่อย ๆ จนมีรายได้ แม้จะไม่ประจำนัก แต่ก็สามารถจุนเจือตัวเองได้ถึง 2 ปี ซึ่งถ้าเราทำทุกเล่มที่วางแผนไว้เสร็จ จะทำให้อีกปีสองปีข้างหน้ามีเงินใช้ได้สบาย ๆ ก็เลยลาออกมาเขียนหนังสือดีกว่า
all : คุณเป็นนักอ่านมาก่อนไหม ความเป็นนักอ่านมีผลต่อการเป็นนักเขียนอย่างไรบ้าง
วิชัย : จริง ๆ ไม่ได้เป็นนักอ่านมากขนาดนั้น ผมอ่านหนังสือไม่อดทน เลยชอบหนังสือของพี่ชาติ กอบจิตติ เรื่องที่เล่มบาง ๆ สั้น ๆ หน่อย อ่านแป๊บเดียวจบ แล้วก็มาชอบ ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน’ ของคุณวินทร์ ชอบที่อ่านอึดใจเดียวก็จบหนึ่งเรื่อง พอมาเจอหนังสือพี่จิกที่เขียน ‘คุยกับประภาส’ มันจบในตอนเร็วมาก ผมชอบอ่านแบบเปิดมาเจอหน้าไหนก็พลิกอ่าน เปิดไปต้นบทแล้วก็อ่าน ช่วงนั้นถ้าไปเที่ยวที่ไหน ไม่รู้จะพกหนังสืออะไร จะเดินเข้าร้านหนังสือ ซื้อ ‘คุยกับประภาส’ สักเล่มติดตัวไป อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นไอเดียมาให้เขียนต่อนะ แค่รู้สึกว่าแกเก่งดี ถ้าจะมีผลต่อการเขียนบ้างก็คือเราจะไม่อ่านหนังสือคนอื่นในช่วงที่เขียน เพราะกลัวจะทำให้งานเราออกมาเป็นแนวเขา แปลว่า ถ้าเราเขียนงานทั้งปี ก็จะไม่อ่านหนังสือเลยทั้งปี
all : เห็นบอกว่าบางอาชีพเหมือนขายคาแร็กเตอร์ของคนด้วย อย่างนักร้องต้องหน้าตาดี นักเขียนนี่คนอ่านเพราะชอบที่ตัวงานเขียนใช่ไหม
วิชัย : ต้องหน้าตาดี (หัวเราะ) ล้อเล่นครับ ผมรู้สึกว่าอาชีพนักเขียนคืออาชีพที่ต้องใช้เวลาในการเขียนหนึ่งเล่มนานมาก 3 - 4 เดือน เล่มแรก ๆ ผมเขียนใช้เวลาปีกว่า นั่นแปลว่าเราต้องอยู่กับสิ่งเดิม ๆ เป็นปี นักเขียนที่จะมีงานออกมาเรื่อย ๆ คือนักเขียนที่งานกับตัวเขามันคล้ายกันมาก เขาไม่ได้พยายามจะเป็นอย่างอื่นในเวลาขณะที่เขียน จะทำให้เขาอยู่กับงานนั้นได้ เพราะฉะนั้นงานที่ผมเขียนก็จะเป็นตัวผมมาก ๆ ไม่ฝืนที่จะเขียนงาน จึงทำให้คาแร็กเตอร์ชัด
all : ภาษาขำ ๆ ที่ใช้มาจากไหน
วิชัย : เราว่าเรากวนตีนมากกว่า ถ้าใครอ่านสเตตัสเฟซบุ๊กผมจะรู้สึกว่า ถ้าเอามาพิมพ์ไว้ก็คงได้หนังสือประมาณหนึ่ง คงไม่ต่างจากสำนวนการเขียนในหนังสือเท่าไหร่ คือถ้าเป็นคนก็คือเรา สมมติหนังสือมันคือการออกงานออกสังคม เราจะไม่แต่งตัวเกะกะ จะแต่งตัวดีขึ้นหน่อยแล้วออกงาน บางคนเวลาออกงานต้องใส่สูท ผูกไท แต่เราไม่ได้เป็นนักเขียนแบบนั้น
all : ตอนวางโครงเรื่องกับตอนแก้ไขแล้ว ทำอย่างไรให้เนื้อหายังกวน ยังขำอยู่
วิชัย : แล้วแต่โจทย์ของเล่มครับ บางเล่มมีแนวขำมาตั้งแต่เราคิดว่าจะเขียนแล้ว เช่น ‘บันทึกการเดินทางของวิชัย มาตกุล’ มันเดินทางไปประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องมีเรื่องเวียน ๆ รอเราอยู่แล้ว หรือ ’มันมากับความเหมียว’ เป็นเรื่องแมว ต้องสนุกแน่ แต่พอเอาจริง ๆ กลับยากมาก เพราะแมวจริง ๆ คือกินกับนอน กินกับนอน ไม่ได้มีเรื่องอะไรมาก เราต้องใช้เวลานั่งคิดว่าจะหามุมไหนมาเขียนให้สนุก ไปได้เรื่อย ๆ ไม่ให้ซ้ำ ตื่นมากิน ตื่นมานอน หรือ ‘Dream Attack’ กับ ‘Dream Crusher’ สองเล่มนี้เขียนยากมาก เพราะพูดถึงอาชีพ ถ้าใส่ความขำเข้าไปจะลำบาก เล่าเป็นสำนวนหรือเล่าตรง ๆ ด้วยคอนเซ็ปต์ของมันเลยจะดีกว่า หรือหนังสือเดินทาง ‘มิสชั่นกินพอสสิเบิล’ เป็นเรื่องการไปกินที่ญี่ปุ่น ต้องทำให้อ่านเพลิน ต้องปรับท่าทีในการทำงานนิดหน่อย นักเขียนต้องคุยกับ บก. ว่าเล่มนี้ แต่ละเรื่องมีแนวทางแบบไหน เราจับขำแค่นี้ จะไม่ไปมากกว่านี้ ต้องคุยกับ บก. ครับ
all : พอมาเป็นนักเขียนจริง ๆ คิดว่า ‘อาชีพนักเขียน’ ยากไหม
วิชัย : ชอบนะ ผมโอเคกับมัน แต่ว่าต้องมีวินัยสูง บางคนต้องฝึกประมาณหนึ่ง ต้องปรับตัว ทั้งเรา แฟน คนรอบข้าง คนชอบคิดว่า มันเป็นอาชีพสบาย ชิล ๆ นั่งอยู่ที่โต๊ะ... ริมหน้าต่าง... มีใบไม้ไหวนะ ลมพัดเย็น ๆ ก๊อกแก๊ก ๆ ฟังเพลงบอสซ่าไป ดื่มกาแฟไป จริง ๆ มันไม่ใช่เลย อาชีพนักเขียนมันคือ... มีงานหนังสือ 2 รอบ คือเดือนมีนากับตุลา แล้วเป็นยุคที่สำนักพิมพ์เกือบทั้งหมดนิยมออกหนังสือช่วงนี้ แปลว่านักเขียนจะมีโอกาสออกผลงานปีละแค่ 2 ครั้ง นักเขียนจะมีรายได้ปีละ 2 ครั้ง จบ (หัวเราะ) พอเป็นอาชีพ ต้องเลี้ยงชีวิตเราได้ พอมีครอบครัวมันต้องเลี้ยงครอบครัวเราได้ ดังนั้นอะไรที่ทำให้ความเป็นนักเขียนสามารถหาเงินได้มากกว่างานหนังสือ ผมว่ามันยากมาก
เคยเขียนคอลัมน์ในนิตยสาร เหนื่อยมาก ไม่ได้หยุดเลย ถ้านักเขียนหนึ่งคนจะออกหนังสือปีละ 2 เล่ม แปลว่าเขาต้องทำงานทุกวัน ทั้งปี เพื่อให้ได้งาน นี่ยังไม่นับเขียนคอลัมน์นะ ซึ่งได้เงินน้อย ก็ต้องเขียนเยอะขึ้น งานประจำชัด ๆ ทำ 8 ชม. พัก 1 ชม. ระหว่างกินข้าวก็ต้องคิดว่าจะเขียนอะไรต่อ ผมว่านักเขียนคืออาชีพทั่วไป แค่ทำงานอยู่บ้าน แต่ยาก เพราะไม่รู้ว่าทรัพยากรในหัวจะหมดเมื่อไหร่ น่ากลัวตรงนี้แหละ ตอนที่ผมทำงานอยู่บ้าน เขียนหนังสืออย่างเดียว จะเขียนหนังสือของปีหน้า คืองานทั้งหมดของปีนี้คือสำหรับปีหน้า พอถึงปีหน้า งานที่เขียนทั้งหมดของปีนี้คือของปีถัดไป คือมีสต๊อค ถ้าสต๊อคหมด เรายังมีเวลาอย่างน้อย 2 เดือนในการเบ่งพลังเพื่อจบให้ได้ เหนื่อย กดดันนะ เพราะว่ารายได้ไม่มั่นคง ความมั่นคงเราต้องสร้างเอง
all : เวลาเขียนงาน เน้นที่ตัวเองอยากให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ หรือเน้นที่นักอ่านเป็นหลัก
วิชัย : หนังสือขำเขียนยาก เพราะความขำมันแล้วแต่คน แต่การทำให้คนอ่านไปได้เรื่อย ๆ โดยที่เขาไม่ปาหนังสือเราทิ้ง มันเป็นใจความสำคัญมากกว่า แต่ผมก็จะเขียนสิ่งที่จะต้องเล่าก่อนเป็นส่วน เขียนสิ่งที่ต้องเล่าทั้งหมด เช่น บทนี้จะพูดเรื่องขั้นตอนที่แฟนผมคลอดลูก บล็อกหลัง ตอนเช้ามารับนั่นนี่นั่นโน่นจนตอนคลอด เริ่มบทคือพยาบาลออกไป จบบทคือคลอดลูก จากนั้นก็เขียนขั้นตอนจริง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีความตลก เล่าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง 1 ถึง 10 แล้วดูว่าเยอะไปไหม พอได้แกนทั้งหมด ก็เริ่มใส่อารมณ์ร่วมของเราเข้าไป
จากนั้นใส่อารมณ์ร่วมของบุคคลที่สามที่มองมาเข้าไปอีก แล้วเติมคาแร็กเตอร์ให้เหมาะเข้าไป เหมือนการปั้นตัว ต้องมีแกนกลางก่อน แล้วค่อยเริ่มเติมก้านเติมอะไรเข้าไป เราทำงานแบบนั้นมากกว่า แต่บางเรื่องด้วยความที่เป็นนักเขียนมาสักพัก เวลามองเหตุการณ์ ณ ตรงนั้น จะคิดเป็นพล็อตเพื่อรอเป็นหนังสือเลย เช่น ตอนภรรยาคลอดลูก เออ มันตลกดี ผมก็จะได้พล็อต ซึ่งผมโชคดีที่จำเรื่องแบบนี้แม่น กลับมาเขียนได้เลย แต่บางตอนที่ยาก ๆ จะใช้วิธีเขียนสิ่งที่เกิดเป็นลำดับ จากนั้นเติมความเพลิน ตรงไหนขยี้ได้ก็เติมมุขเข้าไป
all : การมีแฟนคลับแบบปากต่อปากตามอ่านจากเล่มแรก ๆ ทำให้รู้สึกกดดันในงานเล่มต่อ ๆ มาไหม
วิชัย : กดดัน คือกดดันให้มันเสร็จ ไม่กดดันว่ามันจะสนุกไหม เพราะการทำงานหนังสือสุดท้ายมันต้องไปที่ บก. ถ้าเขาโอเค แสดงว่า 80 % ตรงนั้นโอเค แต่เขาก็จะบอกมาว่าตรงไหนไม่ค่อยถึง เราก็ต้องเติม แต่ผมค่อนข้างจะมีเซ้นส์ว่า อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ไม่ถึง เราต้องเติมให้มันโอเค ส่วนตรงไหนมันตลกเกิน ผมก็ลดลง น่าจะเคยดูบางรายการตลกที่บางทีมันก็ไม่ต้องตลกก็ได้ เราจะมีความรำคาญเกิดขึ้น ผมรู้สึกทัศนคตินี้ ค่อนข้างจำเป็นกับคนเขียนหนังสือว่าตรงนี้เยอะไป เอาออก ตรงนี้น้อยไป เติมเข้ามา หรือตอนที่ 1 - 2 - 3 แล้วตอนที่ 4 มากเกิน อันนี้ต้องทำให้น้อยลงมา ยากอยู่ครับแต่ทั้งหมดคือต้องคุยกับ บก.
all : เวลาท้อ ตัน กดดัน วิตก กังวล ไม่สบายใจ เครียด มีแนวคิดอะไรให้งานไปต่อได้ลื่นไหล
วิชัย : คิดถึงเงินที่จะได้ (หัวเราะ) จริง ๆ ไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้นครับ งานเขียนแบบอ่านเพลิน เป็นอะไรที่ยาก เพราะต้องรักษาระดับอารมณ์ให้คงที่ที่สุด หนังสือผม ผมสามารถจิ้มได้เลยว่าช่วงไหน อารมณ์เป็นยังไงอยู่ เพราะจำได้ว่าเล่มนี้ มันนิ่งมาก นิ่งคือ ช่วงนั้นชีวิตดีมาก ตื่นเช้ามาไม่มีปัญหา เล่นเกมได้ มีข้าวกิน มีนู่นนี่นั่น หนังสือก็จะนิ่ง ๆ คง ๆ เพราะรู้สึกว่าชีวิตเรามีความสุขแล้ว แต่ถ้าลำบากหน่อย ผมจะสนุก ได้ออกข้างนอก ฉะนั้นเวลาเขียน ถ้าขึ้นตอนใหม่จะไม่เขียนที่บ้าน
เราจะรู้สึกเลยว่ากราฟหนังสือของตัวเราจะขึ้น ๆ ขึ้น ๆ แต่พอปรับหรือเกลาคำให้สมบูรณ์ต้องทำที่บ้านเพราะใช้สมาธิ ฉะนั้นถ้าเริ่มตอนใหม่แล้วเขียนที่บ้านแบบมีสมาธิ เราก็จะได้หนังสือเท่ ๆ หล่อ ๆ กริบ ๆ แล้ว บก. ก็จะไม่เอา บอกว่าอันนี้ไม่ใช่เพราะนิ่งไป แต่ช่วงไหนที่เราวิตกกังวล กดดัน มันจะออกมาในระหว่างบรรทัดที่เราเขียน พอเรากลับมาอ่านเอง เราจะรู้สึกได้ ซึ่งเราเขียนงานต่อเนื่องมา ผู้อ่านจะรู้เลยว่า เล่มนี้มีความผิดปกติกับวิชัย เขาจะทักมา เคยโดนทัก 2 - 3 คน ผมรู้สึกว่าต้องระวังกับเรื่องพวกนี้ คนอ่านรู้ว่าช่วงนั้นเราเครียดกับอะไรบางอย่างอยู่
all : เคยคิดจะใช้นามปากกาอื่นหรือเขียนหนังสือแนวอื่นไหม
วิชัย : ทำไม่ได้ เคยพยายามแล้ว เคยเขียนเล่มหนึ่งเกี่ยวกับญี่ปุ่น เขียนหล่อเลย บอก บก. ว่าเล่มนี้ ผมจะเขียนเท่ ๆ ตั้งชื่อว่า ‘ส่องกระจกใต้ตะวัน’ ชื่อเท่เลย เขียนจนจบ แต่ บก. บอกว่าไม่เอา กลับไปแก้ใหม่ทั้งเล่มเลย เพราะอ่านแล้วคิดถึงทรงกลด คือไม่ได้เขียนดีเท่าพี่เขา แต่อ่านแล้วเป็นแนวอบอุ่น ซึ่งนั่นดูไม่ใช่ผม ก็เลยต้องแก้ทั้งเล่ม แล้วชื่อก็กลายเป็น ‘ซากะ อาโออิ’ หรือ ‘Dream Attack’, ’Dream Crusher’ แรก ๆ จะเขียนเข้ม ๆ ขรึม ๆ แมน ๆ แต่ไป ๆ มา ๆ รู้สึกท่าทีไม่ใช่ มันต้องเป็นท่าทีแบบในหนังสือตอนนี้ คือผมรู้สึก ท่าทีสำคัญ ว่าจะทำให้คนอ่านรำคาญเราหรือเปล่า หรือคนอ่านจะคิดว่าวิชัยนี่อวดรู้ไหมนะ เรื่องพวกนี้ผมต้องคอยสำรวจตัวเอง
all : ฝากถึงนักเขียนรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จอย่าง ‘วิชัย’ อย่างไรบ้าง
วิชัย : ผมยังไม่ประสบความสำเร็จหรอกครับ พอเขียนมา 10 กว่าเล่ม ผมรู้สึกว่าการเขียนหนังสือ ตอนเริ่มเขียนง่ายนะ แต่พอจะเขียนให้จบน่ะ ไม่ใช่ความครีเอทีฟ ไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ มันคือเรื่องของวินัย ว่าเราจะเคร่งครัดกับตัวเองไหม ผมกล้าพูดเลยว่า 80 %ของคนที่อยากเขียนหนังสือ จะเขียนไม่จบเพราะไม่มีวินัย และไม่ได้รักสิ่งที่เราเขียนมากพอที่จะอดทนอยู่กับมัน เพราะหนังสือทุกเล่มที่ผมเขียน จะมีภาวะที่เราอยู่กับมันนานไป จนเบื่อ เล่มหลัง ๆ ผมจะพยายามเขียนจบให้เร็วที่สุด
เพราะรู้สึกว่าถ้าอยู่กับมันนานกว่านี้ จะไม่อยากเขียนต่อ จะมีภาวะที่อ่านต้นฉบับครั้งแรกแล้วรู้สึกสนุกมาก แต่พออีดิทรอบสามแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ คนอ่านเขาจะอยากอ่านงานแบบนี้หรอ นี่เราเขียนห่วยนะ เล่มนี้ไม่กล้าขาย คือเราอยู่กับมันนานจนไม่อยากเจอแล้ว ผมชอบบ่นกับ บก. อยู่ว่า เล่มนี้จบเถอะ เล่มนี้เราไม่อยากเขียนแล้วตอนนี้นะ แต่พอปริ๊นต์ออกมาเป็นเล่มอ่าน ‘เออ สนุกจัง’ (หัวเราะ) (all: แสดงว่ายังชอบงานเขียนของตัวเองอยู่) ยังชอบแหละ แต่ว่าจะมีบางชิ้นที่เราอยู่กับมันนานเกินไป เช่น ‘Dream Crusher’ นี่ เขียนนานมาก มหากาพย์เลย เพราะต้องสัมภาษณ์คน ระหว่างที่เราเขียนมาสิบตอนแล้วจากนั้นขึ้นตอนที่11
แต่เราต้องรอสัมภาษณ์คนที่11 ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ไอ้สิบตอนนี้ เราไม่รู้จะทำอะไรก็กลับมาอ่าน อ่านกันจนแบบรู้สึกว่าเราเขียนหนังสือไม่สนุกเลย เขียนไม่ดี เขียนแย่มาก เริ่มมีความหลอนตัวเอง มันจะมีอารมณ์อย่างนี้เข้ามาเสมอ ฉะนั้นอย่าง ‘Dream Crusher’ ผมจะรีบเขียน แล้วก็บอก บก. ว่า ขออีดิท 2 รอบพอ เพราะรู้สึกว่าถ้าอีดิทมากจะไม่กล้าออกงานชิ้นนี้เพราะกลัว ดังนั้นสู้ ๆ ครับ เพราะหนังสือ เริ่มต้นคือความครีเอทีฟ ความอยากเขียน แต่เขียนให้จบสักเล่ม ต้องใช้วินัย โดยที่เราต้องยังคงเลี้ยงไอ้สิ่งเหล่านี้อยู่นะครับ เห็นฮาเกรียน เซียนกวนขนาดนี้ งานเขียนของคุณ ‘วิชัย’ ไม่ได้มาเล่น ๆ นะครับ นักเขียนผู้นี้มากับ ‘วินัย’ และ ‘ความรักในงานของตน’ โดยแท้จริงเลยก็ว่าได้
วิชัย - วิชัย มาตกุล
ชื่อจริง : วิชัย มาตกุล
ภูมิลำเนา : อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ผลงาน : Don't Worry, Be Daddy , มิชชั่น กินพอสสิเบิล Japan Super Bowl , รุ้งตะแคงแวงตั้ง , สิ่งมีชีวิตในโรงแรม , มันมากับความเหมียว, ตะคริว ณ นิ่วใจ , บันทึกการเดินทางของนายวิชัย มาตกุล , ซากะ อาโออิ , กรุณาอย่ารบกวน Do Not Disturb , Dream Attack , Dream Crusher , ฯลฯ
โปรย จะเขียนให้จบ ไม่ใช่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ มันคือเรื่องของวินัย
ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com