ต่างพื้นที่ แต่ไม่ต่างความรู้สึก : โดย สมิตตา ตุงตะเศรณี

ต่างพื้นที่ แต่ไม่ต่างความรู้สึก

          สารคดีเรื่อง ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน ของธีรภาพ โลหิตกุล เป็นเรื่องราวของผู้แต่งที่เกิดความรู้สึก ความสะเทือนใจอย่างรุนแรงจากการดูภาพยนตร์เรื่อง มือปืน 2 สาละวิน ของ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับทหารพม่าที่ไล่ล่าชาวกะเหรี่ยงที่หนีข้ามแม่น้ำมายังฝั่งไทย โดยหลังจากดูภาพยนตร์จบผู้แต่งก็เกิดความสะเทือนอารมณ์จนไม่สามารถกลั้นน้ำตาไว้ได้ และทำให้หวนรำลึกถึงเหตุการณ์เก่า ๆ ที่เคยประสบในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพราะแม้แต่ผู้แต่งจะไม่เคยอยู่ในเหตุการณ์การสู้รบกันของทหารพม่ากับกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยงที่เกิดขึ้นที่ชายแดนไทย-พม่า แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้แตกต่างกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครเลยแม้แต่น้อย

 

          จากสารคดีจะเห็นได้ว่าธีรภาพได้เปิดเรื่องด้วยบทสนทนาที่ว่า “นั่นไง...ฝั่งพม่า ใกล้กันแค่นี้แหละ...” เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกได้ถุงเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนของพม่าที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ไกลตัวจากคนไทยเลย โดยให้ข้อมูลถึงขั้นที่ว่าแม่น้ำเมยที่กั้นอยู่นั้นเล็กจนถึงขนาดเรียกว่าคลองได้ และได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับริมฝั่งแม่น้ำสาละวินอย่างคร่าว ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ดังกล่าว และอธิบายถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่จนกลายเป็นเรื่องปกติชินตาไปแล้วสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในชายแดนไทย-พม่า แต่ในความเป็นจริงคงไม่มีใครชอบที่จะรบราฆ่าฟันกันจนเสียเลือด เสียเนื้อจนมีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่คงด้วยเหตุผลเพราะคนสองกลุ่มมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมือนกันจนทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์จนก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ทหารพม่าไล่ฆ่ากองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยงที่เกิดขึ้นริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน หรือจะเป็นเหตุการณ์ที่ชาวกัมพูชาอพยพหนีตายมาฝั่งไทยในภาพยนตร์ เดอะคิลลิ่งฟิลด์ หรือเหตุการณ์ความขัดแย้งทางความคิดของกลุ่มนักศึกษาและทหารที่เกิดขึ้นในเมืองไทยทั้งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และ 6 ตุลา ที่กลุ่มทหารได้ใช้กำลังทำร้ายกลุ่มนักศึกษา โดยเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นทุกเหตุการณ์แม้ว่าจะเกิดต่างพื้นที่กันแต่ความรุนแรงหรือเลวร้ายกลับไม่ได้มีความแตกต่างกัน และจะเห็นได้ว่าฝ่ายที่มีกำลังมากกว่ามักจะเลือกใช้กำลังความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา โดยไม่สนใจว่าอีกฝ่ายจะเป็นนักศึกษาหรือประชาชนชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธ ไม่มีทางสู้ก็ตาม จนทำให้สุดท้ายปัญหาก็ไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริงและยังทำให้เกิดความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้อีกด้วย

 

          จากการอ่านสารคดีเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าผู้แต่งได้ใช้กลวิธีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันมาเป็นตัวกระตุ้นความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยเมื่อดูภาพยนตร์ 2 สาละวิน จนทำให้ผู้แต่งนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตและเล่าย้อนกลับไปในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะเห็นได้ว่าผู้แต่งเล่าเรื่องโดยเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น โดยระบุเหตุการณ์และใส่ช่วงเวลาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ส่งผลกระทบถึงจิตใจของผู้แต่งจนถึงวันที่ได้แต่งสารคดีเรื่องนี้ ผู้แต่งสามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้แต่งได้อย่างชัดเจนผ่านถ้อยคำที่แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกและก่อให้เกิดจินตภาพ และนอกจากนี้ผู้แต่งยังมีความโดดเด่นในการใช้สำนวนเพื่ออธิบายเสริมในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ผีซ้ำด้ำพลอย ใช้พูดถึงเหตุการณ์การสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยงที่ยังมีความครุกลุ่นอยู่ และยังมีความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงลัทธิฤๅษีกับ ต.ช.ด. ของไทย เพิ่มมาอีกด้วย และยังมีการใช้สำนวน ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน แต่ผู้แต่งยกมาเพียงชักศึกเข้าบ้านเท่านั้น

 

          สุดท้ายสารคดีเรื่องประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน ของธีรภาพ โลหิตกุล ก็ถือได้ว่าเป็นสารคดีที่ดีเรื่องหนึ่ง เพราะนอกจากให้สาระความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ แล้วนั้น ในสารคดีเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกของผู้แต่งที่ถ่ายทอดผ่านสารคดีได้อย่างเป็นธรรมชาติ และรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวด ความหดหู่ ความอึดอัด ที่เกิดขึ้นผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ โดยที่ผู้แต่งไม่สามารถที่จะเข้าไปช่วยเหลือหรือทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวดีขึ้นได้ และด้วยความรู้สึกดังกล่าวนี้เองที่ทำให้คนไม่ค่อยสนใจในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างข้าพเจ้าเกิดความตระหนักถึงการใช้กำลังและการใช้อำนาจอย่างไม่ยุติธรรมของเผด็จการที่มีต่อประชาชน และทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่สร้างความสูญเสียเช่นนี้กับบุคคลหรือพื้นที่ไหนอีกต่อไป

 

 

ต่างพื้นที่ แต่ไม่ต่างความรู้สึก
บทวิจารณ์โดย : สมิตตา ตุงตะเศรณี
โครงการ “อ่าน  เขียน  เรียนรู้  สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ