พิบูลศักดิ์ ละครพล : เขียนถึงประพันธ์สาส์น-นาครเขษม

พิบูลศักดิ์ ละครพล

                ช่วงเวลาที่ผมเข้าไปป้วนเปี้ยนที่ประพันธ์สาส์นนั้น แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นานนัก แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญบนถนนหนังสือในความรู้สึกของผม

                เพราะเป็นช่วงที่นักเขียน ปัญญาชนหัวก้าวหน้าพากันไปศึกษาต่อในป่ากันหมด แต่ผมกลับหหนีออกจากป่าเข้ามาทำงานหนังสือในเมืองหลวง

                เป็นช่วงรอยต่อระหว่างเก่ากับใหม่ ซ้ายกับขวา และเป็นช่วงที่วรรณกรรมเพื่อชีวิตถูกประทับตราเป็นหนังสือต้องห้าม เป็นช่วงที่นิยายรักนักศึกษา นิยายพาฝันและหนังสือ ฮาวทูกำลังครองแผง...

                เป็นช่วงที่ฝั่งซ้ายฝั่งขวาของเจ้าพระยาแล้งคนทำหนังสือหนังหาเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ฝั่งขวาระดมคนสและคลังกระสุนออกหนังสือพิมพ์เจ้าพระยา

 

                ผม จะเลือกเอาเรื่องที่ทำให้ปลื้มมาก – หากเล่าซ้ำ ส่วนเรื่องอยากลืมแต่กลับจำหรือเรื่องที่ขำ – ขำกระทั่งออกระยำตำนอนนั้นขอเก็บไว้แบ่งปันรอยยิ้มเฉพาะวงเ(ห)ล่าแล้วกัน

                ประพันธ์สาส์นที่ผมเข้าไปขลุกอยู่นั้น คือประพันธ์สาส์นช่วงที่มีร้านหนังสือใหญ่อยู่ข้างโรงหนังลิโด้ ย่านสยามสแควร์ และมีสำนักพิมพ์อยู่ที่เชิงสะพานอรุญอมรินทร์ ฝั่งธนฯ

                คือประพันธ์สาส์นที่มีบอสใหญ่คือ “คุณสพล เตชะธาดา” หรือที่เราเรียกอย่างคุ้นเคยปากว่า “เฮียชิว” หรือชิว เฮฟเนอร์ฉายาที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นผู้ตั้ง โดยเลียนอย่าง ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ บรรณาธิการหนังสือเพลย์บอย แมกาซีนรายเดือนที่ลือลั่นด้วยยอดจำหน่าย ๕,๙๐๐,๐๐๐ ฉบับ

               

                ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ คือ ราชันแมกาซีนรายเดือนชาวอเมริกัน

ส่วนชิว เฮฟเนอร์ คือ ราชาพ็อตเกตบุ๊ก (รายสะดวก) เมืองไทย

ก็ทำไม พญาอินทรีในสวนอักษรจะไม่ยกฉายาราชาแห่งพ็อกเกตบุ๊กให้เขาล่ะ ในเมื่อหนังสือพ็อกเกตบุ๊กที่วางแผน

ส่วนใหญ่ – สมมุติว่าสิบปก ก็จะมีตราบ่งประทับว่าจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเสียแปดปก !!

                แถมยอดพิมพ์ก็ไม่บันเบา แค่ หอมดอกประดวน” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก (กรกฎาคม ๒๕๑๑) ก็มียอดพิมพ์ถึงความเป็นหนึ่งของนักเขียนและสำนักพิมพ์

                แน่ล่ะว่าย่อมยังความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างนักเขียนและสำนักพิมพ์เข้าไว้ด้วยกันอย่างดีเยี่ยมด้วย ในความรู้สึกและเข้าใจเอาเองของผม ’รงค์ วงษ์สวรรค์  เป็นกระแสหนึ่งของลมใต้ปีกบิ๊กบอส ชิว เฮฟเนอร์ (นอกเหนือจากมาดามประพันธ์ เตชะธาดา) ก็คงไม่ผิดนัก

                ที่แจ่มชัดก็คือรูปเล่มหน้าตาที่พูดภาษาจิกโก๋ก็ต้องว่า “โคตรเท่”

                ผม ขอเหไปหานักเขียนหนุ่มเนื้อหอม (โคตรเท่) ขวัญใจของผมแต่ครั้งยังนุ่งกางเกงขาสั้น มาจนเดินเข้ามาเดินกร่างอยู่ในสวนอักษรของผมผู้นี้สักนิดเป็นการคารวะคุณครู

                พญาอินทรีแห่งสวนอักษรผู้นี้ มีรสนิยมวิไล และสายตาคมกริบในเรื่องศิลปวรรณกรรมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่ปรากฏขนหลายบรรทัดในงานเขียนและบนบาทวิถีแห่งชีวิต

                ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่เคยขาดไร้รสนิยมทางศิลปะ ไม่ว่าแขนงไหน

                ช่วงที่เขากลับมาจากใต้ถุนป่าคอนกรีตซานฟรานซิสโก อเมริกา มานั่งทำงานที่อาคาร ๖ ถนนราชดำเนิน ที่ทำการหนังสือพิมพ์สยามรัฐของหม่อมคึกฤทธ์ ปราโมช นั้นผมถือเป็นยุคเรอเนสซองซ์ของวงการหนังสือ โดยเฉพาะนิตยสารรายเดือนและพ็อกเก็ตบุ๊ก

                ยกตัวอย่างหนังสือชื่อ “เฟื่องนคร” ที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ กับผองเพื่อนนักเขียนหนุ่ม กวี จิตรกรและเหล่าศิลปินมือฉมังหลากรุ่นมาตั้งวงเมรัย (ซ่อง – สุม - ใส่ไฟฝัน) ฟื้นย่านเฟื่องนคร ย้อนอดีต ๘๐ ปีก่อนของเฟื่องนคร ซึ่งเป็นถิ่นฐานย่านโรงพิมพ์หนังสือและแหล่งชุมนุมสวนอักษรก่อนเก่า

                โดยเฉพาะเป็นที่ตั้งของชมรมนักประพันธ์นักเขียนที่ยิ่งยงในอดีต คือ

คณะไทยเขษม” ซึ่งตั้งชมรมอยู่ระแวกหน้าวัดราชบพิตร (แถวสำนักพิมพ์ – สายส่งหนังสือเคล็ดไทยเวลานี้)

นั่นคือที่มาของชมรมนักเขียรหนุ่มแห่งเฟื่องนคร หรือที่เรียกขานกันในแวดวงว่า มองมาร์ตแห่งเมืองไทย (สำนวนเรียกขานของจินดา ดวงจินดา) และต่อมาก็มีชมรมฟ้าเมืองไทย ในซอยสุขา ๒ ของนักเรียนในดวงใจผมอีกคนคือ

อาจินต์ ปัญจพรรค์” วิลเลียม โฟล์กเนอร์ แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

                นักเขียนทั้งสองเปรียบต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาแก่นักเขียนรุ่นน้อง

                ก่อคุณูปการมากมายในวงการหนังสือ จากฟ้าเมืองไทย ก่อกำเนิด “ฟ้าเมืองทอง” (ฉบับปฐมฤกษ์ เมษายน ๒๕๑๙) และ “ฟ้านารี” ในเวลาต่อมา แน่นอนทั้งสองเล่ม ชิว เฮฟเนอร์ ราชาแห่งพ็อกเกตบุ๊กเมืองไทย เป็นผู้อำนวยการผลิต พิมพ์และจัดจำหน่าย

                พูดง่ายๆ เป็นนายทุนคนออกสตางค์ทั้งสิ้นรวมทั้ง “เฟื่องนคร” หนังสืออันลือลั่นขจรขจาย ล้วนมีโลโก้ SP สุพล เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น (๒๓๐ เวิ้งนาครเกษม พระนคร)

                ประพันธ์สาส์นยุคเวิ้งนาครเกษมนี้ผมถือว่าเป็นยุคทองหรือยุคคลาสสิกก็ว่าได้

                ผลงานชิ้นเยี่ยมของสำนักพิมพ์ในสายตาของผมคือรวมเรื่องสั้น ชุด ฒ.ผู้เฒ่า ของ “มนัส จรรยงค์” แต่ละเล่มพิมพ์ปกแข็งอย่างดี

                ต่อมาที่ยิ่งใหญ่ตรึงตราในความทรงจำผมตลอดมาก็คือ “ช่อประยงค์ แกมเก็จ” และ “จัน ดารา” ของอุษณา เพลิงธรรม ถือเป็นอีกหนึ่งชุดผลงานชิ้นโบว์แดงของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

ที่ผมกล่าวเช่นนี้ หาใช่เพราะ “อุษณา เพลิงธรรม” คือนักเขียนที่ผมเทิดไว้บนหิ้งบูชาของการเขียน เป็นแรงดลใจ

สำคัญในการอยากเขียนหนังสือด้วยภาษาสวย

                หากแต่การเป็นสำนักพิมพ์ที่ได้จัดพิมพ์ผลงานดี – ดีที่เป็นหลักไมล์สำคัญของวงวรรณกรรม นี่ผมถือว่าต้องยกย่องให้เครดิตสำนักพิมพ์ และที่สำคัญคือบรรณาธิการสำนักพิมพ์นั้นๆ

                แต่โดยรูปแบบการทำงาน ประพันธ์สาส์น (หรือสำนักพิมพ์ไหนก็ตามในยุคนั้นๆ) ดูจะไม่มีระบบบรรณาธิการเป็นกิจลักษณะ

                คงเพราะวงการสื่องสิ่งพิมพ์ยังไม่กว้างขวางใหญ่โต สัมคมยังไม่เข้าสู่ระบบทุนนิยมสุดโต่งแข่งขันกันเป็นบ้าเป็นหลังอย่างปัจจุบันนี้

                สำนักพิมพ์ยังใช้ระบบครอบครัว สังคมนักเขียนยังถือระบบอาวุโส เพื่อนพ้องน้องพี่ บารมีและน้ำจิตน้ำใจเอื่อเฟื้อเกื้อกูลเจ้าของสำนักพิมพ์และนักเขียน ถ้อยทีถ้อยอาศัย

ความเป็นสุภาพบุรษ ลูกผู้ชาย ใจใหญ่ใจถึงของเฮียชิว เฮฟเนอร์นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า คือส่วนสำคัญที่ทำให้ประพันธ์

สาส์นได้ผลงานดี – ดี ของนักเขียนดังไปจัดพิมพ์จัดจำหน่าย

                และผูกสานสายใยสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ชนิดบุญคุญต้องทดแทนแค้นต้องชำระ ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นตั้งแต่ยุคที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นกุนซือใหญ่ มาจนถึงยุคคุณขรรค์ชัย บุนปาน หรือพี่ช้าง ผู้ยิ่งใหญ่ค่ายมติชนเวลานี้

                ยังมีกุนซือที่ปรึกษาของชิว เฮฟเนอร์อีกมากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ชื่อดัง เพราะการโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังสือในสมัยนั้นต้องอาศัยพื้นที่ คอลัมน์ของหนังสือพิมพ์รายวันเป็นหลัก

                ยุคที่ผมจับพลัดจับผลูกะเร่อกะร่าเข้าไปเรียกตัวเองว่าบรรณาธิการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นนั้น จึงไปกันไม่ได้กับระบบกุนซือเพื่อนพ้องน้องน้องพี่ที่รักที่แนบแน่นอยู่เดิมและล้วนแล้วแต่เป็น "ขาใหญ่" ในวงการ

                กระจิบกระจอกอย่างผมจะไปทำอะไรได้

                แต่ก็อย่างที่เกริ่นไว้แต่ต้น ผมเข้าไปประพันธ์สาส์นช่วงที่ไฟรุมและไฟแรง แบบว่า "มีของ" และกำลังเมียงหาพื้นที่ "ลงของ"

                พอนิตยสารวันนี้ปิดตัวลง ผมก็ไปทำเขียนประจำ รับจ๊อบ อยู่หลายแห่ง ทั้งที่สกุลไทย หญิงไทย รจนา แมน หนุ่มสาว และที่พอจะเป็นหลักเป็นฐานมั่นคงก็คือบริษัทแพนสยามแอดเวอร์ไทซิ่งที่มีคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์เป็นผู้อำนวยการใหญ่ ผมรั้งตำแหน่งบรรณาธิการสำนักพิมพ์ แต่ทำหน้าที่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ บุกเบิกหนังสือพ็อกเกตบุ๊กและหนังสือการ์ตูน

                ต่อมาก็ลาออกมาช่วยคุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ทำนิตยสาร "สายใจ" ออฟฟิศก็อยู่บนโรงพิมพ์บ้านและสวน เชิงสะพานอรุญอัมรินทร์ของคุณชูเกียรติ อุทกพันธุ์ หลังโรงพิมพ์และสำนักงานประพันธ์สาส์น (ที่ผมเดินผ่านไปผ่านมา) นั่นเอง

                คิดๆ ก็นึกประหลาดใจ

                ผมเข้ามาประพันธ์สาส์น ด้วยแรงผลักดันของโชคชะตาก็คงไม่ผิดมันเป็นเรื่องที่แสนตลก ถ้าจะบอกว่าผมไปอยู่ที่นั่นได้ ด้วยคำแนะนำของพี่ช้าง แทนนที่จะเป็นพี่ปุ๊ 'รงค์ วงษ์สวรรค์แนะนำ เพราะอย่างน้อยก็พอจะสะเออะอ้างได้บ้างว่ารักและนับถือและเข้าขั้นสนิทสนมคุ้นเคยด้วย

                สาบาน ผมไม่บังอาจเอ่ยอ้างนามพี่ช้าง ผู้ยิ่งยงแห่งมติชนได้ เพราะผมยังไม่เคยพบหน้าค่าตาของพี่ช้างเลยด้วยซ้ำ คนที่พี่ช้างแนะนำไปก็คือคุณประทีป ชุมพล นักเเขียนรุ่นน้องคณะโบราณคดีศิลปากรของพี่ช้างต่างหาก

                แต่คุณประทีป ชุมพล เกรงๆ บารมีของชิว เฮฟเนอร์หรือไงไม่ทราบ ก็ชวนผม (ซึ่งบังเอิญไปดูปรุ๊ฟรวมเรื่องสั้นของผมที่คุณเจนภพ จบกระบวนวรรณขอไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์นั้นพอดี) ไปเป็นเพื่อน

                แต่ไม่ทราบเหตุผลกลใด คนที่ถูกแนะนำไปกลับเปลี่ยนใจให้ผมรับหน้าเสื่อแทนเสียนี่

                จะไม่ให้เรียกว่าโชคชะตาได้อย่างไร?

                ช่วงที่ประจำอยู่ที่สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นนั้น คือช่วงเวลาที่มีค่าที่ผมภาคภูมิใจยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับการเรียนรู้ในส่วนของการทำการผลิตหนังสือ ส่วนอื่นๆ อีกมากมายที่ประทับใจนั้นติดค้างไว้ตรงนี้ขอขยายต่ออีกทีในวาระครบรอบ ๖๐ จะดีไหม?

 

พิบูลศักดิ์ ละครพล

๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๔

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ