บทลงโทษและความเมตตาจากธรรมชาติ : บทวิจารณ์โดย กรรัตน์ สระทองฮัก

บทลงโทษและความเมตตาจากธรรมชาติ

บทลงโทษและความเมตตาจากธรรมชาติ
จากเรื่องสั้น ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม

 

          ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม นับว่าเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นเรื่องราวในแง่มุมระหว่างมนุษยธรรมกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นควรที่จะเลือกยึดถือสิ่งใดเป็นสำคัญ มนุษย์จะสามารถเอาชนะกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเลือกที่จะดำรงความมีมนุษยธรรมในใจเอาไว้ได้หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนก็ได้แสดงให้ผู้อ่านได้เข้าใจอย่างชัดเจนจากการดำเนินเรื่องผ่านตัวละครเพียงไม่กี่ตัวและฉากที่ไม่มากมายนัก แต่นอกจากเรื่องของมนุษยธรรมแล้ว ผู้วิจารณ์ค้นพบว่าภายในเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้สอดแทรกบางสิ่งบางเอาไว้ถึงแม้มันจะไม่ค่อยเด่นชัดมากนัก แต่มันก็ได้ถูกกล่าวถึงไว้ในเรื่องให้ผู้อ่านได้พอได้สังเกตเห็นได้บ้าง บางสิ่งที่มันอาจถูกมองข้ามมันไป บางสิ่งที่กำลังพยายามส่งเสียงเตือนผู้อ่านทุกคน นั่นคือเสียงจากธรรมชาติ
 

          หากกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์นั้นมีมาอย่างช้านานก็คงไม่ผิดนัก ไม่ว่าเทคโนโลยีหรือยุคสมัยจะเจริญก้าวหน้าไปมากเพียงใด มนุษย์ก็ยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาธรรมชาติ แต่ในบางครั้งมนุษย์กลับเลือกที่จะทำร้ายและทำลายธรรมชาติอันมีค่าเหล่านี้ อย่างการทำเหมืองแร่ซึ่งหนึ่งในฉากของเรื่องนี้ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย เช่น การเปิดหน้าดินก่อให้เกิดการชะล้างและพังทลายทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากน้ำขุ่นข้นจากการฉีดน้ำแยกแร่ออกจากดินหรือโคลน หรือการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ป่าจะถูกถากถางเพื่อการสำรวจ เมื่อพบแร่แล้วป่าจะถูกทำลายอย่างถาวร ซึ่งในสั้นเรื่องนี้ก็ได้มีการกล่าวถึงภัยที่เกิดจากธรรมชาติกลาย ๆ ไว้ว่า ธรรมชาติที่โดนทำลายไปกำลังส่งเสียงเตือนผู้อ่านผ่านตัวอักษรเหล่านี้อยู่

 

บทลงโทษและความเมตตาจากธรรมชาติ 

          เรื่องในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม ได้มีการกล่าวถึงภัยจากธรรมชาติบ้างพอสมควรถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เหตุร้ายแรงนักแต่ก็สามารถสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนได้ ไม่ว่าจะเป็นพายุฝนฟ้าคะนองที่ตกลงมามากมายอย่างไม่ขาดสายจนเป็นเหตุให้ถนนขาดสร้างความเดือนร้อนให้กับผู้สัญจร และหากฝนตกหนักมากเกินก็อาจจะทำให้เกิดน้ำป่าที่หลากลงมาจนสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านและชาวเหมืองได้ และจากการเล่าเรื่องของผู้เขียนดูเหมือนว่าเรื่องเดือดร้อนต่าง ๆ ที่เกิดจากภัยธรรมชาตินี้จะเกิดขึ้นบ่อยเป็นประจำจนกลายเป็นความเคยชินไปเสียแล้ว ดังตัวบทเช่น
 

          “…แต่มันมีวันอาทิตย์ชนิดพิเศษ เพราะเหตุว่าฝนฟ้าพายุไม่เคยเชื่อปฏิทิน มันไม่ใช่คนกินเงินเดือนเหมืองแร่มันแกล้งทำงานของมันในวันอาทิตย์ให้เราลำบากกันเล่น ในกรณีนี้ถ้าข้าพเจ้าไปถึงบริเวณงานเสียแล้วก็จะต้องเปียกโซกร่วมกับคนงานกองซ่อมถนนที่กำลังต่อสู้กับสายน้ำที่พุ่งแรงราวหอกดาบจากร่องภูเขาลงมาแทงถนนดินของเราให้ขาดลง…”
 

          จากตัวบทข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้เล่าเรื่องกำลังตัดพ้อต่อพายุฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในวันหยุด ซึ่งเป็นวันที่ผู้คนควรจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่หลังจากที่ทำงานหนักมาหลายวัน แต่ดูเหมือนว่าฟ้าฝนกำลังกลั่นแกล้งผู้คนในเหมืองไม่อยากให้พวกเขาได้พัก ต้องออกมาคอยซ่อมถนนและต่อสู้กับสายน้ำหลั่งไหลลงมาจากภูเขา ซึ่งดูเหมือนว่าเหตุการณ์เหล่านี้ได้เกิดขึ้นประจำทุกครั้งเมื่อยามฝนตก จึงทำให้ผู้เล่าเรื่องไม่อยากที่ออกไปทำงานนัก เพราะไม่อยากที่จะต้องไปช่วยคนงานเหมืองคนอื่นซ่อมถนน

 

          นอกจากถนนที่มักจะถูกทำลายเป็นประจำเมื่อยามฝนตกแล้วในเรื่องยังแสดงให้เห็นถึงภัยจากธรรมชาติที่เกิดจากการที่ฝนตกหนักนั่นก็คือ ภัยจากน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งภัยพิบัตินี้ถือได้ว่ามีความร้ายแรงมากพอสมควรหากไม่ทำการป้องกันให้ดีก็อาจจะสร้างความเสียหายที่ทั้งทางทรัพย์สินหรือหากร้ายแรงกว่านั้นก็อาจจะเกิดการสูญเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้คนจึงร่วมมือร่วมใจช่วยกันหาทางป้องกันภัยจากน้ำป่า ดังจะเห็นได้จากตัวบทที่ว่า
 

          “...และหากว่าวันอาทิตย์ไหนฝนมันเกิดขยันขึ้นมาเป็นพิเศษมันก็จะเนรมิตให้ลำธารอันเคยเกียจคร้านอ่อนแอกลายเป็นท่อยักษ์มหึมาพ่นน้ำป่ามาอย่างบ้าคลั่ง มันจะทำลายทำนบขังน้ำที่ท้ายเรือขุดอันจะทำให้เรือต้องเกยตื้นเมื่อฝนหาย วันนั้นแหละสำคัญนัก นายฝรั่งจะต้องเผ่นลงมาจากบังกะโลในชุดเสื้อนอนห่มด้วยเสื้อฝนมาบงการให้ทุกคนสุมหัวกันตัดต้นไม้ ปักหลักขนทรายทุ่มเทลงไปรักษาทำนบไว้ให้ได้ทุกคนช่วยกันเหมือนกำลังรบทัพจับศึก แม้ชาวบ้านก็ตื่นเต้นแผ่นออกจากชายคามาดูและช่วยโดยไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง”
 

          จากตัวบทข้างต้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นคนงานเหมือง ชาวบ้าน หรือแม้กระทั่งนายฝรั่งเองก็ต่างหวาดกลัวกับภัยจากน้ำป่าไหลหลาก ที่ไหลลงมากลั่นแกล้งและตักเตือนมนุษย์เหล่านี้ให้ต้องร้อนรนร้อนอกร้อนใจ และเร่งร่วมด้วยช่วยกันหาทางป้องกันมันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากนัก แม้แต่ชาวบ้านที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเหมืองและไม่รับค่าแรงใด ๆ ก็ต้องออกมาช่วยกันเพื่อไม่ให้ความเดือดร้อนนั้นส่งผลกระทบมายังตนเอง
 

          นอกจากแสดงให้เห็นถึงภัยธรรมชาติเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สร้างความเดือดร้อน ให้กับผู้คนในเรื่องแล้วนั้น ผู้เขียนก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของธรรมชาติแค่เพียงด้านเดียว แต่ก็ยังแสดงให้เห็นในด้านดี ๆ ที่เกิดจากภัยธรรมชาติไว้ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน อย่างตอนที่สองสามีภรรยาผู้ทุกข์ยากมาหางานทำในเหมือง หากวันนั้นฝนไม่ตกนายงานก็คงไม่ต้องการแรงงานเพิ่มเพื่อซ่อมถนนและพวกเขาก็จะไม่ได้งานทำนี่อาจจะเป็นข้อดีเพียงข้อเดียวจากภัยธรรมชาติในเรื่องนี้ก็เป็นได้ ดังตัวบทเช่น
 

          “ข้าพเจ้าภาวนาอย่างเสียสติให้ฝนเทลงมาให้ป่นปี้ ให้ถนนพัง ให้ทำนบพังในบัดนี้ เพื่อให้ชายผู้นี้ได้งานทำและมีที่นอนให้เมียผู้มีท้องของเขาในคืนนี้…เทวดาจะบันดาลกิจกรรมลัดคิวให้สองหรือสามชีวิตนี้ได้ไหมเล่า? เทวดาช่วยข้าพเจ้าแฮะ...มิได้ เทวดาช่วยพวกเขาต่างหาก เพราะฝนซึ่งตกมาตามธรรมดานั้นได้เกิดเป็นพายุขึ้นมาจนฟ้ามืด และลมแรงพัดบ้านสวนเข้ามาเป็นลูกๆจนเราต้องหลบมานั่งกันในร้านเสียงน้ำจากเนินเขาหลังร้านเทพารักษ์ลงสู่ถนนดาวกับสายน้ำตกปาฏิหาริย์...”
 

          จะเห็นได้ว่าความเห็นอกเห็นใจที่ผู้เล่าเรื่องมีต่อสองสามีภรรยานั้นมีมากมายนัก ถึงกับภาวนาให้สายฝนที่เข้าไม่ชอบนั้นตกลงมาให้หนัก เพื่อให้สองสามีภรรยานี้ได้มีงานทำและได้มีที่พัก และแล้วฝนก็ตกลงมากมายจริง ๆ ราวกับปาฏิหาริย์ ซึ่งจากตัวบทนี้ถึงแม้ว่าภัยธรรมจะสร้างความเลวร้ายให้กับทุกคน แต่กับบางคนอย่างสองสามีภรรยาคู่นี้นั้นภัยธรรมกลับเหมือนกำลังเมตตาและเห็นถึงความทุกข์ยากของพวกและอีกหนึ่งชีวิตในท้องที่กำลังจะเกิดมา

 

          เรื่องสั้นในเหมืองแร่มีมนุษยธรรมเรื่องนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความมีมนุษยธรรมของมนุษย์นั้น สิ่งหนึ่งที่สอดแทรกให้ผู้อ่านได้เห็นและได้ตระหนักนั่นคือภัยจากธรรมชาติที่กำลังกล่ำกลายมาหาพวกเราชาวมนุษย์อย่างช้า ๆ และกำลังย้ำเตือนว่าหากมนุษย์ทุกคนยังไม่ร่วมกันหยุดทำลายธรรมชาติ ภัยเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้มันอาจจะไม่เล็กน้อยอีกต่อไป ถึงแม้ว่าธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่มีค่าและงดงามแต่ถ้าหากมนุษย์ไม่รู้จักอนุรักษ์และธรรมชาติถูกกระทำมากจนเกินไปความงดงามที่ธรรมชาติมีให้จะย้อนกลับมาทำลายทุกคนในซักวัน

 


บทลงโทษและความเมตตาจากธรรมชาติ
บทวิจารณ์โดย กรรัตน์ สระทองฮัก

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ