เฮียชิว สุพล เตชะธาดา : ผู้ตราชื่อประพันธ์สาส์น

เฮียชิว สุพล เตชะธาดา

ด้วยสายสัมพันธ์แห่งวงการน้ำหมึก เป็นเหตุให้ทายาทคนโตของร้านผดุงศึกษา ได้มีโอกาสเรียนรู้และซึมซับ เรื่องการทำงานหนังสือของพ่อ และยังได้คลุกคลีกับนักเขียนมากหน้าหลายตา จนถึงวัยที่สามารถช่วยเหลือการงานของที่บ้านได้ เขาก็ได้รับหน้าที่สำคัญๆ หลายอย่าง และมีบทบาทในสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาอยู่มากพอสมควร เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อถึงวัยของการมีครอบครัว ก็ย่อมคิดสร้างเนื้อสร้างตัว ด้วยวัยและความสามารถที่สั่งสมมา ทำให้เขาคิดที่จะเปิดกิจการเป็นของตัวเอง และนั่นก็คือที่มาของ สำนักพิมพ์ชื่อ “ประพันธ์สาส์น” สำนักพิมพ์ลูกที่คลอดมาจาก “ผดุงศึกษา” จากผดุงศึกษาสู่ประพันธ์สาส์น

เมื่อศูนย์กลางแห่งการค้าแห่งใหม่ถือกำเนิดขึ้น สำนักพิมพ์ผดุงศึกษาจึงเปิดสาขา ๒ ขึ้น ที่ย่านวังบูรพา โดยคุณทรวงเป็นผู้เข้าไปควบคุมดูแลกิจการด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิด ส่วนร้านที่เวิ้งนาครเขษมก็ให้คุณลิ้ม น้องชายคนที่ ๓ เป็นผู้ดูแล จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เมื่อคุณลิ้มแยกไปตั้งสำนักพิมพ์ประมวลสาส์นอยู่ย่านโรงภาพยนตร์เฉลิมเขต คุณทรวงจึงให้บุตรชายคนโตกลับไปดูแลร้านผดุงศึกษาที่เวิ้งนาครเขษม

สุพล เตชะธาดา หรือที่รู้จักกันในแวดวงนักเขียนว่า “เฮียชิว” บุตรชายคนโตของคุณทรวง แห่งสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ คลุกคลีอยู่กับสำนักพิมพ์ของที่บ้านมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อเขาโตขึ้นจนรับผิดชอบงานได้แล้ว ก็รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับนักเขียนและโรงพิมพ์ ร้านค้า สายส่ง ฯลฯ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นผู้จัดการของสำนักพิมพ์นั่นเอง สุพลช่วยพ่อทำงานมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น จนเมื่อผดุงศึกษาไปเปิดสาขา ๒ ที่วังบูรพาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่สุพลแต่งงานกับประพันธ์ สองสามีภรรยาก็ช่วยกันดูแลกิจการอยู่ที่ร้านวังบูรพา มีลูกสาวเล็กๆ น่ารักหนึ่งคนชื่อ สุภิตา เตชะธาดา ร้านที่เวิ้งฯ ในตอนนั้นจึงมีคุณลิ้มเป็นผู้ดูแล พิมพ์หนังสือขายและใช้เป็นที่เก็บหนังสือด้วย

เมื่อคุณลิ้ม เตชะธาดา อาของสุพลแยกออกไปตั้งประมวลสาส์น คุณทรวงจึงยกร้านที่เวิ้งนาครเขษมให้สุพลและประพันธ์เป็นผู้ดูแล และในปีเดียวกับที่ได้รับช่วงร้านที่เวิ้งนาครเขษม ต่อจากบิดา สุพลก็ได้ตั้งสำนักพิมพ์ใหม่ของตัวเอง ให้ชื่อศรีภรรยานำโชค ว่า “ประพันธ์สาส์น” เพื่อตีพิมพ์ผลงานแนวใหม่ โดยทำควบคู่ไปกับผดุงศึกษา ฉะนั้นในระยะแรกประพันธ์สาส์นจึงตั้งอยู่ที่เดียวกับผดุงศึกษาสาขาแรกนั่นเอง คือ บ้านเลขที่ ๒๓๐ นครเกษม กรุงเทพฯ โดยตรงกลางยังติดป้ายใหญ่ว่า “ผดุงศึกษา” ส่วนด้านข้างติดป้ายเล็กๆ ว่า “ประพันธ์สาส์น”

การแยกออกมาตั้งประพันธ์สาส์นนั้น สุพลไม่เพียงแต่ได้รับร้านผดุงศึกษาจากพ่อเท่านั้น แต่ยังมีประสบการณ์พร้อมทั้งสายสัมพันธ์กับนักเขียนตั้งแต่รุ่นพ่อ เช่น ป. อินทรปาลิต เลียว ศรีเสวก มนัส จรรยงค์ ที่รับสืบทอดมาอีกด้วย จนกระทั่งนักเขียนรุ่นใหม่ๆ อย่าง วิชิต เพ็ญมณี ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ นพพร บุณยฤทธิ์ รัตนะ ยาวะประภาษ นักเขียนรุ่นนี้ส่วนใหญ่จะรู้จักกันในวงการหนังสือพิมพ์มาก่อน เพราะหนังสือพิมพ์ช่วงนั้น เช่น สยามรัฐ ปิยะมิตร จะต้องมีเรื่องสั้นประกอบ ดังนั้นกลุ่มนักหนังสือพิมพ์และกลุ่มนักเขียนจึงเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

ผลงานตีพิมพ์ชิ้นแรก โดยการจัดการของสุพล อันเป็นก้าวแรกก่อนการตั้งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ได้มาจากคำแนะนำของประเสริฐ พิจารณ์โสภณ ให้รวมพิมพ์ผลงานของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งเขียนประจำให้กับสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ในขณะนั้น และเริ่มมีผลงานเป็นที่ติดตามของบรรดานักอ่าน ผลงานรวมเล่มเรื่องแรกของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ และก้าวแรกของสุพลในการจัดพิมพ์งานแนวใหม่ที่ต่างจากผดุงศึกษาของบิดาชิ้นนี้ตีพิมพ์ออกมาในชื่อ หนาวผู้หญิง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นปกแข็งขนาดมาตรฐานที่กำลังนิยมกันอยู่ในขณะนั้น ปรากฏว่า หนาวผู้หญิง ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

เมื่อตั้งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ผลงานตีพิมพ์ส่วนมากยังคงเป็นของนักเขียนรุ่นใหญ่ เช่น น้อย อินทนนท์ (มาลัย ชูพินิจ) และ มนัส จรรยงค์ ชุด “เฒ่า” เช่น เฒ่าโลกีย์ เฒ่าลอยลม เฒ่าโพล้ง เฒ่าเหมือน เฒ่าหนู และจบด้วยเล่มสุดท้ายคือ สวัสดี ฒ ผู้เฒ่า ผลงานของอิงอร เช่น ดรรชนีนาง งานของประมูล อุณหธูป เรื่อง จันดารา เป็นต้น ผลงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นนิยายขนาดยาวที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร แล้วจึงนำมาพิมพ์รวมเล่มเป็นปกแข็ง

นักเขียนรุ่นใหญ่ที่กล่านี้รวมทั้ง ป. อินทรปาลิต ซึ่งยังคงเขียนเรื่องส่งให้ผดุงศึกษาอยู่ แม้สุพลจะแยกออกมาตั้งประพันธ์สาส์นแล้ว หนังสือชุดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมากของ ป. อินทรปาลิต ในช่วงนี้คือ ชุดศาลาโกหก ที่ทำรายได้ดีและมีอายุยืนยาวที่สุด ซึ่งออกมาระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๑๑ เฉลี่ยปีละประมาณ ๑๐ - ๑๖ เล่ม กระทั่งปัจจุบันหนังสือชุดนี้ก็ยังคงขายได้ นอกจากนั้นยังมีชุด ศาลาปีศาจ ศาลาระทม ออกมาด้วย แต่ไม่เป็นที่นิยมมากเท่ากับ ศาลาโกหก ซึ่งการจัดการหนังสือชุดนี้ใช้นามของผดุงศึกษาและประพันธ์สาส์นควบคู่กันไป

เมื่อแยกมาตั้งประพันธ์สาส์นในระยะแรก จะยังเห็นความเกี่ยวพันกับผดุงศึกษาได้อย่างชัดเจน นอกจากสำนักพิมพ์ที่เวิ้งนาครเขษมจะติดป้ายทั้งผดุงศึกษาและประพันธ์สาส์นแล้ว ประพันธ์สาส์นยังใช้ตราสัญลักษณ์แบบเดียวกับผดุงศึกษา คือ รูปวงกลมมีคบเพลิงอยู่ตรงกลาง และคาดด้วยแถบชื่อสำนักพิมพ์ “ผดุงศึกษา” เพียงแต่เปลี่ยนเป็นชื่อสำนักพิมพ์ “ประพันธ์สาส์น” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนสัญลักษณ์ของสำนักพิมพ์ โดยใช้ตัวย่อของภาษาอังกฤษ P.S. ซึ่ง P หมายถึง ประพันธ์ ส่วน S หมายถึง สุพล โดยมีคำว่าประพันธ์สาส์นวิ่งเป็นวงโค้งอยู่ทางมุมขวาล่าง สัญลักษณ์นี้ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนอีกเล็กน้อยในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และ พ.ศ. ๒๕๔๕ เมื่อสุพลได้เปิดสาขาที่โรงภาพยนตร์สยามและโรงภาพยนตร์ลิโด้ และอาทร เตชะธาดา บุตรชายคนโตของสุพลดูแลประพันธ์สาส์นในยุคปัจจุบันตามลำดับ

ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๐๘ ในช่วงที่กิจการประพันธ์สาส์นกำลังก้าวขึ้นมาเป็นสำนักพิมพ์น้องใหม่ ภายใต้รากฐานสำนักพิมพ์เก่าแก่อย่างผดุงศึกษานั้น เป็นช่วงที่ เพลินจิตต์ สำนักพิมพ์ที่เป็นตึกใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนสี่แยกหลานหลวง ยักษ์ใหญ่ของวงการสำนักพิมพ์ที่รุ่งเรื่องมาตั้งแต่ยุคนิยาย ๑๐ สตางค์นั้น ปรากฏผลงานน้อยลงซึ่งเป็นช่วงขาลงของสำนักพิมพ์ เนื่องมาจากความขัดแย้งทางธุรกิจภายในของสำนักพิมพ์เอง จนกระทั่งจบบทบาทของสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ไปอย่างรวดเร็ว การก้าวขึ้นมีบทบาทในวงการของน้องใหม่อย่างประพันธ์สาส์นจึงไม่ใช่เรื่องยากนัก

ตามลักษณะการทำงานทั่วไปของสำนักพิมพ์ ต่างก็ต้องมีบรรณาธิการที่ทำหน้าที่ในการหาต้นฉบับมาพิมพ์ หรือที่เรียกกันว่ากุนซือ เช่น โอเดียนสโตร์ มี พิชัย รัตนประทีป เป็นบรรณาธิการ สำนักพิมพ์สยาม มี ก้อง อินทรกำจร เป็นบรรณาธิการ บางแห่งก็มีบรรณาธิการแบบไม่เป็นทางการเช่น สำนักพิมพ์ก้าวหน้า ผูกขาดงานของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้ ประมูล อุณหธูป บรรณาธิการชาวกรุง ในสังกัดของสยามรัฐช่วยดูแลให้ เป็นต้น สำหรับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นนั้น ก็มีวิชิต เพ็ญมณี นักเขียน นักแปล นักหนังสือพิมพ์ ที่สนิทสนมกันดีกับสุพล เป็นบรรณาธิการคนแรก และยังเป็นผู้ที่ออกแบบโลโก้ P.S. ให้กับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นอีกด้วย ซึ่งจะอ่านว่าประพันธ์สาส์นก็ได้ หรือจะให้ความหมายว่า ประพันธ์-สุพล ก็ได้เช่นกัน และเป็นสัญลักษณ์ของสำนักพิมพ์ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเพียงเล็กน้อย

วิชิต เพ็ญมณี เริ่มชีวิตการเป็นนักเขียนและคนวงการหนังสือ หลังจากเรียนจบแขนงวิชาหนังสือพิมพ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีโอกาสทำหน้าที่ตรวจบรู๊ฟ-พิสูจน์อักษร อยู่ที่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ-ประชามิตร ของกลุ่มสุภาพบุรุษที่โรงพิมพ์อักษรนิติ วังบางขุนพรหม ในช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ เขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากแล้ว

บรรณาธิการคนต่อมาของประพันธ์สาส์น หลังจากวิชิต เพ็ญมณี ก็คือ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ ซึ่งก็มีส่วนร่วมกับสุพลและวิชิตมาตั้งแต่แรกแล้ว ช่วงที่ประเสริฐมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการเป็นช่วงเดียวกับที่สุพลได้รวมหุ้นกับเพื่อนออกนิตยสาร ขวัญจิต ที่ทำอยู่ได้ไม่นานนัก็เลิก ต่างกับการจัดพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊ก ที่กำลังเติบโตไปได้อย่างสวยงาม

ประพันธ์สาส์นกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะรากฐานที่มั่นคงจากการส่งต่อจากสำนักพิมพ์พ่อ สู่สำนักพิมพ์ลูก ความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นที่มีกับนักเขียนรุ่นใหญ่ และมิตรภาพที่เกิดขึ้นกับนักเขียนรุ่นของสุพลเอง ทำให้ธุรกิจเดินควงคู่ไปกับความเป็นเพื่อน และเดินไปข้างหน้าด้วยหนทางที่ราบรื่น

 

เรียบเรียงโดย...ลักขณา

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ