"โลก-นิยาย สัมพันธ์ข้องเกี่ยวไปด้วยกันไม่รู้จบ นิยายเขียนมาจากความเป็นไปของโลก และบ่อยครั้งโลกก็ดำเนินไปตามนิยายที่นักเขียนบางคนได้มองเห็นอนาคตก่อนแล้ว" คือใจความสำคัญที่บรรดานักเขียนนวนิยายชื่อดังกล่าวในการแถลงข่าวงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 42 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 12 ที่จะจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 7 เมษายนนี้
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้พิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวถึงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 42 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 12 ว่า งานสัปดาห์หนังสือฯปีนี้จัดภายใต้แนวคิด "โลกคือนิยาย (The World Is a Novel)" เชื่อมโยงกับไฮไลต์ของงานคือ "นิทรรศการโลกคือนิยาย" และ "นิทรรศการข้าพเจ้าได้เห็นมา โลกนิยายของศรีบูรพา" เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างโลกและนิยาย ซึ่งเปรียบเสมือนเงาที่ส่องสะท้อนภาพระหว่างกัน
"นิทรรศการโลกคือนิยาย" และธีมงาน "โลกคือนิยาย" เกิดขึ้นเพราะต้องการสื่อว่านิยายมีอิทธิพลต่อโลก ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในโลกนี้เกิดขึ้นเพราะนิยาย และเนื้อเรื่องของนิยายก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ด้วย นิทรรศการนี้จะไม่ได้บอกเล่าประวัตินิยายไทย แต่จะบอกว่านิยายมีอิทธิพลต่อโลกอย่างไร สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
"หลายเหตุการณ์ หลายแง่มุมที่เกิดขึ้นในโลกนี้ หนังสือตำราประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกไว้ แต่เราสามารถศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นได้ในนิยาย อย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าประชาชนรู้สึกอย่างไรในวันนั้น แต่นิยาย ′แลไปข้างหน้า′ ของศรีบูรพาได้บันทึกไว้ว่า ชาวบ้านรู้สึกอย่างไร ตำรวจรู้สึกอย่างไร และทำอะไรกันในเช้าวันนั้น เราจะได้เห็นว่าคนแต่ละอาชีพ แต่ละชนชั้นคิดและรู้สึกไม่เหมือนกัน"
สำหรับ "นิทรรศการข้าพเจ้าได้เห็นมา โลกนิยายของศรีบูรพา" นั้นมีจุดประสงค์เพื่อเชิดชูและแสดงความเป็นอัจฉริยะทางด้านงานเขียนของศรีบูรพาให้คนรุ่นปัจจุบันได้รับรู้ "หลายคนรู้เพียงว่าศรีบูรพาคือผู้แต่งนิยายเรื่องข้างหลังภาพ แต่ศรีบูรพาเป็นนักเขียนที่เขียนหนังสือสะท้อนสังคมการเมืองไทยมากมาย และศรีบูรพาเป็นนักเขียนชาวไทยที่ได้รับการกล่าวขานและชื่นชมในระดับโลก เพราะ UNESCO ได้ยกย่องให้ศรีบูรพาเป็นบุคคลดีเด่นของโลกในฐานะผู้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยและสร้างสันติภาพของโลกประจำปี 2547-2548 แต่เป็นคนที่ต้องเสียชีวิตในต่างแดนและเป็นคนที่ถูกลืม"
นายจรัญกล่าวอีกว่า นอกจากทั้งสองนิทรรศการแล้วยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น นิทรรศการ "หูท่ง เอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองปักกิ่ง" และพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เรื่อง "ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน" กิจกรรมโครงการ 1 อ่านล้านตื่น เป็นต้น
ขอบคุณที่มา : http://www.prachachat.net