ผู้หญิง กับรางวัลในโลกวรรณกรรม : ผู้หญิง กับรางวัลในโลกวรรณกรรม

 ผู้หญิง กับรางวัลในโลกวรรณกรรม

 

ผู้หญิง กับรางวัลในโลกวรรณกรรม

หาก จะบอกว่าในโลกวรรณกรรม ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย ก็ดูจะเป็นคำพูดที่ไม่ยอมรับความจริง ถ้าวัดกันจากรางวัลวรรณกรรม ปริมาณนักเขียนชายผู้ครอบครองรางวัลจะมากกว่านักเขียนหญิง ไล่มาตั้งแต่ โนเบล ยัน ซีไรต์


ทำไมเป็นเช่นนั้น?

ถ้าจับเฉพาะวรรณกรรมไทย ข้าพเจ้ามองว่า อาจจะเพราะสายตาของสังคม เป็นสายตาแบบเพศชาย และเชื่อว่าการเขียนงานวรรณกรรมที่แสดงความยิ่งใหญ่ ประเด็นสำคัญท้าทาย มองออกไปภายนอก จับต้องปัญหาใหญ่ของโลก ของสังคม หรือแม้กระทั่งโลกภายในของมนุษย์ในแบบเพศชาย อันมักเป็นความขัดแย้งของมนุษย์กับอุดมการณ์ หรือกับสังคม มุมมองเชิงวรรณกรรมในประเภทนี้จะได้รับการยอมรับมากกว่า ในฐานะวรรณกรรมที่มีคุณค่า


ส่วนงานเขียนบางส่วนของนักเขียนหญิง มักมีประเด็นความเป็น “ส่วนตัว” สูง มองโลกเข้าสู่ด้านใน ตัวตนของผู้หญิง ครอบครัว ความขัดแย้งระหว่างสถานะทางเพศกับสังคมและอุดมการณ์ และปัญหาใน ครอบครัว ซึ่งหลายคนตีความเอาว่า เป็นเรื่อง “น้ำเน่า” นำเสนอแต่เรื่องผัวๆ เมียๆ


ที่จริงตอนนี้เริ่มมีวรรณกรรมเพศที่สามมากขึ้นแล้ว และเป็นที่จับตาของนักวรรณกรรรมไทยอยู่มาก เพียงแต่วรรณกรรมเพศที่สามนี้ ยังคงกำลังพัฒนาขั้นแรกเริ่ม และยังไม่ได้ให้ภาพในเชิงลึก หรือเพื่อการวิเคราะห์ได้มากนัก กลับมาเรื่องวรรณกรรมของนักเขียนหญิง กับนักเขียนชายเมื่อ นักเขียนชาย ครอบครองรางวัลเสียเกือบหมด โลกวรรณรรมจึงจำต้องแบ่งแยกเพศในวรรณกรรม ด้วยการตั้งรางวัลเฉพาะนักเขียนหญิงขึ้นมา เพื่อผลักดัน และส่งเสริมให้ผู้หญิงได้มีโอกาสในโลกวรรณกรรมมากขึ้น

 

ในประเทศไทยเอง ก็มีความพยายามจะก่อตั้งรางวัลเพื่อนักเขียนหญิง เช่น รางวัล อ. ไชยวรศิลป์ เป็นการประกวดเรื่องสั้นของนักเขียนหญิง ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ อ. ไชยวรศิลป์ ซึ่งเป็นนักเขียนหญิงรุ่นแรกๆ ที่นำเสนอปัญหาของเพศหญิงอย่างชัดเจน แต่น่าเสียดายที่รางวัลนี้ไม่ค่อยโด่งดัง และเหมือนจะเงียบๆ ไปแล้วด้วยอีก รางวัลที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ใช้ชื่อว่า รางวัลชมนาด เป็นรางวัลที่มอบให้กับต้นฉบับนวนิยายของนักเขียนหญิง (แปลว่า เรื่องที่ส่งประกวดต้องเป็นต้นฉบับ ยังไม่ผ่านการตีพิมพ์) ในระดับโลก รางวัลที่โดดเด่นที่สุด คือ รางวัล ออเรนจ์ ไพรซ์ หรือ ชื่อเต็มว่า The Orange Broadband Prize for Fiction เป็นรางวัลของประเทศอังกฤษ มอบให้กับนวนิยายของนักเขียนหญิง (หมายความว่า ตัดสินจากนวนิยาย เรื่อง ของ นักเขียนหญิง ไม่ได้คัดเลือกจากตัวนักเขียนหญิง เข้าทำนองเหมือนรางวัลซีไรต์นั่นเอง) เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1996 มอบต่อเนื่องทุกปี จึงได้รับการยอมรับ และมีชื่อเสียงติดหูคอวรรณกรรม ที่สำคัญก็เพราะเป็นรางวัลของนักเขียนผู้หญิง นั่นเอง ซึ่งเมื่อปี 2005 ได้แยกสาขาสำหรับนักเขียนหญิงหน้าใหม่ อีก 1 รางวัล ในชื่อรางวัล Orange Award for New Writers และยังมีรางวัลสำหรับกลุ่มนักอ่านอีก 1 รางวัล ในชื่อรางวัล The Penguin Orange Readers' Group Prize (โดยการสนับสนุนของสำนักพิมพ์เพนกวิน ผู้โด่งดังเรื่องการจัดพิมพ์วรรณกรรม) เป็นการกระตุ้นให้เกิดการอ่านเชิงวิจารณ์ให้เป็นแฟชั่นไปอีกแบบ
สำหรับ ปี 2009 นี่ คณะกรรมการรางวัลออเรนจ์ ไพรซ์ได้ประกาศรายชื่อนวนวนิยายของนักเขียนหญิง ที่เข้ารอบสุดท้ายแล้ว คือ นวนิยาย เรื่อง Scottsboro เขียนโดย Ellen Feldman เรื่องของเด็กชายผิวดำ 9 คนที่ถูกจับฐานวิวาทกับเด็กผิวขาว แต่เหตุการณ์นี้มีกลับมีกรณีเด็กผู้หญิงผิวขาวถูกข่มขืนด้วย เรื่องราวทั้งหมดถูกเชื่อมโดยนักข่าวสาวที่พยายามจะช่วยเด็กชายผิวดำให้รอด พ้นจากโทษประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า และเด็กหญิงผิวขาวนั้นเองที่จะต้องพูดความจริง

 


นวนิยายเรื่อง The Wilderness เขียนโดย Samantha Harvey เรื่องของชายวัย 60 ชื่อ เจค ที่มองย้อนกลับไปถึงอดีตของตนเอง ตั้งแต่วัยเด็ก การแต่งงาน การทำงาน การสูญเสียภรรยา และลูกชายติดคุก และ เจคเป็นอัลไซเมอร์



นวนิยาย เรื่อง The Invention of Everything Else เขียนโดย Samantha Hunt เรื่องของนักวิทยาศาสตร์ชาวเซอเบีย ความรักระหว่างพ่อกับลูกสาว ผสมผสานกับเรื่องเชิงวิทยาศาสตร์



นวนิยายเรื่อง Molly Fox's Birthday เขียนโดย Deirdre Madden เรื่องของ นักแสดงสาว มอลลี่ ฟ็อกซ์ กับเพื่อนนักเขียนบทละคร ที่จะสะท้อนตัวตนและชีวิตของเธอออกมาในบทละคร เรื่องราวแสดงให้เห็นว่าอดีตสร้างปัจจุบันอย่างไร
 


นวนิยายเรื่อง Home เขียนโดย Marilynne Robinson เรื่องราวของครอบครัวของแจ๊ค เมื่อแจ๊คกลับมาบ้านในตอนอายุ 20 ปี เขาพบเจอกับอะไร ความพยายามแก้ปัญหา และปรับตัว จากวัยเด็กที่เสียค น ติดเหล้า ตกงาน และต้องมาพบกับเรื่องราวของน้องส่าวที่ต้องทุกข์ทรมานกับชีวิต

 

นวนิยาย เรื่อง Burnt Shadows เขียนโดย Kamila Shamsie เรื่องเล่าผ่านฮิโรโกะ ทานากะ หญิงสาวชาวญี่ปุ่น เรื่องราวที่ผูกเชื่อมสงครามจากนางากิ มาถึงเหตุการณ์ 911 ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน


นวนิยายทั้ง 6 เรื่อง ของนักเขียนหญิงทั้ง 6 คน ล้วนสอดแทรกประเด็นของผู้หญิงไว้ บางเรื่องให้ตัวละครหญิงเล่าเรื่อง ประเด็นของโลกและสังคม ก็เชื่อผ่านตัวละครเพศหญิงได้เช่นกัน มิใช่ว่าจำกัดเฉพาะเพศชาย เรื่องที่โดดเด่นน่าจะเป็น Burnt Shadows ของ Kamila Shamsie โดยตัวผู้เขียนเองก็เป็นชาวการาจี มีมุมมองแบบเอเชีย สะท้อนทั้งปัญหาสงคราม ปัญหาโลก และปัญหาของผู้หญิง ส่วนเรื่อง Scottsboro เขียนของ Ellen Feldman ก็น่าสนใจ เพราะมีทั้งประเด็นเรื่องเพศ และผิว
 

ความโดดเด่น ของประเด็นในงานวรรณกรรมของนักเขียนหญิง ทำให้ผู้อ่านสัมผัสได้ว่า โลกนี้มิได้มีแค่สายตาแบบเพศชาย แต่ในสายตาของเพศหญิง ก็มองโลกได้ในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นมุมที่คุณนึกไม่ถึงก็ได้ ถ้าทุกประเทศในโลก ให้การสนับสนุนให้มีรางวัลสำหรับนักเขียนหญิงก็น่าจะดี

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ