อัญชัน นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ : ไม่มีโอกาสตัดสินนักเขียนเท่าเอเจนซี่

อัญชัน นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์

นานทีปีหนถึงจะมีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดสักครั้งสำหรับ อัญชัน นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปี 2533 โอกาสดีอย่างนี้ถ้าพลาดก็คงต้องรอกันอีกนานกว่าจะได้นั่งพูดคุย กันสดๆกับนักเขียนที่ไปตั้งรกรากอยู่ ต่างประเทศกว่า 30 ปีมาแล้วอย่างคุณ อัญชัน วันที่คุณอัญชันมาเยี่ยมกอง บรรณาธิการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เราเลยถือโอกาสนี้พูดคุยกับคุณอัญชัน เล็กน้อย แม้ ใจจริงแล้วเราอยากคุยให้ มากกว่านี้แต่เนื่องด้วยเวลาที่มีอยู่จำกัด จึงทำได้แค่หอมปากหอมคอให้แฟนๆ พอได้หายคิดถึง

 

อัญชัญ ซีไรต์

ไม่ได้กลับเมืองไทยมานานแค่ไหน
ก็ไม่ได้กลับมาประมาณ 3- 4 ปีแล้ว มาครั้งนี้มางานหลานสาวแต่งงาน ปรกติประมาณ 8-9 ปีถึงจะกลับมาหนหนึ่ง พอมีโอกาสดีก็กลับมาทีหนึ่ง พี่ไปอยู่โน่นนานแล้ว ประมาณ 30 ปีได้


ตอนนี้ยังเขียนอะไรอยู่
ตอนนี้เอาเรื่องที่เคยเขียนไว้มาขยายต่อเติมเอา ยังไม่ได้เขียนเรื่องใหม่ ก็กะจะเอามาให้บก.จำเนียร พลสวัสดิ์ดู แต่มันเป็นเรื่องเก่าที่เคยพิมพ์มาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เอ่อ.....เป็นเรื่องยาวที่เคยเขียนให้นิตยสารฉบับหนึ่ง


บรรยากาศการอ่านการเขียนของคุณอัญชัน
ที่อเมริกาพี่จะอยู่กับครอบครัวเงียบๆเพราะมันจะได้อ่านได้เขียนอะไรได้มากกว่า แต่ถ้ากลับมาที่นี้ญาติจะเยอะเลยไม่ค่อยจะได้ทำอะไร จะมีแต่โทรศัพท์ถ้าเป็นแบบนี้พี่ก็คงไม่ได้ทำอะไร

อ่านหนังสือยังไม่ได้เลย(หัวเราะ) แต่อยู่ที่นั้นเวลานั่งรถพี่ก็จะอ่านได้ ก่อนนอนก็ได้อ่านไปไหนก็จะพกหนังสือไปด้วยตลอดเวลา ในกระเป๋าพี่นี้จะมีหนังสืออยู่สองเล่ม เล่มหนึ่งเอาไว้อ่าน เล่มหนึ่งเอาไว้เผื่อ คือพอเริ่มเบื่อเริ่มรำคาญเล่มที่อ่านอยู่ก็จะเอาอีกเล่มมาอ่าน พี่จะไม่ปล่อยให้ชีวิตนั่งเฉยๆเด็ดขาดเลย

การอ่านของคนที่อเมริกากับคนในประเทศไทย
คนแต่ละท้องถิ่นวัฒนธรรมมันจะไม่เหมือนกันอย่างอเมริกาต่างรัฐกันรสนิยมในเรื่องการอ่านก็ต่างกันแล้ว ที่ซานดิเอโกที่พี่อยู่ปัจจุบันนี้จะเป็นเมือง ที่มีคนหลายเชื้อชาติเยอะแยะไปหมด มันเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย ทางตอนใต้ของรัฐจะอยู่ติดๆกับเม็กซิโก แล้วก็มีคนเม็กซิกันเยอะมากซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นพลเมืองชั้นสองคือเขาจะไม่ได้กระตือรือร้นในการอ่านหนังสือ ร้านหนังสือในรัฐซานดิเอโกจึงโหรงเหรงมาก แต่เมื่อก่อนที่พี่อยู่นิวยอร์คเนี่ยะ คนจะตื่นตัวเรื่องการอ่านหนังสือกันมากเป็นรัฐที่มีวัฒนธรรมการอ่านสูง เมื่อเทียบกับซานดิเอโกที่พี่อยู่เนี่ยะคนเขาจะเน้นไปทางกีฬาเสียมากกว่าเช่นเล่นกระดานโต้คลื่น หรือขับแข่งกันเสียมากกว่า อย่างที่แคลิฟอเนียนี้โอ้โหไฮเวย์ของเขานี้ใหญ่โตมาก 10 เลนเห็นจะได้ คนเลยเน้นหนักไปทางกีฬาเสียมากกว่า อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเรื่องร้านหนังสือน้อยด้วยนั้นแหละ สมมติว่าเราอยากได้หนังสือดีๆสักเล่มก็ต้องไปซื้อที่นิวยอร์ค แต่ถ้าเทียบดูแล้วนะถึงยังไงบรรยากาศการอ่านบ้านเขาก็ยังดีกว่าเมืองไทยอยู่เยอะเลยแหละแม้แต่ในซานดิเอโอเองก็ตาม บ้านเราจะอ่านหนังสือที่อ่านแล้วทำให้อยู่ได้ในแง่เศรษฐกิจอ่านหนังสือที่คิดว่าจะได้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แต่บ้านเราจะไม่อ่านหนังสือประเภทที่บอกว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไม หรือที่เป็นอะไรลึกๆเนี่ยเขาจะเลิกอ่านเพราะเขารู้สึกว่าสิ่งนั้นเหล่านี้เขารู้ไปก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นกับตัวเขา

ตอนนี้อ่านเรื่องอะไรอยู่บ้าง
อยู่ที่โน่นส่วนใหญ่ก็จะอ่านหนังสือต่างประเทศ หนังสือไทยที่โน่นหายาก ส่วนประเภทของหนังสือที่อ่านก็จะอ่านทุกประเภท เบสเซลเลอร์ก็จะอ่าน ตอนนี้เพิ่งจะอ่านดาวินซี่โค๊ดจบไป คือจะอ่านหนังสือขายดีด้วย อ่านของคนที่แต่งเรื่องจูราสิคพาร์คง่ะ อืม จำชื่อไม่ได้แล้ว หนังสือประเภทซีเรียสก็อ่าน เรื่องที่มันเป็นวรรณกรรมคือพี่จะชอบอ่านเรื่องที่มันอยู่ลึกลงไปข้างใน จิตวิทยาของคน อย่างเช่น เราคือใครอะไรอย่างนั้นง่ะน่ะ เราคือใคร เราเป็นอย่างที่เราเป็นหรือเปล่า จริงๆแล้วเราคือใคร

เขียนงานเป็นภาษาอังกฤษเก็บไว้บ้างหรือเปล่า
อืม....ไม่เคยเลยนะ แปลกดีเหมือนกันทั้งๆที่พี่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทยเยอะเลยนะ แต่อาจจะเป็นเพราะความรักชอบในภาษาไทยด้วยมั่ง พี่รักความรู้สึกเวลาที่เราได้เขียนภาษาไทย มันเป็นสุนทรีย์อย่างหนึ่ง คือพี่ชอบเขียนบทกวี ชอบคำไทยๆ รู้สึกว่าเวลาเอาคำเหล่านี้มาเรียงกันมันจะให้ความสุข แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษสิ่งนี้มันจะไม่ให้พี่ ในภาษาอังกฤษมันจะเป็นแค่คำ แต่ภาษาไทยมันไม่ใช่แค่คำ มันจะเป็นสีเป็นสันเป็นอำนาจ เป็นอะไรของมันด้วย ในความรู้สึกของพี่ภาษาไทยนี้จะให้ โอ้โห....ความละเมียดละไมแล้วเราจะรู้สึกเลยนะเนี่ยว่ามันก็เป็นความสุขที่เราได้รับกลับมาจากภาษาไทย

สนามหรือพื้นที่วรรณกรรมของต่างประเทศเหมือนกับสนามบ้านเราไหม
ที่ต่างประเทศเนี่ยะ นะมันจะไม่มีพื้นที่ให้ลงนิยายเป็นตอนๆ นักเขียนทุกคนจะต้องผ่านเอเจนซี่ คือจะพิมพ์หรือไม่ได้พิมพ์นี้จะต้องขึ้นอยู่กับเอเจนซี่ คือ เอเจนซี่กับ editorของเอเจนซี่จะกุมตรงนี้เอาไว้ แล้วบางทีส่งไปแล้ว อาจจะเป็นปีหรือสองปีกว่าเขาจะพิจารณา พี่คิดว่าโอกาสที่นักเขียนในต่างประเทศจะได้เกิดนี้มันยากมากเลย ของอเมริกานี่ยากกว่าของไทยมากเลยเพราะต้องผ่านเอเจนซี่ มันไม่มีโอกาสเขียนลงในนิตยสารให้คนอ่านได้ลองเสพก่อน คือพูดง่ายๆเลยว่า เนื้อเรื่อง Topic มันไม่มีโอกาสตัดสินนักเขียนเท่าเอเจนซี่ แต่ถ้าเขาดังเมื่อไหร่เขาก็ไปเป็นพลุเลยแต่ของไทยก็จะอืดๆไปอย่างเนี่ย

แสดงว่าสนามต่างประเทศจะไม่มีพื้นที่ตีพิมพ์ในหน้านิตยสาร
ไม่มีค่ะ นอกจากจะเป็นงานเขียนประเภท Non-fiction (ประเภทงานเขียนที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง) ซึ่งมักจะเป็นผลงานของพวกนักวิชาการที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว แต่ถ้าจะเริ่มโดยวิธีแจ้งเกิดตามหน้านิตยสารนี้มันจะไม่มีสนามให้ แต่เดี๋ยวนี้นักเขียนเอเชียก็มีโอกาสเยอะนะพี่มีความรู้สึกว่ามันมีคนสนใจนะ อย่างที่เคยอ่านของนักเขียนเคอกิส กำลังดังมากเขาก็เอามาพิมพ์กันเป็นภาษาอังกฤษ รู้สึกว่าจะได้เป็น Best Book Of The Year ของ นิวยอร์คไทม์ คือเขามีโอกาสที่จะเข้ามาแล้วงานเขาดีด้วย แต่ของเรานี้นะพวกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำไม่มีก็ไม่รู้

ของอินเดียก็ดีน่ะโดยเฉพาะนักเขียนพวกมุสลิมนี้ก็กำลังดังมากอาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งเขากำลังสนใจเรื่องราวของอิสลาม มีเรื่องของนักเขียนอัฟกานิสถานคนหนึ่งดีมากเลย เรื่อง The Kite Runnerเรื่องนี้พี่คิดว่าต้องพยายามอ่านให้ได้นะ สำหรับพี่ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ดีที่สุดเท่าทีพี่เคยอ่านมา ไม่เคยคิดว่าเขาจะเขียนได้ดีขนาดนั้น อีกเรื่องที่ดีมากเหมือนกัน คือเรื่อง Life of pi ของ Yann Martel รู้สึกเขาจะเป็นนักเขียนรางวัล Man Booker Prize ด้วยเรื่องนี้ก็ดีมากเลย ตัวประธานาธิบดีของอเมริกาเองก็ในขณะที่กำลังหาเเดินทางหาเสียงก็ชอบอ่านเรื่องนี้เหมือนกันน่ะ ตอนนี้นักเขียนมุสลิมเป็นที่น่าจับตามมองมากเลย รางวัลต่างๆเขาก็กวาดกันเป็นว่าเล่นเลย งานที่หนักๆนะตอนนี้โฟกัสจะจับที่ไปนักเขียนมุสลิมเสียมาก

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ