การประชุมสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติปี 2557 (IPA Congress 2014) ที่ถูกเลื่อนไปในเดือนมีนาคม 2558 ก็ยังมีความน่าสนใจอยู่เฉกเช่นเดิม เพียงแต่เลื่อนเวลาไปเท่านั้น คนไทยที่ถูกวางให้เป็นสปีเกอร์หรือผู้บรรยายองค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงและผันแปรไปตามกลไกของตลาดหนังสือโลก ซึ่งสามารถทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนของการถกเถียงโต้แย้งในระดับที่สูงถึงขั้นสามารถเปลี่ยนกฎ กติกาที่เคยวางมาในอดีตไปอย่างไม่คาดคิดมาก่อน
นักวิชาการทางด้านสถิติที่เป็นพ่อค้าหนังสือตำราเรียนมือสองในตลาดออนไลน์ด้วยอีกทางหนึ่ง ดร.สุภาพ เกิดแสง ชื่อเสียงเรียงนามของเขากลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ ในวงการทรัพย์สินทางปัญญาและแวดวงอีคอมเมิร์ซ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก เพราะในวันที่ 19 มีนาคม 2556 ศาลสูงสุดของสหรัฐมีคำตัดสินให้ ดร.สุภาพเป็นฝ่ายชนะคดีที่ถูกบริษัทจอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซันส์ (John Wiley & Sons) สำนักพิมพ์ชื่อดังฟ้องร้องฐานะละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีนำตำราเรียนของสำนักพิมพ์ที่ขายสิทธิ์พิมพ์และจำหน่ายเฉพาะในทวีปเอเชีย กลับเข้ามาขายในสหรัฐผ่านทางเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ ’อีเบย์’ (eBay) ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายในสหรัฐ เป็นเหตุให้ทางสำนักพิมพ์ได้รับความเสียหาย
แม้เหตุการณ์จะผ่านไปถึง 1 ปีกว่า การถอดองค์ความรู้และบทเรียนของเรื่องตลาดลิขสิทธิ์หนังสือโลก ก็น่าจะทำให้เห็นมุมมองใหม่ของวงการธุรกิจหนังสือตำราเรียนของอุตสาหกรรมหนังสือโลกที่น่าสนใจสำหรับคนไทยใช่น้อย
มองกลับหลังอีกหนึ่งคดีประวัติศาสตร์คลาดลิขสิทธิ์หนังสือโลก
ในเดือนมีนาคม 2556 ช่วงกลางค่อนมาปลายเดือน ในอุตสาหกรรมหนังสือของไทยกำลังสนใจและรอคอยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและสัปดาห์หนังสือนานาชาติอย่างใจจดใจจ่อ ในวงการอุตสาหกรรมหนังสือและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic commerce) หรือ อี-คอมเมิร์ช (E-Commerce) ซึ่งเป็นการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในทุกช่องทางที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์กลับรอคอยคำตัดสินขั้นถึงที่สุดของคดีตัวอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของธุรกิจหนังสือออนไลน์ โดยเฉพาะหนังสือตำราเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
มื่อสำนักข่าวเอเจนซีส์ได้รายงานข่าวว่า ศาลสูงสุดของสหรัฐฯมีคำตัดสินในวันอังคาร 19 มีนาคม 2556 ให้ ดร. สุภาพ เกิดแสง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยไปศึกษาระดับปริญญาโทและเอกในอเมริกา เป็นฝ่ายชนะคดีที่ถูกสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฟ้องฐานละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากบรรดาสำนักพิมพ์ต่างๆ จะไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษานี้แล้ว วงการบันเทิงและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ก็มีถ้อยแถลงออกมาคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า เป็นคำตัดสินที่ขัดกับนโยบายการค้าของรัฐบาล อาจทำให้บริษัทธุรกิจต่างๆ ไม่อยากเสนอขายสินค้าในต่างประเทศในราคาที่ถูกกว่าที่ขายในสหรัฐอเมริกา เพราะจะพากันกลัวว่าจะมีการนำสินค้าเหล่านั้นกลับเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกา แม้คำพิพากษาของศาลสูงจะกล่าวว่าเข้าใจประเด็นเรื่องการตั้งราคาสินค้าแตกต่างกันเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดต่างๆ ในโลก แต่ก็ยืนยันว่า ไม่มีหลักการพื้นฐานใดๆ ในกฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์ที่บ่งชี้ว่า ผู้พิมพ์หนังสือมีสิทธิ์จะห้ามการขายหนังสือมือสองได้
โดยบริษัท eBay, Google และ Costco Wholesale ผู้ขายสินค้าส่งรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาต่างแสดงความยินดีต่อคำพิพากษาครั้งนี้ โดยบอกว่าเป็นชัยชนะของผู้บริโภคและสำหรับเสรีภาพในการค้าชัยชนะของ ดร.สุภาพ เกิดแสง กับนัยยะที่ตามมา
ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้เปิดฉากพิจารณาคดีประวัติศาสตร์ดังกล่าว หลังบริษัทจอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซันส์ สำนักพิมพ์ชื่อก้องซึ่งก่อตั้งกิจการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1807 และมีฐานอยู่ในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้ยื่นฟ้องเอาผิดต่อ ดร.สุภาพ เกิดแสง ขณะที่เขาเดินทางไปศึกษาปริญญาโททางด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย เมื่อปี ค.ศ.1997 โดยทางบริษัทกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ จากการนำตำราเรียน 8 ปกของสำนักพิมพ์ ที่ขายสิทธิพิมพ์และจำหน่ายเฉพาะในทวีปเอเชีย กลับเข้ามาขายในสหรัฐอเมริกาผ่านทางเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ อีเบย์ ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายในสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้ทางสำนักพิมพ์ได้รับความเสียหาย
ก่อนหน้านี้ คณะลูกขุนในศาลชั้นต้นในมลรัฐนิวยอร์กได้ตัดสินให้ ดร.สุภาพซึ่งเป็นจำเลย มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาและสั่งให้ต้องจ่ายค่าเสียหาย 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17.5 ล้านบาท) แต่ต่อมา ดร.สุภาพได้ยื่นอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์สหรัฐฯยังคงยืนยันว่า จำเลยชาวไทยเป็นฝ่ายผิด จึงต้องมีการต่อสู้กันถึงชั้นศาลสูง ปรากฏว่า คณะผู้พิพากษา 9 คนของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ตัดสินด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 3 ระบุว่า ดร.สุภาพซึ่งได้เงินจากการจำหน่ายตำราเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ดังกล่าวราว 90,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ราว 2.6 ล้านบาท) มิได้กระทำการใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายแต่อย่างใด
ในระหว่างการต่อสู้คดี ฝ่ายจำเลยชาวไทยได้ยืนยันว่า การกระทำของตนได้รับการคุ้มครองภายใต้ ‘หลักการขายครั้งแรก’ ของกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตให้ผู้เป็นเจ้าของสินค้าที่ผลิตอย่างถูกกฎหมายสามารถจำหน่ายหรือแจกสินค้านั้นๆไ ด้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ซ้ำอีก
ผู้พิพากษาฝ่ายเสียงข้างมากของศาลสูงสหรัฐอเมริกายังวินิจฉัยว่า การที่นายสุภาพนำตำราเรียน 8 ปกของสำนักพิมพ์คู่กรณี ที่ขายสิทธิพิมพ์และจำหน่ายเฉพาะในทวีปเอเชีย กลับเข้ามาขายในสหรัฐฯผ่านทางเว็บไซต์อีเบย์ในราคาต่ำกว่าราคาขายในสหรัฐอเมริกานั้น ถือเป็นเรื่องของ ‘สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล’ ที่ย่อมสามารถทำการซื้อขายสิ่งของหรือทรัพย์สินใดๆ ผ่านโลกออนไลน์ได้
สำหรับคำตัดสินดังกล่าวของศาลสูงสหรัฐอเมริกาสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงแก่บรรดาสำนักพิมพ์ รวมถึงบรรดาผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และธุรกิจเพลงที่มองว่า คำตัดสินครั้งนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการลดทอนศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกของธุรกิจสัญชาติอเมริกัน และจะกระทบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์
คดีประวัติศาสตร์นี้ได้รับการจับตามองอย่างมาก เนื่องจากถือเป็นคดีตัวอย่าง ที่จะให้ความกระจ่างต่อการปกป้องด้านลิขสิทธิ์ต่อสินค้าต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ในยุคที่สินค้าสามารถนำไปจำหน่ายหรือแจกได้อย่างเสรี โดยเป็นที่คาดกันว่าคำตัดสินของศาลสูงสหรัฐอเมริกาจะกระทบต่อตลาดผู้จัดจำหน่ายอิสระที่มีมูลค่า 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ไม่ต่ำกว่า 1.83 ล้านล้านบาท)
ทอม แอลเลน ผู้บริหารของสมาคมสำนักพิมพ์อเมริกัน (เอเอพี) ออกมาให้ความเห็นในทำนองเดียวกันโดยระบุ คำตัดสินของศาลสูงสหรัฐอเมริกาจะทำลายความสามารถของธุรกิจสิ่งพิมพ์ของชาวอเมริกันในการแข่งขันในตลาดโลก และจะส่งผลเสียต่อระบบการศึกษาของคนอเมริกันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
เพราะฉะนั้น เมื่อศาลสูงสหรัฐมีคำพิพากษาลงมาเมื่อวันอังคาร ตัดสินว่า ดร. สุภาพ เกิดแสง ไม่มีความผิดในการซื้อหนังสือหรือตำราภาษาอังกฤษที่พิมพ์ในต่างประเทศ และนำไปขายทาง eBay แก่นักศึกษาในสหรัฐในราคาที่ถูกกว่าตำราที่พิมพ์และขายในสหรัฐเอง เพราะสหรัฐอเมริกามีกฎหมายที่ระบุว่า เมื่อบริษัทธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ที่มีลิขสิทธิ์ไปแล้ว ผู้ซื้อมีสิทธิ์ที่จะนำผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปขายได้ในภายหลัง
โดยในคำพิพากษา ซึ่งมีความยาว 33 หน้า ผู้พิพากษาสตีเฟ่น เบรเยอร์ ให้เหตุผลว่า คำกล่าวหาของโจทก์ซึ่งมุ่งจะจำกัดการขายหนังสือมือสอง อาจส่งผลเสียให้กับห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการจะให้ยืมหรือจัดแสดงผลงานที่ผลิตในต่างประเทศ ในขณะที่ผู้บริโภคอาจมีปัญหาในการขายรถ เครื่องคอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนประกอบผลิตในต่างประเทศได้ ส่วนผู้พิพากษา 3 คนที่คัดค้านคำตัดสินดังกล่าว ให้ความเห็นว่า คำพิพากษาครั้งนี้ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐสภาที่ต้องการปกป้องลิขสิทธิ์ของผู้พิมพ์หนังสือ
ชัยชนะในมุมมองของ ดร.สุภาพ เกิดแสง ดร.สุภาพ เกิดแสง ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ หลังจากที่ชนะคดีความ จากการยืนหยัดสู้คดีกับสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่มานานกว่า4 ปีจนได้รับชัยชนะ อุตสาหกรรมหนังสือ วงการทรัพย์สินทางปัญญา และแวดวงอีคอมเมิร์ซทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก จะต้องปรับตัวอย่างไรกับแรงกระเพื่อมและผลกระทบในการจัดระเบียบการขายหนังสือมือสองกันใหม่
ส่วนเหตุผลที่ศาลสูงสุดสหรัฐ ตัดสินให้เขาไม่มีความผิดน่าจะเป็นเพราะ หากเขาแพ้คดีนี้จะทำให้กฎหมาย First Sale Doctrine ใช้ไม่ได้อีกต่อไปสำหรับสินค้าที่ผลิตนอกสหรัฐ ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องย้ายฐานการผลิตออกนอกสหรัฐทั้งหมด ไม่อย่างนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์จะยังมีสิทธิ์เหนือสินค้าของตนเสมอ ไม่ว่าจะถูกจำหน่ายต่อกี่ทอด นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ที่ซื้อสินค้าต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนทุกครั้ง ไม่ว่าจะนำสินค้าไปทำอะไรก็ตาม
ดร.สุภาพให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ในประเด็นที่ว่าด้วยผลกระทบจากคำตัดสินของศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาว่า หากเทียบข้อเสียจาก 2 ฝั่ง ถ้าเขาแพ้คดีจะมีข้อเสียเยอะมาก ในขณะที่การที่สามารถชนะคดีจะทำให้ธุรกิจและวิถีชีวิตทั่วไปของคนสหรัฐอเมริกาดำเนินไปได้ตามปกติ ตรงนี้น่าจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ศาลตัดสินอย่างนี้
ผลของคดีนี้จะส่งผลต่อธุรกิจหนังสือออนไลน์ ซึ่งดร.สุภาพ มองภาพความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามมาว่า ทางสำนักพิมพ์อาจผลักดันหนังสือของตัวเองให้ไปอยู่ในแท็บเล็ตมากขึ้นเพราะเวลาเราซื้อซอฟต์แวร์ใดๆ ก็ตาม หากลองอ่านเงื่อนไขการซื้อจะพบว่าเป็นลักษณะการเช่าใช้ เอาไปขายต่อไม่ได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าทางสำนักพิมพ์คงจะอยากผลักดันการจำหน่ายหนังสือบนแท็บเล็ตมานานแล้ว เพราะจะช่วยลดต้นทุนได้ด้วย
แต่ผลกระทบที่เขาบอกว่า ไม่อยากให้เกิดก็คือ การที่คนทั่วไปมีความคิดว่าต่อไปนี้การนำสินค้าไปจำหน่ายในรูปแบบเดียวกับที่เขาจำหน่ายหนังสือเรียนบนอีเบย์จะสามารถทำได้โดยไม่ต้องกลัวอะไรอีกต่อไป เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะเอากลยุทธ์อื่นๆ มาใช้แทน ใช้กฎหมายอื่นๆ มาฟ้องร้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำในลักษณะนี้ เพราะการแบ่งตลาดในแต่ละประเทศจะทำให้ได้กำไรเยอะ โดยส่วนตัวเขาจึงไม่แนะนำให้มีใครทำแบบนี้เพราะจะเสียเปรียบและต้องเสียเงินมากไม่ว่าจะชนะหรือแพ้คดี
อีกเรื่องคือคนเข้าใจผิดคิดว่า ต่อจากนี้สามารถเอาของละเมิดลิขสิทธิ์มาจำหน่ายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่ง ดร.สุภาพ ชี้ว่า มันไม่ใช่ เรื่องนี้ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะในกฎหมายมาตรา 109 หรือ First Sale Doctrine ของสหรัฐระบุคำว่า Lawfully ที่แปลว่าต้องเป็นของที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างชัดเจนไว้แล้ว ก่อนอื่นเลยสินค้าที่จะจำหน่ายแบบอีคอมเมิร์ซต้องเป็นของที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจะผลิตที่ไหนไม่สำคัญ สำหรับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในไทยไม่ต้องกังวลอะไรจากกรณีนี้ เพราะไม่เคยมีคดีความแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีประเด็นดังกล่าวกับเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่แล้ว เพราะสินค้าในตลาดประเทศไทยไม่ได้แพงกว่าประเทศอื่น ที่เห็นว่าแพงตอนนี้เป็นเพราะภาษีมากกว่า นอกจากนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศไทยก็ยังไม่ได้พูดถึงกรณีปัญหารูปแบบนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องระวังจึงเป็นปัญหาที่อาจเกิดจากเรื่องภาษีมากกว่า
มองผลกระทบที่จะตามมา การวิเคราะห์ข้อกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม และภูมิทัศน์ของธุรกิจหนังสือตำราเรียนมือสองในตลาดหนังสือออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ช นักสังคมวิทยาอย่าง คุณอธิป จิตตฤกษ์ ได้เขียนบทความ ‘ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้ : ชัยชนะของ ‘สุภาพ เกิดแสง’ กับนัยยะที่ตามมา’ ในเว็บไซต์ประชาไท
โดยผู้เขียนได้วิเคราะห์ว่า จากคดีความที่เกิดขึ้น ดร.สุภาพ เกิดแสง ไม่ได้ถูกจับตาในฐานะนักวิชาการ แต่ถูกจับตาในฐานะของพ่อค้าที่ชัยชนะของสิทธิทางการค้าของเขามีผลต่อสิทธิของผู้บริโภคโดยทั่วไปด้วย
จากการที่ศาลตัดสินให้เขาชนะคดีด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 โดยผู้พิพากษาเสียงส่วนใหญ่ก็มีความเห็นว่าวลี ‘lawfully made under this title’ (ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้) ในประมวลกฎหมายอเมริกาหมวดลิขสิทธิ์นั้นครอบคลุมถึงสิ่งที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ที่ผลิตในต่างประเทศด้วย (เข้าใจว่าหมายถึงบรรดาประเทศคู่สัญญาด้านลิขสิทธิ์เท่านั้น) ดังนั้น สุภาพจึงมีสิทธิภายใต้ ‘หลักการขายครั้งแรก’ (first sale doctrine) หรือมีสิทธิที่จะขายสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ที่ตนได้ซื้อมาอย่างชอบธรรม แม้ว่าเขาจะซื้อมาจากนอกอเมริกา
กล่าวในอีกแง่หนึ่ง ‘หลักการขายครั้งแรก’ ก็คือหลักที่ว่าสิทธิในการผูกขาดการขายสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นจะจบลงเมื่อผู้ซื้อได้ซื้อมันมาอย่างถูกต้องนั้นครอบคลุมไปในทุกที่ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ผลิตสินค้าไม่ใช่แค่สหรัฐในอเมริกา ที่น่าสนใจคือผู้พิพากษาเสียงส่วนใหญ่เสริมในคำตัดสินด้วยว่า ‘หลักการขายครั้งแรก’ เป็นหลักการที่มีระบุไว้ในกฎหมาย แต่สิทธิในการผูกขาดการตั้งราคาต่างกันในแต่ละพื้นที่ของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นกลับเป็นสิ่งที่ไม่มีในกฎหมาย และก็ไม่น่าจะอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของบรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน
หลังจากนี้ คุณอธิปตั้งสมมติฐานว่า ผลพวงของคดีความนี้ การขึ้นราคาตำราแบบเรียนในเอเชียไม่น่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะจะทำให้ยอดขายลดลงจนผลกำไรหดหายไป ซึ่งสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่ผลิตตำราเรียนวนสหรัฐอเมริกาก็ย่อมต้องการหลีกเลี่ยง ดังนั้น วิธีการที่ดูจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดกว่าของสำนักพิมพ์ที่แพ้คดีและสำนักพิมพ์อื่นๆ ก็คือ การล็อบบี้ให้รัฐบาลตั้งกำแพงภาษีหนังสือจำพวกแบบเรียนที่จะส่งผลให้ราคาแบบเรียนจากเอเชียบวกกับภาษีนำเข้านั้นพอๆ กับราคาแบบเรียนที่ขายในอเมริกา ซึ่งมาตรการทางเศรษฐกิจแบบนี้ย่อมลดแรงจูงใจในการที่คนอื่นๆ จะทำแบบเดียวกับ ดร.สุภาพแน่นอน อย่างน้อยๆ ก็ในทางทฤษฎี
บทสรุปของคดีความนี้ที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าตลาดหนังสือตำราแบบเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่ง ดร.สุภาพ เกิดแสง พยายามสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาก็คือ การขายหนังสือในอีเบย์เป็นธุรกิจที่มีคนทำกันอยู่แล้ว หากสิ่งที่เขาทำผิดกฎหมาย ก็แสดงว่าสินค้าตัวอื่นที่ประกาศก็ต้องโดนไปด้วย ดังนั้น ของมือสองทั้งหมดจะขายในเว็บไซต์ไม่ได้ เขาจึงต้องต่อสู้คดี พร้อมกับหยิบยกข้อกฎหมายมา 2 ข้อ เพื่อสู้คดี คือ
ข้อ 1. เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์ขาดในการจัดจำหน่ายแจกจ่ายไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม อาจจะเป็นเช่าหรือขายหรืออะไรก็ตาม หมายความว่า ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์ขายของชิ้นนั้นไปแล้ว คนที่ซื้อมาจะไปขายต่ออย่างไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม ทางศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ใช้ข้อกฎหมายนี้
ข้อ 2. กฎหมาย First sale doctrine คือ กฎของการขายครั้งแรก หมายความว่า ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ขายของชิ้นนั้นไปแล้ว และได้รับเงินจากตรงนั้นแล้ว คนที่ซื้อไปจะนำไปขายต่ออย่างไรก็ได้ จะมาเอาสิทธิ์จากการขายครั้งที่สอง ครั้งที่สามไม่ได้ และส่วนที่เป็นปัญหาคือคำว่า ‘สิ่งที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐอเมริกา’ ซึ่งศาลตีความว่าหมายถึง ‘สิ่งที่ผลิตภายในประเทศสหรัฐอเมริกา’ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่สิ่งที่ผลิตภายในประเทศอเมริกา แต่หากเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นสหรัฐอเมริกาแล้วมีประเทศอื่นซื้อต่อไป ไม่ว่าจะผลิตที่ประเทศไหนก็ตาม ก็ต้องถือเป็นสิ่งที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐอเมริกา ข้อกฎหมายทั้งหมดนี้เป็นกรณีศึกษาด้านลิขสิทธิ์หนังสือตำราแบบเรียนของโลก ซึ่งอุตสาหกรรมหนังสือเมืองไทยควรยกเป็นกรณีศึกษาเพื่อถอดองค์ความรู้และบทเรียนกันต่อไป