การสอนให้เด็กประหยัด อดออม พอเพียง ใช้ของอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น พ่อแม่สามารถฝึกได้ตั้งแต่เด็ก เพราะในปัจจุบันนี้การเลี้ยงลูกนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เมื่อเด็กโตขึ้นอาจมีค่านิยมต่างๆ ทำให้ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟื่อย อาจสร้างผลกระทบให้กับลูกรักในอนาคตได้มากอย่างแน่นอน
“ความพอเพียง” หมายถึง ความพอประมาณที่ไม่มากจนเกินไปและไม่น้อยจนเกินไป โดยที่ระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อตนเองผู้อื่นและสังคม ดังนั้น คุณลักษณะของผู้ที่มีความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างรอบคอบ มีความระมัดระวัง มีความประมาณตน ไม่เป็นคนโลภมักได้ เป็นคนที่เห็นคุณค่าของสิ่งของและทรัพยากรต่าง ๆ จึงทำให้สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสงบสุขโดยที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งการกระตุ้นให้คนเรามีจิตสำนึกของความพอเพียงนั้นต้องเริ่มสอนกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก โดยเริ่มปลูกฝังในเรื่องของความพอเพียงขั้นพื้นฐาน 3 เรื่องใหญ่ ๆ ดังนี้
1. พอเพียงในเรืองของการกิน คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเห็นคุณค่าของอาหาร โดยคุณพ่อคุณแม่คุยให้ลูกฟังว่ากว่าจะมาเป็นอาหารแต่ละจานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เช่น ข้าวแต่ละเม็ดนั้นมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของชาวนา และหลังจากนั้น ก็ต้องมีการผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอนกว่าจะออกมาเป็นข้าวที่อยู่ในจานตรงหน้าให้เรากินตอนนี้ ดังนั้น ลูกจึงต้องรู้จักตักข้าวและอาหารต่าง ๆ อย่างพอดีกับความต้องการของตนเองและไม่ติดนิสัยเป็นคนชอบกินทิ้งกินขว้าง
2. พอเพียงในเรื่องของการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้รู้จักอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรส่วนรวมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เช่น ถ้าต้องเดินทางในระยะใกล้ ๆ แทนที่จะนั่งรถยนต์ที่ต้องใช้น้ำมันก็อาจจะชวนลูกขี่จักรยานหรือเดินไปแทน นอกจากนี้ ควรฝึกให้ลูกติดนิสัยไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลองและพื้นถนน ไม่ขีดเขียนและทำลายทรัพย์สินของตนเองและของสาธารณะ อีกทั้งเข้มงวดให้ลูกปิดก๊อกน้ำและปิดไฟที่ไม่จำเป็นทุกครั้งเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานธรรมชาติ
3. พอเพียงในเรื่องของการใช้สิ่งของ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้รู้จักเก็บรักษาสิ่งของเครื่องใช้ของตนเองเป็นอย่างดี อีกทั้งรู้จักใช้อย่างคุ้มค่า เหมาะสม และประหยัด ตัวอย่างที่สูงค่าในการแสดงให้เห็นถึงการใช้สิ่งของด้วยความประหยัดอย่างคุ้มค่าที่เราควรจะนำมาเป็นแบบอย่างสอนแก่เด็ก ๆ ก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จากเรื่องและภาพเกี่ยวกับหลอดสีพระทนต์ของพระองค์ท่านที่ได้รับการตีพิมพ์กันอย่างแพร่หลาย ว่า พระองค์ท่านทรงใช้หลอดสีพระทนต์จนเกลี้ยงหลอดให้เห็นว่าหลอดเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ นอกจากนี้ มีบันทึกว่า ในแต่ละปีนั้นพระองค์ท่านทรงเบิกใช้ดินสอเพียง 12 แท่งต่อปีเท่านั้น โดยจะทรงใช้ดินสอเดือนละ 1 แท่ง และใช้จนดินสอแท่งนั้นจนกุดใช้เขียนอีกไม่ได้แล้ว ซึ่งพระจริยวัตรของพระองค์ท่านนั้นทรงเป็นแบบอย่างที่ดีที่เราสมควรนำมาเป็นแนวทางในการสอนลูกให้ประหยัดและรู้จักความพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของพระองค์
แต่ถึงอย่างไร ตัวอย่างที่ดีที่สุดที่จะอธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้ในชีวิตก็คือ “พ่อแม่” หากพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องการให้เด็กเติบโตมาเป็นอย่างไร ก็ต้องทำตนเป็นตัวย่างให้เด็กๆ ด้วย เพราะพ่อแม่จัดเป็นผู้ใกล้ชิดกับเด็กๆ มากกว่าบุคคลอื่นๆ หรือมีการยกตัวอย่าง เปรียบเทียบให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องราวและเห็นภาพต่างๆ ที่กำลังเรียนรู้อย่างชัดเจน ผ่านการเชื่อมโยงข้อเท็จจริงกับตัวอย่างที่ผู้ใหญ่ยกมาเปรียบเทียบให้ดูให้ฟัง
ช่างตัดเสื้อหัวใส นิทานสองภาษา เรื่องราวของ รูปา ราม ชายผู้เป็นช่างตัดเสื้อ เขาตัดเสื้อให้ผู้คนมากมาย แต่ไม่เคยมีเงินพอเหลือที่จะซื้อผ้า เพื่อตัดให้คนในครอบครัว และวันหนึ่งเขามีโอกาสได้ไปร่วมงานแต่งงาน ได้ของชำร่วมเป็นผ้าผืนหนึ่งเขาจึงนำมาตัดเป็นผ้าโพกหัวให้ตัวเอง ทำเป็นผ้าพันคอให้ถรรยา ตัดชุดตุ๊กตาให้ลูกสาว และตัดเสื้อให้ลูกชาย จากเรื่องราวเห็นได้ว่าเขาใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่จนคุ้มค่าที่สุด
สั่งซื้อหนังสือได้ที่ : http://bookonline.praphansarn.com/home/detail/457
อ้างอิง : mgronline.com