จรูญพร ปรปักษ์ประลัย : การวิจารณ์วรรณกรรม

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

คุยนอกรอบวันนี้ พามาพูดคุยกับคุณ จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์รางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ซึ่งคุณจรูญพรได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรในงานค่ายอ่านเขียนเรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5-8 ตุลาคม 2559 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งทางทีมงานได้มีโอกาสสัมภาษณ์และฟังความคิดเห็นที่มีประโยชน์เกี่ยวกับงานวิจารณ์จากนักวิจารณ์ท่านนี้ได้อย่างดีทีเดียว

 

 

ชีวิตการทำงานในปัจจุบัน?
ปัจจุบันยังคงทำงานทางด้านการวิจารณ์ คือทำมาต่อเนื่องตั้งแต่ตอนที่เรียนปี 3 ครับ คือประมาณปี 2533 และทำต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นคนทำงานทางด้านวิจารณ์ที่ใช้เวลายาวนานในการทำงานอย่างต่อเนื่อง และงานส่วนอื่นๆ ที่ทำก็จะเป็นงานทางด้านเกี่ยวกับการเขียนบทละคร บทภาพยนตร์ จริงๆ แล้วส่วนหลังเป็นงานหลักของชีวิตคือเป็นงานที่เราเลี้ยงดูตัวเองได้แต่ส่วนของงานวิจารณ์ถือว่าเป็นงานที่เราชอบ เพราะเป็นคนที่ชอบการอ่านหนังสือ การวิจารณ์เป็นการแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านท่านอื่นๆ ว่าเราอ่านแล้วเราคิดเห็นอย่างไร เรามองตรงมุมไหนของเล่มนั้น เราเห็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง แล้วก็นำเสนอผ่านรูปแบบของการเขียนบทวิจารณ์ออกมาครับ

คุณสมบัติที่นักวิจารณ์ต้องมี ?
คุณสมบัติที่นักวิจารณ์ต้องมีแทบไม่ต่างจากนักเขียนประเภทอื่นๆ คือ ต้องมีความละเอียด ช่างสังเกต ช่างพิจารณา มีความรู้ นอกจากจะเห็นรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ในงานแต่ละชิ้นอย่างละเอียดแล้ว ต้องมีความรู้ด้วยว่างานแต่ละชิ้นเป็นงานประเภทไหน คุณสมบัติหรือแนวเรื่องเป็นอย่างไร กลวิธีต่างๆ ซึ่งทักษะเหล่านี้มาจากการสั่งสมในเรื่องของการอ่าน คนที่เป็นนักวิจารณ์ได้ หรือนักวิจารณ์วรรณกรรมต้องเป็นนักอ่าน นักวิจารณ์ประเภทอื่นๆ ก็คล้ายๆ กันคือคุณจะวิจารณ์พระ คุณต้องรู้เรื่องพระเยอะๆ หากคุณจะวิจารณ์ไก่ชนก็เหมือนกัน หากคุณจะวิจารณ์เรื่องปืนคุณต้องรู้เรื่องปืนเยอะๆ คุณจะวิจารณ์หนังสือคุณต้องรู้หนังสือเยอะๆ ต้องอ่านหลากหลายทั้งในทางกว้างคืออ่านหลากหลายประเภท

และในทางที่ลึกคืออ่านแต่ละประเภทอย่างลึกซึ้ง อ่านด้วยจำนวนที่มากพอจนกระทั่งเราสามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนคืองานระดับดี อันไหนคือระดับที่พอใช้ได้หรือระดับที่ไม่ค่อยดีนัก เราสามารถแบ่งส่วนได้เมื่อเราอ่านงานที่มีจำนวนมากพอ และการอ่านอย่างต่อเนื่องก็เป็นประโยชน์ในแง่ที่ทำให้เราเห็นพัฒนาการของงานเขียนในแต่ละประเภท ในแต่ละแนวเรื่อง การอ่านงานที่เป็นทั้งของไทยและต่างประเทศก็จำเป็น เพราะจะเกิดการเปรียบเทียบว่า วิวัฒนาการของการเขียนในต่างประเทศเป็นอย่างไร และในบ้านเราเป็นอย่างไร เราไปถึงจุดไหนแล้วที่คนอื่นๆ ในประเทศอื่นๆ นักเขียนในที่อื่นเขาก้าวหน้าหรือว่าเขาล้าหลังอยู่ตรงไหน และเราอยู่ตรงจุดไหนของพัฒนาการในแง่ของการเขียน เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องเห็นเพื่อนำมาใช้ในบทวิจารณ์ของเรา

คิดว่าวงการวิจารณ์ในปัจจุบันแตกต่างหรือมีพัฒนาการจากอดีตอย่างไรบ้าง
วงการวิจารณ์วรรณกรรมในปัจจุบัน ถ้าจะพูดกันจริงๆ ต้องบอกว่าตัวคนที่เราเรียกว่านักวิจารณ์อย่างชัดๆ ค่อนข้างจะน้อยหรือว่าแทบจะพูดชื่อกันไม่ค่อยได้แล้วว่ามีใครบ้างที่เป็นนักวิจารณ์ตัวจริง เนื่องจาก 2 กรณี คือ เดิมทีนักวิจารณ์ค่อนข้างจะมีเยอะและหลากหลายอาชีพ คนที่เป็นนักจิตวิทยา นักประวัติศาสตร์ หรือนักสังคมศาสตร์ก็เขียนงานวิจารณ์ด้วย อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า การอ่านเป็นสิ่งที่คนในยุคหนึ่งให้ความสำคัญ ขณะที่คนยุคนี้อาจจะอ่านเหมือนกันแต่ว่าไม่อ่านวรรณกรรมมากนัก ก็เลยไม่ได้มีการเขียนบทวิจารณ์กันมากเหมือนสมัยก่อน ซึ่งมีทั้งปริมาณและความหลากหลายในแง่ของมุมมองผู้เขียน พอพูดถึงนักวิจารณ์ตัวจริงหรือคนที่ทำเป็นหลักเป็นอาชีพก็ยิ่งน้อย

เนื่องจากว่าพื้นที่และหน้าที่การงานก็อาจจะไม่เอื้อที่จะทำเป็นอาชีพหรือทำเป็นงานประจำว่าเราจะมีคอลัมน์ประจำที่เขียนบทวิจารณ์ ซึ่งต้องบอกว่าทุกวันนี้พื้นที่ของนิตยสารที่จะใช้ในการเขียนวิจารณ์ก็ลดน้อยลง เราจะเห็นพื้นที่ที่มากขึ้นคือพื้นที่ในแบบโซเชียลมีเดีย แต่ว่าพื้นที่ของโซเชียลมีเดียก็มีข้อจำกัด เนื่องจากโซเชียลมีเดียไม่เหมาะกับการเขียนบทวิจารณ์ที่มีลักษณะที่ลึกซึ้ง หรือว่าลงลึกในแง่ของเนื้อหาที่มีรายละเอียดเยอะๆ แต่จะเขียนในแง่ที่เป็นการรีวิว คือการเขียนในชั้นของการแนะนำ บอกแค่ว่าดีหรือไม่ดี อาจจะมีการให้ดาวในลักษณะต่างๆ ซึ่งสำหรับการวิจารณ์ที่มีพัฒนาการหรือว่าให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านอย่างลึกซึ้งอาจไม่มากพอ การวิจารณ์ที่จะให้ประโยชน์กับผู้อ่านอย่างลึกซึ้งหรือมากเพียงพอจำเป็นจะต้องมีพื้นที่ให้กับผู้เขียนบทวิจารณ์ที่มากเพียงพอที่เขาจะให้รายละเอียดของตัวงานชิ้นนั้น รวมทั้งการยกตัวอย่าง ยกในสิ่งที่ผู้เขียนเขียนแล้วนำมาวิเคราะห์ให้ครบถ้วนในทุกๆ แง่มุม ทุกๆ รายละเอียดที่เขียนอย่างเจตนาของผู้เขียนและสิ่งที่ผู้เขียนซ่อนหรือว่าเขียนโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ว่ามันปรากฏอยู่ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ส่วนเหล่านี้ถ้ามีพื้นที่ให้กับนักวิจารณ์ นักวิจารณ์ก็จะทำงานได้

ในส่วนของปัญหาในการวิจารณ์ในปัจจุบัน ผมมองว่า นักวิจารณ์หลายๆ ท่านซึ่งเดิมทีเคยเขียนและก็มีชื่ออยู่ ปรากฏว่าทำงานน้อยลงหรืออาจทำงานในแวดวงที่แคบลงก็คือ กลุ่มที่เป็นอาจารย์ในสายอักษรศาสตร์หลายๆ คนที่เราได้ยินชื่อมาตั้งแต่สมัยที่ผมอ่านงานแล้วก็ยังไม่เคยเขียนบทวิจารณ์ด้วยซ้ำ หลายท่านพอหลังๆ เริ่มเขียนน้อยลง อาจจะด้วยภาระหน้าที่ทั้งที่เป็นครูอาจารย์ อีกส่วนหนึ่งมีคำว่า “เปลืองตัว” คือเขียนบทวิจารณ์แล้วมีคนบอกว่ามันเปลืองตัวนะ พอไปวิจารณ์เขาในแง่ตำหนิหรือว่าชี้ข้อเสียอะไรต่างๆ แล้วก็ถูกตอบโต้กลับมา โดยเฉพาะยุคปัจจุบันเป็นยุคโซเชียลมีเดียที่มีการตอบโต้ได้ง่าย พอเขียนอะไรที่ไม่ถูกอกถูกใจหรือว่ารู้สึกว่าคนนั้นมาว่าฉันอย่างนั้นอย่างนี้ก็จะมีการตอบโต้กันอย่างทันควันรวดเร็ว ซึ่งตรงนี้จะมีหลายท่านบอกเราจะไม่เปลืองตัวและไม่เผยแพร่ในที่สาธารณะดีกว่า คือถ้าจะวิจารณ์ก็จะวิจารณ์ในหมู่นักวิชาการด้วยกันเป็นเอกสารหรือเป็นวารสารในแวดวงวิชาการทำให้ตัวบทวิจารณ์ไม่เผยแพร่ในวงกว้าง

จากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่ทำให้การวิจารณ์เริ่มมีรูปแบบใหม่ไปในทางรีวิว คิดว่าเราน่าจะมีแนวทางพัฒนาการวิจารณ์อย่างไร ให้หลักการวิจารณ์ที่แท้จริงที่มีคุณภาพไม่หายไปในยุคดิจิตอลที่คนอ่านหนังสือจริงๆ น้อยลงแต่หันไปเสพสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น
ในแง่ที่เราจะทำให้บทวิจารณ์มีคุณภาพในยุคที่มีสื่อรวดเร็วและฉับไวอย่างโซเชียลมีเดีย ผมมองว่าการที่เราจะทำให้มันลึกได้ต้องทำงานมากกว่า 1 ชิ้น คือสมมติว่าคนที่เขียนวิจารณ์ต้องมีแบบชิ้นยาว ชิ้นเต็มและอีกหนึ่งชิ้นก็เป็นชิ้นสั้น หรือว่าอย่างภาษาของพวกผมจะเรียกว่า cut down คือยกบางส่วนออกมาแล้วก็เอาไปใส่อยู่ในโซเชียลมีเดีย แล้วก็อาจจะมีพื้นที่อีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีตัวบทที่มันยาวกว่าหรือตัวบทเต็มให้เขาอ่านด้วย ก็ใช้ตัวนั้นเป็นตัวดึงคน เป็นตัวยั่วยุคนให้เกิดความสนใจอยากอ่าน

แต่ข้อสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรตัวบทวิจารณ์จะสามารถดึงคนไปอ่านตัวบทหรือวรรณกรรมเล่มจริงได้ อันนั้นก็เป็นจุดสำคัญ เนื่องจากว่าการอ่านตัววรรณกรรมจริงๆ กับการอ่านตัวบทวิจารณ์ต้องประกอบเข้าด้วยกัน คือตัวบทวิจารณ์ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ต้องพึ่งพิงตัวงานที่มีตัวบทคือไม่สามารถอยู่ด้วยตัวเองได้ ตัวบทในที่นี้แล้วแต่ว่าตัวบทเป็นอะไร คำว่าตัวบทจะค่อนข้างกว้าง ภาพยนตร์ก็ถือว่าเป็นตัวบท เพลงก็ถือว่าเป็นตัวบท วรรณกรรมก็ถือว่าเป็นตัวบท เพราะฉะนั้นถ้าเข้าสู่ตัวบทได้จะทำให้การวิจารณ์ขยายไปได้แน่ๆ ถ้าคนอ่านแล้วเชื่อผู้วิจารณ์โดยทันทีจะทำให้การวิจารณ์ไม่ครบกระบวน การวิจารณ์ที่ครบกระบวนจำเป็นต้องมีการมองต่างมุมหลายๆ มุม หรือถ้าสำหรับนักวิจารณ์เราเรียกว่า การวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ ไม่จำเป็นว่า การที่เราเขียนบทวิจารณ์ทุกคนในโลกอ่านแล้วต้องเชื่อเรา หรือทุกคนอ่านแล้วจะบอกว่าต้องเป็นแบบนี้แน่ๆ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ บทวิจารณ์ไม่ใช่บทสรุป ไม่ใช่ข้อที่จะฟันธงว่าอะไรคืออะไรในงานชิ้นนั้นๆ เป็นแค่ความคิดเห็นหนึ่งซึ่งมีเหตุผลเข้ามาประกอบ ซึ่งเหตุผลจะเป็นอะไรก็ได้ เหตุผลเชิงวิชาการ เหตุผลเชิงทฤษฎี เหตุผลในเชิงความคิดเห็น หรือว่าในทางอื่นๆ ก็ได้ แล้วแต่ว่าเราจะมีเครื่องมืออะไรแล้วเราก็เอาเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้ซึ่งเครื่องมือที่ดีคือเครื่องมือที่เหมาะกับตัวเรื่อง

สมมติว่าเราจะวิจารณ์งานเขียนนวนิยายที่เป็นเชิงพระพุทธศาสนาอาจจะต้องเอาความคิดในเชิงพระพุทธศาสนาหรือว่าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นตัวที่ใช้ในการวิจารณ์ก็ได้ หรือใช้ตัวอื่นๆ ในการวิจารณ์ก็ได้ ยิ่งมีเครื่องมือที่น่าสนใจเท่าไรย่อมเกิดผลที่น่าสนใจเท่านั้น อย่างหนึ่งที่เห็นชัดในการอบรมครั้งนี้ก็คือว่าน้องๆ หลายคนใช้เครื่องมือมาเป็นตัวช่วย ทำให้เห็นมุมอื่นๆ ของตัวงานวรรณกรรมที่เคยถูกมองผ่านเครื่องมืออื่นหรือผ่านมุมมองอื่นๆ แต่ว่าพอเปลี่ยนเครื่องมือหรือว่าใช้เครื่องมืออันใหม่ที่แตกต่างกันออกไปทำให้เห็นมุมอื่นๆ ได้เห็นส่วนที่เรามองข้ามหรือรายละเอียดเล็กๆ ที่เราไม่เห็นในบทวิจารณ์ชิ้นอื่น ก็ทำให้เห็นสิ่งที่ดูน่าสนใจ และทำให้ผู้อ่านบทวิจารณ์ได้ประโยชน์ ประโยชน์ของการอ่านบทวิจารณ์คือทำให้เราเห็นสิ่งที่เราไม่เห็นในตัววรรณกรรมในตัวบทที่มีอยู่เดิม อันนี้แหละคือสิ่งที่น่าสนใจ

หลังจากที่ได้อ่านผลงานการวิจารณ์วรรณกรรมของน้องๆ และจากการอบรมให้ความรู้กันไปตลอด 3 วัน 2 คืนในค่ายอ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ครั้งที่ 2 นี้ พอจะเห็นน้องๆ ที่มีแววที่จะเป็นนักวิจารณ์ในอนาคตบ้างไหม
ค่ายของเราเป็นรุ่นที่ 2 เท่าที่ทราบคือรุ่นนี้เป็นรุ่นที่โตหน่อย น้องๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาค่อนข้างจะเป็นนักศึกษาโดยส่วนใหญ่ น้องที่เป็นนักเรียนก็จะขาดเครื่องมือหรือว่าความกล้าที่จะวิจารณ์เพราะการวิจารณ์ต้องอาศัยความกล้าของผู้วิจารณ์อยู่เหมือนกันในการที่จะพูดในสิ่งที่เป็นความคิดเห็นของตัวเอง หรือพูดในสิ่งที่ขัดแย้ง หรือพูดในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยกับผู้เขียน หรือว่าพูดในมุมอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากผู้เขียน แต่ว่านักศึกษาที่ได้เรียนมาก็จะมีความกล้า เนื่องจากมั่นใจในเครื่องมือที่ตัวเองมีอยู่ เรียกว่าเครื่องมือในแง่ของภูมิรู้เกี่ยวกับการวิจารณ์ซึ่งหลายๆ คนได้เรียนการวิจารณ์มาแล้วจากสถาบันที่สอนทางด้านนี้โดยตรง คณะที่สอนทางด้านนี้โดยตรง ทำให้สามารถที่จะเอาทฤษฎี เอาหลักของการวิจารณ์ที่ได้รับการเรียนรู้จากครูอาจารย์มาใช้แล้วเห็นผลที่ดี ต้องบอกว่ารุ่นนี้เป็นรุ่นที่ค่อนข้างน่าพอใจสำหรับผม คือผมวิจารณ์งานของน้องๆ ที่เข้าอบรมมาหลายที่แล้ว ก็เห็นว่าน้องๆ ที่เข้ามาในค่ายนี้มีคุณภาพ อาจจะด้วยวิธีการที่ดีในการคัดเลือกผลงานและมีอาจารย์ที่มีความรู้มีมาตรฐานสูงเป็นคนคัดน้องๆ เหล่านี้เข้ามา 37 คน ต้องบอกว่าทุกคนมีของ แต่ก็อย่างที่บอกว่าของที่มีก็ไม่เท่ากัน เนื่องจากว่าระดับของอายุ ระดับของความรู้ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นตัดสินยาก เนื่องจากว่าต้นทุนไม่เท่ากัน แต่ถามว่ามีแววไหม มีแวว...มีแววอย่างเห็นได้ชัด บางคนงานเหมือนมืออาชีพเลยสำหรับผม บางชิ้นเหมือนมืออาชีพทำและค่อนข้างมีความหวังถ้าน้องๆ เหล่านี้จะทำงานทางด้านการเขียนวรรณกรรมวิจารณ์ต่อและหาพื้นที่หรือว่ายังสนุกอยู่กับงานประเภทนี้ คิดว่ามีความหวังครับ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ