รื่นรมย์ในโรงพิมพ์ : นักเขียนบู๊โนเนมในโรงพิมพ์

รื่นรมย์ในโรงพิมพ์

 

           ครั้งหนึ่ง “พี่ปุ๊” หรือ “ ’รงค์ วงษ์สวรรค์” พี่ใหญ่แห่งวงการนักเขียนเคยบอกกับผู้เขียนว่า “ไอ้ตุ๋ย...ชีวิตของพวกเรามันไม่ได้มาเพราะโชควาสนาหรอกนะมึง...แต่ได้มาเพราะการปีนป่ายแสวงหาต่างหาก”

           เมื่อฟังและครุ่นคิดดูแล้วก็เป็นจริงดังที่พี่ปุ๊ว่า...เพราะการจะก้าวเดินบนถนนนักเขียน และกระโจนเข้าสู่วงการหนังสือได้นั้น ต้องพึ่งพาตัวเองทั้งสิ้น โดยเฉพาะการเขียนหนังสือ แนะได้แต่สอนไม่ได้  ต่อให้จับมือเขียนก็เขียนไม่ได้ถ้าใจไม่ไขว่คว้า หรือต่อให้มีแท่นพิมพ์ดีๆ อยู่ที่ใต้ถุนบ้าน แต่ถ้าใจไม่อยากใจไม่รักก็ไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น...คนที่อยากจะเป็นนักเขียนต้องดิ้นรนแสวงหาด้วยตัวเอง

            บนโรงพิมพ์ชั้นสามของโรงพิมพ์พลพันธ์การพิมพ์นั้น นักเขียนหลากหลายแนวที่เดินเข้า-ออก ต่างคนต่างก็มีที่มาที่ไปหรือมีปูมหลังที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับความสามารถของแต่ละคนที่สร้างผลงานตามแนวถนัดของตัวเอง โดยเฉพาะนักเขียนแนวบู๊หลายคนที่มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารเรื่องจริงที่มีพี่ “ราช เลอสรวง” เป็นบรรณาธิการ   เวลามาส่งต้นฉบับพร้อมๆ กันในวันพุธ จะเป็นวันที่มีเรื่องเล่ามากมายจากนักเขียนแนวบู๊แต่ละคน

            ด้วยเหตุที่ห้องทำงานของนิตยสารแต่ละหัวอยู่ติดๆ กันนั่นแหละ เวลานักเขียนมากันมากๆ จนห้องนิตยสาร “เรื่องจริง” คับแคบ บ้างครั้งก็ต้องขยับขยายไปนั่งคุยในห้องนิตยสาร “ฟ้าเมืองทอง” บ้าง หรือไม่ก็แยกย้ายไปนั่งคุยกันที่ห้องนิตยสาร “หลายชีวิต” บ้าง

 

 “ฟ้าเมืองทอง” นะ...ออเจ้า

 

            ยุคนั้นนักเขียนไม่มีการแบ่งแยกตามความเชื่อทางการเมืองเป็นสีเหลืองสีแดงเหมือนอย่างทุกวันนี้ จะมีก็เพียงประเภทของผลงานเท่านั้นที่บ่งบอกว่าเป็นนักเขียนหัวก้าวหน้า หรือนักเขียนแนวบันเทิงเริงรมย์ ดังนั้น เวลาคุยกันโขมงโฉงเฉงจึงปราศจากความขัดแย้ง

             การพบปะพูดคุยกันบนโรงพิมพ์ นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนานแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้วิธีการเขียนไปในตัวอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเขียน “นิยายบู๊” ที่ถือเป็นงานเขียนอีกประเภทหนึ่งที่ท้าทายความสามารถอย่างมากสำหรับคนที่ไม่เคยเขียนนิยายแนวนี้มาก่อน

             ใครก็ตามที่คิดว่าการเขียนนิยายบู๊ไม่ยาก หรือมองนิยายบู๊เป็นเพียงนิยายเริงรมย์ประเภทหนึ่งเท่านั้น ถือเป็นการคิดผิดอย่างมหันต์ เพราะนอกจากจะไม่ง่ายแล้ว การเขียนนิยายแนวนี้เอาเข้าจริงต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างเลยทีเดียว

             และเนื่องจากงานเขียนแนวบู๊ดุเดือดมาท้าทายความสามารถนั่นแหละ จึงมีนักเขียนแนวอื่นๆ สนใจหันมาทดลองเขียนงานแนวนี้ อย่างเช่น พี่ “หยอย บางขุนพรหม” หรือ “ศรีศักดิ์ นพรัตน์” ที่ชอบเขียนแนวตลกเสียดสี รวมทั้งผู้เขียนเอง ก็ถือเป็นนักเขียนบู๊โนเนมคนหนึ่งในโรงพิมพ์  

             ศาสตร์การเขียนนิยายบู๊ แม้ว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์อะไรตายตัว แต่ก็มีหลายอย่างที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้อย่างยิ่ง 

 

นักเขียนบู๊โนเนมในโรงพิมพ์

 

             การจะเขียนนิยายบู๊เรื่องหนึ่งให้คนอ่านติดตามทุกบททุกตอน หรืออย่างน้อยๆ ให้คนอ่านสามารถจดจำพระเอกในเรื่องได้บ้างนั้นไม่ง่ายเลย  ยิ่งนักเขียนที่เพิ่งทดลองเขียนงานแนวนี้ด้วยแล้ว เรียกว่าเป็นงานหินเลยทีเดียว

             แต่การที่มีโอกาสอยู่ท่ามกลางนักเขียนแนวบู๊นั่นแหละ ผู้เขียนจึงริเขียนแนวนี้บ้าง และทำให้เห็นองค์ประกอบหลายๆ อย่างของงานเขียนประเภทนี้ ดังตัวอย่างที่นำมาประกอบไว้ และหากจะมองถึงความเป็นนิยายบู๊แล้ว ก็เริ่มกันตั้งแต่ชื่อเรื่องเลย

             ขึ้นชื่อว่าเป็นประเภทนิยายบู๊แล้ว แน่นอนที่สุด โทนของเรื่องนับตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องต้องบ่งบอกไว้แล้วว่า นี่คือนิยายบู๊สะบั้น มิใช่รักหวานซึ้งอย่างแน่นอน มีครั้งหนึ่งเมื่อ “หยอย บางขุนพรหม” เขียนนิยายบู๊เพื่อส่งให้พี่ราช เลอสรวงพิจารณาตีพิมพ์ในนิตยสาร “เรื่องจริง” เขียนเสร็จก็เข้าไปนั่งปรึกษาหารือกับพี่ราชในฐานะที่เป็นบรรณาธิการ สาเหตุก็เพราะนักเขียนนิยายบู๊หน้าใหม่นาม “หยอย บางขุนพรหม” ซึ่งถนัดแต่เขียนเรื่องตลกเสียดสี ไม่รู้จะตั้งชื่อนิยายบู๊ที่ตัวเองเขียนขึ้นยังไงดีนั่นแหละ

             พี่ราช เลอสรวงนั่งฟังพี่หยอยเล่าเรื่องที่ตัวเองเขียนอย่างคร่าวๆ ได้สักครู่ ก็บอกกับพี่หยอยว่า

             “เอายังงี้ก็แล้วกัน...ตั้งชื่อเรื่องว่า ‘เอาก็เอา...ยิงก็ยิง’ ดีกว่าว่ะ...ฟังดูแล้วมันบู๊ดี”

             “เออ...เข้าท่าดีเหมือนนะชื่อนี้” พี่หยอยเห็นด้วย พร้อมทวนชื่อเรื่อง “เอาก็เอา...ยิงก็ยิง” จากนั้นเสียงหัวเราะก็ดังขึ้นพร้อมๆ กัน

             สรุปแล้วผลงานนิยายบู๊ของ “หยอย บางขุนพรหม” เรื่องนั้นจึงชื่อ “เอาก็เอา...ยิงก็ยิง” 

             เพราะฉะนั้น การตั้งชื่อนิยายบู๊ต้องบอกนัยบางอย่างเอาไว้ อย่างเช่นเรื่อง “ชาติทรนง” ของผู้เขียนเองที่ถือเป็นผลงานของนักเขียนนิยายบู๊หน้าใหม่อีกคนหนึ่งในโรงพิมพ์ แต่ใช้นามปากกา “ศักดิ์ศรี ศรีโกไศย” หรือถ้าจะให้เป็นนิยายบู๊แบบมีกลิ่นอายแฟนตาซี การตั้งชื่อก็ต้องบ่งบอกอะไรบางอย่างโดยเฉพาะโทนเรื่อง อย่างเช่นเรื่อง “มนุษย์สองพิภพ” แน่ล่ะ ฟังแค่ชื่อเรื่องก็พอจะรู้แล้วว่าพระเอกของเรื่องเป็นกึ่งคนกึ่งมนุษย์ประหลาด

 

บู๊แบบแฟนตาซีก็มี

 

              คุณสมบัติอีกอย่างของนิยายบู๊ก็คือ ทำอย่างไรให้คนอ่านติดตามในแต่ละตอน  นี่ก็ไม่ง่ายอีกเหมือนกัน ดังนั้นจะเห็นว่านิยายบู๊จะเดินเรื่องเร็ว ไม่เอ้อระเหย ไม่มีการพรรณนาให้ยืดยาว แต่ละฉากแต่ละเหตุการณ์ต้องกระชับ และบทสนทนาของตัวละครจะห้วนๆ สั้นๆ โดยเฉพาะภาพตัวร้ายในเรื่อง ส่วนมากจะแสดงออกด้วยท่าทางและพฤติกรรมต่างๆ  มากกว่าบรรยายยืดยาว

               แม้กระทั่งบทสนทนาของตัวละครก็เป็นแบบนิยายบู๊ ตัวร้ายคำพูดคำจาต้องห้วนสั้นและยียวนกวนประสาท ไม่มีการพูดแล้วลอยหน้าลอยตาเหมือนพระเอกลิเก ส่วนพระเอกในเรื่องก็ต้องเข้มแบบมีคุณธรรม เป็นนักสู้สุภาพบุรุษ ไหวพริบดี และอีกอย่างที่จะขาดไม่ค่อยได้ก็คือเชิงรักหักสวาทแบบลูกผู้ชาย

               และเชิงรักหรือฉากสวาทนี่แหละคือเหตุการณ์ที่จะขาดไม่ได้ในนิยายบู๊ สำหรับตัวละครดาวร้าย ก็ต้องให้สมบทบาทตัวร้าย ท่าทางนักเลง กักขฬะ พูดจาดิบๆ เถื่อนๆ แววตาเจ้าเล่ห์ไม่น่าไว้วางใจ หรือไม่บางครั้งก็แสดงออกถึงความก้าวร้าว ไม่ค่อยจะคิดหน้าคิดหลังให้ลึกซึ้งอะไรนัก  ดังนั้น ตัวละครที่เป็นตัวร้ายในนิยายบู๊ บุคลิกจะไม่นุ่มนวลชวนฝันอย่างแน่นอน

               อีกอย่างหนึ่งที่เป็นสิ่งเร้าให้คนอ่านสนใจนิยายบู๊ที่ตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารก็คือภาพประกอบ โดยภาพประกอบเรื่องนอกจะเป็นส่วนเสริมให้น่าอ่านแล้ว ภาพประกอบยังบอกให้รู้ถึงแนวเนื้อหาของนิยายเรื่องนั้นๆ อีกด้วย 

 

              อันที่จริงภาพประกอบนิยายบู๊ที่ตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆ นั้นจะมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากกับโปสเตอร์หนังบู๊ไทย โดยในภาพนอกจากจะมีพระเอก นางเอกแล้ว สิ่งที่มักจะปรากฏให้เห็นและจะขาดไม่ได้ก็คือปืน และหญิงสาวในชุดวาบหวิวสยิวทรวงนั่นเอง

               “เป็นยังไงบ้างเพ่...เจ๋งป่าว...คราวหน้าเราไปซ่าบนโรงพิมพ์ของเฮียชิวกันดีกว่า”

 

นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ