เมื่อความงามในรูปของพิมพ์นิยม กลายเป็นปัญหาหนักหน่วงภายใน : ยินดีต้อนรับสู่ความเว้าแหว่ง ของใครหลายๆ คนในสังคม

เมื่อความงามในรูปของพิมพ์นิยม กลายเป็นปัญหาหนักหน่วงภายใน

      ในช่วงปลายปีของ 2564 ได้มีการเกิดกระแสของแคมเปญ Real Size Beauty ของ "แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส" มิสยูนิเวิร์ส 2021 คือความภาคภูมิใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะมีรูปร่างแบบใด หรือไม่ตรงกับ Beauty Standard ของผู้อื่น ซึ่งก่อนหน้านี้แบรนด์เครื่องสำอาง หรือเสื้อผ้าหลาย ๆ แบรนด์ ก็ได้มีการคัดเลือกนางแบบหรือพรีเซนเตอร์ที่มีความหลากหลายตามแบบฉบับในชีวิตจริง ไม่ได้จำเป็นต้องขาว หรือผอม ตามพิมพ์นิยมอย่างที่ผ่านมา 

      ในโลกวรรณกรรมเช่นกัน ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน หนังสือเรื่อง "หลง เงา รัก" ได้รับรางวัลชมนาดซึ่งเป็นเวทีของนักเขียนหญิงโดยเฉพาะ ซึ่งได้หยิบยกประเด็นสังคมเกี่ยวกับ Beauty Standard ปัญหาของภาพลักษณ์ภายนอกที่ ส่งผลถึงปัญหาภายในทั้งร่างกายและจิตใจ

 

       ยินดีต้อนรับเข้าสู่โลกภายในของผู้หญิงคนหนึ่ง

     “ชนินทร์ธรณ์” ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “หลง เงา รัก” หรือ The Lost Fairy  จูงมือเราเข้าสู่โลกของ “เกรซ” หญิงสาวที่ หลงทางอยู่ในวังวนของโรคบูลิเมีย อาหาร เซ็กส์ ความรัก กับดักแห่งเรือนร่างในอาชีพนางแบบ รวมถึงหลุมพรางแห่งความรัก ความปรารถนา ด้วยโครงเรื่องที่สนุกจนวางไม่ลง ผู้เขียนเล่าเรื่องด้วย ภาษาทันสมัย ทำให้นึกถึงงาน Chic-Lit แบบต่างประเทศ ภาษาที่ ใช้เนียนกริบประหนึ่งหนังสือแปล ซึ่งกรรมการต่างลงความเห็นว่า นี่คือความแปลกใหม่อีกก้าวของรางวัลชมนาด การสะท้อนตัวตนและทัศคติของผู้หญิงผ่านงานเขียน ไม่จำเป็นต้องพูดถึงปัญหาหลักอันหนักหน่วงเสมอไป บางครั้งการหยิบยกปัญหาด้านในแบบปัจเจก ความเว้าแหว่งที่เติมไม่มีวันเต็มของผู้หญิงคนหนึ่ง (หรือหลายๆ คน) ก็เป็นเรื่องที่เราไม่อาจมองข้ามได้

 

      หนังสือเล่มนี้พาเราดำดิ่งสู่ความ รู้สึกที่ว่านั้น ความรู้สึกของการโหยหาความรัก จุดสมดุลย์ของชีวิต การเซ็ตเทิลดาวน์กับใครสักคน ผ่านชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ การขึ้นสู่จุด สูงสุดอาชีพนางแบบ และกราฟขาลงที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก รวมถึงความสัมพันธ์แปลกประหลาดที่เกิดกับเพื่อนรักในวัยเด็ก มิตรภาพอันไม่รู้ที่มา แต่คงทนกว่าสิ่งใดในชีวิต

 

        ด้วยประเด็นทางสังคมที่ดูเหมือนไม่สำคัญนักอย่างเรื่อง รูปลักษณ์ของร่างกาย หรือ Body Image และการนำเสนอ ความงามในรูปของ พิมพ์นิยม ทำให้เกิดเป็นตัวเอกของเรื่อง ที่ต้องทุกข์ทรมานไปกับภาพลักษณ์ของตนจนเกิดเป็นโรคที่บั่นทอนสุขภาพ  การพูดถึงโรคบูลิเมีย (Bulimia Nervosa) นับเป็นอีกประเด็น ร่วมสมัยของผู้หญิงที่ผู้เขียนหยิบมาใช้ ความไม่มั่นใจในรูปร่างตัวเอง ความกังวล ความรู้สึกผิดต่อการกิน ถือเป็นปัญหาสากลของผู้หญิง ทุกวันนี้ มันแทรกซึมอยู่ในเราโดยที่ไม่รู้ตัว แม้บางคนอาจไม่ถึงขั้น ล้วงคอเช่นเกรซ แต่นี่คือเรื่องอ่อนไหวอย่างมากของผู้หญิงทุกคน รูปร่างในอุดมคติ ความคลั่งผอม ความสวยแบบเบ้าหลอมเดียวกัน คือปัญหาหนักหน่วงภายใน เกรซบอกเล่าเรื่องราวนี้ให้เรารับรู้ผ่าน ชีวิตแต่ละวันที่ยากเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอเป็นนางแบบ และมีคนรักเป็นเชฟ

 

      ผู้เขียน ไม่ได้วางพล็อตอลังการเกินคาดเดา แต่รายละเอียด เล็กๆ น้อยๆ ที่ค่อยๆ ถ่ายทอดลงไปผ่านคาแรคเตอร์ของตัวละคร นั้น ช่างมีเสน่ห์ ทำเอาเราติดกับดักคนเขียนโดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้ตัวละครทุกตัวมีเสน่ห์ การใช้ฉากหลังของเรื่องในต่างประเทศยิ่งชวนให้รู้สึกแปลก

 

      นวนิยายยอดเยี่ยมเล่มนี้ มอบคุณค่าด้านในอย่างร้ายกาจ แม้เรื่องราวจะดูสวิงสวาย ทว่าที่สุดแล้ว ผู้เขียนไม่ลืมที่จะบอกเราว่า ความงามจริงแท้ในชีวิตนั้นคือสิ่งใด และ เราทุกคนสามารถค้นพบมันได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจุดที่เราอยู่นั้นจะสูงเสียดฟ้าหรือว่าลึกสุด ก้นบึ้งมหาสมุทรก็ตาม

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ