ความในใจของ จิระนันท์ พิตรปรีชา : หนึ่งในนักแปลดีเด่น รางวัลสุรินทราชา ปี พ.ศ.๒๕๕๔

ความในใจของ จิระนันท์ พิตรปรีชา

รางวัล สุรินทราชา เป็นรางวัลเกียรติคุณที่สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยตั้งขึ้น เพื่อมอบแก่นักแปลและล่ามผู้มีผลงานดีเด่นเผยแพร่เป็นเวลานาน และสร้างคุณูปการแก่วงวรรณกรรม สังคม และประเทศชาติ

รางวัล สุรินทราชา ตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่ พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) หรือ “แม่วัน” ผู้แปลนวนิยายเรื่อง Vendetta ของ Marie Corelli เป็นภาษาไทย ชื่อ ความพยาบาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ และเนื่องจากท่านเป็นผู้มีความรู้ภาษารัสเซียและมีปฏิภาณไหวพริบดี จึงได้รับเลือกให้เป็นล่ามประจำพระองค์ซาเรวิช ผู้ในเวลาต่อมาดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลาสแห่งรัสเซีย

 

จิระนันท์ พิตรปรีชา\

นักแปลและล่ามดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา”
คุณสมบัตินักแปลดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา”
๑.มีผลงานแปลดีเด่น
๒.มีผลงานต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน
๓.ผลงานสร้างคุณูปการแก่วงการแปล
๔.ยังมีชีวิตอยู่ขณะคณะกรรมการฯ มีมติมอบรางวัล

คุณสมบัติล่ามดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา”
๑.มีผลงานการเป็นล่ามในวาระสำคัญๆ
๒.มีผลงานต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน
๓.ผลงานสร้างคุณูปการแก่วงการล่าม
๔.ยังมีชีวิตอยู่ขณะคณะกรรมการฯ มีมติมอบรางวัล

นักแปลดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา” พ.ศ.๒๕๕๔
๑.นางจิระนันท์ พิตรปรีชา
๒.นายทองแถม นาถจำนง (โชติช่วง นาดอน)
๓.นายปราโมทย์ ในจิต (จินตรัย)
๔.นางวิภาดา กิตติโกวิท
๕.ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล
๖.นายสุวิทย์ ขาวปลอด

ล่ามดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา” พ.ศ.๒๕๕๔
๑.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชเนฏฐวัลลภ (ณิโคลัส) ขุมทอง
๒.นายสุนทร เสียงนอก
๓.Mr.Yunpeng Zhang (Willey Chang)

ได้ ไปร่วมงานวันนักแปลและล่าม ครั้งที่ ๕ ซึ่งจัดโดย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔ ในวันดังกล่าว สมาคมฯ ได้มอบรางวัลสุรินทราชา ให้แก่นักแปลดีเด่นและล่ามดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๔ หลัง จากนักแปลและล่ามได้รับรางวัล ทุกท่านที่ได้รางวัลได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์(ซึ่งผู้จัดเรียกเช่นนั้น) ทุกท่านได้กล่าวความรู้สึกและเล่าประสบการณ์การแปลที่น่ารับฟังและเป็น ประโยชน์แก่ผู้สนใจการแปลและผู้สนใจทั่วไป ดิฉัน เห็นว่า สิ่งที่แต่ละท่านได้เล่าในวันนั้น มีประโยชน์และคงเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจการแปล ผู้รักการอ่าน และอื่นๆ จึงได้ถอดเทปเสียง ที่ได้บันทึกเอาไว้ มาแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านไปพร้อมๆ กัน โดยจะทยอยลงให้อ่านทีละท่านค่ะ/ นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ

ความในใจของ จิระนันท์ พิตรปรีชา : หนึ่งในนักแปลดีเด่น รางวัลสุรินทราชา ปี พ.ศ.๒๕๕๔

รางวัล นี้เป็นประจักษ์หลักฐานที่แสดงว่า ในสังคมวรรณกรรมหรือสังคมภาษาและหนังสือของประเทศไทยก็ให้ความสำคัญ กับผู้ที่มีบทบาททำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม ไม่เฉพาะในเรื่องของภาษาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม และบางเรื่องก็ถึงขั้นความรู้สึกระหว่างชาติด้วย อันนี้คือหน้าที่ที่มักจะไม่ค่อยมีใครเข้าใจหรือมองเห็นมากนัก ตัวดิฉันเอง เริ่มสนใจงานศิลปะการแปลโดยไม่รู้ตัว จำได้ว่าตอนเรียนชั้นประถมปลาย หรือ ม.ต้น แล้วก็มีบทแบบเรียนภาษาไทยให้อ่าน แล้วก็มีบทอาขยาน

“วัง เอ๋ยวังเวง หง่างเหง่งย่ำค่ำระฆังขาน ฝูงวัวควายผ่ายลาทิวากาล ค่อยๆ ผ่านท้องทุ่งมุ่งถิ่นตน ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับ ตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน ...” นี่จำได้เรียกว่า ๘๐% แล้วoriginalของงานชิ้นนี้ ไม่ทราบใครแปล ลืมไปหมดแล้ว แต่ทันทีที่รู้ว่ามาจากภาษาอังกฤษ รู้สึกคนแปลเขาใส่ว่ารำพึงในป่าช้า คือเป็นงานแปลที่เนียนมาก จนไม่เหลือกลิ่นไอของต่างประเทศอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว ทำให้เกิดความรู้สึกทึ่งมาก จนต้องไปตามหาต้นฉบับมาอ่าน พอดีที่บ้านเป็นร้านขายหนังสือ มีทุกอย่าง แต่ว่าภาษาอังกฤษไม่ค่อยมี ต้องไปหาในห้องสมุดด้วยความอยากรู้เป็นยิ่งนัก หลายปีต่อมาถึงจะเจอหนังสือเล่มนี้ เป็นวรรณกรรมเป็นpoetryของอังกฤษ ชื่อคนเขียนลืมไปแล้ว แต่เป็นกวีที่มีชื่อเสียง พออ่านภาษาอังกฤษถึงได้เข้าใจ ว่าศิลปะการแปลเป็นเช่นนี้เอง

อีก แหล่งหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ ก็คือหนังจีน ที่บ้านที่ตรังจะมีโรงหนังอยู่ข้างหลัง เขาเรียกว่าวิก สมัยก่อนนะคะ และโรงหนังนั้นชื่อวิกคิง วิกคิงนี้จะฉายแต่หนังจีนชอว์บราเดอร์ เพราะฉะนั้นจะมีพากษ์ภาษาไทย แต่ขณะเดียวกัน บางทีเวลาเขาร้องเพลงงิ้ว มันก็จะมีซับไตเติ้ลขึ้นมา แล้วก็จะมีบทกวีจีน แล้วก็มีหนังอินเดีย หนังแขกซึ่งจำแม่นเลย คนแปลซับไตเติ้ลชื่อพรานบูร รู้สึกจะเป็นสุภาพสตรี

“โอ้ ศกุนตลานิจจาเอ๋ย กระไรอาภัพอับวาสนา” อินตระเดียมากเลย แต่สิ่งเหล่านี้ที่ได้ผ่านตา ได้เรียนรู้ มันซึมซับเข้ามาโดยไม่รู้ตัว ว่าทำให้สนใจการสื่อภาษาข้ามวัฒนธรรม แต่ว่าในชีวิตก็ไม่ได้ใฝ่ฝันว่าจะต้องมาเป็นนักแปลหรือมาอบรมกับสมาคมล่าม และนักแปล เพราะว่าเดิมมาจากสาขาการเขียน เขียนบทกวี เขียนสารคดีท่องเที่ยว เขียนอะไรมากมาย แล้วจู่ๆ วันหนึ่งก็ส้มหล่น อาชีพในฝันลอยมาอยู่ตรงหน้า ในฝันคือฝันเป็นหนังอยู่เรื่อยๆ ก็มีคนบอกให้มาแปลเพลงในภาพยนตร์เรื่อง Always ไฟฝันควันรัก ก็เลยได้อาศัยชั้นเชิงกวี แปลเพลงนี้ Smoke Gets in Your Eyes

“มี คนถามรักแท้แน่ใจหรือ ตอบซื่อๆ หัวใจไม่ลวงฉัน...” คือแปลของเรามหัศจรรย์นิดหน่อยตรงที่ว่าแปลวรรคต่อวรรค และยังสัมผัสกันเป็นกลอน ก็ไม่รู้ทำเข้าไปได้ยังไง ก็ติดลม หลังจากนั้นก็ยึดอาชีพนักแปลบทภาพยนตร์ แปลมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีคนยุให้แปลหนังสือดู ก็คิดว่ามันง่าย อันนี้ต้องขอคุกเข่า โขกศีรษะคารวะพี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ นักแปลหนังสือทุกท่าน โดยเฉพาะคุณสุวิทย์นะคะ ดิฉันลองมาแล้วค่ะ แค่ ๓๐๐ หน้าก็แทบจะแย่อยู่แล้ว อาจารย์ที่แปลเหยื่ออธรรม War and Peace ต้องขอคารวะจริงๆ ในความเพียรพยายาม อดทน ใจเย็น วิริยะ อุตสาหะ จิตตะ วิมังสา ของท่าน เพราะว่าแปลบทภาพยนตร์ ฟังแล้วจะอิจฉา เรื่องนึงมีหนึ่งพันกว่าประโยค แต่มันก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งนะ ไม่ใช่แปลอะไรก็ได้ ในฐานะที่เป็นสื่อบันเทิง ก็มีเขาเรียก ‘แก๊ก’ บางทีก็ต้องจับอารมณ์ของภาพยนตร์เป็นหลัก มากกว่าตัวหนังสือ แล้วก็จะต้องใส่ภาษาพูดลงไป ให้มากที่สุด เท่าที่ไม่น่าเกลียด เพราะฉะนั้นการใช้สามัญสำนึกส่วนนี้จะเยอะกว่าการใช้ฐานความรู้ มันก็เลยเป็นสื่อบันเทิง อันนี้ก็พูดจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

แล้ว ทำไมถึงต้องมาติดหล่มอยู่ในวงการแปล จนแทบจะไม่มีเวลาเขียนอะไรของตนเอง ประการแรกก็คือ มันเหมือนพวกดาราเข้าค่ายแล้วจะต้องติดสัญญา พอใกล้deadlineแล้วบอกอก็จะต้องโทรมา ดุด่าว่ากล่าว เพราะว่าเขาไปซื้อลิขสิทธิ์มา แล้วติดสัญญากับเมืองนอก ถ้าไม่พิมพ์ภายในกี่ปีจะต้องโดนปรับ เป็นปีนะสำหรับจิระนันท์ เป็นเดือนไม่รับแล้ว

อีกอันหนึ่งก็คือว่างานแปล มันเป็นงานใช้ทักษะเยอะ นี่พูดกันอย่างเปิดใจนะ ใช้ทักษะ ในขณะที่งานเขียนoriginal มันใช้จินตนาการเยอะ ทั้งสองอย่างใช้ฝีมือทางภาษาเช่นเดียวกัน แต่งานทักษะเราสามารถเก็บเป็นลิ้นชักได้ในสมอง พอว่างก็ดึงลิ้นชักนี้ออกมาทำ พอไม่ว่างก็ไปทำอย่างอื่น สักประเดี๋ยวว่างหนึ่งชั่วโมงก็ยังแปลได้สักห้าหน้าอะไรอย่างนี้ แต่งานเขียนoriginalมันไม่ออก ก็เลยกลายเป็นนักแปลเรื่อยมา ตลอดมา แต่ไม่ใช่หมายความว่า จะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจกับสิ่งที่ตัวเองทำนะคะ เพราะยิ่งทำไปยิ่งพบว่า มันมีประโยชน์มากสำหรับผู้อ่านในสังคมไทย แล้วก็ยินดีที่เห็นน้องๆ และหลานๆ มาเข้าหลักสูตรอบรมหลักสูตรล่ามและนักแปล วันนี้ขึ้นมารับใบประกาศนักแปลอาชีพ เพราะว่าเราต้องการพวกท่านอีกเยอะเลย แต่ไม่ใช่หมายความว่าเฉพาะสื่อบันเทิงนะคะ ชอบมีคนถามว่าทำไมถึงแปลบทหนังได้ ตอบมีอยู่ห้าคนพอแล้วครับตลาดนี้ เพราะแต่ละบริษัทหนังจะมีหนังเข้ามาน้อยมาก แต่ว่าสังคมต้องการนักแปลในมิติอื่นอีกเยอะแยะมากมาย แล้วก็ถ้าเราทำงานแปลด้วยหัวใจสนุก ถอดหัวใจใส่ลงไป เราจะได้ไม่ต้องเกี่ยงเรื่องค่าแรง ผลตอบแทน เวลาที่ใช้เลย

วัน ก่อนไปจีนตะลึงว่าละครไทยกำลังฮิตติดชาร์จเหมือนเกาหลีมาเมืองไทย ละครทีวีไทยเขาจะรู้จักพระเอกนางเอกนี่ที่ปักกิ่งนะคะ เชื่อไหมว่า พอละครออกอากาศไป เขาดูทางดาวเทียม พอวันสองวันให้หลังจะมีคนแปลซับไตเติ้ลเป็นภาษาจีน โหลดเข้าไปในยูทูบทันที อันนี้ผลประโยชน์ของชาติเลยนะคะ เพราะว่ายิ่งโหลดเข้าไป มันก็ยิ่งแพร่หลาย กระจายไปทั่ว ดูแล้วดูอีกก็ได้ ไปคลิกดูจำนวนผู้ชม เยอะขึ้นเรื่อยๆ เป็นการเผยแพร่ จะว่าศิลปะการแสดง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทีวีไทยก็ได้ โดยไม่ต้องใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เลย ใช้ล่ามนี่แหละ

อันนี้ก็คืออยากจะชี้ให้เห็น ว่าบทบาทของนักแปลนี้บางทีเราก็ทำไปด้วยใจรัก ทำไปเพลินๆ นะ แต่ผลมันกระจายกว้าง แล้วก็ไม่ได้คิดว่าต้องปิดทองหลังพระหลังปกอะไรทั้งสิ้น บางทีมันสนุกจริงๆนะ ท้าทายมาก อย่างมีอยู่เล่มหนึ่งที่เคยแปล มันจะเป็นศัพท์ทหาร พระเอกเป็นทหารไปรบ โอ้โหต้องตามผู้ช่วยมาแทบแย่ ขอปรึกษาศัพท์มาเฟีย ก็คิดว่าตัวเองผ่านงานแปลมาประมาณสิบกว่าปี ก็เติบโตขึ้นในแง่ความคิด คลังสมอง คลังภาษา ล่าสุดเล่มนี้เพิ่งพิมพ์ออกมา The Power ในนั้นเนี่ย มีประโยคที่ประทับใจ โดนใจสุดๆ อยู่อันหนึ่ง คนแปลก็จำภาษาอังกฤษไม่ได้ เขาบอกว่า “ความสำเร็จ ไม่ใช่กุญแจไขประตูสู่ความสุข แต่ความสุขต่างหากที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ” งานแปลก็เช่นเดียวกันค่ะ

 

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณที่มา : http://www.oknation.net

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ