‘C.I.Y.’ สอนทำอาหารง่าย ๆ สไตล์ ‘แสงแดด’ : ‘C.I.Y.’ สอนทำอาหารง่าย ๆ สไตล์ ‘แสงแดด’

‘C.I.Y.’ สอนทำอาหารง่าย ๆ สไตล์ ‘แสงแดด’

การทำอาหารรับประทานเองดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากสำหรับชีวิตอันสุดแสนวุ่นวายในปัจจุบัน แต่ขณะนี้ มีรายการสอนทำอาหารรายการหนึ่งที่จะมาสอนให้คุณลองทำอาหารแบบง่าย ๆ ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต หรือสมาร์ทโฟน นั่นคือ วิดีโอสาธิตทำอาหาร ‘C.I.Y.’ หรือ Cook It Yourself ซึ่งผลิตโดยสำนักพิมพ์แสงแดดสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือตำราอาหารมากว่า 20 ปี โดยวิดีโอ C.I.Y. นี้ พร้อมเสิร์ฟในวันอังคารเว้นอังคาร เวลา 21.00 น. ผ่านช่องทาง Facebook และยังสามารถติดตามดูย้อนหลังได้ทางยูทูบ ได้อีกด้วย

วิดีโอสาธิตทำอาหาร C.I.Y. เกิดจากแนวคิดของสามพี่น้องเจเนอเรชั่นที่สองของตระกูล ‘หงษ์วิวัฒน์’ นำโดย น่าน, วรรณแวว และแวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ อยากต่อยอดธุรกิจสำนักพิมพ์ด้วยการผลิตรายการสาธิตทำอาหารดี ๆ ภาพสวย มีชีวิตชีวา และคนดูสามารถทำตามได้ โดย น่าน ผู้ศึกษาด้านอาหารจากสถาบันอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ เลือกสูตรอาหาร พูดคุยถึงขั้นตอนทำอาหาร และลงมือทำอาหารเองทั้งหมด ในคอนเซ็ปต์ที่ว่า “ถ้าผมทำได้ คุณก็ทำได้” ส่วน วรรณแวว รับหน้าที่เป็นไดเร็คเตอร์รายการ และ วรรณแวว รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ เรียกว่าทั้งสามพลังสอดรับกันอย่างขันแข็งสมกับเป็นทายาทผู้ผลิตหนังสือตำราอาหารอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย

ก่ อนที่จะมารุกตลาดด้วยรายการทำอาหารผ่านเฟซบุ๊ก น่าน เล่าถึงสำนักพิมพ์แสงแดดให้ฟังว่า “คุณแม่ (นิดดา หงษ์วิวัฒน์) ชอบเขียนหนังสือ ก็เลยมาเปิดสำนักพิมพ์ ตอนแรกก็เป็นพ็อกเก็ตบุ๊คทั่วไป ตอนหลังมาเน้นด้านหนังสือตำราอาหารโดยเฉพาะ เพราะเห็นว่าตำราอาหารในเมืองไทยยังไม่ค่อยมี และรู้จักสนิทสนมกับอาจารย์ศรีสมร คงพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำอาหาร จุดเด่นของตำราอาหารจากแสงแดดทุกเล่มคือ ได้รับการทดสอบแล้วว่าทำได้จริง และพยายามให้ข้อมูลมากและละเอียดที่สุดในฐานะตำราอาหาร” น่าน บอกว่า ธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจที่เติบโตไปอย่างช้า ๆ ส่วนตัวเขารู้สึกว่า สิ่งที่มีค่ามากที่สุดในสำนักพิมพ์แสงแดดก็คือ ตำราอาหาร จึงอยากนำสิ่งนั้นมาเสนอในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากสิ่งพิมพ์ เพราะคิดว่าเรื่องอาหารไม่เคยล้าสมัย และยังเป็นการตอบสนองกลุ่มคนอ่านใหม่ ๆ รวมทั้งครอบครัวไทยที่มีขนาดเล็กลงต้องพึ่งการทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น โดยมีเป้าหมายว่า อยากให้แสงแดดเป็น Food Content Provider ของทุกคน จึงกลายเป็นวิดีโอสาธิตการทำอาหาร C.I.Y. – Cook It Yourself ออนแอร์ผ่านเฟซบุ๊กในวันนี้

 

 

วรรณแวว สาวน้อยผู้รับหน้าที่เป็นไดเร็คเตอร์รายการ คุยให้ฟังว่า “ก่อนหน้าที่จะมาทำ C.I.Y. วรรณกับแววได้ลองทำวิดีโอรายสะดวกชื่อว่า Video & Recipe เป็นวิดีโอที่บอกสูตรและขั้นตอนการทำอาหารของสำนักพิมพ์แสงแดด โดยนำเสนอในรูปแบบเก๋ ๆ มีเรื่องราวที่เราสองคนใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปอย่างเต็มที่ เมื่อคุยกันว่าจะทำรายการ C.I.Y. ที่ต้องออกสม่ำเสมอ จึงเปิดแผนกวิดีโอชื่อว่า Spoonful Production เพื่อผลิตภาพเคลื่อนไหวแบบสร้างสรรค์เรื่องอาหารได้ทุกแง่มุมอย่างเต็มที่มากขึ้น”

วิดีโอสาธิตทำอาหาร C.I.Y. ที่มี น่าน – ผู้เป็นพี่ชาย เป็นพิธีกร วรรณและแวว จึงตั้งใจว่า จะนำเสนอแบบสบาย ๆ ใช้กล้องแทนสายตาคนดู และบังคับพี่ชายไม่ให้พูดตามสคริปต์เด็ดขาด เพื่อความเป็นธรรมชาติของตัวตนคนทำอาหาร แต่ก็ต้องแลกมากับการทำโปรดักชั่นที่ยาวนานขึ้น โดยน่านยืนยันกับเราในประเด็นนี้ว่า “รายการนี้ใช้เวลาถ่ายทำยาวนานขึ้นจริง ๆ ผมเคยไปเป็นแขกรับเชิญของรายการอื่น ปกติหนึ่งวันจะได้ 4 เมนู แต่ที่นี่ ทั้งวัน ถ่ายได้เพียง 2 เมนู (หัวเราะ)” ด้าน วรรณ ก็ให้เหตุผลเสริมว่า “ด้วยความที่เราสามคนอยู่กับธุรกิจอาหารมาตลอดชีวิต เรามีเมนูอาหารที่รู้ว่าทุกคนต้องชอบ จึงอยากนำเสนอสิ่งนั้นออกมาอย่างดีที่สุด สังเกตได้ว่าทุกวิดีโอของเรามีช็อตที่เรียกว่า ‘ช็อตใจละลาย’ ที่ทำให้คนดูน้ำลายสอไปกับเราด้วย เช่น ภาพไข่ต้มยางมะตูมเยิ้ม ๆ อะไรแบบนี้ ส่วนการเลือกเมนูอาหาร ก็จะเลือกเมนูที่คนรุ่นใหม่สนใจ ทำได้ง่าย บางเมนูก็มีพลาดบ้าง เช่น ‘ฉู่ฉี่ปลาแซลมอน’ ที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจเลย แต่เมนูง่าย ๆ เช่น ‘ไก่ทอดคอนเฟล็ก’ กลายเป็นคนคลิกเข้าไปดูแบบล้นหลามมาก”

ณ วันที่ปิดต้นฉบับ วิดีโอ C.I.Y. ได้จัดทำมาทั้งหมด 10 ตอนแล้ว น่าน แวว และวรรณ พี่น้องในเจนเนอเรชั้นที่ 2 ของแสงแดด บอกกับเราว่า วิดีโอที่ทำขึ้นมาในโลกดิจิตอลนี้ ทำให้สำนักพิมพ์แสงแดดได้สื่อสารไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และที่ตัดสินใจใช้ช่องทางของเฟซบุ๊กสื่อสารก็เพราะเป็นช่องทางที่ไม่เป็นทางการมาก สามารถสอดแทรกลูกเล่นต่าง ๆ ได้ตลอด รวมทั้งยังเป็นช่องทางที่ถูกจริตกับคนที่ชอบใช้สื่อออนไลน์ในปัจจุบัน

เมื่อถามถึงแนวทางการพัฒนาต่อไปในอนาคต น่านบอกว่า “นอกจากสื่อออนไลน์ในปัจจุบันแล้ว ในอนาคตอันใกล้เรามองไปถึงการออกอากาศผ่านรายการโทรทัศน์ เพื่อให้มีผู้ชมที่กว้างขึ้นกว่าในเฟซบุ๊กหรือยูทูบ โดยเฉพาะการกำเนิดของทีวีดิจิตอลจะช่วยให้รายการดี ๆ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในฟรีทีวี ช่อง 3 – 5 – 7 – 9 เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ก็เข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะเติบโตได้มากกว่านี้ ถึงแม้เราจะมุ่งมั่นกับการผลิตสื่อออนไลน์ แต่งานผลิตตำราอาหารเราก็ไม่ทิ้งนะครับ ล่าสุด สำนักพิมพ์แสงแดดเพิ่งเปิดตัวตำราอาหาร ‘แกงไทย’ ที่รวม 80 สูตรแกงไทยฉบับสมบูรณ์ที่สุดไป สามารถติดตามกันได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำเช่นเคยครับ”

เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่แค่ในหนังสือ ทายาทรุ่นที่ 2 ของสำนักพิมพ์แสงแดดจึงพลิกมุมคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อต่อยอดจากตำราอาหารที่มีอยู่ในมือ หากสนใจอยากติดตามรายการดี ๆ แบบนี้ ร่วมคลิกให้กำลังใจตามช่องทางข้างต้น รับรองว่า คุณจะไม่พบคำว่า ‘ผิดหวัง’ อย่างแน่นอน

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ