เมื่อเอ่ยถึงคำนี้ขึ้นมา ทุกคนคงจะเริ่มจินตนาการแล้วว่าหนังสือแห่งอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นแบบไหน ทำไมจึงน่าสนใจ บางคนอาจจะคิดไปไกลถึง E-Book ในอนาคตที่จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมาทดแทนการมีอยู่ของหนังสือ แต่ยังก่อน หนังสือก็ยังคงเป็นหนังสือไปอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป และในช่วง 10 ปีนี้เองหนังสือนอกจากจะแข่งขันกันเอง ยังต้องแข่งขันกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ Digital Book หรือ E-Book ด้วย
ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าใครในวงการหนังสือได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ สำนักพิมพ์อาจมีทางเลือกมากขึ้นในการเผยแพร่ข่าวสาร โรงพิมพ์อาจมียอดการสั่งพิมพ์ที่ลดลง ผู้ค้าขายกระดาษอาจต้องเสนอทางเลือกใหม่ๆมากขึ้น แต่ที่แน่ๆ ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆจากความสะดวกสบายที่จะเกิดขึ้น
แน่นอนผู้บริโภคยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ยังชอบความคลาสสิกของการที่หนังสือเป็นหนังสืออยู่ พูดง่ายๆ คือ ยังรู้สึกดีเวลาที่จัดกระดาษ เปิดอ่านไปทีละหน้า รู้สึกดีที่ได้ถือหนังสือที่มีชื่อเสียงหรือมีปกและรูปเล่มงดงามและแปลกใหม่ ราวกับว่าหนังสือจะคงอยู่คู่วงการสื่อสิ่งพิมพ์ตลอดไป แต่การที่มีสื่อดิจิตอล เช่น E-Book Amazon-Kindle Tablet PC และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง I-padทำให้ผู้บริโภคเริ่มจะติดใจการเสพสื่อและเนื้อหาผ่านสื่อเหล่านี้ ด้วยความสะดวกในการพกพา ความรวดเร็วในการหาข้อมูลและเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลอื่นๆ ตลอดจนกราฟิกและลูกเล่นที่นับวันจะยิ่งเหนือจินตนาการ ผู้บริโภคยุคนี้ เลยมีแนวโน้มที่จะลดการบริโภคสื่อผ่านหนังสือเหมือนก่อน เหมือนจะเป็นข่าวร้ายกับคนในวงการกระดาษและสิ่งพิมพ์ แต่แน่นอนในทุกวิกฤตมีโอกาสแฝงอยู่ สื่อดิจิตอลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หนังสือก็มีการปรับตัวตามเช่นกัน แน่นอนหนังสือไม่มีชิพ Microprocessor หน้าจอ LCD Touchscreen หรือ Operation System ให้พัฒนา หนังสือมีแค่กระดาษ กระดาษ และกระดาษเท่านั้น ทั้งในส่วนของ ปก เนื้อใน และรูปเล่ม กระดาษเป็นอาวุธอย่างเดียวที่หนังสือมี
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วกระดาษจะไปสู้กับส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ชั้นยอดได้อย่างไร? กระดาษมันก็แค่กระดาษ? ถ้าคำถามเหล่านี้ลอยเข้ามาในสมองก็ไม่แปลก เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะพวกเราที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ค่อยได้สัมผัสกับกระดาษที่มันเป็นยิ่งกว่ากระดาษจริงๆ ก่อนที่จะว่าถึงตรงนั้น เรามาพูดถึงหนังสือโดยรวมก่อน คนส่วนใหญ่อาจเริ่มใช้สื่อดิจิตอลแต่ก็ยังเลือกใช้กับเนื้อหาบางอย่างที่เหมาะสมเท่านั้น โดยเฉพาะข่าวสารต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้ไปเร็วมาเร็วเหลือเกิน นอกจากนั้นก็จะเป็นพวกเนื้อหาที่เฉพาะทางมากๆ เช่น ตำราเรียนกฎหมาย แพทยศาสตร์ หรือ ประวัติศาสตร์ ที่ต้องมีการอ้างอิงไปแหล่งอื่น หรือต้องจัดการกับข้อมูลเชิงเทคนิคจำนวนมหาศาล
แต่คนส่วนใหญ่ยังเลือกอ่าน นวนิยาย หนังสือท่องเที่ยว นิตยสารต่างๆ ในรูปแบบของกระดาษ ตรงนี้สำคัญมากๆ เพราะเนื้อหาประเภทหลังมันไม่ใช่เรื่องของการงานหน้าที่ แต่มันคือ งานอดิเรก หรือ การผ่อนคลาย มันเป็นเรื่องความพอใจทางอารมณ์ของผู้บริโภค (Emotional Benefit) ไม่ใช่ ประโยชน์ในการใช้สอย (Functional Benefit) ลองจินตนาการง่ายๆ ระหว่างคุณไปนั่งร้านกาแฟที่มี Interior งดงาม ดื่มชากลิ่นราสเบอร์รี่เคล้าเพลงสไตล์ Bossanova แต่ต้องถือ Tablet PC ที่แข็งทื่อ เพื่ออ่านนิยายโปรด หรือนิตยสารประจำของคุณในท่าเดิมไปจนจบ กับคุณได้จับเนื้อกระดาษในหนังสือแล้วเปิดอ่านทีละหน้า คั่นหนังสือไว้เมื่อคุณจินตนาการถึงภาพจากเรื่องราวในนิยาย หรือพลิกกลับมาดูกราฟิกบนปกหนังสือสลับกันไป คุณคิดว่าแบบไหนมันให้ความรู้สึกผ่อนคลายทางอารมณ์มากกว่ากัน ซึ่งจริงๆแล้วการอ่านหนังสือในลักษณะงานอดิเรก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ความสุนทรีย์จะอยู่ระหว่างกระบวนการอ่าน มีจังหวะให้หยุดคิด ให้หยุดจินตนาการ ไม่ใช่อ่านเนื้อหารวดเดียวตั้งแต่ต้นจนจบแบบพวกข่าวหนังสือพิมพ์หรือตำราเรียน
มาถึงตรงนี้แล้วท่านที่อยู่ในวงการกระดาษและสิ่งพิมพ์อาจเริ่มโล่งอกไปอีก แต่ช้าก่อน ไม่ใช่ว่าคนพัฒนาสื่อดิจิตอลจะไม่เข้าใจในจุดนี้ โปรแกรมสมัยใหม่ถูกพัฒนาให้เพิ่มเรื่องของสุนทรียศาสตร์เข้าไปมากขึ้นทุกๆวัน ดังนั้นกระดาษต้องเป็นยิ่งกว่ากระดาษจึงจะสู้กับสื่อดิจิตอลได้สูสี กระดาษที่ว่านี้จริงๆในยุโรปและอเมริกามีการใช้กันอย่างแพร่หลาย หากท่านลองไปหยิบหนังสือนิยายที่นำเข้าและพิมพ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรปและอเมริกา ท่านจะสังเกตได้ชัดเจนว่ารูปเล่มก็หนาแต่ทำไมน้ำหนักเบา และเมื่อท่านเปิดอ่านจะสังเกตว่าสีของกระดาษมีความนุ่มนวลน่าอ่าน จริงๆการวัดความน่าอ่านมันไม่ได้ออกมาเป็นตัวเลข มันเกิดจากการที่ประสาทสัมผัสของท่านไปบอกสมองให้เปรียบเทียบกับสิ่งเดิมก็คือ หนังสือส่วนใหญ่ที่วางขายทั่วไปในเมืองไทย ที่แม้รูปเล่มไม่หนามากแต่หนักพอดูเลย หรือกระดาษที่มีความทะลุแสงสูงกว่าทำให้เวลาอ่าน ท่านเห็นเงาของตัวอักษรจากอีกหน้าทะลุมา พอมาเทียบกับหนังสือที่ใช้กระดาษชนิดพิเศษนี้เลยเกิดความรู้สึกแตกต่าง
กระดาษพิเศษที่ว่านี้มีชื่อเรียกง่ายๆและตรงตัวว่า Book Paper หรือ กระดาษเพื่อพิมพ์หนังสือ นั่นเอง จุดเด่นที่สุดคือกระดาษจะมีน้ำหนักที่เบากว่ากระดาษปกติเมื่อเทียบกับความหนาที่เท่ากัน รวมถึงได้มีการพัฒนาให้มีการทะลุของตัวอักษรระหว่างหน้าหนังสือที่ลดลง คุณสมบัติง่ายๆนี้สามารถสร้างความแตกต่างได้มหาศาล สามารถสร้างและพัฒนาหนังสือธรรมดาให้เป็นหนังสือแห่งอนาคตที่จะไปแข่งกับสื่อดิจิตอลได้พอฟัดพอเหวี่ยง ลองคิดตามจากตัวอย่างง่ายๆ เหล่านี้
• นักเรียนวัยกำลังโตแต่กลับต้องแบกแบบเรียนหนักๆไปโรงเรียนทุกวัน นอกจากจะไม่ดีต่อร่างกายแล้ว นักเรียนหลายคนเลือกทิ้งหนังสือบางเล่มไว้ที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือตู้เก็บของ แทนที่จะได้หยิบขึ้นมาอ่านศึกษาในเวลาว่างหรือช่วงรอรถกลับบ้าน
• ดีไซน์เนอร์สาวสวย ผู้ชื่นชอบการอ่านนิยาย กำลังจะเดินทางไปออกงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศพร้อมสินค้าตัวอย่าง ต้องสละนิยายหลายเล่มที่อยากเอาไปอ่านผ่อนคลายยามว่าง เนื่องจากพบว่ากระเป๋าน้ำหนักเกินเสียแล้ว
• ว่าที่คุณแม่มือใหม่กำลังท้องแก่ ต้องถือหนังสือคู่มือเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กและการเลี้ยงลูก แต่หนามากกว่า 600 หน้า A4 ลำพังขยับตัวก็ลำบากแล้ว ยังต้องมาประคองหนังสือที่หนักพอๆกับที่ยกน้ำหนัก
• หนุ่มนักเรียนนอกนักท่องเที่ยวผจญภัย สะพายเป้พร้อมกล้องและเลนส์คู่ใจ แถมต้องพกหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวพร้อมแผนที่ ไปเดินป่าฝ่าน้ำตก และแบกกลับมาเดินช็อปปิ้งยามเย็นด้วยอีก
• คุณปู่วัยจวน 80 ชอบไปนั่งเล่นที่สวนพร้อมหนังสือธรรมะหลายเล่ม แต่ก็พบความยากลำบากในการถือหนังสือหนักๆ
คนเหล่านี้ยังอาจชอบสุนทรียศาสตร์ที่ได้จากการอ่านหนังสือที่เป็นหนังสืออยู่ แต่ถ้าพวกเขาคำนึงถึงความสะดวกในการพกพาก็อาจจะเริ่มสร้างทางเลือกหันไปใช้สื่อดิจิตอลแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในยุคปัจจุบันที่ Mobility สูง มีการเดินทางและย้ายสถานที่ในการใช้ชีวิตบ่อยครั้ง (เช่น แทนที่จะอ่านหนังสือที่บ้านก็ต้องไปหาร้านกาแฟ แทนที่จะวิ่งในสวนใกล้บ้านก็ไปสมัครสมาชิกฟิตเนสในห้างใหญ่ๆ) หนังสือแห่งอนาคต จะต้องให้ความสะดวกสบายในการพกพา ซึ่งเป็น Functional Benefit ได้ระดับหนึ่ง นอกเหนือจากให้แค่ความรู้สึกดี หรือแค่ Emotional Benefit เท่านั้น
ขอบคุณที่มา : http://www.beyondpaper.biz