มาลา แย้มเอิบสิน : คาวบอย บนโรงพิมพ์

มาลา แย้มเอิบสิน

บทความโดย : นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

 

           “มาลา แย้มเอิบสิน” หรือที่เพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการนักเขียนนักแปลเรียก “หลุยส์ ลามูร์เมืองไทย” นั้น มีบ้านอยู่ที่ซอยเฉยพ่วงใกล้ๆ สถานีขนส่งหมอชิตเก่า   เวลามาโรงพิมพ์จะใช้บริการรถแท็กซี่เป็นหลัก ไม่ได้ควบม้ามาแต่อย่างใด เพราะในช่วงนั้นสุขภาพเริ่มไม่ค่อยดี แต่ถึงกระนั้นก็ตาม พี่มาลาก็ยังใช้ชีวิตโลดโผนสมบุกสมบันราวกับตัวละครในนิยายคาวบอยลูกทุ่งตะวันตกเลยทีเดียว
             ทุกครั้งที่มาโรงพิมพ์ ในกระเป๋าผ้าใบขนาดกลางจะเต็มไปด้วยของสารพัดอย่าง นอกจากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คต่างประเทศที่ใช้แปลแล้ว ยังมีกาและหม้อต้มน้ำใบเล็ก มีดพับ ขวดน้ำส้ม ขวดน้ำหอม รวมทั้งเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้เล็กๆ น้อยๆ อีกหลายอย่าง เนื่องจากต้องอาศัยหลับนอนที่โรงพิมพ์เป็นเดือนๆ กว่าจะกลับบ้านสักครั้งหนึ่งนั่นแหละ 
            บนโรงพิมพ์นั้น พี่มาลา แย้มเอิบสินจะมีเตียงผ้าใบพับส่วนตัวเอาไว้ยามหลับนอน มีเครื่องพิมพ์ดีดประจำตัวหนึ่งเครื่อง เป็นคนที่เวลาทำงานทำจริง ไม่ชอบให้ใครมาชวนคุย แต่เวลาทำงานเสร็จแล้วลุยถึงไหนถึงกัน  โดยเฉพาะทุกวันพุธซึ่งเป็นวันที่มีนักเขียนมาส่งต้นฉบับพร้อมรับค่าเรื่อง
             อาจเป็นเพราะพี่มาลาชื่นชอบแปลนิยายคาวบอยลูกทุ่งตะวันตก อีกทั้งเคยทำงานอยู่ในองค์กรหนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ยุคสงครามเวียดนาม จึงซึมซับวิถีความเป็นคาวบอยอเมริกัน และมักจะปรากฏให้เห็นเวลาอยู่บนโรงพิมพ์

 

ขวามือสุดคือ “มาลา แย้มเอิบสิน” ส่วนคนที่มีหนวดงามคือ “ช่วง มูลพินิจ” ศิลปินผู้สามารถมองเห็นรอยยิ้มของมด


               สถานที่หลับนอนบนโรงพิมพ์นั้น ถ้าไม่เป็นห้องนิตยสาร “เรื่องจริง” ก็เป็นห้องนิตยสาร “ฟ้าเมืองทอง” โดยพวกเราที่ส่วนมากทำงานอยู่บนชั้นสามของโรงพิมพ์จะทำงานตอนกลางคืนจนดึกดื่น อย่าง “พี่จุก เบี้ยวสกุล” ที่มักจะเขียนการ์ตูนและเขียนเรื่องจนดึกดื่นค่อนคืนก็จะอาศัยนอนอีกห้องหนึ่ง หรือไม่บางคืนก็มีแขกเยือนยามวิกาลเข้ามาซุกด้วย ที่แวะมาบ่อยๆ ก็คือ “ประเสริฐ จันดำ” ซึ่งมักจะร่ายบทกวีด้วยน้ำเสียงดุดัน หรือไม่ก็ร้องเพลงที่แต่งขึ้นเองให้ฟังอยู่เสมอ
                สำหรับที่นอนนั้นไม่มีเตียงอะไรหรอก แต่จะเอากระดาษแผ่นใหญ่ที่เหลือใช้จากแท่นพิมพ์ หรือไม่ก็กระดาษจากกล่องกระดาษขนาดใหญ่นั่นแหละมาปูนอน ส่วนหมอนก็อาศัยกองนิตยสารเป็นหลัก แต่บางคนก็จะมีหมอนประจำตัวใบเล็กๆ เวลาตื่นนอนแล้วก็ยัดไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานอย่างมิดชิด เช่นเดียวกับกระดาษที่ปูนอนก็พับเอาไว้ในที่ลับตาคนอย่างเรียบร้อย

 

ปากซอยเข้าโรงพิมพ์พลพันธ์การพิมพ์หรือประพันธ์สาส์น และโรงพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้ง

 

                 คาวบอยมาลา แย้มเอิบสินจะตื่นแต่เช้า จากนั้นใช้กาเล็กๆ ที่พกมาต้นน้ำเพื่อชงกาแฟ นอกจากนี้บางเช้าจะครบครันด้วยขนมปังและเนย แต่ที่น่าสนใจและถือเป็นความสามารถส่วนตัว อันเป็นผลพวงจากการที่เคยทำงานกับฝรั่งอเมริกันก็คือการลวกไข่ เพราะฝีมือการลวกไข่ของพี่มาลาเยี่ยมมาก โดยใช้หม้อใบเล็กที่พกไว้ในกระเป๋าเป็นอุปกรณ์สำคัญ ใส่น้ำพอเหมาะ แล้วตั้งบนเตาไฟฟ้าจนเดือด จากนั้นยกออกจากเตาไฟฟ้า ก่อนที่จะค่อยๆ หย่อนไข่ไก่ที่ซื้อมาจากร้านเจ๊เหลี่ยนลงไปอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ไข่ไก่แตก หลังแช่ไข่ไว้ชั่วขณะ ก็เอาช้อนตักขึ้นมาแล้วตอกไข่ลงแก้ว ใส่พริกไทยและเหยาะซอสนิดหน่อย 
                 ไข่ลวกฝีมือพี่มาลานั้น ไข่ขาวจะสุกเป็นสีขาวพอเป็นวุ้นห่อหุ้มไข่แดงเอาไว้ และเมื่อคนไข่จนพอเหมาะแล้วยกขึ้นค่อยๆ ซดเข้าปาก จะรับรู้ได้ทันทีว่าฝีมือการลวกไข่ของพี่มาลานั้นยอดเยี่ยมจริงๆ และมักจะลวกให้บรรดาคาวบอยที่ซุกหัวนอนบนโรงพิมพ์ได้ลิ้มรสบ่อยครั้ง

                 ในกระเป๋าของพี่มาลาไม่เคยขาดขวดน้ำส้มคั้น เช่นเดียวกับมีดพับที่เอาไว้ปอกผลไม้ และอีกอย่างก็คือขวดน้ำหอม ซึ่งเป็นน้ำหอมกลิ่นลูกผู้ชายที่ค่อนข้างหอมรุนแรง ชนิดที่เดินอยู่ท้ายซอยจะส่งกลิ่นหอมถึงหน้าปากซอยเลยทีเดียว จนทำให้ผมอดคิดถึงพวกคาวบอยในหนังไม่ได้ คาวบอยที่ควบม้าเหล่านั้นก็น่าจะใช้น้ำหอมกลิ่นแรงแบบพี่มาลานี่แหละ...
                 นอกจากพี่มาลา แย้มเอิบสินจะเป็นคนที่ทำงานจริงจังแล้ว เมื่อถึงเวลาสนุก โดยเฉพาะดื่มร่ำกับเพื่อนพ้อง ไม่เพียงแต่ถึงไหนถึงกันเท่านั้น แต่ยังทนทานทรหดอีกด้วย

 

ถนนในซอยก่อนจะถึงโรงพิมพ์ ในอดีตคึกคักตลอดวัน...แต่วันนี้เงียบเหงา

 

                  ในยุคนั้นมีร้านอาหารอยู่ร้านหนึ่งที่ถือว่ามาแรง และมักจะมีบรรดานักคิดนักเขียนแวะไปนั่งดื่มกิน ร้านที่ว่านี้ก็คือร้าน “บ้านจรัล มโนเพ็ชร” ที่ตั้งอยู่ริมถนนสุโขทัย เขตดุสิตนั่นเอง เพราะความโด่งดังของศิลปินเพลงคำเมือง จรัล มโนเพ็ชรในช่วงนั้นนั่นแหละ จึงพลอยทำให้ร้านนี้มีคนแน่นทุกวัน
                 พี่มาลา แย้มเอิบสิน และพวกเราที่อยู่โรงพิมพ์ นอกจากจะมีร้านเจ๊เหลี่ยนเป็นร้านประจำแล้ว บางคืนพวกเราก็เปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งที่อื่นบ้าง และร้านบ้านจรัล มโนเพ็ชรก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เหล่าคาวบอยบนโรงพิมพ์แวะเวียนไปนั่ง

 

ตึกซ้ายมือคือโรงพิมพ์พลพันธ์การพิมพ์ของ “เฮียชิว” ส่วนตึกสีขาวคือโรงพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้งของ “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ที่มีนิตยสารดังอย่าง “แพรว” กับ “บ้านและสวน”   ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานทีวีดิจิทัลช่อง 34 หรืออมรินทร์ทีวี

 

“ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” 


                  อย่างเช่นคืนหนึ่ง พวกเราพร้อมทั้งพี่มาลา แย้มเอิบสิน พากันไปนั่งดื่มร่ำพูดคุยที่ร้านแห่งนี้ แต่เป็นเพราะพี่มาลาเหมือนคาวบอยลูกทุ่งตะวันตกที่แสนทรหดนั่นล่ะ จึงนั่งทะลุข้ามคืนไปจนถึงอีกวัน   ครั้นก่อนเที่ยงเมื่อนักดนตรีมาซ้อมดนตรีเพื่อเตรียมความพร้อมในการเล่นตอนค่ำ ทันทีที่นักดนตรีเห็นลูกค้าคนหนึ่งนั่งอยู่คนเดียวก็รู้สึกงุนงงสงสัยเป็นอันมาก เพราะนักดนตรีเห็นพี่มาลานั่งอยู่ที่เดิมโต๊ะเดิมตั้งแต่ค่ำเมื่อวานแล้วนั่นเอง...ทรหดจริงๆ
                  อุปนิสัยของพี่มาลา แย้มเอิบสินนอกจากชอบสนุกสนาน เป็นกันเองกับคนรุ่นน้องแล้ว ยังชอบช่วยเหลือคนอื่นด้วย  แม้บางครั้งตัวเองจะไม่ค่อยมีเงินในกระเป๋าก็ตาม
                  ย่านสี่แยกปิ่นเกล้าที่อยู่ไกลจากโรงพิมพ์มากนักในช่วงนั้นจะเป็นที่ตั้งของร้านอาหาร สวนอาหาร และคาเฟ่จำนวนมาก ยามค่ำคืนจะมีแสงไฟหลากสีระยิบระยับงามตา the Pussy cat ก็เป็นอีกร้านหนึ่งที่อยู่ในย่านนี้ และพี่มาลา แย้มเอิบสินมักจะชวนไปนั่งฟังเพลง
                   เพราะเป็นลูกค้าคุ้นเคยกับนักร้องที่เดอะพุซซี่แคท และด้วยความที่เป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่นนั่นแหละ เมื่อพูดคุยกับนักร้องสาวคนหนึ่งก็รู้สึกสงสารเห็นใจชีวิตของเจ้าหล่อน จนกระทั่งค่ำวันหนึ่งพี่มาลาก็ชวนพวกเราไปนั่งฟังเพลงที่ร้านนี้อีก แต่คราวนี้ไม่ได้ไปมือเปล่า ยังเซ็นเอาข้าวสารที่ร้านเจ๊เหลี่ยนไปฝากนักร้องสาวคนนั้นด้วย   ส่วนค่าข้าวสารก็ต้องรอหักเอาจากค่าต้นฉบับในวันพุธ
                   ค่ำวันนั้น พวกเราคาวบอยบนโรงพิมพ์พลอยเดือดร้อนไปด้วย...เพราะต้องช่วยคาวบอยมาลาหิ้วถุงข้าวสารไปฝากนักร้องสาวที่ร้านนั้นอย่างทุลักทุเล!

 

 

ที่มา : https://www.thepaperless.co/single-post/2018/02/10/เวลาอันรื่นรมย์ในโรงพิมพ์-มาลา-แย้มเอิบสิน-“คาวบอย”-บนโรงพิมพ์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ