ดอกไผ่: วิถีดิ้นรน ในฐานะชนรากหญ้า : บทวิจารณ์โดย ญาณิศา บุญจังหูน โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 10

ดอกไผ่: วิถีดิ้นรน ในฐานะชนรากหญ้า

“ดอกไผ่”: “วิถีดิ้นรน” ในฐานะชนรากหญ้า

'ดอกไผ่' เป็นเรื่องราวครอบครัวของชาวนาเฒ่าที่กำลังจะพบเจอกับเรื่องร้าย ผ่านการบานของดอกไผ่ อันเป็นลางบอกเหตุร้าย ทั้งการเผชิญกับภัยหนูป่าที่จะมากัดกินต้นข้าวหลังลงมาเพื่อกินดอกไผ่ที่ร่วงโรย ลูกชายคนโตที่ไม่สามารถเข้าทำงานเป็นนักการภารโรงได้แม้ติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ไปแล้วเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นิยมคอมมิวนิสต์และภายหลังได้ก่อเหตุทะเลาะเบาะแว้งในร้านกาแฟข้างที่ว่าการอำเภอ และสาววัยรุ่นน้องคนเล็กของบ้านสูญเสียพี่ชายหลังจากเหตุการณ์การทะเลาะเบาะแว้งในร้านกาแฟ รวมไปถึงพ่อผู้ซึ่งเป็นครอบครัวเพียงหนึ่งเดียวของเธอที่เธอไม่อาจทราบได้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์สูญเสียอีกครั้งขึ้นในคืนจันทร์เสี้ยวนี้ รังสรรค์โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ผู้ผิดหวังในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และผันตัวเป็นนักเขียน และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2552

 

ชาวนาเฒ่าผู้เผชิญภัยจากธรรมชาติและรัฐ

“วัตถุขนาดข้าวเปลือกเม็ดลีบชิ้นหนึ่ง” และ “ไผ่ออกดอก…” สัญญาณเตือนแรกถึงภัยจากหนูป่าที่กำลังจะเข้ามาทำลายผลผลิตข้าวหลังจากได้ลงมากินดอกไผ่ที่ร่วงโรยหลังหมดระยะบานดัง “คำสอนฝากกันมาแต่ปางบรรพ์” ส่งผลให้ชายชรานั้นต้องออกไปเฝ้านาบ่อยขึ้นและระแวดระวังมากขึ้น ปัญหาหนูป่าที่ทำให้ชายชราต้องลำบากยิ่งขึ้น ต้องหายห่างจากลูกสาวผู้เป็นครอบครัวเพียงคนเดียวของเขาไปในทุกย่ำค่ำโดยไม่อาจบอกเธอได้เพื่อลดความเป็นห่วงนั้น แท้จริงแล้วการต่อสู้กับภัยที่มาจากธรรมชาตินี้กลับเป็นเพียงที่เป็นหลบซ่อนตัวปัญหาจริงอันจะเห็นได้จากการรำพันของชาวนาเฒ่าที่ว่า

“…ถ้าเป็นยี่สิบปีก่อนแกคงไม่ต้องมานั่งตากน้ำค้างอยู่อย่างนี้ ในตอนนั้นนาของแกอยู่ไกลจากเนินเขามาก และบริเวณนี้เป็นเพียงป่าแพะ ป่าเลาเท่านั้น คนเฒ่าไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมที่ทำมาหากินของตัวเองจึงร่นลึกเข้ามาอยู่ในเขตดงดอยอยู่เรื่อย ๆ ตอนที่ลูกเล็กอายุได้ห้าขวบ มันก็ยังอยู่ไกลเนินกว่านี้….”

สะท้อนให้เห็นถึงการถูกการเอารัดเอาเปรียบจากรัฐผ่านการเวนที่ดินซึ่งอดีตเป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านผู้ถูกริดรอนสิทธิ์ในพื้นที่เลี้ยงชีพนั้นจำต้องขยับถอยมากระทั่งถึงเนินเขาซึ่งลำบากแก่การทำนาและต้องระแวดระวังภัยจากสัตว์ซึ่งจะมาทำลายผลผลิตของตนมากยิ่งขึ้นไปอีกทำให้เห็นภาพของการละเลยต่อชนชั้นกลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นชนชั้นแรงงานสำคัญที่ถูกภาครัฐหลงลืมและ “ตั้งใจ” ลืมมาตลอดแม้ในปัจจุบัน

 

การต่อสู้เพื่อปากท้องและอุดมการณ์ของพี่ชายคนโต

“ฉันก็เจ็บใจเหมือนกันนะพ่อที่มันไม่ยอมคืนเงิน…สอบเป็นภารโรงได้ไม่ว่า แต่มันน่าจะคืนสามพันบาทนั้นให้เรา”

“มันว่าข้าเป็นลูกน้องนักศึกษา แล้วนักศึกษาน่ะเป็นพวกคอมมิวนิสต์… ข้าไม่รู้อะไรทั้งนั้นล่ะ รู้อย่างเดียวว่าปีนั้นนาล่มกันทั้งหมู่บ้าน จะอดตายอยู่แล้ว”

การดิ้นรนเพื่อเลี้ยงปากท้องของพี่ชายคนโตสะท้อนผ่านสองประโยคข้างต้นได้อย่างน่าสนใจ คือ การอ่อนน้อมตามระบบซึ่งบิดเบี้ยว และการแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาจากกลุ่มคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นตัวปัญหาในสายตาภาครัฐ แม้ทั้งสองประการเป็นภาพที่ขัดแย้งกัน ทว่าในฐานะชาวบ้านซึ่งต้องปากกัดตีนถีบและไร้สิทธิ์ไร้อำนาจในการต่อรองชีวิตตนเองไม่อาจเลือกเส้นทางใดทางหนึ่งได้ จึงเลือกจะวิ่งเข้าไปหากลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นพวกคอมมิวนิสต์ แต่เพราะสามารถช่วยเหลือชาวบ้านจากปัญหาข้าวล่มได้โดยไม่สนว่าจะเป็นศัตรูของรัฐหรือไม่ หรือกระทั่งยอม “ขายข้าวเขียว” เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ แม้ท้ายที่สุดแล้ว “จริง ๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่ประวัติหรอก… ข้าได้ยินมาว่าคนบ้านอื่นให้มันสามพันห้าเลยได้ตำแหน่งนี้ไป” อันเป็นเอารัดเอาเปรียบของภาครัฐเองทั้งตัวเขาและตัวชาวบ้านคนนั้นเช่นกัน

นอกเหนือจากการดิ้นรนเพื่อปากท้องของพี่ชายคนโตในฐานะ “ชนชั้นแรงงาน” แล้ว ในฐานะของ “คนหนุ่มสาว” นั้น ได้สะท้อนผ่านส่วนที่สองอันเล่าถึงการทะเลาะเบาะแว้งของชายหนุ่มต่างเครื่องดื่มสองคนคนอันสื่อถึงการมี “ความชอบ” ความคิดที่ต่างกันที่ไม่ได้มีคนสนใจอะไร กระทั่งได้เกิดเหตุการณ์นองเลือดภายในร้านกาแฟแห่งนั้น เสกสรรค์ได้แสดงให้เห็นการต่อสู้ของชายหนุ่มทั้งสองว่าไม่ต่างจากคู่มวยที่กำลังดูของเหล่าลูกค้าภายในร้าน ว่าท้ายสุดแล้วหากไม่เกิดเหตุการณ์ “ระทึกขวัญ” ขึ้นนั้น ผู้คนในสังคมย่อมไม่สนใจการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ “เช่นเดียวกับฝุ่นถนน… ทั้งหมดนี้ไม่มีใครสนใจหรือสังเกต”

 

บทสรุป: ชนรากหญ้าผู้ต้องต่อสู้กับสังคม

แม้เรื่องราวขนาดสั้นนี้ถูกถ่ายทอดโดยให้ความสำคัญถึงการประสบภัยจากหนูป่าของชาวนาเฒ่าเป็นหลัก หากแต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วจะเห็นถึง “ศัตรูที่แท้จริง” ของทั้งชายชราและพี่คนโตอันเป็นตัวแทนของชนรากหญ้านั้นคือ “สังคม” ต่างหาก ที่กำลังบีบบังคับให้พวกเขาเหล่านั้นต้องต่อสู้และดิ้นรนทั้งการกดขี่จากภาครัฐอันไม่เป็นธรรมหรือการส่งเสียงเรียกร้องเพื่อปากท้องหรืออุดมการณ์ของพวกเขาที่ขาดการได้รับความสนใจ เรื่องสั้นที่สะท้อนความหดหู่ของการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดของชนชั้นล่างของสังคมเรื่องนี้แม้เป็นตัวสะท้อนสังคมในยุคที่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงใน พ.ศ. 2527 ทว่ากลับเป็นตัวฉุกคิดให้เราหันกลับมามองสังคมปัจจุบันด้วยเช่นกันว่าภาครัฐกำลังเดินในเส้นทางเดิมเช่นในเรื่องหรือไม่ และเรากำลังถูกหลงลืมหรือเรากำลังปิดรับฟังเสียงจากชนกลุ่มใดไปหรือเปล่า

 

บทวิจารณ์โดย ญาณิศา บุญจังหูน
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 10

 

Writer

The Reader by Praphansarn