เพิ่งได้รับรางวัล Best Voice & Sound Influencer จากงาน Thailand Influencer Award 2023 ไปหมาดๆ สำหรับ แยม-วรรญา ไชยโย หรือที่หลายคนรู้จักเธอในฉายานักพากย์ 100 เสียง เธอโด่งดังมาจากคลิปพากย์เสียงตัวการ์ตูน 100 ตัว ต่อเนื่องมาจนถึงการพากย์เสียงชินจังร้องเพลงวอเอ๊ะๆ ในแพลตฟอร์ม Tiktok หลายๆ คอนเทนต์ที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นได้รับความสนใจจากผู้ชมในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก จนทำให้ช่องของเธอมีผู้ติดตามแล้วกว่าสามล้านคน สาวมากความสามารถคนนี้เป็นใครมาจากไหน และก้าวเข้าสู่วงการนักพากย์ได้อย่างไร เราจะพาไปทำความรู้จักกับเธอกัน
ก่อนมาเป็นนักพากย์แยมอยู่ที่ไหนทำอะไรมาก่อน
“แยมเรียนจบนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพะเยามาค่ะ ความฝันตอนนั้นคืออยากทำงานเบื้องหลัง เพราะว่าเราเรียนนิเทศเราก็อยากจะทำเบื้องหลังอะไรสักอย่าง อาจจะเป็นรายการหรือภาพยนตร์อย่างนี้ค่ะ แต่ตอนนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาของแยมเขาพยายามผลักดันให้แยมเป็นนักข่าว เพราะว่าบุคลิก ความสวย (หัวเราะ) ก็น่าจะเป็นผู้ประกาศข่าวได้ ช่วงที่ฝึกงานก็เลยเป็นการฝึกงานข่าว ตอนนั้นจำได้คือสิบสามหมูป่าติดถ้ำที่เชียงราย แยมอยู่ศูนย์เหนือค่ะ ไม่ได้หยุดเลย มันหนักมาก ตอนฝึกงานคือเหนื่อยมาก แต่มันก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าสิ่งที่ทำตอนนั้นมันไม่ใช่ตัวเราจริงๆ ไม่ใช่ทางของเราจริงๆ ค่ะ”
รู้ตัวว่าชอบการพากย์เสียงตั้งแต่ตอนไหน
“ตอนที่เรียนจะมีวิชาเลือกวิชาหนึ่งเป็นวิชาการพูดเพื่อการสื่อสาร ก็มีให้ลองฝึกพากย์สารคดี ฝึกอ่านข่าวอะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วมันมีอยู่สัปดาห์หนึ่งที่อาจารย์ให้นักศึกษาออกมาพากย์เป็นตัวการ์ตูนที่หน้าห้อง แยมได้เป็นตัวแทนออกไป ตอนนั้นมีเวลาเตรียมตัวก่อนพากย์ประมาณครึ่งชั่วโมง แยมก็เสิร์ชหาข้อมูลว่าต้องพากย์ยังไง ใช้น้ำเสียงยังไง เราก็ซ้อมๆ พอถึงเวลาออกไปพากย์แยมเลือกพากย์เสียงโดราเอมอน พอเราพากย์จบทุกคนร้องอู้หูพร้อมกับปรบมือ จากเสียงปรบมือในห้องเรียนวันนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่านี่น่าจะเป็นสิ่งที่เราทำได้ดี อันนี้แหละน่าจะใช่ทางของเรา บวกกับความชอบด้วย หลังจากนั้นก็เลยพยายามฝึกพากย์มาเรื่อยๆ จากโดราเอมอนก็ขยับมาพากย์เสียงโนบิตะ มาเป็นชินจัง ฝึกมาเรื่อยๆ เลยค่ะเพราะคิดว่ามันน่าจะต่อยอดอะไรเราไปได้อีก”
มาเริ่มต้นทำงานพากย์เสียงได้ยังไง
“ย้อนไปช่วงเรียนปีสามจะขึ้นปีสี่ ตอนนั้นต้องทำโปรเจ็กต์จบ คนอื่นๆ เขาทำหนัง ทำโฆษณา ทำสารคดี แต่แยมเลือกการพากย์เสียงเป็นโปรเจ็กต์จบค่ะ ด้วยความที่แยมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราชอบนะ ถ้าเกิดว่าโปรเจ็กต์จบมันไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราชอบเราจะอยู่กับมันจนจบโปรเจ็กต์ได้ยังไง ก็เลยไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์บอกว่าลองพากย์เสียงให้กับเด็กตาบอดสิ ตอนนั้นแยมเลยเลือกทำเป็นนิทานเสียงเกี่ยวกับรูปร่างรูปทรง ให้มันสอดคล้องกับเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กประถมหนึ่ง แล้วก็ใช้เทคนิคการพากย์เสียงเข้าไป แล้วหลังจากนั้นเขามีประกวดเป็นโครงการของคนตัว D แยมก็เลยส่งโปรเจ็กต์นิทานเสียงไปประกวดด้วย ซึ่งหนึ่งในกรรมการที่คัดเลือกคือรองผู้อำนวยการของไทยพีบีเอส เขาได้ฟังโปรเจ็กต์เสียงแล้วเขาสนใจมากเลยติดต่อมาชวนไปทำพอดแคสต์รายการนิทาน ตอนนั้นแยมก็ตกลงทำงานกับเขาเลย ทำเป็นเอาท์ซอร์ส คือผลิตรายการที่เราและส่งเทปที่จะออนแอร์ให้กับเขา ตอนนั้นยังเป็นไทยพีบีเอสเรดิโออยู่ค่ะ เป็นพอดแคสต์ที่ออนบนเว็บไซต์ ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ อันนี้ก็คือจุดเริ่มต้นค่ะ”
มีเทคนิคในการพากย์เสียงหรือออกแบบเสียงยังไงบ้าง
“แยมมีหลักง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อน เป็นหลักที่แยมใช้ฝึกและใช้ดึงคาแรกเตอร์ตัวละครที่แยมเลียนเสียงด้วย คือหนึ่ง เราจะดูเพศก่อนค่ะว่าเขาเป็นเพศอะไร ถ้าเพศหญิงก็จะมีกล่องเสียงที่เล็ก ถ้าเพศชายก็จะมีกล่องเสียงที่มันใหญ่หน่อย ต่อมาเราก็ดูขนาดของตัวละครนั้นๆ เช่นถ้าตัวเล็ก เสียงก็จะมีความเล็กลงมา ต่อมาก็ดูคาแรกเตอร์ค่ะ อย่างโดราเอมอนจะมีความใจดี เสียงหัวเราะปลายๆ จะมีความใจดี หรืออย่างชินจังก็จะมีสำเนียงที่มันเป็นคาแรกเตอร์แบบซนๆ ของเขา หลังจากนั้นก็มาดูลักษณะเฉพาะของตัวละคร อย่างเช่นเป็นแมว จมูกเขาจะกดลงไปข้างในนิดหนึ่ง เขาจะมีความกดของเสียงลงไปนิดหนึ่ง หรือการออกแบบตัวละครที่เป็นรูปร่างรูปทรงแยมก็ใช้หลักการนี้เหมือนกัน อย่างเช่นจะให้แก้วน้ำนี้พูดได้ แยมก็จะประเมินแล้วมอบคาแรกเตอร์ให้เขาก่อน แก้วนี้เป็นสีดำงั้นน่าจะเป็นเด็กผู้ชาย เราก็ลองตั้งคีย์เสียงให้เขา บวกกับขนาด แล้วก็ใส่ลักษณะเฉพาะให้เขาลงไป ค่อยๆ ใส่ไปทีละข้อค่ะ”
เสียงไหนที่ยากแบบที่เราไม่สามารถพากย์หรือเลียนเสียงได้
“ที่ยากที่สุดคือตัวละครที่มันเกินกล่องเสียงของแยมค่ะ สมมติกล่องเสียงเราขนาดเท่าแก้วกาแฟ พอเราไปพากย์ตัวละครที่ตัวใหญ่มากๆ มากกว่ากล่องเสียงของแยมที่มันเท่าแก้วกาแฟ มันจะเหมือนการพยายามดันแก้วกาแฟให้แตก มันก็เลยเป็นอะไรที่เกินตัว เกินกล่องเสียงของแยมไป อย่างเช่นเสียงของธานอสในเรื่อง Avengers หรือเสียงแบบหุ่นยนต์ตัวใหญ่ เสียงยักษ์ อันนั้นจะเป็นเสียงที่แยมไม่สามารถทำได้ มันเกินความสามารถและกล่องเสียงของแยมไป แต่ถ้าเป็นอะไรที่กล่องเสียงแยมทำได้ อันนั้นก็จะสามารถเล่นลูกเล่นได้เยอะมากๆ ค่ะ”
เสียงสำคัญสำหรับนักพากย์มาก แยมมีวิธีดูแลเสียงตัวเองยังไง
“แยมก็จะมีจิบน้ำบ่อยๆ เป็นน้ำอุ่นหรือน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง เพราะอาชีพนักพากย์ถ้าเราป่วยเป็นหวัดหรือเป็นอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับกล่องเสียง ไม่สามารถที่จะทำงานได้เลย พอเราป่วยปุ๊บเท่ากับงานถูกแคนเซิลหมด สิ่งที่แยมต้องทำคือดูแลรักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรง เพราะว่ากล่องเสียงของเราพอเรารู้การทำงานของเสียงมันทำให้เราดูแลได้ง่ายขึ้น เสียงของเราที่มันออกมาจากปอดของเรา แล้วมากระทบลิ้น กระทบกระพุ้งแก้มแล้วออกมากลายเป็นเสียง เสียงของเรามันคือลมที่มันผ่านกล่องเสียงนี่เอง พอลมมันผ่านเรื่อยๆ เวลาที่เราเจ็บคอหรือระคายเคืองคอ แปลว่ากล่องเสียงของเรามันเริ่มแห้ง มันเริ่มได้รับการกระทบกระเทือน ให้จิบน้ำ ให้มีน้ำหล่อเลี้ยงเขาเพื่อให้ใช้งานได้ต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ”
นอกจากรายได้แล้วอาชีพนี้มันให้อะไรกับเราบ้าง
“ให้เยอะมากเลยค่ะ หนึ่งคืออิสระ อิสระก็คือเราอยู่ที่ไหนเราก็สามารถทำงานได้ แล้วก็อิสระในเรื่องของจินตนาการ เราอยากจะเผยแพร่คอนเทนต์สนุกๆ ลงในโซเชียลก็ได้ หรือได้ลองโชว์ทักษะอะไรใหม่ๆ ให้คนที่ติดตามเราได้ดู เราสามารถประยุกต์ได้หลายๆ อย่างเลย อันนี้คือให้อิสระในการทำงานของแยมแบบมากๆ อย่างที่สองคือให้ความฝันที่มันเกินความฝันมากๆ ถ้าย้อนเวลากลับไปบอกเด็กหญิงแยมที่นั่งดูการ์ตูนอยู่หน้าทีวีว่าโตไปเธอจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้านวอยซ์แอนด์ซาวนด์นะ เธอจะเป็นนักพากย์นะ แยมว่าเด็กคนนั้นก็คงไม่เชื่อ (หัวเราะ) คือมันเกินฝันแยมไปมากๆ จริงๆ ค่ะ แต่ทุกวันนี้แยมก็ยังพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ได้ฟิกซ์ว่าพากย์หนึ่งร้อยเสียงคือสำเร็จแล้ว มันยังมีตัวละครอีกเยอะแยะมากมายในโลกใบนี้ การพากย์เสียงหรือการใช้เสียงมันไม่ได้มีอยู่แค่ในหนังหรือในการ์ตูน มันสามารถเป็นได้อีกเยอะมากๆ เลยค่ะ”
ในอนาคตเราจะได้เห็นผลงานอะไรของแยมอีกบ้าง
“ตอนนี้ที่ตั้งใจก็จะเป็นช่อง ‘แชปครองโลก’ นี่แหละค่ะ อยากจะปั้นช่อง ช่องน้องแชปจะเป็นเสียงพากย์ผ่านคาแรกเตอร์น้องแมวของแยมเอง แต่ว่าเราจะใส่คอนเซปท์ให้เขาไปว่าเขามีแผนจะครองโลก แต่ก็จะเป็นแผนแมวๆ (หัวเราะ) แต่ก็จะมีเสียงจริงของแยมเข้าไปด้วยค่ะ เป็นเสียงจริงของเราในการเล่าเรื่องต่างๆ แล้วก็ถ้าในอนาคตเสียงเรามันเปลี่ยนไป ไม่ได้สวยปิ๊งเป็นร้อยเสียงคงกระพันขนาดนั้น แยมคิดไว้ว่าอยากจะเป็นวิทยากรหรือไม่ก็เป็นโค้ชทางด้านเสียง แยมอยากทำหนังสือให้ความรู้สำหรับเด็กๆ ที่มีความสนใจในสายอาชีพนี้ อยากถ่ายทอดความรู้ของตัวเอง ถ่ายทอดทักษะที่แยมฝึกฝนด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ศูนย์ ตั้งแต่ยังไม่รู้อะไรเลย อยากจะเผยแพร่ตรงนี้ให้คนที่สนใจได้เรียนรู้ เราอยากจะเป็นคุณครูพี่แยม อยากทำหนังสือจากครูพี่แยมสำหรับน้องๆ ที่เป็นนักพากย์มือใหม่ว่าจะต้องทำยังไง จะเริ่มฝึกยังไง เหมือนเป็นโค้ชทางด้านเสียงค่ะ”
ฝากถึงแฟนๆ ที่ติดตามผลงานของแยมหน่อย
“ก็อยากฝากให้ติดตามผลงานภายใต้ช่องของ Wanyayam ค่ะ ทั้งใน Instagram, Facebook, Tiktok ทั้งในช่องแชปครองโลกก็ฝากไปติดตามด้วยนะคะ ในอนาคตถ้าเกิดว่าแยมไม่ได้ทำคอนเทนต์ครีเอเตอร์แล้วก็จะมีผลงานอีกหลายๆ ผลงานที่ดำเนินไปด้วยเสียงของแยม ก็ฝากติดตามด้วยค่ะ”