ปองวุฒิ : โลกนักเขียนอันไร้ขีดจำกัด

ปองวุฒิ

ในช่วงบรรยากาศงานสัปดาห์หนังสือเชื่อว่านักอ่านรุ่นใหม่หลายคน อาจเฝ้ารอผลงานของนักเขียนหนุ่มอายุน้อยเจ้าของนามปากกา‘ปองวุฒิ’ หรือในนามจริงว่า ‘ปองวุฒิ รุจิระชาคร’ด้วยงานเขียนที่หลากหลายแนว ทำให้ผู้อ่านสามารถเลือกสรรตามรสนิยมของตัวเอง ‘นัดพบนักเขียน’ จึงไม่พลาดที่จะร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักเขียนผู้มีความสามารถอันไร้ขีดจำกัดคนนี้ ซึ่งเขายึดมั่นเสมอว่าจะสร้างสรรค์ผลงานอย่างเป็นระบบเพื่อความเป็นมาตรฐานแก่วงการวรรณกรรมไทย

All : เริ่มต้นเขียนหนังสือมาตั้งแต่เมื่อไหร่
ปองวุฒิ
: เริ่มต้นจากการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ๆ อ่านมาทุกแนว บางทีก็อ่านตามแม่ อ่านวรรณกรรมแปลคลาสสิคของต่างประเทศ และก็อ่านงานของไทย เช่นประภัสสร เสวิกุล, ชาติ กอบจิตติ, วินทร์ เลียววาริณ ฯลฯ พออายุ 15 ก็เขียนอย่างจริงจังเป็นไดอารี่ เขียนไปสักพักก็เริ่มชิน พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เขียนให้สำนักพิมพ์ ต้องบอกว่างานเขียนเป็นกิจกรรมที่อยู่กับผมมาอย่างต่อเนื่อง ช่วงเข้ามหาวิทยาลัยเป็นวัยมีความคิดชัดเจนว่า เรากำลังจะก้าวสู่โลกของความเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเรามีความฝันก็น่าจะลองทำดู ดีกว่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่เกิดประโยชน์ เลยลองเขียนเรื่องสั้นความยาวประมาณ 4 – 5 หน้า ส่งไปลงในนิตยสารขวัญเรือนได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ก็คิดแล้วว่า เราน่าจะเขียนได้ จึงแบ่งเวลามาเขียนทั้งเรื่องสั้น บทความ นวนิยายได้ตีพิมพ์บ้าง มีบางส่วนเขียนแล้วเก็บไว้ และก็ลงตะกร้า (หัวเราะ) จริง ๆ ก็ลงตะกร้าค่อนข้างเยอะนะ

All : อะไรคือสิ่งที่ทำให้ ‘ปองวุฒิ’ ลาออกจากงานธนาคาร แล้วตัดสินใจก้าวเดินบนเส้นทางนี้
ปองวุฒิ
: พอเรียนจบก็ทำงานธนาคารได้ 1 ปี 4 เดือน สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำก็เป็นเพราะเรามีทิศทางของเรา วัย 23 – 24 ปีก็เป็นวัยแห่งการค้นหาตัวตน อยากทำตามความฝัน ผมอยากเป็นนักเขียนอยู่แล้ว เริ่มขยับขยาย ส่งผลงานเข้าประกวดบ้าง ผลปรากฏว่า ได้เข้ารอบบ้าง และได้รางวัลบ้าง บวกกับหนังสือเรื่องแรกชื่อ ‘Pornovel’ ที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์อะบุ๊กกำลังจะออก ทำให้ผมเริ่มมองเห็นช่องทางมากขึ้น เมื่อลาออกจากงานธนาคารก็ย้ายมาเป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร a day อยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ทำให้เราได้เรียนรู้งานหลากหลายรูปแบบ เช่น การคัดเลือกคนมาสัมภาษณ์ก็จะมีเรื่องของการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้ฝึกฝนเขียน ได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน แต่ผมก็ตัดสินใจลาออกจากนิตยสาร a day เพราะถามใจตัวเองแล้วว่า ชอบการเป็นนักเขียนมากที่สุด อยากเขียนหนังสือมากกว่าทำงานนิตยสาร ซึ่งต้องทำตามรูปแบบของเขา ไม่มีความเป็นอิสระ หรือเป็นตัวของตัวเอง

All : ด้วยวัยเพียง 33 ปี แต่มีงานเขียนหลากแนวได้ถึง 40 เรื่อง อยากทราบว่า ฝึกฝนตนเองอย่างไรบ้างให้สามารถเขียนหนังสือได้มากขนาดนี้
ปองวุฒิ
: แม้ว่าผมจะเขียนได้หลายแนว ท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องอยากเขียนเรื่องที่เราชอบจริง ๆ กว่าจะเขียนหลายแนว ก็ต้องมาจากฐานการอ่านที่หลากหลาย อ่านเยอะ ศึกษาเยอะ ผมเป็นคนค่อนข้างใจกว้าง มีความสนใจรอบด้าน อ่านนิตยสารทุกเล่ม เพื่อเข้าใจกลุ่มผู้อ่านแต่ละกลุ่มโดยไม่ปิดกั้นตัวเอง เป็นธรรมชาติของผมที่ไม่ชอบติดอยู่ในกรอบเดิม ๆ ชอบค้นคว้า อยากรู้อยากทดลองอะไรใหม่ ๆ ผมมองว่า มนุษย์ปกติจะคุ้นชินกับอะไรเดิม ๆ เช่น เราอ่านแบบไหนก็จะติดสไตล์เดิม ๆ แต่บังเอิญว่าผมไม่ได้อยู่แค่นั้น อยากรู้ความแตกต่างว่าเป็นอย่างไร

All : ในความต่างของแนวการเขียน เคยทำให้ ‘ปองวุฒิ’ ตีบตันทางความคิดบ้างไหม
ปองวุฒิ
: ก่อนลงมือเขียนหนังสือในแต่ละแนว ผมจะให้เวลากับตัวเอง เพื่อคิดทบทวนว่าอยากจะเขียนเรื่องนี้ไหม ช่วงหลังมีสำนักพิมพ์มาชักชวนให้เขียนหนังสือค่อนข้างเยอะ เสนอให้ผมเขียนหลายแบบมาก แต่บางทีผมรู้สึกว่า เขียนไม่ได้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความสนใจ มุมมองของใครหลายคนอาจคิดว่า ผมน่าจะเขียนได้ทุกแนว แต่ก็ไม่เสมอไปหรอกครับ ผมก็รู้สึกว่า ถ้าไม่เชี่ยวชาญ ก็จะไม่เขียน เช่น เรื่องของภาคใต้ ผมไม่มีความรู้เพียงพอ มือไม่ถึง ผมก็ไม่เขียน หรือบางคนมาชวนผมไปเขียนนวนิยายแนวแฟนตาซีเกมออนไลน์ ผมไม่เขียน เพราะไม่เคยเล่นเกมออนไลน์ หรือแนวประวัติศาสตร์เก่า ผมก็ไม่เขียน เพราะไม่มีเวลาค้นคว้าอย่างจริงจัง ปล่อยให้คนอื่นเขาเขียนน่าจะดีกว่า เราต้องรับผิดชอบต่อวงการที่เราอยู่ และต้องรับผิดชอบต่อนักอ่านที่เขาอ่านงานเรา ถ้าเราไม่เชี่ยวชาญก็อย่าเขียน ปล่อยให้คนอื่นที่เขารู้จริงเขียนดีกว่า

All : ศึกษาข้อมูลจากไหนบ้าง ถึงเขียนเรื่องสืบสวนสอบสวน เรื่องผี และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย
ปองวุฒิ
: คงมาจากฐานตอนเด็ก ๆ ชอบอ่านหนังสือของอกาธา คริสตี้, ไอแซค อาซิมอฟ, โรอัลด์ ดาห์ล ฯลฯ และเรื่องราวเหล่านี้ชอบมีหักมุมอยู่แล้ว ผมว่าสิ่งสำคัญของการเขียนก็คือ การคิดอย่างเป็นระบบ เช่น การวางพล็อตเรื่องเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะต้องเขียนให้คนอ่านสนใจ ทึ่ง เหลือเชื่อ หรือหักมุมแล้วหักมุมอีก ต้องจบอย่างมีเหตุผลด้วย ไม่มั่ว เช่น ผมเขียนเรื่องรักก็เขียนออกแนวตลก ๆ แบบนางเอกเป็นนักการตลาด เพราะผมอ่านหนังสือการตลาดอยู่แล้ว ก็บวกสิ่งเหล่านี้เข้าไปในเนื้อหาให้ดูทันสมัย หรือผสมผสานเรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของที่ผู้คนให้ความสนใจ ตัวนางเอกของผมในนวนิยายรักก็ดูแก่น ๆ หน่อย ก็เป็นมุมมองของผู้ชายที่เล่าถึงผู้หญิง ส่วนการหาวัตถุดิบ ผมศึกษาจากการอ่าน การฟังเรื่องเล่าของเพื่อน จากคนรอบข้าง พยายามสังเกตโลกให้มากเพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลายรูปแบบ โลกนักเขียนอันไร้ขีดจำกัด ของ ‘ปองวุฒิ’

All : ใช้เวลาในการเขียนแต่ละเล่มนานไหม และมีวิธีการทำงานอย่างไร
ปองวุฒิ
: ปัจจุบันผมรู้ระบบอยู่และเชี่ยวชาญมากขึ้น ใช้เวลาเขียนประมาณ 1 – 2 เดือน ก็ส่งสำนักพิมพ์ได้ ทุกอย่างเกิดจากประสบการณ์ที่สะสมมานาน มีการวางแผนที่ดีตั้งแต่แรก เช่น วางพล็อตอย่างไร ขยายพล็อตขั้นแรก 5 บรรทัด จากนั้นเอามาแตกเป็นข้อ ๆ ดูโครงสร้างของเรื่องทั้งหมด บรรยายตัวละคร บางทีก็ต้องตีตารางเพื่อความชัดเจนในการเขียน หรือเขียนลงในสมุดก่อน คือพูดง่าย ๆ ว่า ก่อนที่ผมจะเขียนต้นฉบับ ไม่ใช่นั่งพิมพ์แล้วส่ง ต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน ผมเป็นคนเขียนหนังสือเร็วก็จริง แต่บางที 10 วันแรกในหนึ่งเดือน อาจยังไม่ได้เขียนเลยสักตัว ผมใช้เวลาศึกษาตัวละคร แล้ววางโครงสร้างเรื่องให้แน่น ตอนเปิดเรื่องกับตอนจบเข้ากันไหม แก่นเรื่องครบไหม มีขาดตรงจุดไหนบ้าง พยายามคิดภาพตั้งแต่ต้นจนจบสักหนึ่งรอบ แล้วค่อยลงมือเขียน ประโยชน์ก็คือ ไม่ติดขัด เพราะเราวางแผนดีมาตั้งแต่ต้น เราจะเข้าใจตัวละครแต่ละตัว เวลาเขียนสามารถตอบโต้กันได้ง่าย และช่วยแก้ปัญหาเรื่องจับทางไม่ถูก ผมยึดหลักการทำงานแบบนี้มาโดยตลอด

All : ทราบมาว่าเขียนหนังสือให้หลายสำนักพิมพ์ มีวิธีการนำเสนองานเขียนอย่างไรให้ได้รับการตีพิมพ์
ปองวุฒิ
: จริง ๆ ไม่มีอะไรมาก ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของเราเอง มีรูปแบบงานชัดเจน เขียนออกมาแล้วเสร็จทันเวลา ลองดูว่างานเขียนแนวไหนเหมาะสมกับสำนักพิมพ์ไหน ก็ส่งไปให้เขาพิจารณา ถ้าสำนักพิมพ์โอเค ก็ได้รับการตีพิมพ์ สำหรับผมชอบเขียนหลาย ๆ แนว เลยส่งได้หลายที่ โดยส่วนใหญ่ผมจะเขียนในแนวทางของตัวเอง แล้วค่อยนำเสนอแก่สำนักพิมพ์

All : มีคนให้นิยามว่าเป็น ‘จอมยุทธ์’ ที่รวมศาสตร์หลายสำนักมาไว้ด้วยกัน มีความคิดเห็นอย่างไรกับนิยามเหล่านี้
ปองวุฒิ
: ก็คงเป็นพื้นฐานของเราที่อ่านหลากหลาย และยอมรับทุกอย่างเท่าเทียมกันหรือชอบทุกอย่างพร้อม ๆ กัน โดยไม่มองว่าอะไรด้อยกว่า เช่น ชอบมูราคามิ (อะรุกิ มุระกะมิ) และชาติ กอบจิตติเท่ากัน ก็ถือเป็นความโชคดีที่เราชอบหลายอย่างพร้อมกัน โดยไม่ได้บังคับตัวเอง ตอนเริ่มเขียนแรก ๆ ก็ติดสไตล์การเขียนแบบตะวันตกบ้าง เพราะเราอ่านเยอะ หลัง ๆ ก็ศึกษามากขึ้นทั้งงานวรรณกรรมของไทย และต่างประเทศ ก็ดูลีลาแบบไทย ๆ ว่าเป็นอย่างไร ต่างประเทศเป็นอย่างไร ก็ทำให้ผมพัฒนาไปแต่ละขั้น และปรับปรุงในเล่มต่อ ๆ ไป หรือเรื่องสั้นภาคใต้ผมก็ชอบอ่าน แต่อ่านเพื่อศึกษาไม่ได้อ่านเพื่อเขียน โลกนักเขียนอันไร้ขีดจำกัด ของ ‘ปองวุฒิ’

All : ถือว่า ‘ปองวุฒิ’ อายุยังน้อย แต่มีผลงานเขียนค่อนข้างเยอะ อยากทราบว่าชั่วโมงบินของการเขียนหนังสือ ขึ้นอยู่กับช่วงอายุด้วยหรือเปล่าที่จะทำให้เรามองอะไรได้กว้างขึ้น
ปองวุฒิ
: ผมมองว่า ยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสารอยู่แล้ว ถ้าเราเป็นคนที่หมั่นศึกษาค้นคว้าก็สามารถไล่ตามกันได้ ซึ่งข้อมูลดี ๆ ในอินเตอร์เน็ต เช่น งานแปล บทความ บทวิเคราะห์ดี ๆ ถ้าเกิดว่าเราไม่เอาเวลาไปอ่านอะไรที่ดราม่า ไร้สาระเพียงอย่างเดียว ผมว่าพัฒนาได้ ผมก็เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ ๆ น่าจะวิ่งตามคนรุ่นเก่าได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องตั้งใจที่จะศึกษาอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็เอาเวลาไปเล่นมากเกินไป ซึ่งผมชอบอ่านข้อมูล ชอบศึกษา ยุคนี้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่าสมัยก่อนเยอะ

All : การวิจารณ์ทางวรรณกรรมของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร และมีส่วนช่วยส่งเสริมงานวรรณกรรมมากแค่ไหม
ปองวุฒิ
: มีส่วนช่วยส่งเสริมอย่างมาก ผมอยากให้วิจารณ์กันเยอะ ๆ สำหรับผมไม่ได้สนใจหรอกว่าจะวิจารณ์ดี หรือไม่ดี การที่เราพูดถึงงานเขียน แล้วทำให้มีคนหันมาสนใจอ่าน หรือช่วยให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย เช่น เราไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ พอนักวิจารณ์พูดถึงประเด็นต่าง ๆ ในหนังสือ เราก็อยากจะหยิบขึ้นมาอ่าน ก็เป็นการช่วยส่งเสริมอีกหนึ่งช่องทาง ไม่ใช่แค่วงการหนังสือ วงการภาพยนตร์ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีนักวิจารณ์พูดถึงภาพยนตร์ออสการ์ ถามว่าคนไทยจะดูหนังเรื่องนี้ไหม วงการหนังสือบ้านเรายังวิจารณ์กันน้อยมาก ก็มีแต่นักวิจารณ์คนเดิม ๆ ต้องยอมรับกันตรง ๆ ว่า สังคมไทยยังไม่ยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์สักเท่าไหร่ มีความเกรงใจกัน ไม่เหมือนต่างประเทศ การวิจารณ์ในบ้านเราจึงไม่ค่อยเข้มข้น ผู้คนก็เอาเวลาไปอ่านในโซเชียลเน็ตเวิร์คกันหมด

All : อยู่วงการวรรณกรรมมากกว่า 10 ปีแล้ว ตั้งใจจะพัฒนางานให้ได้มาตรฐานอย่างไร
ปองวุฒิ
: ผมพยายามสังเกต งานของตัวเองว่ายังขาดอะไรอยู่ พยายามหาสิ่งแปลกใหม่มาเล่า เป็นไปได้ก็ไม่อยากทำอะไร เดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา ต่อให้เขียนรูปแบบเดิม เช่น เรื่องสั้นสะท้อนสังคม นวนิยายสืบสวนสอบสวน ก็ขอให้มีการเปลี่ยนแปลง เช่น รูปแบบการเล่า หรือสำนวนภาษา ผมคิดว่างานศิลปะที่ดีต้องสามารถผสมผสานความเป็นตัวตนของคนเขียน โดยที่ผู้อ่านมีความคุ้นชินกันอยู่ บวกกับความคิดสร้างสรรค์ที่มีการผจญภัยในรูปแบบใหม่ ๆ เข้าไปด้วย มีการขยับขยายเปลี่ยนไปเพื่อท้าทายความสามารถ พูดง่าย ๆ คือการผสมผสานระหว่างความคุ้นเคยกับความแปลกใหม่ให้ลงตัว ในยุคนี้นอกจากจะพัฒนาภายในตัวเราแล้ว ต้องดูโลกภายนอกว่าเขาไปถึงไหนกันบ้าง เช่น ดูตลาดของนักอ่านเขาสนใจอะไร เทรนในแต่ละปีเป็นอย่างไร ก็สามารถเอามาปรับให้เข้ากับงานของเราเพื่อให้ได้มาตรฐานทัดเทียมนานชาติได้ จากการพูดคุยในวันนี้ คงเห็นแล้วว่า ‘ปองวุฒิ’ น่าจะเป็นนักเขียนคลื่นลูกใหม่ที่กำลังขับเคลื่อนวงการวรรณกรรมด้วยความรัก ซื่อสัตย์ และมุ่งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างไร้ขีดจำกัดทางความคิดต่อไปอีกนานเท่านาน

 

ปองวุฒิ

 

ชื่อ : ปองวุฒิ รุจิระชาคร
เกิด : วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2525
การศึกษา : ปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ภาควิชาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับสอง
ผลงาน : Pornovel, เงามรณะ (Dead Shadow), สัญญารักแห่งปีศาจตนสุดท้าย, Shadow of Angel เงาเทวทูต Hermes เฮอร์มีส นักสืบแห่งแดนเวทมนตร์ ฯลฯ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ