เปิดตัว ‘Shayna’ : เจ้าของนวนิยายดีสู่ละครดัง ‘เสน่หาสัญญาแค้น’ และ ‘หงส์’

เปิดตัว ‘Shayna’

สำหรับนักอ่านและคอละครโทรทัศน์ คงยอมรับว่าละครสนุก ๆ หลายเรื่อง มักเกิดจากบทประพันธ์ที่มีคุณภาพ เหตุนี้ทำให้นักเขียนหลายคน ‘แจ้งเกิด’ ในบรรณพิภพด้วยบทประพันธ์ที่นำไปดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ เช่นเดียวกับ‘Shayna’ หรือ‘เรนนี่’สาวอีสานนักเขียนจากอุบลราชธานีคนนี้ นวนิยายหลายเล่มของเธอเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการสร้างเป็นละครดัง ไม่ว่าจะเป็น ‘เสน่หาสัญญาแค้น’ และ ‘หงส์’ หนึ่งในนวนิยายซีรี่ส์ชุด ‘เลือดมังกร’ รวมไปถึงเรื่อง ‘ลูบคมกามเทพ’ ในซีรี่ส์ ‘กระท่อมกามเทพ’ ที่กำลังถ่ายทำอยู่และจะออนแอร์ในไม่ช้า มาทำความรู้จักนักเขียนสาวสวยคนนี้ให้มากขึ้นกันเถอะ

 

all : ‘Shayna’ เริ่มต้นชีวิตนักเขียนได้ยังไง
Shayna
: จุดเริ่มต้นจริง ๆ เลยคือเป็นคนที่ชอบอ่านนิยายมาตั้งแต่เด็กค่ะ สมัยเรียนมัธยมก็เจียดค่าขนมไว้เช่านิยายอ่านตลอด พอเรียนมหาวิทยาลัยก็ยิ่งอ่านหนักขึ้นไปอีก เพราะเหมือนกับเราได้พาตัวเองไปอยู่ในโลกของจินตนาการ พอย้ายมาอยู่อเมริกา เรนนี่เหงา ๆ ก็เลยลองค้นหานิยายออนไลน์อ่าน ไปเจอนิยายในเว็บเด็กดี อ่านไปได้ประมาณ 5 เรื่อง ก็เริ่มคิดและถามตัวเองว่าทำไมไม่ลองเขียนดูบ้าง ถ้าจำไม่ผิดช่วงที่ลงมือเขียน เป็นช่วงปลายปี 2551 ค่ะ พอได้เขียนและเห็นฟีดแบ็คจากผู้อ่านก็เริ่มมีกำลังใจฮึกเหิม อยากเขียนต่อไปเรื่อย ๆ ช่วงแรกที่เขียนนั้น เขียนได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 10 หน้า A4 เลยนะคะ แต่ก็ไม่ได้คาดหวังหรือคิดถึงเรื่องการนำเสนอต้นฉบับต่อสำนักพิมพ์เพื่อนำไป ตีพิมพ์เลยสักครั้ง เพราะยังคิดว่าฝีมือยังไม่เข้าขั้น (ยิ้ม) ความคิด ณ จุดนั้นคือ ต้องการเขียนเพื่อตอบสนองความสุขของตัวเองโดยแท้จริง ทว่าพอเริ่มเขียนเรื่องที่สอง ติดอันดับท็อปฮิตในเว็บไซต์เด็กดี ก็มีหลายสำนักพิมพ์ติดต่อมา ครั้งแรกที่ได้อ่านข้อความจากบรรณาธิการที่ติดต่อขอนำไปตีพิมพ์นั้น ร้องดีใจเหมือนคนบ้าอยู่หนึ่งวันเต็มๆ เลยค่ะ (หัวเราะ) เพราะความฝันเล็ก ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในหัวใจกำลังจะเป็นจริง

all : ทราบว่า เรนนี่มีหลายนามปากกา เช่น Shayna, เศกศัณย์ บรรณวิชญ์, ศิรพิชญ์ แต่ละนามปากกามีที่มาอย่างไร และใช้ในแนวเขียนที่แตกต่างกันไหม
Shayna
: นามปากกาที่ใช้หลัก ๆ และใช้ตั้งแต่เริ่มเขียนนิยายมาคือ Shayna (อ่านว่า เช – นา) ค่ะ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย นอกจากหาชื่อที่ตัวเองชอบ แล้วก็คิดว่าถ้ามีลูกสาวจะให้ชื่อ Shayna เพราะมีความหมายดี คือ ผู้เป็นที่โปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้า แต่พอมีลูกสาวจริง ๆ กลับเลือกชื่ออื่นซะงั้น (หัวเราะ) เรนนี่ใช้นามปากกา Shayna สำหรับเขียนนิยายรักที่แฝงความดราม่าและแอ๊คชั่นค่ะ ส่วนนามปากกา‘เศกศัณย์ บรรณวิชญ์’ เลือกเอาไว้สำหรับเขียนนิยายแนวผจญภัย และ ‘ศิรพิชญ์’ เป็นนามปากกาที่ตั้งใจเอาไว้ว่าจะใช้สำหรับเขียนแนวรักคอเมดี้ค่ะ

all : เรียนจบการท่องเที่ยว และทำงานด้านไอที แล้วเหตุผลที่เรนนี่ชอบเขียนหนังสือคืออะไร
Shayna
: คงเพราะเป็นเรนนี่ชอบอ่านชอบเขียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ค่ะ สมัยก่อนเรนนี่มักจะเขียนไดอารี่เก็บไว้เสมอ แต่ก็ไม่ถึงกับเขียนทุกวันหรอกนะคะ เขียนเฉพาะในวันที่มีเรื่องสวยงามน่าจดจำ กับวันที่ไม่มีอะไรน่าจดจำมาก ๆ เท่านั้นเอง พอเริ่มเขียนนิยายก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ทำแล้วมีความสุข อะไรที่เราเรียนรู้ ได้อ่าน ได้เห็น ได้พบมาก็สามารถเอามาประยุกต์ใส่ในงานเขียนนั้น ๆ ได้

all : งานเขียนชิ้นแรกได้แนวคิดหรือแรงบันดาลใจมาจากไหน
Shayna
: แรงบันดาลใจก็คือนิยายที่อ่านออนไลน์เลยค่ะ ประมาณว่าพออ่านนิยายของคนอื่นแล้ว ก็เริ่มคิดว่าแบบนี้เราก็เขียนได้นี่นา แต่เรนนี่ก็คงเหมือนกับนักเขียนทุก ๆ ท่าน ที่ตอนแรกเขียนแบบไม่ได้กะเกณฑ์หรืออิงหลักการเขียนอะไรเลย เรียกว่าเขียนเอามันแค่นั้น (หัวเราะ) อะไรที่คิดได้ขณะนั้นก็พิมพ์ลงแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง พอเวลาผ่านไป กลับไปอ่านงานชิ้นแรก ๆ ก็เกาหัวแกรก ๆ ส่ายหน้าให้ตัวเองในกระจก ด้วยความคิดที่ว่า เฮ้ย ! ฉันเขียนลงไปได้อย่างไรเนี่ย คำซ้ำก็เยอะ พล็อตก็เน่า ฯลฯ สารพัดจะบ่นกับตัวเอง แต่ถึงอย่างไรก็แอบภูมิใจในตัวเองอยู่ดี เพราะถ้าไม่ลงมือเขียนงานชิ้นแรกในวันนั้น ก็คงจะไม่มีเราในวันนี้ (ยิ้ม)

all : เขียนหนังสือมาหลายเล่ม Shayna มีหลักในการคิดพล็อตและกลวิธีการประพันธ์อย่างไร
Shayna
: ส่วนมากเรนนี่ไม่ได้มานั่งคิดพล็อตเอาเป็นเอาตายหรอกค่ะ พล็อตส่วนมากมักจะมาจากการดูข่าว โชว์ สารคดี ฝัน เรื่องเล่า หรือเหตุการณ์ที่เจอมากับตัวเอง แล้วก็ปิ๊งพล็อตขึ้นมาทันที จากนั้นก็มาคิดต่อยอด ลงรายละเอียดว่าเส้นเรื่องหลักเป็นแบบนี้ แล้วเราจะเพิ่มรายละเอียดและตัวละครตัวไหนเข้ามาเพื่อให้เรื่องราวมีสีสัน น่าติดตามยิ่งขึ้น ส่วนกลวิธีในการประพันธ์นั้น เรนนี่มักจะนำเสนอเรื่องราวโดยการดึงคนอ่านให้เข้ามาอยู่ในนิยาย คือทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ร่วมกับตัวละคร วิธีการนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกร่วมและอินกับเนื้อหามากยิ่งขึ้นค่ะ การ นำเสนอแบบนี้ตรงข้ามกับวิธีการนำเสนอแบบเล่าเรื่องให้ผู้อ่านฟัง เพราะในฐานะผู้อ่าน พอรู้สึกว่าเราอ่านนิยายสักเรื่อง แล้วรู้สึกเหมือนกับคนเขียนมานั่งเล่าเนื้อเรื่องให้ฟังว่าใครทำอะไร อยู่ที่ไหน กับใคร อย่างไร มันจะไม่ตื่นเต้น ไม่น่าติดตามเท่ากับการเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นกับตัวละคร

all : นวนิยายเล่มไหนที่ทำให้ Shayna เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านไทย
Shayna
: ถ้าเป็นเรื่องที่ถือได้ว่ามีคนติดตามมากที่สุดก็คงจะเป็นเรื่อง ‘แรงพยาบาท ไฟปรารถนา’ ซึ่ง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เสน่หาสัญญาแค้น’ และได้สร้างเป็นละครโทรทัศน์ค่ะ เรื่องนี้มีจุดเด่นตรงความเป็นดราม่าที่เล่นกับความรู้สึกของคนค่ะ ในโลกของความเป็นจริงมันยากมากที่เราจะให้อภัยคนที่ทำลายความสุขของเรา และเปลี่ยนมาเป็นรักเขาในตอนจบได้ ในส่วนของเนื้อหานั้น ในละครดัดแปลงออกมาแตกต่างจากในนิยายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะครึ่งหลังที่เพิ่มตัวละครอื่นเข้ามาค่ะ

all : ในฐานะนักเขียน เรนนี่รู้สึกอย่างไรที่นวนิยายของตนเองได้ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์
Shayna
: ดีใจมากค่ะ ปกติเวลานิยายแต่ละเรื่องคลอดออกมาเป็นรูปเล่ม เรนนี่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดแล้ว แต่การได้เห็นนิยายของตัวเองในรูปแบบตัวละคร เหมือนกับได้โชคสองชั้น เปรียบไปก็เหมือนกับเราได้ทำงานที่เรารัก แล้วพอสิ้นปีเจ้านายยื่นโบนัสให้ค่ะ (ยิ้มกว้าง) อย่างเรื่อง ‘หงส์’ ที่ เพิ่งจบไป ก็ปลาบปลื้มยินดีมากนะคะ เพราะก่อนที่ละครจะออนแอร์นั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบกันมากพอสมควร พอละครออนแอร์และประสบความสำเร็จก็พลอยดีใจไปกับทุกท่านที่เกี่ยวข้องด้วย

all : การเขียนนวนิยายคนเดียว กับการเขียนงานเป็นซีรี่ส์ มีความยากง่ายแตกต่างกันอย่างไร
Shayna
: ต่างกันมากค่ะ การเขียนคนเดียวนั้น ความง่ายคือเราสามารถใส่ความเป็นตัวตนและความชอบของเราเข้าไปได้อย่างเต็ม ที่ มีความมั่นใจในตัวเอง เปรียบไปก็เหมือนว่าเราคือพระเจ้า สามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ตามแต่ใจปรารถนา แต่ความยากของการเขียนคนเดียวคือ เราต้องคอยถามตัวเองว่าสิ่งที่เราเขียนไปนั้นดีพอ น่าติดตาม และมีความสมเหตุสมผลหรือยัง ในขณะที่ความง่ายของเขียนร่วมกับนักเขียนท่านอื่นคือ เขาเหมือนเสียงสะท้อนที่คอยบอก เตือนสติ หรือแนะนำว่าเรามาในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ ทว่าการร่วมงานกับคนอื่นก็ยากตรงที่เราจะต้องคอยปรึกษาหารือกัน เพราะเนื้อหาของเรื่องราวในแต่ละเรื่องจะต้องสอดคล้องกัน ทั้งเรื่องไทม์ไลน์และนิสัยใจคอของตัวละครที่จะต้องไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนสิ่งที่ได้รับจากการร่วมงานกับผู้อื่นคือ เรนนี่รู้จักรับฟังและเคารพความเห็นของคนอื่นและลดอัตตาของตัวเองลงค่ะ

all : การที่นวนิยายได้ดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์คิดว่ามีส่วนช่วยในการส่งเสริมการขายมากน้อยแค่ไหน
Shayna
: มีมากเลยทีเดียวค่ะ เพราะหากละครสนุกถูกใจ คนดูก็มักจะอยากอ่านและสะสมรูปเล่มไปด้วย หรือบางทีคนดูชอบละครตั้งแต่ดูตอนแรก ก็ไม่อยากรอจนอาทิตย์ต่อไป อยากรู้ว่าเรื่องราวในละครต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็ตัดสินใจซื้อนิยายมาอ่าน

all : Shayna เป็นสาวอีสานนักเขียนที่มีฝีมือคนหนึ่ง ได้นำเรื่องราวและชีวิตทางภาคอีสานมาถ่ายทอดในนวนิยายบ้างไหม
Shayna
: เรนนี่เกิดและโตที่บ้านนอก มีพ่อแม่เป็นชาวนา ได้รับโอกาสดีที่พ่อกับแม่ส่งเสริมให้มีการศึกษา จึงเปิดประตูโอกาสให้เรนนี่ในหลาย ๆ ด้าน ในส่วนของงานเขียน เรนนี่ก็นำเรื่องราวทางอีสาน ภาษา ความเชื่อ หรืออะไรหลายอย่าง ใส่ลงไปในนิยายบางเรื่องที่มีภาคอีสานหรือลาวใต้เป็นแบ็คกราวน์เหมือนกันค่ะ

all : นวนิยายหลายเล่มเรนนี่ ได้อัพโหลดขายออนไลน์ในเว็บ Meb ด้วย ประเด็นนี้คิดว่าเป็นทางออกอีกทางหนึ่งของนักเขียนหรือไม่ อย่างไร
Shayna
: การขายออนไลน์หรืออีบุ๊กนั้น ถือว่าเป็นอีกช่องทางที่ส่งเสริมการขายให้แก่นักเขียนมากเลยทีเดียว เพราะนักอ่านจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ชอบกอดจับรูปเล่ม ซึ่งเรนนี่เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนั้น และอีกกลุ่มคือชอบอีบุ๊ก เพราะไม่ต้องหาที่ใส่นิยาย นักอ่านบางท่านชอบอ่านมาก จนบางทีไม่มีเนื้อที่ที่จะเก็บก็มีค่ะ (ยิ้ม)

all : อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากก้าวเข้ามาเป็นนักเขียนบ้างไหม
Shayna
: อยากบอกว่า หากรักที่จะเป็นนักเขียนก็อย่ากลัวหรือลังเลที่จะเขียน ทุกวันนี้ประตูสู่การเป็นนักเขียนเปิดกว้างมาก คอร์สการเขียนนิยายก็เปิดให้คนที่สนใจเข้าร่วมอบรมอยู่บ่อย ๆ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ก็เปิดพิจารณางานเขียนอยู่เสมอ สนามประลองฝีมือการเขียนอย่างเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เปิดให้ลงนิยายออนไลน์ก็มีหลายเว็บไซต์ ซึ่งตรงนั้นก็เหมือนการหยั่งเชิงของผู้อ่านว่า ชื่นชอบผลงานของเรามากน้อยเพียงใด และนักอ่านนักวิจารณ์ออนไลน์ก็มักจะให้ฟีดแบ็คกลับมาผ่านคอมเม้นต์ด้วยว่าดี หรือไม่ดีตรงไหน ต้องปรับปรุงในเรื่องใด เรนนี่คิดว่าการลงผลงานออนไลน์ช่วยกรองงานเขียนขั้นแรกให้เราได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญสำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียนอีกอย่างก็คือ เราต้องมีหัวใจรักในสิ่งที่เราทำ หากเรารักการเขียน รักที่จะเป็นนักเขียนแล้ว เราก็จะมีความสุขเวลาเขียน พอเรามีความสุข มันจะสะท้อนออกมาผ่านผลงานออกมาเอง อย่างไรก็ตาม เรนนี่ขอเป็นกำลังใจแก่นักอยากเขียนทุกท่านด้วยนะคะ แม้สาวอีสานนักเขียนคนนี้ จะไปใช้ชีวิตโลดแล่นไกลถึงสหรัฐอเมริกา แต่ก็ฝากบทประพันธ์ไว้ให้นักอ่านไทยหลายต่อหลายเรื่อง นั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ไกลแสนไกลแค่ไหน หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจต่อการเขียนหนังสือ ‘โลกนักเขียน’ ใบนี้ เปิดกว้างสำหรับคุณเสมอ...

ประวัติส่วนตัวของ ‘Shayna’
ชื่อจริงคือ รัชฎาพร สร้อยมาศ ชื่อเล่นชื่อ ‘เรนนี่’ พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และประกาศนียบัตรวิชาชีพจาก Rhode Island Community College ที่สหรัฐอเมริกาปัจจุบันทำงานเป็นDatabase Assistant (ผู้ช่วยไอที) ให้กับ UMass Memorial Medical Center ที่รัฐแมสซาซูเซตส์

งานอดิเรกที่ชื่นชอบไม่แพ้การเขียนนิยายคือ การถ่ายรูป การอ่านหนังสือ การท่องเที่ยว และการดูหนังฟังเพลง ผลงานที่ได้รับการรวมเล่ม : เสน่หาสัญญาแค้น, รักสลักแค้น, หงส์ : มาเฟียเลือดมังกร, เกินห้ามใจ, ใต้เงาใจ, ลูบคมกามเทพ : The Cupid บริษัทรักอุตลุด, เงื่อนร้ายสายใยรัก, ฤทธาธิษฐาน, คู่แล้วไม่แคล้วกัน, มนตราแห่งรัก ตอน เมขลากับนายอสูร ฯลฯ

 

นัดพบนักเขียน : รินคำ, ภาพ : สถาพรบุ๊คส์
All magazine พฤศจิกายน 2558
ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ