การแจ้งเกิดของนักเขียนสักคนนั้น นอกจากจะต้องมีฝีมือจริงๆ หรือพอจะมีฝีมือบ้างแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ “โอกาส” ซึ่งโอกาสนี่แหละที่เหนือกว่าดวงและโชควาสนา เพราะถ้าปราศจากโอกาส ก็ไม่ต่างจากการแหวกว่ายอยู่กลางมหาสมุทรอันมืดมิดเท่าใดนัก
“โอกาส” ของใครสักคนที่อยากจะเป็นนักเขียนเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ทั้งสนามให้การตอบรับผลงาน หรืองานเขียนตรงกับความต้องการของนิตยสารเล่มนั้นๆ หรือทั้งเขียนถูกใจบรรณาธิการก็เป็นได้ ตลอดจน “ความบังเอิญ” อย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผลงานของนักเขียนโนเนมก็ถือเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง
เช่นเดียวกับการแจ้งเกิดของนักเขียนที่ชื่อ “สุริยัน ศักดิ์ไธสง” ถ้าจะบอกว่าเป็นเพราะความบังเอิญของบรรณาธิการที่ชื่อ “ราช เลอสรวง” หรือ “นิวัฒน์ ธาราพรรค์” ก็ย่อมได้
“บังเอิญวันนั้นไปเปิดลิ้นชักของพี่หลอง...ในนั้นมีต้นฉบับนิยายหลายเรื่อง พอดีเจอสมุดปกแข็งเล่มหนึ่งก็เลยดึงขึ้นมาแล้วลองเปิดอ่านดู”
ราช เลอสรวง ทบทวนความทรงจำให้ฟัง สำหรับ “พี่หลอง” ที่กล่าวถึงนั้นคือ “ฉลอง ธาราพรรค์” พี่ชายของราช เลอสรวงนั่นเอง โดยช่วงหนึ่งราชได้ให้พี่ชายมาทำหน้าที่บรรณาธิการนิตยสาร “เรื่องจริง” แทน จนกระทั่งกลับมาทำหน้าที่บรรณาธิการอีกครั้ง จึงรื้อลิ้นชักโต๊ะเอาต้นฉบับของนักเขียนที่ส่งเข้ามาให้พิจารณาอ่านดู...และก็บังเอิญเจอสมุดปกแข็งเล่มนี้ซุกอยู่
“เฮ้ย...น่าสนใจนี่หว่า” ราช เลอสรวงในฐานะที่เป็นบรรณาธิการเล่าให้ฟัง “แม้ว่ามันจะเขียนไม่ค่อยดี...แต่ข้อมูลที่มันเขียนถึงเรื่องคุกเข้าท่านะ...แสดงว่าความจำไอ้คนเขียนนี่มันดีมาก เพราะให้ภาพละเอียด”
นี่คือลายมือเขียนของ “สุริยัน ศักดิ์ไธสง”
สำหรับต้นฉบับที่ซุกอยู่ในลิ้นชักนั้นคือเรื่อง “บันทึกจากลาดยาว” โดยมีลายเซ็นของผู้คุมเรือนจำเซ็นรับรองให้ผ่านการตรวจสอบมาด้วย “วัยรุ่นประลัยกัลป์” อะไรนี่แหละ”
นั่นเป็นความบังเอิญ และก็เป็นโอกาสด้วย
พี่ราช เลอสรวงเล่าว่า ต้นฉบับที่เป็นสมุดธรรมดาๆ เล่มนั้น เขียนด้วยลายมือที่บ่งบอกถึงความตั้งใจที่อยากจะเป็นนักเขียนอย่างมาก โดยเฉพาะข้อมูลที่เขียนถึง ทำให้พี่ราชติดต่อกลับไปให้มาพบที่โรงพิมพ์ หลังจากที่สุริยัน ศักดิ์ไธสงมาพบ จึงรู้ว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เขาเขียนถึงนั้นเป็นเรื่องจริง และตอนที่มาพบก็เพิ่งออกจากคุกได้ไม่นานนัก
“มันเป็นอันธพาลโบราณว่ะ”
พี่ราช เลอสรวงบอกพร้อมกลั้วเสียงหัวเราะ
สุริยัน ศักดิ์ไธสง ช่วงออกจากคุกก่อนจะบวช ขณะเดินเข้าซอยในบ้านที่บางใหญ่
เพราะเส้นทางชีวิตของ “เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์” หรือ “สุริยัน ศักดิ์ไธสง” ไม่เหมือนคนปกติทั่วไป และยังไม่หลุดจากวังวนสีดำดีนักนั่นเอง ราช เลอสรวง จึงให้ไปอยู่ที่บ้านราชบุรี
“ให้มันไปอยู่กินที่บ้านพี่ที่ราชบุรีเลยล่ะ เพื่อให้มันอยู่ห่างๆ จากวงการอันธพาลในกรุงเทพฯ โดยให้มันไปฝึกเขียนหนังสือที่โน่น”
พี่ราชจะกลับบ้านที่ราชบุรีอาทิตย์ละสองวัน ทุกครั้งที่กลับไปก็จะไปตรวจดูงานเขียนของสุริยัน
“แรกๆ เขียนใช้ไม่ได้เลย...ผมตรวจแล้วก็ให้เขียนใหม่อีก...นานเหมือนกันนะกว่าจะพอใช้ได้...ตอนที่ไปราชบุรี เวลากลับไปทีไรก็ให้เงินมันไว้ใช้ทุกครั้ง”
ในยุคปี 2500 ซึ่งเป็นยุคที่อันธพาลในกรุงเทพฯ ถูกปราบอย่างหนัก หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการปฎิวัติรัฐประหาร และใช้อำนาจประกาศจับบรรดาอันธพาลก๊วนต่างๆ ซึ่งแน่นอน “เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์” ก็เป็นหนึ่งในจำนวนอันธพาลเหล่าด้วย และยังมีอันธพาลชื่อดังอีกหลายคนที่สุริยัน ศักดิ์ไธสงเคยคลุกคลีด้วย โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่อยู่ในคุก ไม่ว่าจะเป็นแดง ไบเล่, เก๊าตี๋, ปุ๊ ระเบิดขวด, ดำ เอสโซ่, สนอง ยืนยง, มหาเหน่ และอีกหลายคน ซึ่งไม่ง่ายที่ “เปี๊ยก” จะสลัดคราบความเป็นอันพาลให้หมดสิ้นได้
แต่เนื่องจากสุริยัน ศักดิ์ไธสง มีพื้นเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และอยากจะเขียนหนังสือนั่นเอง จึงทำให้การฝึกฝนโดยมีราช เลอสรวงแนะนำสำเร็จทีละน้อย
ในที่สุดผลงานเรื่องแรกของสุริยัน ศักดิ์ไธสงก็มีโอกาสแจ้งเกิดในนิตยสาร “เรื่องจริง” โดยนิยายเรื่องแรกที่ได้ตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ก็คือเรื่อง “วัยรุ่นประลัยกัลป์” ได้รับค่าเรื่องตอนละ 200 บาท ซึ่งในยุคนั้นถือว่าไม่น้อยเลยสำหรับนักเขียนหน้าใหม่
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของสุริยัน ศักดิ์ไธสง ก็มักจะนำเอาความเดือดร้อนมาให้พี่ราช เลอสรวงบ่อยครั้ง
“ไอ้ห่า...มันต่อยไอ้กุ้งบ้าง...เผาเสื้อผ้าไอ้เป็ดบ้าง...มันตาขวางใส่คนไม่เลือก...แม้แต่บอกอนิรันศักดิ์มันยังจะเล่นเลย...แต่ผมห้ามไว้ อย่ายุ่งเด็ดขาด...มันไม่ยอมทิ้งนิสัยอันธพาล”
นั่นคือคำบอกเล่าของพี่ราช เลอสรวง โดย “ไอ้กุ้ง” กับ “ไอ้เป็ด” ที่พูดถึงนั้นเป็นลูกน้องของพี่ราชที่อยู่ในกองบรรณาธิการนิตยสาร “เรื่องจริง” ที่พี่ราชเป็นบรรณาธิการนั่นเอง
ขณะควบมอเตอร์ไซค์คู่ชีพไปส่งต้นฉบับที่โรงพิมพ์
ในบรรดานักเขียนนักแปล คนที่ควบรถมอเตอร์ไซค์มาส่งต้นฉบับที่โรงพิมพ์นั้นมีอยู่สองคนด้วยกัน นั่นคือ “สวาท ธนามี” กับ“สุริยัน ศักดิ์ไธสง” โดยบางครั้ง เวลาสุริยันไม่ขับรถมาเองแต่นั่งแท็กซี่มาส่งต้นฉบับ เขาจะพาเหยี่ยวตัวหนึ่งที่เลี้ยงไว้เกาะแขนข้างหนึ่งมาด้วย
ดังที่เคยเล่าเอาไว้แล้วว่า ร้านเจ๊เหลี่ยนที่อยู่ข้างโรงพิมพ์พลพันธ์การพิมพ์นั้นเป็นร้านประจำของบรรดานักเขียนนักแปล รวมทั้งกองบรรณาธิการนิตยสารต่างๆ ที่อยู่บนชั้นสามของโรงพิมพ์ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีสำหรับนักเขียนแฟนคลับของร้านเจ๊เหลี่ยน เพราะถ้าสุริยัน ศักดิ์ไธสงมานั่งร่วมโต๊ะด้วย ไม่สมควรพูดแขวะหรือพูดไม่เข้าหู เนื่องจากสุริยันค่อนข้างจะเป็นคนอารมณ์ร้อน โดยเฉพาะกับคนที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน หากพูดไม่ถูกหูจะตาขวางใส่ทันที
“สุริยัน ศักดิ์ไธสง” ช่วงปลายของของชีวิตก่อนจะถึงแก่กรรม
แม้กระทั่งคนที่สนิทสนมกันอย่างราช เลอสรวง ก็ยังมาถึงจุดขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนแทบจะฆ่ากันตายกันไปข้างหนึ่งเลยทีเดียว เพราะความที่สุริยันเป็นอันธพาลมาก่อนและไม่ไว้วางใจใคร อยู่ท่ามกลางความหวาดระแวง ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพี่ราช เลอสรวง กับสุริยัน ศักดิ์ไธงสง จึงสิ้นสุดลงด้วยเหตุผลดังกล่าว
นี่เป็นฉากหนึ่งของนักเขียนบู๊ บนโรงพิมพ์ชั้นสามนั้นยังมีเรื่องเล่าอีกมากมาย โดยเฉพาะนักเขียนบู๊หน้าใหม่โนเนมที่เพิ่งหัดเขียนคนหนึ่ง...
คราวหน้าจะเล่าให้ฟัง!