ล่าบรูด้า : ความหวังที่ว่างเปล่า : โดย สุวนันท์ แดงวิบูลย์

ล่าบรูด้า : ความหวังที่ว่างเปล่า

     “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก” เป็นสารคดีที่เขียนโดยวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนสารคดีที่มีชื่อเสียงและได้สร้างสรรค์ผลงานมาแล้วมากมาย สำหรับเรื่องราวในสารคดีเรื่องนี้ วีระศักดิ์ ได้เขียนเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวประมง บรรยากาศของอ่าวบ่อนอก รวมทั้งยังได้เขียนเล่าถึงวิถีชีวิตของวาฬบรูด้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งได้มีการสร้างเรื่องราวบทสนทนาให้มีความแตกต่างไปจากสารคดีทั่วไป ส่งผลให้สารคดีเรื่องนี้มีความสนใจและเร้าการติดตามให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

 

     สำหรับเรื่องราวการล่าบรูด้าที่บ่อนอกนั้น วีระศักดิ์ ได้เริ่มต้นเล่าเรื่องด้วยบทสนทนาที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความฉงนและลุ้นไปกับตัวละคร ซึ่งได้สร้างขึ้นมาให้เป็นตัวเรื่องว่าเขาเหล่านี้จะสามารถล่าวาฬบรูด้าได้หรือไม่ จากนั้นได้มีการบรรยายถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวบ่อนอกซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้พบกับวาฬบรูด้า เรื่องราวลำดับถัดมา วีระศักดิ์ ได้เขียนเล่าถึงฉากบรรยากาศการลงเรือล่าวาฬบรูด้า และการรอคอยที่จะพบเจอกับวาฬบรูด้า ซึ่งในตอนสุดท้าย วีระศักดิ์ ได้เขียนให้หักมุมโดยการที่ไม่ให้ตัวละครได้พบวาฬบรูด้าตามที่พวกเขาเหล่านั้นตั้งใจไว้ นั่นเอง

 

     ในส่วนของการดำเนินเรื่องราว วีระศักดิ์ ไม่เพียงแต่เขียนบรรยายเรื่องราวด้วยความเรียงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทว่ายังได้สอดแทรกบทสนทนาในเข้าไปเพิ่มสีสันในส่วนของเนื้อเรื่องอีกด้วย ทำให้สารคดีเรื่องนี้มีชีวิตและมีเรื่องราวชวนให้ลุ้นไปกับตัวละครในทุกครั้งที่ได้อ่านบทสนทนา นอกจากนี้ในการเขียนบรรยายเรื่องในแต่ละฉาก วีระศักดิ์ ยังได้มีการสอดแทรกข้อเท็จจริงสลับกับการเล่าเรื่องได้อย่างกลมกลืนกัน ทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้จากเรื่อง อีกทั้งยังได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการลุ้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสารคดีเรื่องนี้อีกด้วย

 

     สำหรับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสารคดีเรื่องนี้ ผู้อ่านจะได้ทราบว่า “วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่พบอยู่อยู่ที่อ่าวบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของประเทศไทยของเรา อีกทั้งยังได้รับความรู้ในเรื่องของการค้นพบวาฬบรูด้าครั้งแรก ซึ่งพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1878 โดย Anderson อีกด้วย

 

     นอกจากนี้ในเรื่องของข้อเท็จจริงผู้อ่านยังได้ทราบในเรื่องลักษณะของวาฬบรูด้า ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัว น้ำหนัก อีกทั้งยังได้รู้ในเรื่องวิถีชีวิตการล่าเหยื่อ และได้รู้ว่าวาฬบรูด้าจะตั้งท้องนานถึง 12 เดือน โดยจะชอบอาศัยในเขตอบอุ่น โดยความรู้ทั้งหมดนั้นผู้อ่านจะได้รับจากการอ่านสารคดีเรื่อง “ล่าวาฬบรูด้าที่บ่อนอก” นั่นเอง

 

     นอกจากข้อเท็จจริงที่ผู้อ่านจะได้ทราบแล้วนั้น ยังมีในเรื่องของความสนุกสนานเพลิดเพลิน อีกทั้งยังได้มีการไขข้อเท็จจริงของชื่อเรื่องภายในเรื่องอีกด้วย โดยในตอนแรกหากผู้อ่านได้อ่านชื่อเรื่อง “ล่าวาฬบรูด้าที่บ่อนอก” อาจตีความได้ว่าเป็นการไปล่าปลาวาฬชนิดหนึ่งโดยการใช้อาวุธ เช่น แห อวน แต่ความเป็นจริงนั้นการล่าวาฬบรูด้าในที่นี้คือการถ่ายรูปโดยมีอาวุธเป็นแผ่นฟิล์มนั่นเอง ซึ่งการตั้งชื่อเรื่องเช่นนี้เป็นการตั้งชื่อเรื่องที่เร้าความสนใจให้ผู้อ่านเชื่ออีกอย่างหนึ่งแต่ความจริงเป็นเรื่องราวอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ผู้อ่านอยากที่จะหา ค้นหาความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ล่า” จากการอ่านเนื้อเรื่องนั่นเอง

 

     นอกจากนี้ วีระศักดิ์ ยังได้เขียนสารคดีเรื่องนี้ให้ผู้อ่านรู้สึกตื่นเต้นอีกด้วย โดยจะเห็นได้ว่าในหลาย ๆ ตอน วีระศักดิ์ จะเขียนบรรยายเรื่องให้ผู้อ่านรู้สึกมีความหวังว่าตัวละครจะได้พบเจอกับวาฬบรูด้า ซึ่งในความเป็นจริงตอนสุดท้ายกลับไม่เป็นไปตามสิ่งที่ได้คาดหวังไว้ สำหรับความหวังที่ วีระศักดิ์ ได้เขียนไว้ในเนื้อเรื่องปรากฏในแต่ละตอน ดังนี้

 

     ในตอนที่ตัวละครลงเรือไปล่าบรูด้าและได้เจอกับปลาโลมา ซึ่งมีเนื้อความว่า

 

     “ห่างฝั่งมากิโลเมตรเศษ ๆ มีโลมา 2 ตัว ออกมาเล่นคลื่นข้างลำเรือ อวดสันหลังสีน้ำเงินเพียงเสี้ยววินาทีแล้วคืนสู่ผิวน้ำ ผมกดชัตเตอร์ไม่ทันแต่ถือว่าการเยือนของมันเป็นนิมิตหมายที่ดี” ทำให้ผู้อ่านมีความหวังว่าตัวละครจะได้เจอกับวาฬบรูด้า แต่แล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น สำหรับความหวังต่อมาตัวละครได้พบกับ “ปลาขึ้นก้อน” ซึ่งเป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่าบรูด้าจะมาล่าเหยื่อและจะได้เจอกับวาฬบรูด้าในเร็ว ๆ นี้ แต่แล้วก็กลับไม่พบวาฬบรูด้าอีกเช่นเคย ซึ่งปรากฏในข้อความที่ว่า “เราผุดลุกอย่างฉับพลันมองตามไปที่จุดเดียวกัน “ปลาเริ่มขึ้นก้อนแล้ว” ...แต่แล้วก็ขาดตอนอยู่แค่นั้น...ข้อต่อไปของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติไม่ยอมเข้าสู่วงจร” ซึ่งเป็นข้อความที่ให้ความหวังกับผู้อ่านที่ลุ้นให้ตัวละครได้พบกับบรูด้า แต่แล้วก็ยังเป็นเพียงความหวังเช่นเดิมเนื่องจากตัวละครก็ยังไม่พบวาฬบรูด้า

 

     นอกจากนี้ วีระศักดิ์ ยังได้เขียนสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลดละของตัวละครในการล่าวาฬบรูด้า โดยหลังจากที่พายุฝนกำลังจะมา ผู้อ่านคงคิดว่าตัวละครจะต้องยอมแพ้และกลับฝั่งไปอย่างแน่นอน แต่แล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น ตัวละครได้วนเรือกลับไปยังแนวปะการังอีก 2 จุด เพื่อที่จะมีความหวังที่จะได้เจอกับวาฬบรูด้าแต่ก็แล้วก็ไม่สำเร็จ ตามข้อความที่ว่า “ขากลับเข้าฝั่ง แกยังพาเราวนไปยังแนวปะการัง 2 จุด เผื่อว่าปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นในนาทีสุดท้าย แต่แล้วก็ไม่พบเพื่อนที่เราตามล่า” ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความไม่ลดละของตัวละครในการที่ล่าวาฬบรูด้าให้สำเร็จในครั้งนี้ให้ได้ แต่กลับไม่เป็นผล

 

      ในส่วนของการปิดเรื่อง วีระศักดิ์ ได้ปิดเรื่อง โดยการนำประโยค “เราก็ไม่ได้เลี้ยงมันไว้” ซึ่งเป็นประโยคในตอนแรกที่วีระศักดิ์ได้สร้างขึ้นในบทสนทนาในตอนเริ่มเรื่อง ทำให้ผู้อ่านฉุกคิดได้ว่าประโยคนี้เป็นประโยคแรกที่ผู้อ่านได้อ่าน ซึ่งการที่ วีระศักดิ์ ได้นำประโยคนี้มากล่าวซ้ำก็ถือเป็นการย้ำในส่วนของตอนสุดท้าย นั่นเอง

 

     นอกจากนี้ในส่วนของการใช้ภาษา วีระศักดิ์ ยังได้สร้างภาพพจน์ให้เกิดขึ้นในใจผู้อ่านอีกด้วย โดยจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า “ทว่านี่แหละ คือเหตุปัจจัยที่เอื้อให้ท้องทะเลแถบนี้อุดมสมบูรณ์ยิ่งกว่าขุมทอง” ซึ่งการใช้คำว่า “ขุมทอง” ทำให้ผู้อ่านคล้อยตามไปว่าหาดแห่งนี้อุดมสมบูรณ์มากเปรียบได้กับทองที่มีมูลค่ามาก นั่นเอง

 

     สำหรับคุณค่าที่จะได้จากการอ่านสารคดีเรื่องนี้ คือ ทำให้รู้ว่ามนุษย์เราหากมีความหวังแล้วแน่นอนว่าจะไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด ๆ และมนุษย์เราสามารถที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มันมาในสิ่งที่ตนเองต้องการอย่างไม่ย่อท้อขอแค่เพียงมีความหวัง และในตอนสุดท้ายถึงแม้สิ่งที่คาดหวังจะไม่เป็นไปตามคาด มนุษย์ก็สามารถที่จะยอมรับและให้กำลังใจตัวเองได้ โดยจะปรากฏให้เห็นในข้อความที่ว่า “ “เราก็ไม่ได้เลี้ยงมันไว้” ผมนึกถึงคำพูดของเจริญเมื่อเช้าแล้วก็ยิ้มออกมาได้...ก่อนก้าวขึ้นฝั่ง” ซึ่งประโยคดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการปลอบใจตนเองของมนุษย์ และการยอมรับความจริง โดยที่ไม่โทษที่ฟ้าชะตาลิขิตแต่อย่างใด แต่เป็นการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ นั่นเอง

 

     โดยภาพรวมของสารคดีเรื่อง “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก” นั้น วีระศักดิ์ ได้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการร้อยเรียงถ้อยคำได้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้อ่านได้ลุ้นไปกับตัวละคร และไม่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย อีกทั้งสารคดีเรื่องนี้ยังได้สอดแทรกความรู้ให้กับผู้อ่านในหลาย ๆ เรื่อง ทำให้ผู้อ่านได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนานควบคู่กันไปอีกด้วย

 

 

ล่าบรูด้า : ความหวังที่ว่างเปล่า
บทวิจารณ์โดย สุวนันท์ แดงวิบูลย์
โครงการ “อ่าน  เขียน  เรียนรู้  สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ