ครูทอม คำไทย : ติวเตอร์ในโลกสมัยใหม่

ครูทอม คำไทย

สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ พิธีกรรายการ ‘เกมเด็ด ๗ กระดาน’ พิธีกรรายการ ‘แบไต๋ไอที’ ติวเตอร์พิเศษตามสถาบันต่าง ๆ เจ้าของแอคเคานต์ทวิตเตอร์ @TUTOR_TOM ที่มีผู้ติดตามนับหมื่น คงเพียงพอที่ทำให้เราเลือกพูดคุยถึงความไม่ธรรมดาของเขาคนนี้ ‘จักรกฤต โยมพยอม’หรือที่ทุกคนในโลกออนไลน์รู้จักกันดีในนาม ‘ครูทอม คำไทย’

 

ครูทอม คำไทย

 

เริ่มต้นจากความชอบเป็นทุนเดิม
“จริง ๆ เริ่มชอบภาษาไทยมาตั้งแต่ประถมเลยครับ ตอนเด็ก ๆ ชอบไปห้องสมุด แรก ๆ ก็อ่านการ์ตูน อ่านนิทานอีสป นิทานชาดก แล้วก็ขยับไปอ่านอะไรที่ยากขึ้น อ่านวรรณคดี อ่านแล้วสนุก แล้วก็อ่านมาเรื่อย ๆ จนปลูกฝังให้ชอบภาษาและวรรณคดีไทย ตอนที่เรียนก็ทำกิจกรรมเกี่ยวกับด้านนี้มาตลอด ทั้งแต่งกลอน เขียนเรียงความ ลองไปหมด มีเวทีไหนให้ประกวดก็จะสมัครทุกอย่าง ทำแล้วสนุกดี ได้รางวัลบ้าง ไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ได้ฝึกฝน และพัฒนาตัวเอง พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยเข้าสมัครในโครงการผู้มีความสามารถพิเศษทางภาษาและวรรณคดีไทย ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะว่าเป็นสิ่งที่ใช่ ตอนที่เรียนก็รู้สึกสนุกมาก แต่ก็ยังไม่ได้คิดว่า เรียนไปแล้วจะทำอะไรต่อ แต่ว่าเราชอบ ถ้าหากฝึกฝนจนเก่ง เดี๋ยวงานมันก็มาเอง” ติวเตอร์หนุ่มคนนี้บอกกับเราด้วยน้ำเสียงรื่นเริง แววตาเป็นประกายด้วยความภาคภูมิใจ

เพียงชายคนนี้ เป็นอาจารย์พิเศษ
ครูทอมเป็นคนชอบพูด ชอบเล่า ชอบแบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่น แต่ไม่ชอบอยู่ในกรอบ ทำอะไรตามใจตัวเอง ถ้าหากให้เขาไปอยู่ในระบบราชการก็คงไม่มีความสุขแน่นอน เพราะฉะนั้น การเป็นติวเตอร์พิเศษก็ดูจะตอบโจทย์ที่สุด “ด้วยความที่วัยของเรากับเด็กใกล้เคียงกัน ทำให้เข้าถึงเด็กได้ง่าย อย่างเรื่องทรงผมของเราก็ช่วยลดความเป็นทางการไปได้เยอะเลย เวลาสอนก็จะเน้นความสนุกสนานเฮฮา เป็นกันเอง เหมือนพี่สอนน้อง เด็กก็จะกล้าถาม คุยเล่นได้ แซวได้ ก็จะชอบแบบนี้มากกว่า”

นอกจากนี้ ครูทอมยังได้เป็นอาจารย์รับเชิญ ให้ไปสอนเด็กด้อยโอกาสตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น นราธิวาส ชุมพร ศรีสะเกษ มหาสารคาม ฯลฯ และในปีนี้ก็มีความตั้งใจที่ทำโครงการติวภาษาไทยให้กับนักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย “ตั้งใจว่าจะติวให้กับน้อง ม.6 ครับ ซึ่งโครงการนี้ น้อง ๆ สามารถเข้าติวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว” สิ่งหนึ่งที่เป็นกำลังใจสำคัญของอาชีพครูก็คือ ความสำเร็จของลูกศิษย์ “จะรู้สึกดีมาก ๆ เวลาน้อง ๆ ที่เรียนกับเรามาบอกว่า สอบติดแล้ว หรือทำตามความฝันได้สำเร็จแล้ว รู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของหลาย ๆ คน”

ความเป็นครู ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในโลกความจริง
นอกจากเป็นอาจารย์พิเศษตามสถาบันต่าง ๆ แล้ว ครูทอมยังสอดแทรกเกร็ดความรู้ เทคนิคเกี่ยวกับการทำข้อสอบภาษาไทยเอาไว้ทางทวิตเตอร์และอินสตาแกรมด้วย ในเรื่องนี้เขาให้ความเห็นว่า “เราไม่รู้หรอกว่า เด็กแต่ละคนมีโอกาสได้ไปติว หรือเข้าใจเนื้อหามากน้อยแค่ไหน แต่เราก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้เขาได้ติว ได้อ่านเกร็ดความรู้สั้น ๆ ที่เกี่ยวกับภาษาไทย เอาไปใช้สอบได้จริง”

‘แฟนพันธุ์แท้’ รายการเปลี่ยนชีวิต
ครูทอม คำไทย ติวเตอร์ในโลกสมัยใหม่ ครูทอมบอกเราว่า เคยใฝ่ฝันอยากจะมาแข่งรายการนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว เมื่อรู้ว่าทางรายการเปิดรับสมัคร ‘แฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่’ ก็เลยสมัคร และได้เป็น 5 คนสุดท้าย เข้าไปแข่งในรายการ เขาเล่าให้ฟังว่า “บรรยากาศในการแข่งค่อนข้างตื่นเต้น และกดดันพอสมควร เพราะบอกกับทางรายการว่าเป็นครูภาษาไทย เลยไม่อยากตอบผิด กลัวขายหน้า แต่ก็น้อยกว่าความรู้สึกที่เราอยากให้คนดูสนุกกับภาษาและวรรณคดีไทย และยังได้ความรู้อีกด้วย”

หลังจากที่ได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แล้ว เขาก็ได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากร ไปบรรยายเรื่องภาษาไทย วรรณคดีไทย ตามสถาบันต่าง ๆ แล้วก็มีโอกาสได้ไปทดสอบหน้ากล้อง เป็นพิธีกรรายการ ‘เกมเด็ด ๗ กระดาน’ จากนั้นก็ได้ไปเป็นพิธีกรรายการ ‘แบไต๋ไอที’ ช่วง ‘คำไทยในเน็ต’

คำไทยในเน็ต
“ตอนที่เรียนคณะอักษรฯ มีวิชานึงบอกไว้ว่า ภาษาวิบัติไม่มีอยู่จริง อย่างเช่นคำว่า บ่องตง จุงเบย นะครัช นะครัส ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงทางภาษา เป็นกลวิธีการสร้างคำอีกอย่างหนึ่ง การใช้คำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ควรจะรู้ว่าต้นแบบคือคำอะไร ต้องใช้ให้ถูกต้องตามกาลเทศะ เมื่อไหร่ควรใช้ เมื่อไหร่ไม่ควรใช้ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การสะคำผิด โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ อย่างเช่น คะ ค่ะ (มักจะใช้กันผิดเป็น นะค่ะ – ผู้เขียน) คำว่าคะ เป็นเสียงสูง ใช้สำหรับการถาม ค่ะ เป็นเสียงต่ำ ใช้กับการตอบรับ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นต้องมาสอนกับแบบนี้เลย ในเมื่อเราเขียนตามการออกเสียง ถ้าเราเขียนถูก มันก็ต้องออกเสียงถูก เหตุผลอีกอย่างก็คือ สื่อ หลายครั้งที่คนไทยเราใช้ภาษาไทยผิด ก็เพราะเห็นจากสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ อย่างที่ปัจจุบันนี้ผิดกันเยอะ เน้นที่ความเร็ว พิมพ์แล้วขึ้นเว็บเลย แทบจะไม่มีการตรวจทาน ก็เลยทำให้คนเห็นอะไรผิด ๆ เยอะ ถ้าอยากจะให้คนใช้ภาษาถูก สื่อจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน”

ความเป็นไทยในโลกออนไลน์
ข้อดีของสื่อออนไลน์คือ ทำให้มีพื้นที่ในการสื่อสารออกไปในวงกว้าง และยังเป็นการเปิดรับสาร หรือข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมจากต่างประเทศ “การที่เรารับเอาวัฒนธรรมต่าง ๆ มาไม่ใช่เรื่องเสียหาย อย่างชุดที่เราใส่ มันใช่ชุดไทยไหมล่ะ ก็ไม่ใช่ การที่เราชอบวัฒนธรรมอื่นไม่ได้หมายความว่าเราปฏิเสธวัฒนธรรมตัวเอง ความเป็นไทยไม่ใช่แค่ชุดไทย ไม่ใช่แค่การพูดภาษาไทยอย่างถูกต้อง มันเป็นนามธรรมมาก วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่หลอมรวมให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง ถ้าหากเราภาคภูมิใจกับตัวเอง มันก็โอเคแล้ว”

พลังของโลกออนไลน์ เปลี่ยนแปลงสังคมได้
ครูหนุ่มค่อนข้างเชื่อในเรื่องนี้ ตัวเขาเองก็ทำแฟนเพจ ‘ไทยเทรนด์’ร่วมกับเพื่อนขึ้นมา เพื่อเป็นการปรับทัศนคติเกี่ยวกับชุดไทย ที่คนทั่วไปมองว่าโบราณ ไม่ทันสมัย “คือเรารู้สึกว่าชุดไทย ผ้าไทย มันเท่ดี ถ้าถ้าเราใส่ไปตามที่ต่าง ๆ ให้มีความเป็นไทยแทรกอยู่บ้าง ก็น่าสนใจดี เราสามารถใส่ขุดไทย นุ่งโจงกระเบน ไปเดินห้าง เดินสยามได้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ต้องกลัวคนจะมองว่าบ้า ถ้าหากวัยรุ่นเอาอะไรไทย ๆ มาแทรกตามตัวบ้าง อย่างเช่น กระเป๋า บ้าง โบ บ้าง ก็น่าจะสามารถสอดประสานกับวัฒนธรรม ณ ปัจจุบันได้ไม่เสียหาย ไม่เคอะเขิน” สานต่อความเป็นไทย ให้อยู่ต่อไปในยุคดิจิตอล

“สิ่งที่เราทำอยู่คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีไทยทางสื่อออนไลน์ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ทั้งหมด แต่ก็เชื่อว่า มันสามารถสื่อสารออกไปสู่คนได้จำนวนมาก อย่างน้อย คนอื่นก็จะได้รู้ว่าคำไหน อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร สะกดอย่างไร ใช้อย่างไร รวมถึงเกร็ดวรรณคดีไทยต่าง ๆ เขาอาจจะเอาสิ่งที่ได้รู้จากเราไปเล่าต่อ ไปต่อยอด ศึกษาเพิ่มเติม ก็จะช่วยสืบสานภาษาและวรรณคดีไทยให้มีลมหายใจต่อไป”

สุดท้ายแล้ว เราอาจไม่ต้องทำอะไรให้มันใหญ่โต ใช้งบประมาณร้อยล้านพันล้าน หรือไปรณรงค์เสียงแหบเสียงแห้งให้คนมาร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทยด้วยกัน แค่เริ่มต้นจากตัวเอง ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เหมาะสมกับกาลเทศะ เขียนให้ถูก สะกดให้ถูกก็พอ

 

ขอบคุณที่มา All magazine มิถุนายน 2557
บุคคล (ไม่) ธรรมดา : สุพิเศษ ศศิวิมล
ภาพ : อาเฉิน

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ