ลูกค้าขาประจำคนขวามือคือ “มาลา แย้มเอิบสิน” หรือ “หลุยส์ ลามูร์” เมืองไทย ขณะนั่งพูดคุยกับนักเขียนหนุ่ม “วัฒน์ วรรลยางกูร” (คนที่สองจากซ้าย) ที่หน้าร้านเจ๊เหลี่ยน
“ร้านเจ๊เหลี่ยน” มีป้ายชื่อร้านจริงๆ ว่าร้าน “พรอรุณ” แต่ลูกค้าส่วนมากจะไม่เรียกชื่อจริงหรอก...จะเรียกกันติดปากว่า “ร้านเจ๊เหลี่ยน” แทบทั้งนั้น
เมื่อช่วงปี 2530 หรือราว 30 ปีที่ผ่านมา การขายของแบบ Delivery (เดลิเวอรี่) ยังไม่ปรากฏเหมือนทุกวันนี้ แต่ร้านเจ๊เหลี่ยนได้ขายของแบบเดลิเวอรี่แล้ว โดยจัดส่งอาหารตามสั่งไปให้ถึงห้องสำนักงานนิตยสารแต่ละเล่มที่อยู่บนตึกชั้นสาม ไม่ว่าใครจะสั่งผัดซีอิ๊ว ข้าวผัด ผัดกะเพรา ผัดไทย รวมทั้งน้ำแข็งน้ำอัดลม เพียงโทรสั่งเท่านั้น เจ๊เหลี่ยนจะจัดเสิร์ฟให้เสร็จสรรพ
ยกเว้นเหล้าเบียร์เท่านั้นที่ห้ามเอาขึ้นไปบนโรงพิมพ์อย่างเด็ดขาด...เว้นแต่จะเดินมานั่งในร้านด้วยตัวเอง
ตึกโรงพิมพ์พลพันธ์การพิมพ์ หรือประพันธ์สาส์น
เพราะร้านเจ๊เหลี่ยนอยู่ห่างจากโรงพิมพ์แค่เดินไม่กี่ก้าวก็ถึงนั่นแหละ นอกจากจะสนิทสนมกับนักเขียนรวมทั้งกองบรรณาธิการนิตยสารแต่ละเล่มแล้ว ร้านนี้ยังเป็นที่พึ่งพาของนักเขียนบางคน โดยเฉพาะลูกค้าขาประจำที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
“มาลา แย้มเอิบสิน” นักแปลที่แปลผลงานนิยายคาวบอยตะวันตกของ “หลุยส์ ลามูร์” มากที่สุดในเมืองไทยช่วงนั้นจนได้รับฉายาว่า “หลุยส์ ลามูร์เมืองไทย” เป็นอีกคนหนึ่งที่เจ๊เหลี่ยนสนิทสนม ขณะเดียวกันร้านเจ๊เหลี่ยนก็เป็นที่พึ่งยามยากด้วย
คนนี้แหละคือ “เจ๊เหลี่ยน”ตัวจริง
กรณีของพี่มาลา แย้มเอิบสินสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ระหว่างร้านเจ๊เหลี่ยนกับนักแปลนักเขียนค่ายประพันธ์สาส์นนั้นเกื้อกูลกันด้วยดี พี่มาลานั้นไม่ค่อยกลับบ้านนัก แต่จะทำงานและกินนอนอยู่บนตึกชั้นสาม ส่วนมากจะอาศัยนอนในห้อง “ฟ้าเมืองทอง” บ้าง หรือไม่ก็ห้องนิตยสาร “เรื่องจริง” บ้าง รวมทั้งอีกบางคนที่แวะเวียนมาแล้วไม่อยากกลับบ้าน ดังนั้นบางช่วงเวลาการใช้ชีวิตแบบคาวบอยตะวันตกก็ย่อมขัดสนบ้าง อย่างพี่มาลาซึ่งนอกจากจะเป็นลูกค้าหลักระดับกิตติมศักดิ์ร้านเจ๊เหลี่ยนแล้ว บางคืนยังติดลมออกไปโลดแล่นที่ร้านข้างนอกด้วย
และถ้าวันไหนกระเป๋าขาดเงิน พี่มาลา แย้มเอิบสินก็ได้ร้านเจ๊เหลี่ยนช่วยเหลือ โดยให้หยิบยืมเงินไปก่อน ถ้าจะบอกว่าร้านเจ๊เหลี่ยนเป็นตู้เอทีเอ็มสำหรับนักเขียนนักแปลก็ย่อมได้ แต่เพราะยุคนั้นยังไม่มีบัตรเครดิต นักเขียนนักแปลก็ใช้ “ต้นฉบับ” นั่นแหละไปรูดกับเจ๊เหลี่ยนแทนบัตรเครดิต
(จากซ้าย)ผู้เขียน, ผ่อน อ่างหิน คนสนิทเฮียชิว, ชาครีย์ ชนาธิป, และคนขวามือสุดที่เห็นครึ่งหน้าคือ ฉัตร บุณยศิริชัย หรือ “ศักดิ์ สุริยา” เจ้าของผลงานเรื่อง “ชุมแพ”
ครั้นถึงวันพุธซึ่งเป็นวันที่ต้องส่งต้นฉบับพร้อมรับค่าเรื่อง พี่มาลาก็จะนำต้นฉบับมาให้เจ๊เหลี่ยน จากนั้นเจ๊เหลี่ยนก็นำต้นฉบับไปส่งให้ “พี่วารุณี” ซึ่งทำหน้าที่รับต้นฉบับและจ่ายค่าเรื่องให้กับนักเขียนอีกทอดหนึ่ง โดยค่าเรื่องที่ได้มานั้นก็คือเงินค่าเรื่องที่เบิกล่วงหน้าจากเจ๊เหลี่ยนนั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นวันพุธหรือวันไหนๆ ก็ตาม ร้านเจ๊เหลี่ยนไม่เคยเหงา เพราะตอนเย็นๆ จะต้องมีหนึ่งโต๊ะเป็นอย่างน้อยสำหรับลูกค้าที่เป็นนักเขียนมานั่ง ซึ่งลูกค้าร้านเจ๊เหลี่ยนไม่เพียงแต่จะมีบรรดานักเขียนนักแปลจากค่ายประพันธ์สาส์นที่แวะเวียนเข้าออกตึกพลพันธ์การพิมพ์เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มนักเขียนจากค่ายอมรินทร์พริ้นติ้งที่อยู่ติดกับตึกพลพันธ์การพิมพ์และมักจะแวะมานั่งดื่มร่ำในยามเย็นด้วย โดยเฉพาะบรรดาแขกเยือนของ “ชีวี ชีวา” หรือ “จตุพล บุญพรัด” บรรณาธิการแห่งแพรวสำนักพิมพ์
ในร้านเจ๊เหลี่ยน (จากซ้าย) แดนอรัญ แสงทอง, พิบูลศักดิ์ ละครพล, ไพวรินทร์ ขาวงาม, สมศักดิ์ ทวีทรัพย์ และจตุพล บุญพรัด (ภาพนี้ถ่ายโดย ต๋อย ลาลาบาย)
ร้านเจ๊เหลี่ยนในปัจจุบัน ส่วนข้างๆ ด้านซ้ายมือคือสำนักงานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
การเดินทางของวันเวลาทุกย่างก้าว...มักจะโปรยหว่านอดีตและการเปลี่ยนแปลงเอาไว้เสมอ
ปัจจุบันแม้ว่าโรงพิมพ์ทั้งสองแห่งโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นตามยุคสมัยแล้วก็ตาม แต่คราบอดีตและภาพแห่งวันวารยังแจ่มชัด ในขณะสองหูก็ยังได้ยินเสียงพูดคุยของคนคุ้นเคย เสียงแท่นพิมพ์ เสียงรถขนกระดาษ เสียงพูดคุยของช่างพับ...และจมูกก็ได้กลิ่นหมึกที่โชยออกมาจากแท่นพิมพ์
นอกจากนี้แล้ว ตอนหัวค่ำบางวัน ก็เห็นป๋า ว. ณ เมืองลุง มาพร้อมกับรถเก๋งเฟียตสีฟ้า เดินเข้ามาในโรงพิมพ์พร้อมม้วนเทปในมือ
แม้ป๋า ว. ณ เมืองลุง เป็นบุรุษร่างเล็ก แต่กลับปราดเปรียวว่องไวยิ่ง คราใดที่เยื้องย่างเข้ามาในโรงเตี๊ยม รังสีแห่งจอมยุทธ์กระบี่มือหนึ่งต้องฉายโชน จนบรรดาจอมยุทธ์ทุกคนในโรงเตี๊ยมต้องเงียบงันสะท้านเยือก ยิ่งถ้าเป็นโฉมสะคราญด้วยแล้ว หล่อนราวกับหิมะขาวที่ถูดแผดเผาจนละลายเลยทีเดียว
ข้าน้อยมิบังอาจหลงลืมที่จะบอกเล่าเรื่องราวของกระบี่มือหนึ่งนาม “ว. ณ เมืองลุง” อย่างแน่นอน
บทความโดย : นิรันศักดิ์ บุญจันทร์