ประชาธิปไตยสยามยุทธ และอักษรไม่เงียบเสียงของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : และผลงานมากมายที่ยังคงเผยตัวต่อสังคมไทย

ประชาธิปไตยสยามยุทธ และอักษรไม่เงียบเสียงของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

          ยังเป็นชื่อที่ทรงพลังในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยไม่เคยเปลี่ยนสำหรับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

          แม้เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จะพ้นผ่านมานานถึง 50 ปีเต็ม เช่นเดียวกับชีวิตและผลงานของอดีตผู้นำนักศึกษาที่ถูกบันทึกไว้บนรอยทางการต่อสู้ จากเมืองสู่ป่า จากป่าสู่ถนนสายวิชาการ สะท้อนพัฒนาการทางความคิดในแต่ละห้วงยาม ในแต่ละยุคสมัย ในแต่ละเจเนอเรชั่นที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทวงถามถึงสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

          ประพันธ์สาส์น คือ หนึ่งในสำนักพิมพ์ที่เผยแพร่ถ้อยคำแห่งความคิด แห่งอารมณ์ แห่งความรู้สึก ฯลฯ ของบุคคลสำคัญท่านนี้อย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ
          โดยในปีนี้ ในโอกาสครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา จึงเป็นวาระพิเศษที่ผลงานของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ถูกนำมาจัดพิมพ์ และรวบรวมไว้ด้วยเจตจำนงเชิงอุดมการณ์ หาใช่เพียงเพราะเหตุผลเชิงทุนนิยมอย่างคำว่า 'ขายได้' 10 ปี 20 ปี 30 ปี 'ไม่มีล้าสมัย' การเมืองไทย ในสายตา 'พี่เสก'
        
          ฤดูกาล, อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ, ความฝันเดือนตุลา, ผ่านพบไม่ผูกพัน, วันที่ถอดหมวก, วันที่หัวใจ กลับบ้าน, วิหารที่ว่างเปล่า, คนหาปลา, มหาวิทยาลัยชีวิต, บุตรธิดาแห่งดวงดาว, เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง, ดอกไผ่, ทาง, ผู้ยิ่งใหญ่, สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว, สายน้ำและทางช้าง, ข้าวเม็ดน้อย, ประชาธิปไตยสยามยุทธ ฯลฯ
          เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เก่าแก่อย่างประพันธ์สาส์น บ้างคือการพิมพ์ครั้งแรกสดๆ ร้อนๆ บ้างคือการตีพิมพ์ครั้งที่ (เกิน) สิบไปหลายครั้ง ครอบคลุมการเมือง ชีวิต ความคิด ปาฐกถา ปรัชญา และ อีกมากมายแล้วแต่ใจ (ผู้อ่าน) นิยาม

 

อาทร เตะชะธาดา

 

          อาทร เตชะธาดา ในฐานะ 'แชร์แมน' แห่งประพันธ์สาส์น เผยว่า ตั้งใจเผยแพร่ผลงานของ 'พี่เสก' ให้มากที่สุดในวาระ 50 ปี 14 ตุลา

          "งานเขียนเหล่านี้สะท้อนความคิดของพี่เสกตั้งแต่ก่อนเข้าป่า หลังออกจากป่า นอกจากนี้ ยังมีเล่มที่รวมปาฐกถาดีๆ ที่ได้รับเชิญ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ้าง มูลนิธิป๋วย อึ๊งภากรณ์บ้าง หรือสมาคมสังคมศาสตร์ฯ บ้าง ถ้าใครอ่านจะตกใจว่าทำไมเหมือน นอสตราดามุส มองการเมืองล่วงหน้าในเชิงระบบแบบ ภาพรวม
          แม้แต่การแสดงความคิดเห็น ก็ผ่านการค้นคว้า ย้อนไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนมาถึง 2475 กระทั่ง 14 ตุลา และหลัง 14 ตุลา จนมาถึงการเมืองยุคโลกาภิวัตน์ แล้วมองข้ามไปข้างหน้า ในแง่เนื้อหา 10 ปีมาอ่านก็ไม่ ล้าสมัย 20 ปีมาอ่านก็ไม่ล้าสมัย 30 ปีมาอ่านก็ไม่ล้าสมัย
          ถ้าใครได้อ่านงานพวกนี้ มันไม่ใช่แค่การเมืองเรื่องประชาธิปไตยเท่านั้น มันเป็นเรื่องหลังจากคุณต้องผ่านสงครามภายนอก และที่สำคัญคือสงครามภายใน ที่พี่เสกใช้คำว่า สมรภูมิภายใน
          ถ้าจะพูดถึง คุณูปการของที่มีต่อวงวรรณกรรม ศิลปินแห่งชาติไม่ใช่ได้มาลอยๆ การเขียนภาษาไทยใหม่ เป็นภาษาไทยที่เห็นภาพ มีการรังสรรค์ถ้อยคำใหม่อย่างเข้าใจง่ายและเป็นที่ยอมรับ คนอ่านหนังสือทุกคนประจักษ์ดี
          นอกจากภาษาไพเราะแล้ว ความคิดก็เหมือนกวี บางเล่มเป็น ผลงานสารคดี แต่ภาษาเหมือนวรรณกรรม บางมุมอาจเกี่ยวกับชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้ หลายเล่ม พี่เสกเอา ตัวเองไปผูกโยงกับเนื้อเรื่อง ใช้คำว่า ผม อ่านเมื่อไหร่คนอ่านก็ได้ สิ่งที่ฝากเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ความลุ่มลึก การรู้จักตัวเอง ได้พบอะไรที่มีคุณค่ากับชีวิตอีกทางหนึ่ง"
อาทรเล่า


          เปิดเล่มใหม่ 'ประชาธิปไตยสยามยุทธ' ในวันที่ 'ผมวางมือเรื่องทางโลก'


          ประโยคท้ายๆ ของแชร์แมนประพันธ์สาส์น สอดรับกับข้อความใน 'หมายเหตุจากผู้เขียน' ลงท้ายในเดือนสิงหาคม 2566 ในเล่มไฮไลต์ อย่าง 'ประชาธิปไตยสยามยุทธ' รวมบทความและปาฐกถา (พ.ศ.2525-2562) ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หมาดๆ ซึ่งเสกสรรค์ระบุไว้ในตอนหนึ่งว่า


          '.....คงต้องขออนุญาตชี้แจงว่าผมได้วางมือเรื่องทางโลกมาพักใหญ่แล้ว เนื่องจากต้องการใช้วัยชราไปในการเจริญความสงบภายใน แต่ที่ยกเว้นให้กับการรวบรวมต้นฉบับครั้งนี้ก็เพราะจำเป็นต้องตอบสนองความตั้งใจดีของทางสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นซึ่งมีมิตรสัมพันธ์กันมายาวนาน
          พ้นจากนี้แล้ว ผมไม่มีความปรารถนา ใดๆ ที่จะกลับไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของผู้อื่น
          ขอให้ทุกท่านพบกับความสุขสันติและปลอดภัยจากหายนะทางอารมณ์ทั้งปวง'


          การันตีสัมพันธ์อันแสนดีระหว่างนักคิดนักเขียนคนสำคัญกับสำนักพิมพ์ในตำนาน ดังเช่นที่อาทรย้อนเล่าว่า เคยสัมภาษณ์เสกสรรค์ ที่เจ้าตัว เรียกว่า 'พี่เสก' ทุกคำ ตั้งแต่ พ.ศ.2527 ตีพิมพ์ 'มาจากป่าชายเลน' ความทรงจำอันขาดวิ่น ของนักเดินทางผู้ว้าเหว่ เมื่อเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ภายใต้หลังคา สำนักพิมพ์เทียนวรรณ

 

         "เดี๋ยวเล่าเท้าความก่อน เล่มแรกที่พิมพ์ของ พี่เสก คือ มาจากป่าชายเลน จำได้ว่า ยอดพิมพ์ 4 พันเล่ม ขายแป๊บเดียวหมด ตอนนั้นไม่ได้ทำงานที่บ้าน (ประพันธ์สาส์น) แต่มีสำนักพิมพ์ส่วนตัว คือ เทียนวรรณ ทำปาจารยสาร"


          ตัดภาพมาในวันนี้ หลังพ้นผ่านไปเกือบ 4 ทศวรรษ จากเล่มแรกที่ 'ดีล' ไม่ลับกับเสกสรรค์ ถ่ายทอดสารคดีชีวิตจริง สู่เล่มแล้วเล่มเล่า ใต้หลังคาประพันธ์สาส์น รวมแล้วยกเซตนับสิบ
          อาทรย้ำว่า สถานะตอนนี้ของตัวเองคือ 'เกษียณแล้ว' ขอดูแลเฉพาะ 'นักเขียนที่รักชอบกันเป็นพิเศษ'นอกเหนือจากนี้ปล่อยให้รุ่นหลังดูแล
          "เป็นความภาคภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่เสก ผู้ซึ่งทำงานฝากไว้กับแผ่นดิน เป็นแรงบันดาลใจที่ผมเคารพนับถือ เป็นคนธรรมดาสามัญ ลูกชาวประมง แม่ค้าขายหาบเร่ ที่ใช้ชีวิตอย่างไม่ธรรมดา เป็นผู้นำนักศึกษาที่โดดเด่น เป็นนักอ่านที่ลุ่มลึก เรียนจนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างคอร์เนล ถือเป็นแบบอย่างสำหรับคนรุ่นใหม่"


          ตัวอักษรไม่เคยเงียบเสียง คัดไฮไลต์ แย้มปกหน้า 'ไม่ผลีผลาม-ทำดีที่สุด'


          นอกเหนือจากผลงานนับสิบที่ตีพิมพ์เป็นเล่มเรียบร้อยแล้วนั้น แชร์แมนอาทรยังแย้มว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิมพ์ 'การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย' คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้
          "เราไม่ได้ทำงานแบบผลีผลามหรือ รีบร้อน จะทำออกมาให้ดีที่สุด"


          จากนั้นหันไปหยิบหนังสือแต่ละเล่ม บอกเล่าเนื้อหาสังเขปอย่างภาคภูมิและออกรส


          ไม่ว่าจะเป็น 'ประชาธิปไตยสยามยุทธ' บทรวมปาฐกถาซึ่งกล่าวถึงพื้นที่ต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยไทย อันประกอบไปด้วยปัจจัยทางอำนาจหลากหลายของสังคมไทย ซึ่งมีส่วนก่อรูปขึ้นเป็นประชาธิปไตยไทยอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน และสำหรับผู้มีความสนใจต่อพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งการเมืองไทย
หนังสืออำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ 

               'อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ' ชวนอ่านในห้วงเวลาที่ผู้คนถกเถียงในบัญญัติว่าอะไรเป็นประชาธิปไตย อะไร ไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วเถียงกันเอาเป็นเอาตาย โดยลืมไปว่าทั้งหมด เป็นแค่สมมุติสัจจะ เป็นความจริงสัมพัทธ์ที่ขึ้นต่อนานาปัจจัย และไม่มีอันใดเที่ยงแท้ถาวร

           'ความฝันเดือนตุลา' ซึ่งจัดพิมพ์เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา เมื่อสิบปีก่อน บทรวมปาฐกถาของเสกสรรค์ ในฐานะอดีต แกนนำนักศึกษา ผู้นำเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์ 14 ตุลา และผ่านมา 40 ปี เขามีมุมมองและความคิดต่อการเมืองไทยและรัฐธรรมนูญไทยเปลี่ยนไปจากเมื่อครั้งเป็นนักศึกษามากมาย มีความละเอียดและพินิจพิเคราะห์มากขึ้น มองเห็นความเป็นจริงที่รายล้อมสนามทางการเมืองไทยมากขึ้น กระนั้นก็ตาม ความฝันของเขาที่จะได้เห็นรัฐธรรมนูญไทยเป็นที่สถิตซึ่งอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม


          'คนกับเสือ' รวมเรื่องสั้นสะท้อนสังคมในนามของความเจริญ ที่ไม่อนุญาตให้ผู้คนได้เป็นเสือนัก หลายครั้งเราจะพบว่าสังคมมักจะต้อนผู้คนให้ต้องเลือก ระหว่างต้องถูกกำราบให้เป็นสัตว์สังคม หรือถูกล่าล้างให้สูญหายเฉกเช่นเสือ นั่นหมายถึงว่าเสือมิอาจอยู่ร่วมกับคนกระนั้นหรือ จึงต้องถูกตราหน้าว่าเป็นขบถ ถูกบังคับให้สูญหายในความหมายของจิตวิญญาณ ไม่ให้เหลือความเป็นเสือในตัวตนอีกต่อไป

          'บุตรธิดาแห่งดวงดาว' รวบรวมเอาความนึกคิดของเสกสรรค์ ไปจนถึงห้วงอารมณ์ความรู้สึกในช่วงแรกชรากำลังมาเยือน
          ราวกับความตระหนักรู้บางอย่างที่ค้นพบจากความผิดพลาดของตนเอง กระทั่งนำไปสู่การให้อภัยตนเองในท้ายที่สุด

          'คนหาปลา' นิยายเรื่องแรกของเสกสรรค์ ที่พยายามเขียนขึ้นตั้งแต่ยังเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา กระทั่ง 30 ปีต่อมา จึงได้หยิบนำมาปรับปรุงอีกครั้งนับจากการ ตีพิมพ์ครั้งแรก แรงบันดาลใจมีมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักปฏิวัติในราวป่า

          แม้วันนี้ เสกสรรค์ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ ดังเช่นที่อาทรเผยว่า นักคิดคนสำคัญท่านนี้ ยินดีที่จะถูกลืม ทว่า ผลงานมากมายยังคงเผยตัวต่อสังคมไทย ส่งเสียงอย่างไม่เคยเงียบงัน
หนังสือ เสกสสรค์ ประเสริฐกุล


          ผลงานชิ้นเอก โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้มีชีวิตเป็นตำนาน
          หาซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือบูธสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น J36
          งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28
          วันนี้-23 ตุลาคมณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7
          รายละเอียดเพิ่มเติม เฟซบุ๊ก Praphansarn.com
          www.praphansarn.com โทร 0-2448-0312

 

 

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์ - เรื่อง

พัทรยุทธ ฟักผล - ภาพ